แจ่งเวียงเชียงใหม่
เมื่อครั้งพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ทรงโปรดให้มีการขุดคูเมืองเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำและทำการประมงสำหรับชาวเชียงใหม่ พร้อมทั้งใช้ป้องกันข้าศึกไปด้วย โดยได้เริ่มขุดคูเมืองที่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งถือเป็นทิศมงคลก่อน แล้วจึงขุดต่อจนล้อมรอบไว้ทั้งสี่ด้าน ส่วนดินที่ได้จากการขุดคูเมืองนำไปถมเป็นแนวกำแพงเมืองแล้วก่ออิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย บนกำแพงปูอิฐตลอดแนว และทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้าน พร้อมทั้งได้สร้างป้อมปราการไว้ที่ แจ่ง ด้วย
แจ่งศรีภูมิ (สิงหาคม 2565) ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส
สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (2552) ให้ความหมายของคำว่า “แจ่ง” ในภาษาล้านนาหมายถึง มุม “แจ่งเวียง” คือป้อมปราการที่ตั้งบนกำแพงเมือง และ “แจ่งเวียงเชียงใหม่” คือมุมทั้ง 4 ของเมืองเชียงใหม่ อันประกอบด้วย
แผนที่ แนวกำแพงและคูเมืองเชียงใหม่ แสดงตำแหน่งแจ่ง 4 แจ่ง และประตูเมืองทั้ง 5 ประตู
1. แจ่งศรีภูมิ
แจ่งศรีภูมิ เดิมชื่อ “สะหลีภูมิ” หรือ “ไชยสรีภูมิ” ซึ่งชื่อนี้มีความหมายว่าเป็นชัยชนะ เป็นแจ่งแรกที่สร้างขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถือเป็นตำแหน่ง “ศรีแห่งเมือง” โดยเมื่อครั้งที่พญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ทรงโปรดให้ขุดคูเมืองและก่อกำแพงจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือก่อน แล้วจึงขุดไปทางทิศใต้ไปยังแจ่งก๊ะต้ำ จากนั้นเวียนไปทางทิศตะวันตกไปยังแจ่งกู่เฮือง แล้วจึงไปยังทิศเหนือไปยังแจ่งหัวลิน แล้วขุดไปยังทิศตะวันออกจนมาบรรจบกับแจ่งศรีภูมิ ในการขุดคูเมืองที่แจ่งศรีภูมิแห่งนี้มีเรื่องเล่าว่า คูเมืองจุดนี้ลึกมาก ต้องใช้บันไดไม้ไผ่ ซึ่งชาวล้านนาเรียกว่า “เกิ๋น” มีช่องเหยียบมากเกินพันขั้น (พันตาเกิน) มาใช้ปีนขึ้นลง จึงเป็นที่มาของวัดพันตาเกิน หรือวัดชัยศรีภูมิ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับแจ่งศรีภูมิในปัจจุบัน
2. แจ่งก๊ะต้ำ หรือ แจ่งขะต๊ำ
แจ่งก๊ะต้ำ เป็นแจ่งเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ สันนิษฐานว่าเพราะมุมเมืองด้านนี้อยู่ต่ำสุด น้ำในคูเมืองเต็มอยู่เสมอ ทำให้มีปลาชุกชุม ผู้คนจำนวนมากจึงมักมาดักปลาโดยใช้ “ขะต๊ำ” ซึ่งเป็นเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่งชาวล้านนา มีลักษณะคล้ายลอบดักปลา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการเรียกมุมเมืองด้านนี้ว่า แจ่งขะต๊ำ
3. แจ่งกู่เฮือง แจ่งกู่เฮือง คือแจ่งด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ชื่อ “กู่เฮือง” มาจากชื่อผู้ดูแลป้อมปราการที่แจ่งแห่งนี้ คือเมื่อปี พ.ศ. 1860 พญามังรายสวรรคต พญาไชยสงครามผู้เป็นราชบุตรขึ้นครองราชสมบัติเมืองเชียงใหม่ได้ 4 เดือน ก็ทรงย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองเชียงราย และได้สถาปนาให้เจ้าท้าวแสนภูพระราชบุตรองค์โตขึ้นครองเมืองเชียงใหม่สืบแทน ในปี พ.ศ. 1862 ขุนเครือซึ่งเป็นราชบุตรของพญามังรายและเป็นอนุชาของพญาไชยสงคราม ยกทัพมาหวังจะชิงเมืองเชียงใหม่จากพญาแสนภูผู้หลาน พญาแสนภูหนีไปพึ่งท้าวน้ำท่วมผู้น้องที่เมืองฝาง และแจ้งเหตุให้พญาไชยสงครามผู้เป็นพระราชบิดาทราบ ท้าวน้ำท่วมยกทัพมายึดเมืองเชียงใหม่คืนจากเจ้าขุนเครือได้สำเร็จ จึงมอบให้หมื่นเรือง (เฮือง) ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการขังขุนเครือ โดยหมื่นเรื่อง (เฮือง) ได้สร้างบ้านและเรือนขังขุนเครือไว้ที่แจ่งด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้นี้จนถึงแก่พิราลัย ต่อมาเมื่อหมื่นเรือง (เฮือง) ถึงแก่กรรมจึงได้สร้างกู่บรรจุอัฐของหมื่นเรือง (เฮือง) ไว้ที่แห่งนี้ อันเป็นที่มาของชื่อ แจ่งกู่เฮือง
แจ่งหัวลิน เป็นแจ่งด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยคำว่า “ลิน” หมายถึง ราง และคำว่า “หัว” ในความหมายของคนภาคเหนือ หมายถึง แรก เริ่ม ดังนั้นคำว่า “หัวลิน” หมายถึง จุดเริ่มต้นของรางน้ำ โดยลักษณะของระบบส่งน้ำในสมัยก่อน จะทำรางน้ำจากต้นไม้ผ่าครึ่งขุดเป็นร่อง ใช้เป็นทางลำเลียงน้ำจากห้วยแก้ว ดอยสุเทพ ส่งต่อลงมาเป็นช่วง ๆ รวมกันที่แจ่งแห่งนี้ จึงนับว่าเป็นต้นทางของน้ำที่ไหลเข้าสู่ตัวเมืองผ่านไปตามอุโมงค์ใต้ป้อม ให้ชาวเมืองเชียงใหม่ได้นำไปใช้ ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของระบบน้ำประปาแบบโบราณ
แจ่งกู่เฮือง (สิงหาคม 2565) ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส
กำแพงเวียงเชียงใหม่
กำแพงเมืองเชียงใหม่แต่เดิมมี 2 ชั้น กำแพงที่เห็นในปัจจุบันคือกำแพงชั้นใน สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองเชียงใหม่ในสมัยพญามังราย โดยนำดินที่ได้จากการขุดคูเมืองไปถมเป็นแนวกำแพงเมือง แล้วก่อด้วยอิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย ข้างบนกำแพงปูอิฐตลอดแนวทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้านนอกจากกำแพงเมืองชั้นในแล้ว ยังมีการสร้างกำแพงเมืองชั้นนอก ซึ่งทำเป็นแนวกำแพงดินโอบล้อมไว้ สันนิษฐานว่าสร้างประมาณ พุทธศตวรรษที่ 22 และมีการสร้างประตูของกำแพงเมืองชั้นนอกด้วย แนวถนนทั้งในและนอกกำแพงเมืองต่างก็พุ่งตรงเข้าหาประตูเมือง แต่เมื่อประตูเมืองถูกกำหนดให้วางเหลื่อมกัน แนวถนนภายในกำแพงเมืองและด้านนอกกำแพงเมืองจึงเหลื่อมกันไปตามแนวประตูเมือง ยกเว้นประตูท่าแพ ที่วางตำแหน่งประตูเมืองทั้งชั้นนอกและชั้นในไว้ในตำแหน่งที่เกือบจะตรงกัน ปัจจุบันกำแพงเมืองชั้นนอกแทบจะไม่ปรากฎให้เห็น คงเห็นแต่ซากกำแพงเป็นบางแห่งเท่านั้น
แนวกำแพงเมืองเชียงใหม่ชั้นนอก ซึ่งยังหลงเหลือร่องรอยให้เห็นในปัจจุบันที่ถนนกำแพงดิน
ภาพจาก Google Street View (พฤษภาคม 2564)
แนวกำแพงและคูเมือง มองเห็นดอยสุเทพ ไม่ทราบแน่ชัดว่าถ่ายเมื่อใด สัญนิฐานประมาณปี พ.ศ. 2510
ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com/history/article_27005
ในปัจจุบัน เนื่องจากไม่มีกำแพงเมืองชั้นในแล้ว จึงเรียกแนวกำแพงเมืองเชียงใหม่นี้อย่างเป็นทางการว่า "คูเมือง" ซึ่งคูเมืองเชียงใหม่ เป็นคูน้ำความกว้างราว 13 เมตร แต่ในอดีตเคยกว้างถึง 25 เมตร ลึกสุด 4 เมตร และจุดกลับรถกั้นเป็นระยะ ๆ การจราจรรอบนอกเป็นแบบวิ่งรถทางเดียวตามเข็มนาฬิกา ส่วนรอบในวิ่งรถทางเดียวทวนเข็มนาฬิกา และอยู่ในความดูแลของเทศบาลนครเชียงใหม่
บรรยายคูเมืองบริเวณแจ่งกู่เฮือง และแจ่งหัวลิน (สิงหาคม 2565)
ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส
เรียบเรียง :
ณิชากร เมตาภรณ์ ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
ถ่ายภาพ:
สราวุธ เบี้ยจรัส นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
อ้างอิง:
กำแพงเมืองเชียงใหม่. (2564, 1 กุมภาพันธ์). ใน วิกิพีเดีย สารนุกรมเสรี. สืบค้น 3 พฤษภาคม 2565 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/กำแพงเมืองเชียงใหม่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (ม.ป.ป.). วรรณกรรมขับขานล้านนา ต๋ำนานประตูเมืองเชียงใหม่. http://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannapoetry/poem/023
พญามังราย. (2565, 9 กรกฎาคม). ใน วิกิพีเดีย สารนุกรมเสรี. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2565 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/พญามังราย
เชียงใหม่นิวส์. (2563, 8 เมษายน). มาดู ตำนานประตูเมืองและแจ่งเมืองต่าง ๆ ของเชียงใหม่ ที่คนเชียงใหม่หลายคนยังไม่รู้. https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1342703/
4 แจ่ง (มุม) เมืองเชียงใหม่. (2558, 5 ธันวาคม). https://www.topchiangmai.com/ความรู้/4-แจ่ง-มุม-เมืองเชียงใหม่/