- การตรวจคุณภาพของสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้โดยผู้เชี่ยวชาญ ใช้วิธีการให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่ง (3 หรือ 5 คน) พิจารณาความเหมาะสมของสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ ทั้งด้านกายภาพ ด้านเนื้อหา และด้านการนำไปใช้ประโยชน์ อาจเลือกใช้เครื่องมือในการตรวจคุณภาพของสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ เป็นแบบสอบถามประเมินมาตราประมาณค่า 5 ระดับของลิเคิร์ทก็ได้
- เกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการและผลลัพธ์โดยเฉลี่ย โดยประเมินผลพฤติกรรมต่อเนื่อง เป็นกระบวนการกับพฤติกรรมขั้นสุดท้ายซึ่งเป็นผลลัพธ์ กำหนดค่าประสิทธิภาพเป็น E1/E2 หมายความว่าจะต้องกำหนดเป็นร้อยละของผลเฉลี่ยของคะแนนการทำงานหรือประกอบกิจกรรมของผู้เรียนทั้งหมด (E1) ต่อร้อยละของผลการสอบหลังเรียนของผู้เรียนทั้งหมด (E2) (ดารัตน์ อภัยบริรัตน์ 2544, 51) ซึ่งใช้สูตรคำนวณ ดังนี้ (ชัยยงค์ พรหมวงศ์ 2556, 10)
- เกณฑ์ประสิทธิผลของสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ โดยการวิเคราะห์คะแนนเพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ เป็นการประเมินว่าสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ มีประสิทธิผลช่วยให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์การเรียนรู้จริง ซึ่งใช้สูตรคำนวณ ดังนี้ (อัญชลี ธรรมะวิธีกุล 2550, 15)
- เกณฑ์พัฒนาการของผู้เรียน หมายถึง ความก้าวหน้าของผู้เรียนที่เกิดจากการศึกษาสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ โดยพิจารณาจากความแตกต่างระหว่างคะแนนสอบก่อนเรียนและคะแนนสอบหลังเรียน และพิจารณาว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้าเพียงใดหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความแตกต่างระหว่างคะแนนทั้งสองชุดนั้นมีนัยสำคัญที่ระดับใด สำหรับระดับนัยสำคัญที่จัดว่าใช้ได้ต้องไม่ต่ำกว่า 0.05 (ดารัตน์ อภัยบริรัตน์ 2544, 54)
ระยะที่ 1 การทดลองเป็นรายบุคคลและปรับปรุงแก้ไข (Individual Try Out and Revision)
เมื่อเขียนสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้เสร็จแล้วควรนำไปทดลองใช้กับผู้เรียนทีละคน โดยเลือกผู้เรียนที่เรียนอ่อนกับปานกลาง เพราะจะได้ข้อมูลในการแก้ไขจุดบกพร่องดีกว่าเลือกเด็กเก่ง ก่อนที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้นี้ ควรทำแบบทดสอบก่อนเรียน (Pre-test) จากนั้นจึงให้ผู้เรียนเรียนรู้จากสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะเดียวกันผู้พัฒนาสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้จะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน
ถ้าข้อความใดที่ผู้เรียนไม่แน่ใจ ไม่เข้าใจ หรือมีความคิดเห็นใด ๆ จากการเรียนสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ ผู้พัฒนาสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้จะจดบันทึกไว้เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข ข้อสำคัญคือ ครูต้องสร้างความเข้าใจอันดีกับผู้เรียนเพื่อให้ได้รับความร่วมมืออย่างดี เมื่อผู้เรียนเรียนจบแล้วก็ให้ทำแบบทดสอบหลังเรียน (Post-test) อีกครั้งหนึ่ง การทดลองระยะนี้กระทำกับผู้เรียนทีละคน ประมาณ 3-4 คน บางครั้งเรียกการทดลองระยะนี้ว่า การทดลองขั้นหนึ่งต่อหนึ่ง (one to one) เมื่อปรับปรุงแก้ไขในขั้นนี้แล้วก็นำไปทดลองในระยะที่สองต่อไป
ระยะที่ 2 การทดลองเป็นกลุ่มและปรับปรุงแก้ไข (Group Try Out and Revision) หรืออาจเรียกว่าการทดลองขั้นกลุ่มเล็ก
นำสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ผ่านการปรับปรุงจากข้อมูลที่ได้จากการทดลองใช้รายบุคคลมาทดลองกับผู้เรียนปานกลางจำนวน 5 – 10 คน ก่อนทำการทดลองควรสร้างความเข้าใจแก่ผู้เรียนเสียก่อน เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจว่าตนเป็นที่ปรึกษาและให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงแก้ไขสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ให้ดีขึ้น หลังจากนั้นก็ทดสอบก่อนเรียน (Pre-test) กับผู้เรียนทั้งกลุ่ม เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับคะแนนที่ได้หลังจากเรียนจบไปแล้ว และจะทราบได้ว่าผู้เรียนรู้เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด เมื่อผู้เรียนทำแบบทดสอบแล้วก็เริ่มเรียนรู้จากสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ได้ ผู้พัฒนาสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ต้องบันทึกเวลาเริ่มเรียนบทเรียน เพื่อทราบเวลาเรียนโดยเฉลี่ยในการเรียนรู้จากสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้นี้ หลังจากเรียนจบแล้วก็ให้ทำแบบทดสอบหลังเรียน (Post-test) ผลการสอบครั้งหลังจะเป็นเครื่องชี้ว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายหรือไม่ จากนั้นผู้พัฒนาสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ควรซักถามถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้เรียนพบขณะเรียนจากสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ต่อไป
ระยะที่ 3 การทดลองภาคสนามหรือทดลองกับห้องเรียนจริง และปรับปรุงแก้ไข (Field Try Out and Revision) หรืออาจเรียกว่าการทดลองขั้นกลุ่มใหญ่ นำสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ผ่านการปรับปรุงในขั้นการทดลองเป็นกลุ่มหรือขั้นกลุ่มเล็กไปทดลองใช้กับผู้เรียนในสภาพห้องเรียนจริง โดยมีการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนเช่นเดียวกับระยะแรก ๆ จุดมุ่งหมายของการทดลองกับห้องเรียนจริง คือ ต้องการทราบความเที่ยงตรง (Validity) ในการทำหน้าที่ของสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ คือ ต้องการทราบว่า ใช้ได้ดีกับผู้เรียนในสภาพจริงหรือไม่ เนื่องจากก่อนทดลองภาคสนาม สื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้นี้ได้ผ่านการปรับปรุงแก้ไขมาหลายครั้ง จึงคาดว่าส่วนที่ต้องแก้ไขจะมีน้อย แต่ถ้ามีข้อบกพร่องอีก ก็ต้องปรับปรุงแก้ไข จนเป็นที่แน่ใจว่าเหมาะสมที่จะนำไปเผยแพร่และเชื่อได้ว่าสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้นี้ใช้ได้ผลแน่นอน จึงนำไปใช้ในขั้นต่อไป
2. ขั้นนำไปใช้ (Implementation)
เป็นขั้นที่นำสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ผ่านการทดลองทั้ง 3 ระยะมาแล้วอย่างได้ผล และนำไปใช้กับผู้เรียนในสภาพชั้นเรียนทั่วไป และเป็นไปอย่างแพร่หลายกว้างขวาง อย่างไรก็ตามผู้พัฒนาสื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ยังต้องติดตามผลการใช้สื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้นี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น
- นักวิชาการรุ่นหลังนำแนวคิดทดสอบประสิทธิภาพที่พัฒนาโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ เมื่อพ.ศ. 2516 และได้เผยแพร่อย่างต่อ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2520 มาเป็นของตนเอง โดยเขียนเป็นบทความหรือตำราแล้วไม่มีการอ้างอิง มีจำนวนมากกว่าร้อยรายการ ทำให้นิสิตนักศึกษารุ่นหลัง ไม่ทราบที่มาของการทดสอบประสิทธิภาพ จึงทำให้มีเป็นจำนวนมากที่อ้างว่าเป็นตนเจ้าของทฤษฎี E1/E2 บางสำนักพิมพ์ได้นำความรู้เรื่องการสอน แบบศูนย์การเรียน ของศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ไปพิมพ์เผยแพร่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 และมีรายได้มหาศาล โดยไม่อ้างว่า ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์เป็นผู้พัฒนาขึ้น
- นักวิชาการนำ E1/E2 ไปเป็นของฝรั่ง เช่น ระบุว่า การหาประสิทธิภาพ E1/E2 เกิดจาก แนวคิด Mastery Learning ของ Bloom
- นักวิชาการไม่เข้าใจหลักการของการตั้งเกณฑ์ประสิทธิภาพ เช่น เสนอแนะให้ตั้งเกณฑ์ ไว้ต่ำ (เช่น E 1 /E 2 =70/70) หลังจากตั้งเกณฑ์ไว้ต่ำแล้ว เมื่อหาค่า E1/E2 ได้สูงกว่าก็ประกาศด้วยความ ภาคภูมิใจว่า สื่อหรือชุดการสอนของตนมีประสิทธิภาพมากกว่าเกณฑ์ ซึ่งที่จริงเป็นเพราะตนเองตั้งเกณฑ์ไว้ ต่ำไป แทนที่จะปรับเกณฑ์ให้สูงขึ้นอันเป็นผลจากคุณภาพของสื่อหรือชุดการสอน
- ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ของ E1 และ E2 ทั้งสองค่าควรได้ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ค่าแปรปรวนหรือแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญที่ระดับ .05 (แตกต่างกันได้ไม่เกิน ±2.5 ของค่า E1 และ E2 ซึ่งจะมีผลทำให้ค่ากระบวนการ E1 ไม่สูงกว่าค่าผลลัพธ์ E2 เกินร้อยละ 5) บางคนเขียนเผยแพร่ใน website ว่า ค่า E1 ควรมากกว่า E2 เพราะการทำแบบฝึกหัดหรือกิจกรรมปกติจะง่ายกว่าการสอบ ถือเป็นความเข้าใจไม่ถูกต้อง หากค่า E1 สูง แสดงว่า กิจกรรมที่ให้นักเรียนทำง่ายไป หากค่า E2 สูง ก็แสดงว่าข้อสอบอาจจะง่ายเพราะเป็นการวัดความรู้ความจำมากกว่า ดังนั้น ครูต้องปรับกิจกรรมให้ตรงตามระดับพฤติกรรม ที่ตั้งไว้ในวัตถุประสงค์
- ช่วยประกันคุณภาพของสื่อว่าอยู่ในขั้นสูง เหมาะสมที่จะลงทุนผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก แต่หากไม่มีการทดสอบประสิทธิภาพเสียก่อนแล้ว เมื่อผลิตออกมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ดีเท่าที่ควรแล้ว ก็จะต้องผลิตหรือทำขึ้นใหม่เป็นการสิ้นเปลือง ทั้งเวลา แรงงานและเงินทอง
- สื่อที่ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือช่วยสอนได้ดีในการสร้างสภาพการเรียนให้ผู้เรียนได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามที่มุ่งหวัง บางครั้งต้องช่วยครูสอน บางครั้งต้องสอนแทนครู ดังนั้น ก่อนนำสื่อไปใช้ ครูจึงควรมั่นใจว่าชุดการสอนนั้นมีประสิทธิภาพในการช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้จริง การทดสอบประสิทธิภาพตามลำดับขั้นจะช่วยให้เราได้สื่อที่มีคุณค่าทางการสอนจริงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
- การทดสอบประสิทธิภาพจะทำให้ผู้ผลิตมั่นใจได้ว่า เนื้อหาสาระที่บรรจุลงในสื่อมีความเหมาะสม ง่ายต่อการเข้าใจ อันจะช่วยให้ผู้ผลิตมีความชำนาญสูงขึ้น เป็นการประหยัดแรงสมอง แรงงาน เวลาและเงินทองในการเตรียมต้นแบบ
เรียบเรียง: