การถ่ายภาพสถาปัตยกรรม (Architecture photography) คือการถ่ายภาพสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น อาคารบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ตึกขนาดใหญ่ โบสถ์วิหาร สะพานหรือทางด่วนสำหรับการสัญจรไปมา อนุสาวรีย์เพื่อการระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญ สถูปเจดีย์ สัญลักษณ์ทางศาสนา เป็นต้น นอกจากการถ่ายภาพสิ่งก่อสร้างนานาประเภทจากภายนอกแล้ว การถ่ายภาพภายในอาคารหรือที่เรานิยมเรียกทับศัพท์ว่า อินทีเรีย (Interior) ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม
1. ทิศทางแสง
ทิศทางแสงถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม เราต้องค้นหามุมที่ต้องการจะถ่ายภาพและรอช่วงเวลาที่แสงมีทิศทางที่เหมาะสม คือแสงเฉียงเข้าจากทางด้านหน้าของจุดที่จะถ่ายภาพ และถ่ายภาพด้วยแสงที่มุม 45 องศาในระดับความสูงของอาคารจะสามารถแสดงรายละเอียดพื้นผิวได้อย่างมีชีวิตชีวา สร้างเงาให้เกิดขึ้น และสื่อความรู้สึกภาพถ่ายมีมิติมากขึ้น สามารถลบจุดอ่อนของภาพถ่ายซึ่งมีสองมิติคือเพียงด้านกว้างและด้านยาว ให้มองเห็นถึงมิติที่สามคือความลึกได้ชัดเจนกว่าทิศทางแสงอื่น ๆ ควรเลือกถ่ายภาพสถาปัตยกรรมในช่วงเวลาที่แสงมีความเข้มน้อย เช่น ในช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เพิ่งจะพ้นขอบฟ้า หรือก่อนจะลาลับขอบฟ้าไป รวมไปถึงเวลาที่มีเมฆบาง ๆ มาบดบังดวงอาทิตย์ไว้ก็ได้เช่นกัน
2. การเลือกใช้เลนส์
เลนส์ที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมควรจะเป็นเลนส์นอร์มอล หรือเลนส์ 50 มม. เพราะเป็นทางยาวโฟกัสที่ให้สัดส่วนและระยะของภาพถูกต้องสมจริง ไม่มีความบิดเบือนของภาพเกิดขึ้นจนทำให้สถาปัตยกรรมนั้น ๆ ดูบิดเบี้ยวผิดรูปทรงที่แท้จริงไป
แต่การที่สัดส่วนผิดเพี้ยนไปบ้างนั้น บางครั้งอาจมองเป็นเรื่องดีได้ ในข้อที่ทำให้ได้ภาพดูแปลกตาออกไป ซึ่งเป็นผลอันเกิดจากการใช้เลนส์มุมกว้าง ตั้งแต่ 24 มม. ลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากถ่ายภาพในระยะใกล้และถ่ายภาพในมุมแหงน ก็จะทำให้ส่วนยอดของสถาปัตยกรรมนั้น ๆ เอียงลู่เข้าสู่บริเวณกลางภาพอย่างชัดเจน สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการวางกล้องให้ได้ระนาบและวางกล้องไว้ในระดับกลาง ๆ ของความสูงของสถาปัตยกรรมนั้น ๆ จะมีเลนส์มุมกว้างพิเศษบางตัวที่สามารถแก้ความบิดเพี้ยนบริเวณขอบภาพได้ด้วยการขยับชุดเลนส์ในแบบที่เรียกว่า “ทิลท์และชิฟท์” (Tilt & Shift) แต่เลนส์พิเศษประเภทนี้เป็นเลนส์ที่มีราคาสูงกว่าเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวกันค่อนข้างมาก
หากไม่ต้องการให้ภาพมีความบิดเบือนมากเกินไป ก็เพียงแค่ถอยให้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หลีกเลี่ยงการใช้เลนส์ในช่วงทางยาวโฟกัสกว้างสุด ไม่แหงนกล้องมากเกินไป พยายามหาจุดถ่ายภาพที่สูงขึ้นกว่าพื้นสักเล็กน้อย ก็สามารถแก้ไขหรือลดปัญหาดังกล่าวได้
3. เงาสะท้อน
ก่อนการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม ควรใช้เวลาดูบริเวณโดยรอบและมองหาสิ่งที่อาจสะท้อนเงา เช่น กระจกหรือผิวมันวาว ซึ่งเงาสะท้อนจะส่งผลให้ได้ภาพถ่ายที่พึงประสงค์ เช่น ผู้ถ่ายภาพ ถังขยะ รถยนต์
4. สี
สี เป็นเทคนิคสำคัญอีกประการหนึ่งที่ช่างภาพควรคำนึงถึง สีของตัวอาคารที่เหมือนจริงและลักษณะของอาคาร ช่างภาพมืออาชีพหลายรายใช้ฟิลเตอร์โพลาไรซ์หรือฟิลเตอร์สีเพื่อให้ได้สีสันที่ถูกต้อง แสงประดิษฐ์อาจทำให้การรับรู้สีสันมีความผิดเพี้ยนไป ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเมื่อคุณถ่ายภาพในเวลากลางคืนหรือในอาคาร
5. องค์ประกอบที่เรียบง่าย
การเลือกจัดองค์ประกอบของภาพ ควรคำนึงถึงความเรียบง่ายไม่ดูซับซ้อนยุ่งยาก เส้นและ
แพทเทิร์นคือพื้นฐานความงดงามของสถาปัตยกรรม ช่างภาพใช้เส้นนำสายตาเพื่อชี้นำความสนใจของผู้ชมไปทั่วทั้งฉากหรือวัตถุ สำหรับการจัดองค์ประกอบที่ดี ให้รักษาความเรียบง่ายเอาไว้ และมุ่งเน้นไปที่เส้น นำพาพวกมันไปสู่มุมเมื่อคุณสามารถทำได้ ในแนวดิ่งให้พิจารณาถึงเส้นที่มาบรรจบกัน ในแนวนอนให้พิจารณาถึงกฎสามส่วน มีมุมให้คุณเลือกถ่ายภาพได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และการเดินไปรอบๆ เพื่อสำรวจพื้นที่จะช่วยสร้างภาพที่สร้างสรรค์ อัตราส่วนเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่คุณต้องพิจารณา หากคุณต้องการสร้างความรู้สึกถึงขนาด ลองพิจารณาฉากหน้าและฉากหลัง และวิธีที่คุณสามารถสร้างจุดอ้างอิงกับวัตถุ เช่น ผู้คนหรือต้นไม้
เรียบเรียง/ถ่ายภาพ :
สราวุธ เบี้ยจรัส นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
อ้างอิง :
Shutterstock. (2563, 9 กุมภาพันธ์). วิธีถ่ายภาพสถาปัตยกรรมอย่างมืออาชีพ. https://www.shutterstock.com/th/blog/architectural-photo-tips/ธนพล จันทร์ปลูก. (ม.ป.ป). เทคนิคการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม ARCHITECTURE. https://sites.google.com/site/camerawaystyles/thekhnikh-kar-thay-phaph/thekhnikh-kar-thay-phaph-sthapatykrrm-architecture