พรรณไม้ในสถาบัน สกร.ภาคเหนือ : เอื้องเสื้อโคร่ง

ในบริเวณพื้นที่ของสถาบัน กศน. ภาคเหนือ นั้น แขกที่มาเยี่ยมเยียนหรือติดต่องานมักพบเห็นกล้วยไม้ชนิดหนึ่งขึ้นเกาะอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ทั่วบริเวณ บ้างเป็นเดี่ยว บ้างมีหลายต้นเกาะอยู่รวมกันเป็นพุ่มใหญ่ และหากเข้ามาในสถาบัน กศน. ภาคเหนือ ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนก็จะพบว่า กล้วยไม้ชนิดนี้มีช่อดอกชูไสวอยู่แทบทุกต้น โดยเฉพาะต้นที่เกาะรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ จะออกดอกเป็นช่อจำนวนมากแลดูสวยงามและน่าทึ่งมาก ดอกมีสีเขียวและมีลายพาดขวางเป็นสีน้ำตาล กล้วยไม้ชนิดนี้ มีชื่อว่า “เสือโคร่ง” หรือ “เอื้องเสือโคร่ง”

เอื้องเสือโคร่ง  ภาพโดย นัชรี อุ่มบางตลาด

เอื้องเสือโคร่ง นับเป็นพรรณไม้ที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งที่สถาบัน กศน. ภาคเหนือ เนื่องจากเป็นกล้วยไม้ที่พบเห็นได้มากที่สุดในบริเวณพื้นที่ของสถาบัน กศน. ภาคเหนือ และคงจะเป็นกล้วยไม้ที่มีอยู่แต่ดั้งเดิมในพื้นที่ เนื่องจากพบเห็นมามากว่า 30 ปีแล้ว และบุคลากรสถาบัน กศน.ภาคเหนือ ก็ได้ทำการอนุรักษ์โดยขยายพันธุ์เพิ่มเติมขึ้นอยู่เสมอ จึงไม่แปลกใจว่าจะพบเห็นกล้วยไม้ชนิดนี้จำนวนมากในพื้นที่แห่งนี้ ก่อนที่เราจะทำความรู้จักกับพรรณไม้ในสถาบัน กศน. ภาคเหนือ ที่ชื่อ “เอื้องเสือโคร่ง” นั้น อยากจะนำผู้อ่านไปทำความรู้จักกับสกุลของกล้วยไม้สกุลหนึ่งที่มีชื่อว่า สตอโรชิลูส (Staurochilus) หรือไตรโคกลอตติส (Trichoglottis) ภาษาไทยเรียกว่า “สกุลเสือโคร่ง” กันก่อน

กล้วยไม้สกุลเสือโคร่ง 

เสือโคร่ง เป็นสกุลหนึ่งในพืชวงศ์กล้วยไม้ Orchidaceae เป็นพืชอิงอาศัยที่มีการเจริญแบบไม่แตกกอ รากหนา มีทรงต้นโปร่ง ลำต้นค่อนข้างหนา ข้อห่าง ปล้องยาว ลำต้นยาว อาจห้อยอยู่กับกิ่งไม้หรืออาศัยเกาะหลักเป็นเครื่องพยุงการทรงตัวของลำต้น จึงมักพบเกาะอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ ใบหนาแคบยาวเรียว เรียงเป็นเส้นตรงซ้อนกันหลายใบ โคนใบเป็นฝักหุ้มลำต้น มีช่อดอกสั้นออกตามซอกใบ บางชนิดมีดอกเดียว บางชนิดมีหลายดอกออกเรียงแถวบนก้านดอกตามความยาวของช่อ ขนาดของดอกมีทั้งเล็กไปจนถึงดอกใหญ่พอสมควรแล้วแต่ชนิด โดยปกติกล้วยไม้สกุลเสือโคร่งพื้นกลีบดอกส่วนใหญ่เป็นสีเหลืองหรือเหลืองอมเขียว มีจุดแต้มหรือลายสีน้ำตาล น้ำตาลปนแดง เมื่อดอกบานกลีบดอกจะเปิดเต็มที่ บานอยู่ได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ กลีบดอกหนาและแข็งแรง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเป็นอิสระจากกัน เส้าเกสรสั้น ปากมีถุงหรือเดือย เกสรตัวผู้เกาะกันอยู่เป็นคู่ 2 คู่ ลักษณะประจำสกุลที่เด่นชัด คือ มีลิ้นอยู่ที่ถุงกระเป่า มีเขี้ยวอยู่ที่ปลายเส้าเกสรทั้ง 2 ข้าง และที่ปลายแผ่นปากที่สลับซับซ้อน ดอกมีสีลายเหลืองสลับน้ำตาลแดง กล้วยไม้สกุลเสือโคร่ง เป็นกล้วยไม้ที่ชอบแสงแดดมาก แต่ถ้ามีร่มเงาให้บ้างก็จะงอกงามดี ยิ่งกว่าอยู่กลางแดดจ้า

เอื้องเสือน้อย หรือ เอื้องเสือแผ้ว กล้วยไม้ในสกุลเสือโคร่ง
ภาพจาก https://orchidroots.com/detail/information/?pid=208156&role=pub

เอื้องเสือปลา กล้วยไม่ในสกุลเสือโคร่ง
ภาพจาก https://orchidroots.com/detail/information/?pid=208161&role=pub

กล้วยไม้ในสกุลเสือโคร่งนี้มีหลายชนิด แต่ชนิดที่คนไทยรู้จักกันอย่างกว้างขวางคือ เอื้องเสือโคร่ง พบกระจายอยู่ในธรรมชาติทั่วทุกภาค มักเกาะอยู่ตามต้นไม้ที่มีทรงต้นสูง จึงพบขึ้นตามลำต้นของต้นไม้ช่วงกลาง ๆ ต้นขึ้นไป โดยปกติกล้วยไม้สกุลเสือโคร่งพื้นกลีบดอกจะมีสีเหลืองอมเขียวมีจุด หรือลายสีน้ำตาล แต่เอื้องเสือโคร่งกลีบดอกจะมีลายตามขวางด้วยเหมือนลายเสือโคร่ง จึงนำชื่อกล้วยไม้ชนิดนี้ไปเป็นตัวแทนเรียกชื่อสกุลว่า สกุลเสือโคร่ง

เอื้องเสือโคร่ง

ลักษณะทั่วไป  
เป็นกล้วยไม้ต้นขนาดปานกลาง ส่วนใหญ่จะพบเกาะต้นไม้ตั้งลำต้นขึ้นตรง แต่ก็มีบางส่วนที่ทอดลำต้นเอนนอนกับพื้นตั้งเฉพาะยอดขึ้น รากออกตามข้อ หากต้นสูงยาวมากจะขยายพันธุ์ด้วยการตัดยอดที่มีรากประมาณ 2-3 ราก แยกไปปลูกเลี้ยงใหม่ ส่วนตอเดิมก็จะแตกหน่อใหม่ขึ้นมา เลี้ยงดูแลได้ง่าย ใบจะเรียงตัวสลับซ้ายขวา เว้นห่างกัน 2 ซม รูปขอบขนาน กว้าง 2 ซม. ยาว 8 - 10 ซม. ดอก ออกเป็นช่อตามข้อ ก้านช่อยาว 20-40 ซม. ดอกมีขนาดใหญ่ มีลวดลายสะดุดตา สีของดอกเปลี่ยนตามอายุของดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอก รูปรีแกมขอบขนาน สีเหลืองเข้ม มีแต้มตามขวางสีน้ำตาลแดง กลีบปากแผ่เป็นเดือยสีขาว มีแต้มเล็กๆ สีม่วงแดง ดอกบานเต็มที่มีขนาดกว้าง 4 - 5 ซม. พบทั่วประเทศ ตามป่าดิบแล้ง ออกดอกช่วงเดือน กุมภาพันธ์-พฤษภาคม

สถานภาพ
เป็นพืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาไซเตส

เอื้องเสือโคร่ง  ภาพโดย นัชรี อุ่มบางตลาด

ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ของเอื้องเสือโคร่ง
1. ชื่อวิทยาศาสตร์ Scientific Name: Staurochilus fasciatus (Rchb.f.) Ridl. (1896)
ชื่อวิทยาศาสตร์แบบเต็ม: Staurochilus fasciatus (Rchb.f.) Ridl. ex Pfitzer
ชื่อพ้อง: Trichoglottis fasciata Rchb.f. (1872)
2. ชื่อไทย Vernacular name: เอื้องเสือโคร่ง
3. ชื่อท้องถิ่น (Local Name): เอื้องเสือ เอื้องลายเสื้อ
4. ชื่อสามัญ (Common Name):
5. วงศ์ (Family): กล้วยไม้ Orchidaceae วงศ์ย่อย Subfamily: Epidendroideae
6. สกุล (Genus) : Staurochilus (Trichoglottis)
7. ลักษณะวิสัย (Habit) : กล้วยไม้อิงอาศัย เกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้
8. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
  • ลำต้น ลำต้นรูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลางต้นประมาณ 0.8-1.5 ซม. ขึ้นตั้งตรง หรือทอดเอนจนถึงเกาะเลื้อย ห้อยลง ลำต้นกลมแข็ง ยาวได้ถึง 60 ซม. หรือมากกว่านี้ 
  • ใบ ใบรูปขอบขนาดจนถึงรูปแถบ ขนาดกว้าง 2-3.5 ซม. ยาว 12-15 ซม. ปลายใบเว้า หยักมน เรียงตัวสลับซ้ายขวา เว้นระยะห่างกัน 2-5 ซม.
  • ราก  เป็นระบบรากอากาศ รากใหญ่แข็งและยาวออกตามข้อ 
ภาพโดย นัชรี อุ่มบางตลาด
  • ช่อดอก  ออกดอกเป็นช่อตามข้อ ก้านช่อยาว 20-40 ซม. ดอกขนาด 3.5 - 4 ซม. เรียงห่าง ๆ กัน ไม่รวมเป็นกลุ่ม
ภาพโดย นัชรี อุ่มบางตลาด
  • ดอก  ดอกเมื่อบานเต็มที่กว้าง 4 - 5 ซม. กลีบดอกทั้งห้ากลีบอวบหนา กลีบเลี้ยงและกลีบดอกรูปรีแกมรูปขอบขนาน เป็นสีเหลืองเข้ม มีแต้มตามขวางสีน้ำตาลแดงคล้ายลายเสือโคร่ง กลีบปากสีขาวแผ่เป็น 3 แฉก กลางกลีบปากมีแต้มจุดเล็ก ๆ สีม่วงแดงหรือสีน้ำตาลแดง แฉกกลางมีขนปกคลุม ปลายแฉกสีเหลือง เส้าเกษรสีเหลือง อ้วนสั้น
  • ช่วงเวลาในการออกดอก  กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 
ดอกเอื้องเสือโคร่ง  ภาพโดย: นัชรี อุ่มบางตลาด

9. ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ 
มีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ในอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย ทั้งกัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม เกาะบอร์เนียว สุมาตรา

ส่วนในประเทศไทยพบได้ในทุกภูมิภาค ตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ตามที่โล่งแจ้ง แสงแดดจัด 


แผนที่แสดงถิ่นกำหนดและการกระจายพันธุ์ของเอื้องเสือโคร่ง
ภาพจาก : Plants of the World Online  https://powo.science.kew.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:660515-1

10. การปลูกและการขยายพันธุ์ 
วิธีการการปลูก ให้เกาะกับต้นไม้จะดีที่สุด สามารถปลูกในกระถางได้ ใช้เครื่องปลูกอิฐมอญ ถ่านดำ ทุบเป็นก้อนเล็ก ๆ รองก้นกระถาง จากนั้นนำต้นลงปลูกแล้วปิดทับส่วนที่เหลือด้วยกาบมะพร้าวแห้งหั่นขวางเป็นชิ้นเล็กๆ นำกระถางปลูกไปแขวนในที่มีแสงแดดส่องถึงและมีลมพัดโกรกดีตลอดทั้งวัน รดน้ำพอชุ่มวันละครั้ง จะมีดอกสวยงามเมื่อถึงฤดูกาล
11. การใช้ประโยชน์ 
ปลูกเพื่อไม้ประดับ ใช้งานด้านภูมิทัศน์

เขียน/เรียบเรียง/ถ่ายภาพ:
นัชรี อุ่มบางตลาด  ครู ชำนาญการ  สถาบัน กศน. ภาคเหนือ

อ้างอิง:
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา. (2556). พืชอนุรักษ์ในบัญชีไซเตส (CITES) : กล้วยไม้ป่าในผืนป่าตะวันออก ตอนที่ 1. ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด. https://www.dnp.go.th/thailand-wen/issues_tw/pdf_issues/orchid_west.pdf

องค์การสวนพฤกษศาสตร์, ฐานข้อมูลพรรณไม้. (ม.ป.ป.).  เอื้องเสื้อโคร่ง. http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=1370

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน), อุทยานหลวงราชพฤกษ์. (2560, 5 กันยายน). เอื้องเสือโคร่ง. https://www.royalparkrajapruek.org/Plants/view?id=1327

นายเกษตร. (2555, 9 พฤษภาคม). “เอื้องเสือโคร่ง” สวยสมชื่อ. ไทยรัฐออนไลน์. https://www.thairath.co.th/content/258725

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. Staurochilus fasciatus. https://thbif.onep.go.th/taxons/information/10838

ปราชญ์ ผดุงพล. (2555). การศึกษาและพัฒนากระถางช่วยดูแลกล้วยไม้เชิงพาณิชย์ที่มีการเจริญเติบโตระบบรากอากาศ [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต], มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. http://thesis.swu.ac.th/swuthesis/De_Inno/Prach_P.pdf