ประตูท่าแพ (สิงหาคม 2565) ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส
กำแพงเมืองเชียงใหม่แต่เดิมมี 2 ชั้น คือ กำแพงชั้นนอก และกำแพงชั้นใน โดยกำแพงชั้นนอกสร้างขึ้นภายหลังในราวพุทธศตวรรษที่ 22 ส่วนกำแพงที่เห็นอยู่ในปัจจุบันคือกำแพงชั้นใน ซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองเชียงใหม่ในสมัยพญามังราย โดยนำดินที่ได้จากการขุดคูเมืองไปถมเป็นแนวกำแพงเมือง แล้วก่อด้วยอิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย ข้างบนกำแพงปูอิฐตลอดแนวทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้าน โดยเดิมประตูเมืองทำเป็น 2 ชั้น ทั้งชั้นนอกและชั้นใน บานประตูวางเยื้องกันเพื่อป้องกันข้าศึกเอาปืนใหญ่ยิงประตูเมือง
ในส่วนของกำแพงเมืองชั้นนอก มี 4 ประตู ได้แก่ ประตูท่าแพด้านทิศตะวันออกของเมือง ประตูหล่ายแกง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประตูขัวก้อม อยู่ทางทิศใต้ ประตูไหยา (ประตูหายยา) อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันไม่หลงเหลือร่องรอยในส่วนของประตูชั้นนอกแล้ว
ประตูเมืองเชียงใหม่ที่ยังคงเห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นประตูเมืองของกำแพงเมืองชั้นใน ซึ่งมี 5 ประตู คือ ประตูช้างเผือก ประตูท่าแพ ประตูเชียงใหม่ ประตูสวนปรุง และประตูสวนดอก ซึ่งมีความเป็นมาของชื่อประตูทั้ง 5 แห่ง ดังนี้
แผนที่ แนวกำแพงและคูเมืองเชียงใหม่ แสดงตำแหน่งแจ่ง 4 แจ่ง และประตูเมืองทั้ง 5 ประตู
1. ประตูช้างเผือก
ประตูช้างเผือกเดิมมีชื่อว่า “ประตูหัวเวียง” ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมือง เป็นประตูมงคลในพิธีราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่จะเสด็จเข้ามาที่ประตูนี้ นอกจากนี้ยังเป็นจุดรวมไพร่พลเพื่อเตรียมสู้รบยามเกิดศึกสงคราม ประตูนี้เปลี่ยนชื่อในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ เนื่องจากได้โปรดให้สร้างอนุสาวรีย์รูปช้างเผือกขึ้น
ประตูช้างเผือก (สิงหาคม 2565) ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส
ต่อมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้ากาวิละ เจ้าเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. 2325-2345) ได้สร้างรูปปั้นช้างเผือก 2 เชือก มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับช้างตัวจริงไว้ทางหัวเวียงนอกประตู และอยู่ทางฟากตะวันออกของถนน พร้อมสร้างซุ้มโค้งคลุมช้างเอาไว้ให้มองเข้าไปทางด้านหัวช้าง มีกำแพงล้อมรอบบริเวณทั้ง 4 ทิศ และมีประตูเข้าออกได้ ทาด้วยสีขาวทั้งตัวช้างและกำแพง ช้างเชือกที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกชื่อ “พญาปราบจักรวาล” และช้างเชือกที่หันหน้าไปทางทิศเหนือชื่อ “พญาปราบเมืองมารเมืองยักษ์” จากการสร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือก ต่อมาชื่อ ประตูหัวเวียง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ประตูช้างเผือก ตามชื่ออนุสาวรีย์ในปัจจุบัน
ประตูช้างเผือก (สิงหาคม 2565) ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส
2. ประตูท่าแพ
ประตูท่าแพ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง เดิมเรียกว่า ประตูเชียงเรือก เนื่องจาก มีชุนชนบ้านเชียงเรือกซึ่งเป็นย่านตลาดค้าขาย มีประชากรหนาแน่น ตั้งอยู่บริเวณนอกกำแพงเมือง ซึ่งมีหลักฐานกล่าวถึงในสมัยพญาแก้วเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงเรือก มีคนจมน้ำตายเป็นจำนวนมากในสมัยพระเจ้าอินทวิชายานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ. 2416-2440) ชื่อประตูเชียงเรือก ถูกเปลี่ยนมาเป็นประตูท่าแพชั้นใน เพื่อให้คู่กับประตูท่าแพชั้นนอก ซึ่งอยู่บนถนนสายเดียวกัน ที่เรียกว่าประตูท่าแพ เพราะเป็นทางออกสู่ท่าน้ำแม่ปิง ซึ่งมีแพอยู่เป็นจำนวนมาก ประตูท่าแพชั้นนอกตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดแสนฝาง ต่อมาเนื่องจากความเจริญเติมโตของเมือง บ้านเรือนขยายตัวออกไป ประตูท่าแพชั้นนอกจึงค่อย ๆ สลายไปเหลือแต่ประตูท่าแพชั้นใน ชาวบ้านจึงเรียกชื่อสั้น ๆ ว่า ประตูท่าแพ ที่มาของชื่อเนื่องจากประตูด้านนี้เป็นประตูที่จะไปยังท่าน้ำของแม่น้ำปิง
ประตูท่าแพ ถ่ายเมื่อปี พศ. 2442 จะเห็นว่ามีประตูเมือง 2 ชั้น
ภาพจาก ศิลปะวัฒนธรม. https://www.silpa-mag.com/history/article_43486
ประตูท่าแพ (สิงหาคม 2565) ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส
3. ประตูเชียงใหม่
ประตูเชียงใหม่เดิมเรียกว่า ประตูท้ายเวียง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ เป็นประตูมงคล ในอดีตเป็นเส้นทางสำคัญระหว่างเชียงใหม่ เวียงกุมกาม และลำพูน การเดินทางจึงไม่ต้องข้ามแม่น้ำปิง เพราะทั้งสามเมืองตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำปิงเช่นเดียวกัน
ประตูเชียงใหม่ (สิงหาคม 2565) ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส
4. ประตูสวนดอก
ประตูสวนดอก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง ประตูด้านนี้เป็นทางออกไปสู่อุทยานของกษัตริย์ ที่ได้ชื่อว่าประตูสวนดอก เพราะว่ามีอุทยานสวนดอกไม้บริเวณนั้นมากมาย ปี พ.ศ. 1914 ในรัชสมัยพญากือนา (พ.ศ. 1898-1928) พระองค์โปรดให้สร้างวัดในบริเวณพื้นที่อุทยานสวนดอกไม้ และตั้งชื่อว่า วัดสวนดอก
ประตูสวนดอก (สิงหาคม 2565) ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส
5. ประตูสวนปรุง
ประตูสวนปรุง หรือเดิมเรียกว่า ประตูแสนปุง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองใกล้กับประตูเชียงใหม่ เป็นประตูที่เจาะกำแพงชั้นในด้านใต้เพื่อสร้างประตูขึ้นใหม่ ตามพระประสงค์ของพระมหาเทวีติโลกจุฑา (พระนางติโลกจุฑาเทวี) พระราชมารดาของพญาสามฝั่งแกน ช่วงเวลานั้นพระมหาเทวีติโลกจุฑาทรงประทับตำหนัก ณ ตำบลสวนแร (ปัจจุบันคือชุมชนทิพย์เนตร) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกเขตกำแพงเมือง ส่วนภายในเขตเมืองนั้นกำลังก่อสร้างพระเจดีย์หลวง ตามปกติแล้วพระองค์จะเสด็จเข้าไปทอดพระเนตรการก่อสร้างทุกวัน ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยเหตุที่พญาสามฝั่งแกนยังทรงพระเยาว์อยู่ พระมหาเทวีติโลกจุฑาทรงดำริเห็นว่าการเสด็จผ่านประตูทางท้ายเวียง (ประตูเชียงใหม่) เป็นทางอ้อม และเพื่อความสะดวกในการเสด็จมาสักการะพระเจดีย์เมื่อสร้างเสร็จ พระมหาเทวีติโลกจุฑา จึงโปรดให้เจาะกำแพงเมืองด้านนั้น เพราะอยู่ตรงข้ามกับพระตำหนัก และตั้งชื่อว่า ประตูสวนแร ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกว่าประตูสวนปุง หรือประตูแสนปุง สันนิษฐานที่ชื่อแสนปุง เพราะเป็นทางออกไปสู่บริเวณที่ที่อยู่ของกลุ่มช่างหลอมโลหะ จึงมีเตาปุง (เตาไฟ) ไว้หลอมโลหะจำนวนมาก นอกจากนี้จากความเชื่อเรื่องทิศและพื้นที่ถือว่าเป็นเขตกาลกิณี หากมีการเสียชีวิตภายในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ จะต้องนำศพออกจากตัวเมืองผ่านทางประตูนี้เท่านั้น เพื่อนำไปประกอบพิธีกรรมนอกเมือง
ประตูสวนปรุง (สิงหาคม 2565) ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส
เรียบเรียง :
ณิชากร เมตาภรณ์ ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
ถ่ายภาพ :
สราวุธ เบี้ยจรัส นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
อ้างอิง :
กำแพงเมืองเชียงใหม่. (2564, 1 กุมภาพันธ์). ใน วิกิพีเดีย สารนุกรมเสรี. สืบค้น 3 พฤษภาคม 2565 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/กำแพงเมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่นิวส์. (2563, 8 เมษายน). มาดู ตำนานประตูเมืองและแจ่งเมืองต่าง ๆ ของเชียงใหม่ ที่คนเชียงใหม่หลายคนยังไม่รู้. https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1342703/
ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2561, 1 สิงหาคม). “อนุสาวรีย์ช้างเผือก” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเชียงใหม่. https://www.matichonweekly.com/column/article_121291
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (ม.ป.ป.). วรรณกรรมขับขานล้านนา ต๋ำนานประตูเมืองเชียงใหม่. http://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannapoetry/poem/023
พญามังราย. (2565, 9 กรกฎาคม). ใน วิกิพีเดีย สารนุกรมเสรี. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2565 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/พญามังราย
วรชาติ มีชูบท. (2565, 26 กันยายน 2565). สืบร่องรอย “ประตูเมือง” 2 ชั้น บนแนวกำแพงนครเชียงใหม่ อิทธิพลจากมัณฑะเลย์หรือสุโขทัย?. https://www.silpa-mag.com/history/article_43486