พรรณไม้ในสถาบัน สกร.ภาคเหนือ : เอื้องแปรงสีฟัน

เอื้องแปรงสีฟัน (Toothbrush orchid) เป็นกล้วยไม้สกุลหวาย กล้วยไม้ชนิดนี้มีลักษณะเด่นสะดุดตาคือ มีรูปร่างของทรงช่อของดอก และลำต้นโดยรวมแล้วคล้ายกับแปรงสีฟัน สีชมพูอ่อนไล่โทน ไปหาสีบานเย็นเข้ม แต่บางต้นก็ให้สีสันที่ประหลาดออกไป เช่น สีขาวหรือที่เรียกกันว่า กล้วยไม้เผือก ซึ่งเป็นสีที่หาพบได้ไม่บ่อยนักในกล้วยไม้แต่ละสายพันธุ์ ปกติแล้วเอื้องแปรงสีฟันจะมีด้วยกัน 2 สีคือ สีชมพูกับสีขาวล้วนทั้ง 2 ชนิดพบขึ้นตามป่าผลัดใบถึงป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 300-1,600 เมตร โดยจะมีขึ้นในทุกภาคของประเทศไทย และมีผู้คนนิยมปลูกกันอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์“เอื้องแปรงสีฟันใต้”มีคนรู้จักน้อยมาก เนื่องจากเป็นกล้วยไม้เฉพาะถิ่น พบขึ้นตามป่าทางภาคใต้เพียงถิ่นเดียวเท่านั้น ที่สำคัญค่อนข้างจะหายากมากอีกด้วย มีลักษณะพิเศษประจำพันธุ์คือ ดอกของ “เอื้องแปรงสีฟันใต้” จะเป็นสองสีในดอกเดียว ทำให้เวลามีดอกจะดูสวยงามมาก

เอื้องแปรงสีฟัน (2565)  ภาพโดย: ศราวุธ เบี้ยจรัส

สถาบัน กศน.ภาคเหนือ เป็นสถานศึกษาที่มีบริเวณกว้าง มีต้นไม้ใหญ่หลากหลายชนิด มีอายุหลายปี และมีกล้วยไม้สกุลต่าง ๆ เกาะอยู่บนต้นไม้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพันธุ์กล้วยไม้หายาก มีความสวยงาม เอื้องแปรงสีฟัน เป็นหนึ่งในพันธุ์กล้วยไม้ที่มีอยู่ในสถาบัน กศน.ภาคเหนือ ซึ่งพบอยู่ในบริเวณหน้าตึกอำนวยการปัจจุบัน เอื้องแปรงสีฟันมีอยู่ไม่มากนัก จึงควรอนุรักษ์และขยายพันธ์ให้มากขึ้น เรามาทำความรู้จัก เอื้องแปรงสีฟันกัน

ลักษณะทั่วไป  
เอื้องแปรงสีฟัน เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ลำต้นเป็นรูปแท่งดินสอ ปลายเรียวแหลมและตั้งขึ้น ใบเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน เวลามีดอกจะทิ้งใบหมด ดอกออกเป็นช่อตามข้อใกล้ปลายยอด แต่ละช่อมีดอกย่อยเรียงเป็นแถวแน่นยาว 8-12 ซม. ลักษณะคล้ายแปรงสีฟัน ซึ่งสีของกลีบดอกจะมีความโดดเด่นและแตกต่างจากสีของกลีบดอก เอื้องแปรงสีฟันทั่วไปคือ กลีบดอกส่วนบนหรือครึ่งบนจะเป็นสีชมพูอ่อน ส่วนครึ่งล่างหรือส่วนล่างจะเป็นสีขาวชัดเจน ดอกเมื่อบานเต็มที่กว้างประมาณ 0.5 ซม. ดอกออกช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายนของทุกปี

เอื้องแปรงสีฟัน (2565)  ภาพโดย นัชรี อุ่มบางตลาด

ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ของเอื้องแปรงสีฟัน
1. ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific Name) : Dendrobium secundum (Blume) Lindl.
2. ชื่อไทย : เอื้องแปรงสีฟัน
3. ชื่อท้องถิ่น : กับแกะ (เลย)  คองูเห่า (กลาง) เอื้องสีฟัน (เหนือ) เอื้องหงอนไก่ (แม่ฮ่องสอน) 
4. วงศ์ (Family) : กล้วยไม้ (Orchidaceae)
5. สกุล (Genus) : หวาย (Dendrobium)
6. ลักษณะวิสัย (Habit) : กล้วยไม้อิงอาศัย (Epiphylic orchid) 
7. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
  • ลำต้น : เป็นลำกลม รูปแท่งดินสอกลม ปลายเรียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 ซม. ยาว 30-80 ซม. ผิวต้นเป็นร่องตื้น ๆ ขึ้นเป็นกอ ต้นมักจะทอดเอนหรือโค้งเล็กน้อย 
  • ใบ : รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 4 ซม. ยาว 12-15 ซม. ปลายมนหรือหยักเว้าตื้น ๆ
  • ช่อดอก : เอื้องแปรงสีฟัน ออกดอกเป็นช่อ ตามข้อใกล้บริเวณปลายยอดของลำต้น แต่ละช่อมีดอกย่อยเรียงเป็นแถวแน่นคล้ายแปรงสีฟัน ยาว 8-12 ซม. แต่ละลำต้นสามารถให้ดอกได้ตั้งแต่ 1-3 ช่อ โดยก่อนให้ดอก เอื้องแปรงสีฟันจะทิ้งใบพักตัวในช่วงฤดูหนาวก่อน และเมื่อหลังจากผลิบานดอกแล้ว ก็จะแทงหน่อใหม่ในช่วงฤดูร้อนเข้าฝนพอดี
  • ดอก : มีขนาดเล็กกระจุกอยู่บริเวณก้านดอกรูปร่างคล้ายแปรง ดอกเมื่อบานเต็มที่กว้างประมาณ 0.5 ซม. เวลามีดอกจะดูงดงามยิ่งนัก มีสีสันตั้งแต่ สีชมพูอ่อน ไล่โทนไปหาสีบานเย็นเข้ม แต่บางต้นก็ให้สีสันที่ประหลาดออกไปเช่นสีขาว หรือ ที่เราเรียกกันว่า กล้วยไม้เผือก ซึ่งเป็นสีที่หาได้ยาก*ในกล้วยไม้แต่ละสายพันธุ์
  • ช่วงเวลาในการออกดอก : กุมภาพันธ์-เมษายน

เอื้องแปรงสีฟัน (2565)  ภาพโดย นัชรี อุ่มบางตลาด 

เอื้องแปรงสีฟัน (2565)   ภาพโดย: ศราวุธ เบี้ยจรัส. 

8. การกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา 
มีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางครอบคลุมตั้งแต่พื้นที่ของเทือกเขาหิมาลัย จีน พม่า ไทย อินโด จีน และภูมิภาคเอเชีย พบได้เกือบทุกแหล่งป่าไม้ในประเทศไทย สามารถเติบโตได้ดีแม้ภูมิอากาศแห้งแล้ง

9. การปลูกและการขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดนั้น มีเปอร์เซ็นการงอกน้อยกว่าร้อยละ 0.1 เนื่องจากเมล็ดที่แก่แล้ว ไม่มีทั้งใบเลี้ยงและเอนโดสเปิร์ม จึงไม่มีอาหารสะสมไว้เลี้ยงต้นอ่อน แต่สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และการแยกหน่อ

10. การใช้ประโยชน์ : ปลูกเป็นไม้ประดับสวยงาม

ปัจจุบันพบว่า กล้วยไม้เอื้องแปรงสีฟันจัดอยู่ในสถานภาพเชิงอนุรักษ์ CITES บัญชี 2 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุสำคัญมาจากการตัดไม้ ทำลายป่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เราควรมีการขยายพันธุ์ เพิ่มจำนวนให้มากขึ้น เพื่อให้เอื้องแปรงสีฟันได้เป็นที่รู้จักของคนรุ่นหลังต่อ ๆ ไป


เรียบเรียง:
ยุรัยยา อินทรวิจิตร  ครู ชำนาญการพิศษ  สถาบัน กศน.ภาคเหนือ 

ถ่ายภาพ:
นัชรี อุ่มบางตลาด ครู ชำนาญการ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
ศราวุธ เบี้ยจรัส นักวิชาการโสตท้ศนศึกษา สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง:
อุทยานหลวงราชพฤกษ์. (2560, 5 กันยายน). เอื้องแปรงสีฟัน. 
https://www.royalparkrajapruek.org/Plants/view?id=543

ออร์คิดทรอปิคอล. (ม.ป.ป.). เอื้องแปรงสีฟัน.
https://www.orchidtropical.com/dendrobium-secundum.php