การเต้น จะคึ ในงานประเพณีปีใหม่ (กินวอ) ของชนเผ่ามูเซอ บ้านห้วยลุหลวง อ.เมือง จ.เชียงราย
ภาพโดย สมพร จะนู จาก https://you-me-we-us.com/story/our-kin-wo-festival
การเต้นจะคึ จะเต้นในลานของหมู่บ้านเรียกว่า “จะคึกื่อ” มีท่าประกอบการเต้นหลายท่า โดยจะเต้นอย่างพร้อมเพียงกันตามจังหวะของเครื่องดนตรีหลากหลายของชนเผ่า ไม่ว่าจะเป็นกลอง ฉาบ ฆ้อง และแคน ซึ่งจังหวะในการเต้นรำขึ้นอยู่กับผู้เล่นดนตรีเป็นหลักว่าจะนำคนเต้นไปตามจังหวะช้าหรือเร็ว สำหรับท่าเต้นจะคึประยุกต์มาจากวิถีชีวิตของชนเผ่ามูเซอ ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพ เช่น ท่าเกี่ยวข้าว ท่าถางไร่ ท่าปั่นด้าย หรือประยุกต์ท่าเต้นรำตามความเชื่อ เช่น เต้นรำพระเจ้า หรือท่าเต้นที่เลียนแบบท่าทางของสัตว์ตามธรรมชาติ ที่มูเซอผู้ได้ชื่อว่าเป็นชนเผ่าแห่งนักล่าได้พบตามภูผาและป่าเขา เช่น ท่านกบิน ท่าผึ้งบิน หรือประยุกต์ท่าเต้นรำจากท่าทางของกวาง เป็นต้น
ปัจจุบันชาวมูเซอยังนำการเต้นในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ มาเผยแพร่ให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมของชนเผ่า ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงภูมิปัญญาชาวบ้านและการให้ความสำคัญกับทุก ๆ ด้านที่อยู่รอบตัว โดยนำมาหลอมรวมเพื่อก่อให้เกิดพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ ล้วนมีความสำคัญและมีข้อจำกัดในการปฏิบัติ ซึ่งชาวมูเซอได้มีความเชื่ออย่างเคร่งครัด
โอกาสและวัตถุประสงค์ในการเต้นจะคึ
การเต้นจะคึ จะเต้นในงานสำคัญ หรือพิธีกรรมต่าง ๆ ของชนเผ่า ได้แก่
1. พิธีฉลองปีใหม่
พิธีฉลองปีใหม่ในภาษาชาวมูเซอ เรียกว่า “เขาะเจ๊าเว” ส่วนคนไทยจะเรียกว่าประเพณีกินวอ ชาวมูเซอจะมีการจัดพิธีฉลองปีใหม่ขึ้นปีละหนึ่งครั้ง พิธีนี้ไม่มีการกำหนดวันที่เฉพาะเจาะจงแน่นอน ส่วนใหญ่จะเลือกเวลาที่สมาชิกในหมู่บ้านอยู่ และเสร็จสิ้นภารกิจจากการทำไร่นาอาจเป็นช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม หรือเลยไปถึงเมษายนของแต่ละปีก็ได้ การฉลองปีใหม่แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือการฉลองปีใหม่ของผู้หญิง เรียกว่า “เขาะหลวง” หรือ “ปีใหญ่” มีระยะเวลา 6 วัน ช่วงที่สองเป็นการฉลองปีใหมีของผู้ชาย เรียกว่า “เขาะน้อย” หรือ “ปีเล็ก” มีระยะเวลา 6 วัน ระหว่างช่วงแรกกับช่วงที่ 2 จะเว้นระยะหยุดพัก 1-2 วัน ในงานปีใหม่จะมีพิธีกรรมเพื่อเป็นการเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวมูเซอ คือพระเจ้ากือซ่าและฝีบรรพบุรุษ ซึ่งนอกจากวนหยุดพัก 1-2 วันนั้นแล้ว จะมีการเต้นรำทุกคืนตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึงรุ่งสาง เรียกว่า “ก่าเคาะเว” เหตุที่ต้องมีการฉลองปีใหม่แยกกันระหว่างชายหญิงเป็นสองช่วงนั้น เนื่องจากสมัยก่อนผู้ชายชาวมูเซอต้องออกไปล่าสัตว์ ค้าขาย นอกหมู่บ้านเป็นเวลานาน ทำให้กลับมาร่วมฉลองปีใหม่ทัน ผู้หญิงในหมู่บ้านจึงจัดงานฉลองปีใหม่ก่อน เมื่อพวกผู้ชายกลับมาถึงหมู่บ้าน งานฉลองปีใหม่ก็เสร็จพอดี บรรดาผู้ชายจึงต้องจัดงานฉลองปีใหม่กันอีกทีหลัง
2. พิธีกินข้าวใหม่
เป็นพิธีที่มีความสำคัญเช่นเดียวกับพิธีฉลองปีใหม่ อาชีพหลักของชาวมูเซอคือการทำการเกษตร ชาวมูเซอเชื่อว่าผลผลิตพืชผลจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพระเจ้า ดังนั้นจึงมีพิธีกินข้าวใหม่เพื่อบวงสรวงต่อพระเจ้า เป็นการขออนุญาตเกี่ยวข้าวและเก็บพืชผลมาบริโภค ชาวมูเซอจะนำพืชผลหลากหลายชนิดที่แต่ละบ้านปลูกมาประกอบพิธีกรรมเพื่อให้การเกษตรอุดมสมบูรณ์ โดยมีพิธีบวงสรวงพระเจ้ากือซ่าและผีบรรพบุรุษ และมีการเต้นจะคึประกอบการบวงสรวงเพื่อให้พระเจ้ารับชมแล้วมีความสุข อีกทั้งยังเป็นการขอพรให้พระเจ้าอวยพรให้แก่ทุกคนมีความสุข ความเจริญ ปลูกพืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงามและเป็นการเต้นเพื่อขอบคุณที่พระเจ้าอวยพรให้ทำการเกษตรอุดมสมบูรณ์ พืชผลเจริญงอกงาม ฝนตกต้องตามฤดูกาลในปีต่อ ๆ ไป
ประเพณีกินข้าวใหม่ของชาวมูเซอ
ภาพจาก North Public News http://www.northpublicnews.com/ประเพณีกินข้าวใหม่-สื/
3. พิธีเรียกขวัญ
เป็นพิธีทำบุญด้วยการสร้างสะพานเล็กบริเวณริมทางเดินเข้าออกหมู่บ้าน และมีหมอผีเป็นผู้ทำพิธี มีการฆ่าหมูเซ่นผีเรือน ผูกข้อมือ สวดอวยพร และเต้นจะคึบวงสรวงพระเจ้า เพื่อขอให้สมาชิกในหมู่บ้านปราศจากโรคร้าย และเรียกขวัญของผู้ป่วยจากผีร้ายต่าง ๆ ซึ่งอาจพาออกไปจากร่างกายให้กลับเข้ามาอยู่ในตัวเพื่อดูแลร่างกาย และยังเป็นการเต้นเพื่อขอบคุณพระเจ้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยด้วย พิธีนี้จะกำหนดวันใดวันหนึ่งเป็นวันดีสำหรับทำพิธี
4. การต้อนรับแขกผู้มาเยือน
ในปัจจุบันนอกจากจะมีการเต้นจะคึเพื่อบวงสรวงและประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ แล้ว ยังมีการเต้นเพื่อต้อนรับแขกหรือผู้มาเยือนหมู่บ้าน เนื่องจากหมู่บ้านชาวเผ่ามูเซอนั้นมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก และชาวมูเซอเองก็เดินทางไปท่องเที่ยวยังหมู่บ้านอื่นด้วยเช่นกัน การเต้นจะคึจึงเป็นการเต้นเพื่อให้แขกผู้มาเยือนได้รับรู้ถึงศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวเขาเผ่ามูเซอ และสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนในหมู่บ้าน
“จะคึกื่อ” สถานที่ในการเต้นจะคึ
ทุกหมู่บ้านของชาวมูเซอจะมีสถานที่สำหรับการเต้นจะคึเพื่อประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญของหมู่บ้าน สถานที่ในการเต้นนั้นชาวมูเซอเรียกว่า “จะคึกื่อ” ซึ่งคำว่า “กื่อ” คือ ลานที่มีลักษณะกว้าง ในแต่ละหมู่บ้านจะมีจำนวน “จะคึกื่อ” ตามจำนวนของปู่จาร (ผู้นำทางพิธีกรรม) เช่น ในหมู่บ้านที่มีปู่จาร 3 ท่าน ก็จะมีจะคึกื่อ จำนวน 3 ลาน จะคึกื่อจะตั้งอยู่บริเวณใกล้ ๆ บ้านของปู่จาร โดยปู่จารจะเป็นผู้เลือกที่ตั้งของบ้านและจะคึกื่อ
ลักษณะของลานจะคึกื่อ
- ที่ตั้งของลานจะคึกื่อต้องอยู่ที่เนินสูงกว่าหมู่บ้าน เพราะชาวมูเซอมีความเชื่อว่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมอันสำคัญของหมู่บ้าน
- เป็นลานดินที่มีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรี มีขนาดกว้างเพียงพอสำหรับที่ผู้คนทั้งหมู่บ้านสามารถเต้นในลานได้ ลานจะคึจะมีรั้วอาจทำด้วยสังกะสีหรือทำด้วยไม้ไผ่เพื่อป้องกันสัตว์และสิ่งต่าง ๆ เข้าไปทำลายในลานจะคึกื่อ และทุกคนในหมู่บ้านต้องช่วยกันดูแลรักษาและทำความสะอาด
- ภายในลานจะคึกื่อ ตรงบริเวณกลางลานจะมีเนินเล็ก ๆ ความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร กว้างประเทาณ 1-2 เมตร สำหรับวางเครื่องบวงสรวงในการประกอบพิธีกรรม
- ภายในลานจะคึกื่อ นั้นห้ามพูดำหยาบคาย ห้ามนินทาว่าร้ายบุคคลอื่นโดยเด็ดขาด มีข้อห้ามที่ต้องปฏิบัติคือ ห้ามนำของมึนเมาเข้าไปดื่มกินในลานพิธี ถ้ามีการผ่าฝืนจะมีการปรับและบทลงโทษ โดยการขับไล่ออกจากหมู่บ้านให้ไปอาศัยอยู่ที่อื่น
“จะคึกื่อ” หรือลานเต้นจะคึ ของชุมชนมูเซอใน อ.แม่สอด จ.ตาก
ภาพโดย ภูบ่สูงแต่ห้วยมันลึก จาก https://pantip.com/topic/37303197
เครื่องบวงสรวง
ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ คือ พิธีฉลองปีใหม่ พิธีกินข้าวใหม่ พิธีเรียกขวัญในการรักษาการเจ็บป่วยนั้น ชาวมูเซอจะมีเครื่องบวงสรวง เพื่อเป็นสื่อที่แสดถึงความเคารพบูชาพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเครื่องบวงสรวงต่างๆ ทุกชนิดล้วนมีความสำคัญและมีความหมายในเชิงสร้างสรรค์และดีงามเพื่อก่อให้เกิดพิธีกรรมที่สมบูรณ์ โดยทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวมูเซอดีขึ้น ประกอบด้วย เทียนขี้ผึ้ง ข้าวตอก ข้าวเปลือก เครื่องเงิน ใบชาแห้ง ยาสูบ ด้ายผูกข้อมือ ข้าวและกับข้าว ซึ่งเครื่องบวงสรวงแต่ละชนิดมีความหมายในการนำไปใช้
ผู้แสดงในการเต้นจะคึ
ในการเต้นจะคึประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การเต้นในพิธีกรรมปีใหม่ พิธีกรรมกินข้าวใหม่ พิธีกรรมเรียกขวัญในการรักษาการเจ็บป่วย ทุกคนในหมู่บ้านจะสามารถเต้นได้ ไม่จำกัดทั้งเพศและวัย
แต่การเต้นเพื่อการต้อนรับนั้น ผู้นำของหมู่บ้านจะเป็นผู้คัดเลือกผู้เต้น
เพลงและเครื่องดนตรี
ในการเต้นจะคึ องค์ประกอบอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญสำหรับการเต้น คือ เครื่องดนตรี เราะในการเต้นจะคึนั้นผู้เต้นจะต้องฟังเสียงดนตรีเป็นหลักในการเต้น ในอดีตมีการใช้เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการเต้นจะคึก 6 ชนิด คือ แคนขนาดใหญ่ แคนขนาดกลาง แคนขนาดเล็ก ซึง ขลุ่ย และอ้าถ่า (มีลักษณะคล้ายจ้องหน่อง) ทำด้วยไม้ไผ่มีขนาดเล็ก เพื่อสะดวกในการพกพา มักนิยมเสียบไว้ในกระบอกไม้ไผ่ขนาดเล็กใต้ผ้าคาดเอว การเป่านั้นจะเป่าทีละ 3 ชิ้น แต่ละชิ้นมีความยาวประมาณ 10-15 เซ็นติเมตร
การเต้นจะคึ ของชุมชนมูเซอใน อ.แม่สอด จ.ตาก
ภาพโดย ภูบ่สูงแต่ห้วยมันลึก จาก https://pantip.com/topic/37303197
เครื่องแต่งกาย
เครื่องแต่งกายของชนเผ่ามูเซอเป็นการบ่งบอกถึงเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของชาวมูเซอ ในการเต้นจะคึประกอบพิธีกรรมนั้น โดยส่วนมากชาวมูเซอจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ เช่น
การเต้นในพิธีฉลองปีใหม่ ชาวมูเซอทุกคนจะตัดเย็บเสื้อผ้าชุดใหม่ในการเต้น เพื่อแสดงว่าปีใหม่ควรเริ่มต้นด้วยสิ่งใหม่ที่ดีที่สวยงามจะได้เป็นสิริมงคลกับตนเองไปตลอดทั้งปี ในการตัดเย็บเสื้อผ้านั้นชาวมูเซอจะตัดเย็บใช้เอง หรือผู้ที่มีฐานะอาจจ้างเพื่อนมูเซอในการตัดเย็บชุดใหม่
การเต้น จะคึ ขอชนเผ่ามูเซอในงานประเพณีปีใหม่ (กินวอ)
ภาพจาก มิวเซยีมไทยแลนด์ https://www.museumthailand.com/th/3877/storytelling/ประเพณีกินวอ/
เรียบเรียง: วราพรรณ พูลสวัสดิ์ ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
อ้างอิง:
อภิชาติ ภัทรธรรม. (2552). มูเซอ. วารสารจัดการป่าไม้. 3(5), 127-142. http://frc.forest.ku.ac.th/frcdatabase/bulletin/Document/Forest_management_journal005_009.pdf
สุนิษา สุกิน. การเต้นจะคึของหาหู่นะ (มูเซอดำ) กรณีศึกษา ตำนบด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก [วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต], จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. https://doi.nrct.go.th/ListDoi/Download/489459/d41d8cd98f00b204e9800998ecf8427e?Resolve_DOI=10.14457/CU.the.2009.958