แม่แก้ว ตาสิงห์ ภูมิปัญญาผู้ถ่ายทอดการจักสานใบตาลแห่งบ้านช้าง

ประเทศไทยเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์มาแต่โบราณ สังคมไทยในอดีตจึงเป็นสังคมเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่เลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ไถนาและทำประมงเป็นหลัก การประกอบอาชีพของชาวบ้านทั่วไปจะใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่ผลิตขึ้นเอง เครื่องจักสานเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่คนไทยใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ มากมายหลายชนิด และเครื่องจักสานที่ผลิตขึ้นในภาคต่าง ๆ นั้นมักใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นที่แตกต่างกันไป ทำให้เครื่องจักสานที่ทำขึ้นเป็นรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามประเภทของวัตถุดิบประโยชน์ใช้สอย สภาพการดำรงชีวิตและสภาพภูมิศาสตร์ ความนิยมตามขนบประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เครื่องจักสานแต่ละภาคแต่ละถิ่นไทยมีรูปแบบแตกต่างกันไปอย่างน่าสนใจ

อาชีพการจักสานของใช้จากใบตาล เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ โดยการลงทุนที่ไม่มากนัก ผู้ประกอบอาชีพนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือเป็นอาชีพที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งนับวันจะขาดผู้สืบทอดภูมิปัญญาด้านนี้ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ขาดความสนใจที่เรียนรู้ภูมิปัญญาด้านการจักสานหรือยึดเป็นอาชีพ

แม่แก้ว ตาสิงห์ ภูมิปัญญาด้านการจักสานใบตาลของจังหวัดลำปาง และผลงานการสานใบตาล
ภาพโดย พิรุณ รัตนงามวงค์

แม่แก้ว ตาสิงห์ เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาด้านการจักสานของจังหวัดลำปาง เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2464 อยู่บ้านเลขที่ 216 บ้านช้าง ตำบลปงแสนทอง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สมรสกับนายสิงห์ ตาสิงห์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน แม่แก้วเติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกรรม พ่อแม่ปลูกข้าว พืชผัก บริเวณหัวไร่ปลายนาทั้งของตนเองและเพื่อนบ้านมีต้นตาลจำนวนมาก พ่อแม่และชาวบ้านใช้ประโยชน์จากต้นตาลอย่างหลากหลาย อาทิ ใช้ผลอ่อนรับประทานเป็นผลไม้ ผลแก่ใช้ประกอบขนม ปลีใช้ประกอบอาหาร ใบใช้ในการสานงอบ ก่องข้าว และของเล่นสำหรับเด็ก ก้านใบใช้ในการประดิษฐ์ของใช้แทนหวาย หากว่างเว้นจากเรือกสวน ไร่นา พ่อแม่ก็จะนำใบตาลมาสานก่องข้าว แอ๊บข้าว ของเล่นสำหรับเด็ก ฯลฯ ตอนเด็กได้เริ่มหัดสานของเล่นที่สานแบบง่าย ๆ เช่น ตะกร้อ ปลาตะเพียน นอกจากนี้ได้ช่วยพ่อแม่สานก่องข้าว แอ๊บข้าวด้วยลายขัด พอโตขึ้นแม่แก้วสามารถสานก่องข้าว แอ๊บข้าว ได้อย่างชำนาญ จนสามารถขายเครื่องสานจากใบตาลเป็นรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวมาเป็นเวลานับสิบปี

ประมาณ ปี พ.ศ. 2542 เป็นปีที่รัฐบาลส่งเสริม สนับสนุนในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ของชุมชน โดยให้แต่ละชุมชนมีผลิตภัณฑ์ดีเด่นอย่างน้อยหนึ่งผลิตภัณฑ์ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่บนพื้นฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี และใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนหรือตำบลนั้น เป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชน และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้มาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาดสากล ตามแนวคิด “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” แม่แก้ว ตาสิงห์ จึงหันมาสนใจและประกอบอาชีพจักสานใบตาลอย่างจริงจัง เรียนรู้ พัฒนาการสานก่องข้าวลายหกเหลี่ยม โดยรวมกลุ่มกันนำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย ทั้งก่องข้าวลายสาน และก่องข้าวลายหกเหลี่ยม ในงานรถม้า รถไฟ ที่จังหวัดลำปางจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งมียอดจำหน่ายดีมาก และพัฒนาก่องข้าวหกเหลี่ยมจนได้รางวัลมาตรฐานผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์จักสานกระเป๋าจากใบตาลฝึมือแม่แก้ว ตาสิงห์
ภาพโดย พิรุณ รัตนงามวงค์

ในปี พ.ศ. 2547 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาลเมืองเขลางค์นคร จำนวน 10,000 บาท เพื่อให้กลุ่มใช้เป็นทุนหมุนเวียนและสนับสนุนเครื่องอบใบตาล แต่เครื่องอบใบตาลใช้งานได้ไม่ดี ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ หากใช้เวลาน้อยใบตาลแห้งไม่ทั่ว หากใช้เวลานาน ใบตาลจะเกรียม กรอบ

ต่อมาปี พ.ศ. 2552 ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองลำปาง ได้สนับสนุนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ โดยวางแผนการดำเนินกิจกรรมร่วมกับครู กศน.ตำบล โดยได้รับงบประมาณสนับสนุน จำนวน 20,000 บาท เพื่อให้แม่แก้วศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวการจักสาน ซึ่งแม่แก้วต้องการเรียนรู้เรื่อง การย้อมสีใบตาล จากนั้นได้นำความรู้ที่ได้รับมาทดลองทำด้วยตนเอง ลองผิดลองถูก จนทำให้ทราบว่าสีที่ใช้ย้อมใบตาลให้ติดทนและสีสวย คือ สียอมผ้าไหม นอกจากได้รับการส่งเสริม สนับสนุนด้านพัฒนาตนเองแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนให้สถานประกอบการของแม่แก้วเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษาและผู้ที่สนใจ มีการจัดทำแผ่นพับเพื่อเผยแพร่ความรู้ในการจักสานใบตาล

ผลิตภัณฑ์จากฝึมือการสานใบตาลของแม่แก้ว ตาสิงห์
ภาพโดย นางพิรุณ รัตนงามวงค์

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา แม่แก้ว ตาสิงห์ ได้ศึกษาเรียนรู้ พัฒนาตนเอง ทั้งจากการประชุม สัมมนา การศึกษาดูงาน การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ อาทิ สวนลุมพินี สนามศุภชลาศัย ศูนย์แสดงสินค้าเมืองทองธานี ศูนย์การใช้วัสดุอุปกรณ์ในการตกแต่ง การย้อมสี ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้การออกแบบผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายต่าง ๆ แม่แก้วเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่าได้ไปเรียนรู้ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งศูนย์การค้าเซียร์รังสิต ห้างวงศ์สว่าง โรบินสัน รังสิต บางพลี ชลบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา สกลนคร หนองบัวลำภู ลำพูน และเชียงใหม่ เป็นต้น

ผลงานที่ภาคภูมิใจ
  1. เป็นวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้แก่สถานศึกษาในจังหวัดลำปาง ทั้งระดับประถมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา
  2. เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจทั้งในจังหวัดลำปางและจังหวัดอื่น ๆ
  3. ผลิตภัณฑ์ได้รับมาตรฐานคุณภาพ 2 ดาว ปี 2547 คือ แอ๊บข้าวหกเหลี่ยม ขนาดใหญ่
  4. ผลิตภัณฑ์ได้รับมาตรฐานคุณภาพ 3 ดาว ปี 2552 และมาตรฐาน มผช. คือ แอ๊บข้าวหกเหลี่ยม ขนาดเล็ก
  5. ปี 2553 ได้รับใบรับรองให้แสดงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์จักสานใบตาล มาตรฐานเลขที่ มผช.187/2546
  6. ผลิตภัณฑ์ได้รับมาตรฐานคุณภาพ 3 ดาว ปี 2553 คือ กระเป๋าสะพาย



ประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐาน OTOP ที่ได้รับ

แม่แก้ว ตาสิงห์ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง เริ่มจากเรียนรู้จากการเล่นสมัยเด็กพอโตขึ้นก็ช่วยพ่อแม่จักสาน จนกระทั่งเรียนรู้จากประชุม สัมมนา ศึกษาดูงาน นำมาทดลองทำด้วยตนเอง ลองผิดลองถูก จนพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ และเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นวิทยากรให้แก่ผู้ที่สนใจ และหน่วยงานต่าง ๆ นับเป็นภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า ซึ่งหากขาดการส่งเสริมสนับสนุน อนุรักษ์ สืบทอดสู่คนรุ่นหลังแล้ว ย่อมน่าเสียดายในองค์ความรู้ของภูมิปัญญาที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน

เขียน/เรียบเรียง: 
อรวรรณ ฟังเพราะ ครู ชำนาญการพิเศษ  สถาบัน กศน.ภาคเหนือ 

อ้างอิง:
แก้ว ตาสิงห์. ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจัดสาน จังหวัดลำปาง. สัมภาษณ์. 20 สิงหาคม 2555.