แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์

พัฒนาการของการเรียนออนไลน์เริ่มปรากฏชัดในยุคข้อมูลข่าวสาร (Information Age) หรือในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 (ระหว่างปี พ.ศ. 2533 – 2542) การพัฒนาฮาร์ดแวร์ เช่น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือซอฟต์แวร์ เช่น CD-ROM หรือ PDF และระบบจัดการเรียนรู้ LMS (Learning Management System) เอื้อให้การจัดการเรียนการสอนสะดวกและประหยัดขึ้น ส่งผลให้การเรียนออนไลน์ค่อย ๆ เป็นที่นิยม โดยคำว่า ‘e-Learning’ ได้ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2542 โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการศึกษา เอลเลียต เมซี ในงานสัมมนา TechLearn ณ เมืองออร์แลนโด ประเทศสหรัฐอเมริกา1 และในปีเดียวกันนั้น Jones International University (JIU) ได้รับการยอมรับว่าเป็นมหาวิทยาลัยออนไลน์แบบเต็มตัวแห่งแรกของโลก (อัลเบอท ปอทเจส, 2564)


ภาพโดย macrovector จาก freepik.com

ความหมายของแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์
แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ (Online Learning Platform) คือ ระบบบริการออนไลน์ที่เอื้อให้ผู้เรียน ผู้สอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล เครื่องมือ และทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การเรียนรู้มิได้จำกัดอยู่ในระบบห้องเรียนแบบเดิม ๆ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการและพัฒนาการเรียนการสอน รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อดิจิทัล และสื่อสังคมออนไลน์

แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์
1. การเรียนรู้ผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Learning) 
มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นมาตรฐานในแวดวง e-Learning สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่สมาร์ทโฟนสามารถเชื่อมต่อกับทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ช่วยให้ผู้เรียนมีความคล่องตัวมากขึ้น สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกหนแห่ง

2. การเรียนรู้แบบทีละเล็กละน้อยผ่านคอนเทนต์สั้น ๆ (Micro Learning) 
แพลตฟอร์มที่พัฒนาโดยภาคเอกชนจะมีการนำเสนอคอนเทนต์เพื่อพัฒนาทักษะทางวิชาชีพ ให้สั้นกระชับ เพื่อตอบโจทย์คนทำงานที่มีเวลาจำกัด

3. การเรียนรู้ร่วมกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Learning) 
จะมีการใช้แพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ ผ่านทางเครื่องมือต่างๆ เช่น กระดานเสวนา (forum) ระบบแชร์ไฟล์ ไปจนถึงการสร้างกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Learning Circle) 

4. แพลตฟอร์มสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ (Learning Experience Platform- LXP) 
มีแนวโน้มที่วงการ e-Learning จะปรับเปลี่ยนจากการใช้ระบบการจัดการเรียนรู้ดั้งเดิมอย่าง LMS (Learning Management System) ไปสู่ระบบใหม่คือ LXP ที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้โดยยึด “ผู้เรียน” เป็นตัวตั้ง (learner-driven) แพลตฟอร์ม LXP จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่สรรหาคอนเทนต์ให้ผู้เรียน (content aggregator) สร้างเส้นทางการเรียน (learning pathway) และติดตามกิจกรรมหรือความคืบหน้าในการเรียน นอกจากนี้ LXP ยังส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้ใช้ มีเครื่องมือช่วยผู้สอนในการวางแผนการสอน การแนะนำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามอัธยาศัยและตั้งเป้าหมายการเรียนให้เหมาะกับระดับความสามารถของตน ไปจนถึงเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เรียนคนอื่น 

5. ปัญญาประดิษฐ์ (AI) 
จะมีการนำ AI เข้ามาใช้ในแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์มากขึ้น AI จะมีบทบาทเป็นผู้ช่วยในการจัดการเรียน อาทิ ช่วยลดภาระของครูในการจัดการบทเรียน เนื้อหา และการตรวจแบบฝึกหัด หรือช่วยจับคู่ผู้สอนกับผู้เรียนที่เหมาะสม ดังเช่น แพลตฟอร์ม VIPKid ของประเทศจีน ที่จับคู่นักเรียนกับครูเจ้าของภาษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และการใช้ AI Chatbot (ระบบหุ่นยนต์ตอบกลับอัตโนมัติ) เพื่อตอบคำถามพื้น ๆ หรือแนะนำข้อมูลความรู้ บทความวิชาการ ให้แก่ผู้เรียน

6. การเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยเกม (Gamification) 
จะมีการนำเกมมาใช้เป็นกุศโลบายเพื่อดึงดูดความสนใจผู้เรียน การนำคอนเทนต์ความรู้มาถ่ายทอดในรูปของเกมจะทำให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกสนาน ลดแรงกดดัน และเพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำเนื้อหา ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ในเกาหลีใต้สองแห่งได้นำเกมออนไลน์ Minecraft4 มาใช้เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ในช่วงที่พิพิธภัณฑ์ต้องปิดให้บริการเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 


ภาพโดย upklyak   จาก freepik.com

7. การเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริง (Immersive Learning) 
เทคโนโลยีโลกเสมือนเช่น VR/AR/MR5 จะถูกนำมาใช้ในแพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้น VR จะช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง การได้ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้สึกเพลิดเพลินไปกับการเรียนรู้ และจดจำเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น VR สามารถนำมาใช้ในการทดลองวิทยาศาสตร์เสมือนจริง การเรียนรู้ทักษะที่มีต้นทุนสูง เช่น การบิน หรือการโต้ตอบต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ พายุ อีกทั้งยังสามารถเปิดมิติใหม่ในการเรียนรู้ เช่น การใช้ระบบ 360° VR Video หรือวิดีโอ 360 องศา ในการเรียนรู้ทางการแพทย์ และการใช้ AR เพื่อการเรียนรู้ของคนตาบอด

ภาพจาก freepik.com

8. การเรียนผ่านสื่อวิดิทัศน์ (Video Learning) 
แพลตฟอร์มวิดีโออย่างเช่น YouTube เป็นเว็บสังคมที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และคาดการณ์ว่าในปี 2565 ปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 82% จะถูกขับเคลื่อนด้วยวิดีโอคอนเทนต์ การใช้สื่อวิดีทัศน์เพื่อถ่ายทอดความรู้หรือทักษะมีแนวโน้มที่จะถูกปรับเนื้อหาให้สั้นลง และตอบโจทย์เฉพาะบุคคลมากขึ้น มีการนำเสนอแผนภาพข้อมูล (Data Visualization) เพื่อช่วยเสริมในการอธิบายเนื้อหา และจะมีการผนวกเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น Interactive หรือ VR เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน



เรียบเรียง:
ธนวัฒน์ นามเมือง  ครูผู้ช่วย  สถาบัน กศน.ภาคเหนือ 

อ้างอิง: 
อัลเบอท ปอทเจส. (2564). แพลตฟอร์มออนไลน์ ภูมิทัศน์ใหม่ของการเรียนรู้. https://www.thekommon.co/online-learning-platform-lifelonglearningfocus/