พรรณไม้ในสถาบัน สกร.ภาคเหนือ : เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด

ปัจจุบันพืชพรรณทั่วโลกจำนวนมากตกอยู่ในสภาวะถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ สาเหตุหลักเนื่องจากถิ่นอาศัยถูกทำลาย โดยเฉพาะพืชในวงศ์กล้วยไม้ซึ่งพบมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของกล้วยไม้ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันกล้วยไม้หลายชนิดในป่าธรรมชาติอยู่ในสภาวะโดนคุกคาม ทั้งจากกลุ่มคนที่นิยมเก็บหากล้วยไม้ป่าเพื่อนำมาจำหน่าย และสภาพแวดล้อมที่เกิดการเปลี่ยนจากภัยคุกคามทางธรรมชาติ สภาพพื้นที่ป่าลดน้อยลงและปัญหาการเผาป่าในช่วงฤดูแล้งส่งผลให้พืชพรรณบางชนิดรวมทั้งกล้วยไม้โดนทำลายจากความร้อนของไฟป่าไปด้วย น่าเป็นห่วงว่าในอนาคตเราอาจสูญเสียกล้วยไม้ในพื้นที่ป่าธรรมชาติเหล่านั้นไป

สถาบัน กศน.ภาคเหนือ มีพื้นที่เกือบ 200 ไร่ มีพืชพรรณที่หลากหลายและน่าสนใจ โดยเฉพาะกล้วยไม้หลากหลายพันธุ์ในสถาบัน กศน.ภาคเหนือ ทั้งมีอยู่เดิมตามธรรมชาติและปลูกเพิ่มเติมในภายหลัง ในบทความเรื่องนี้ จะนำท่านมาทำความรู้จักกับกล้วยไม้ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในสถาบัน กศน. ภาคเหนือ ซึ่งเป็นกล้วยไม้ป่าหรือกล้วยไม้ท้องถิ่นของทางภาคเหนือตอนบนของไทย นั่นก็คือ “เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด”

เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด
ภาพโดย นัชรี อุ่มบางตลาด

เอื้องกุหลาบ

คำว่า “กุหลาบ” ในวงการกล้วยไม้ หมายถึงสกุลหนึ่งของพืชในวงศ์กล้วยไม้ ซึ่งมีชื่อสกุลว่า แอริเดส (Aerides) ตั้งขึ้นโดย Jado de Loureiro นักพฤกษศาสตร์ชาวโปรตุเกส เมื่อปี พ.ศ. 2333 เป็นคำที่มาจากภาษากรีก หมายถึง กล้วยไม้อากาศ (Air Plants) ซึ่งก็คือ กล้วยไม้ที่เป็นพืชอิงอาศัยและหาอาหารได้จากอากาศ  ที่เรียกกันว่า “เอื้องกุหลาบ” คงเป็นเพราะนักกล้วยไม้บางท่านเกรงว่าหากเรียก “กุหลาบ” อาจทำให้คนทั่วไปสับสนกับดอกไม้ประเภทอื่น จึงเติมคำว่าเอื้องเข้าไปข้างหน้า จะได้ทราบว่า “เอื้องกุหลาบ” หมายถึงกล้วยไม้ชนิดหนึ่ง นั่นเอง

กล้วยไม้สกุลกุหลาบ มีทั้งสิ้นกว่า 20 ชนิด เป็นกล้วยไม้ที่พบตามธรรมชาติในป่าแถบเอเชียบริเวณที่เป็นเขตร้อน ตั้งแต่ เนปาล จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนิวกินี 

เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด

ในบริเวณพื้นที่ของ สถาบัน กศน. ภาคเหนือ พบกล้วยไม้สกุลกุหลาบอยู่ชนิดหนึ่ง ชื่อว่า เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด โดยมีการนำมาปลูกบริเวณหน้าอาคารห้องประชุมสัมมนา

เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด  หน้าอาคารสัมมนา ภายในสถาบัน กศน.ภาคเหนือ
ภาพโดย : นัชรี อุ่มบางตลาด

ลักษณะทั่วไป
เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด เป็นกล้วยไม้ในสกุลกุหลาบ Aerides ซึ่งเป็นสกุลหนึ่งของพืชวงศ์กล้วยไม้ เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยเกาะอยู่กับต้นไม้ใหญ่ อาจขึ้นต้นเดียวโดด ๆ หรือขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ บางต้นมียอดเดียว บางต้นแตกเป็นกอมีหลายยอด ลำต้นตั้งตรงหรือเอน เมื่อต้นสูงหรือยาวขึ้นจะห้อยย้อยลงมา แต่ปลายยอดยังคงชี้ขึ้นข้างบน ในแต่ละต้นจะมีได้หลายยอด ออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ดอกเป็นช่อแบบกระจายที่ข้างลำต้น ช่อดอกโค้ง ปลายช่อห้อยลงมา โค้งดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คล้ายกลิ่นกุหลาบ ถ้าเป็นต้นที่แตกกอใหญ่ ๆ จะออกดอกพร้อมกันเป็นสิบช่อ สวยงามมาก

สถานภาพ เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด เป็นพืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาไซเตส* 
หมายเหตุ
อนุสัญญาไซเตส คือ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ เป็นความตกลงระดับนานาชาติระหว่างรัฐบาลของประเทศ/รัฐต่างๆ ซึ่งมีการลงนามรับรองจากผู้แทน ประเทศต่าง ๆ ถึงปัจจุบันมีประเทศสมาชิกรวมทั้งสิ้น จำนวน 184 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
การอนุรักษ์บัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาไซเตส เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่ใกล้
สูญพันธุ์ สามารถค้าได้แต่ต้องมีการควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ที่มากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของชนิดพันธุ์ ทั้งนี้ ชนิดพันธุ์ในบัญชี 2 ยังครอบคลุมถึงชนิดพันธุ์ที่มีความคล้ายคลึงกัน (look-alike) ด้วย โดยประเทศส่งออกจะต้องออกใบอนุญาตส่งออกเพื่อรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้ง จะไม่กระทบต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ในธรรมชาติ

 ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ของเอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด

1. ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific Name): Aerides falcata Lindl. & Paxton
2. ชื่อไทย (Vernacular name): เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด
3. ชื่อท้องถิ่น (Local Name): เอื้องกุหลาบป่า เอื้องกุหลาบพวง (กทม.) เอื้องคำสบนก
เอื้องด้ามข้าว (ลำปาง) เอื้องปากเป็ด (กทม. เชียงใหม่)
4. ชื่อสามัญ (Common Name): Sickle-Shaped Aerides
5. วงศ์ (Family): กล้วยไม้ Orchidaceae วงศ์ย่อย: Vandoideac
6. สกุล (Genus) : กุหลาบ Aerides
7. ลักษณะวิสัย (Habit) : กล้วยไม้อิงอาศัย (เกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้)
8. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
  • ลำต้น ลำต้นยาวบิดเป็นเกลียวเล็กน้อย เมื่อต้นสูงหรือยาวขึ้นจะห้อยย้อยลงมา แต่ปลายยอดยังคงชี้ขึ้นข้างบน ลำต้นอาจยาวได้ถึง 1 เมตรครึ่ง มักแตกแขนงเป็นหลายยอด
  • ใบ ใบแบนเป็นรูปแถบ เรียงสลับซ้ายขวาห่างกัน ปลายใบเว้าหยักไม่เท่ากัน ใบค่อนข้างบางไม่แข็งทื่อ ขอบใบบิดเล็กน้อย โคนใบหุ้มลำต้นยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร กว้าง 2-4 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น ถ้าต้นงามสมบูรณ์มาก ใบก็ใหญ่ขึ้น แต่ถ้าต้นไม่สมบูรณ์แคะแกรนใบก็จะเล็กลง
  • ราก  เป็นระบบรากอากาศ หรือสามารถหาอาหารได้จากอากาศ
ลักษณะต้นเอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด
ภาพโดย : นัชรี อุ่มบางตลาด
  • ช่อดอก ช่อดอกมีลักษณะเป็นพวงห้อยลง ความยาวช่อใกล้เคียงกับใบ ประมาณ 15-30 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอก 20-30 ดอก ขึ้นกับความสมบูรณ์ของต้น ในแต่ละต้นมักจะออกดอกพร้อมกันหลายช่อ เมื่อขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่จึงดูสวยงามมาก


ลักษณะช่อดอก เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด
ภาพโดย นัชรี อุ่มบางตลาด

  • ดอก เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิดเป็นกล้วยไม้ที่มีปลายปากกว้างอ้าออก ยื่นไปข้างหน้า มีเดือยดอกค่อนข้างตรง ซ่อนอยู่ข้างใต้ชิดขนานกับปลายปาก ขนาดดอกเมื่อบานกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นดอกกุหลาบ ดอกบานนานประมาณ 1-2 สัปดาห์ สีพื้นของ
    กลีบดอก เป็นสีขาว มีแต้มสีม่วงอมชมพูที่ปลายกลีบ กลีบเลี้ยง ด้านบนรูปรี กว้างจนเกือบกลม ปลายกลีบแหลม กลีบเลี้ยงคู่ด้านข้าง เป็นรูปครึ่งวงกลมและเบี้ยว ปลายกลีบแหลมจนถึงเป็นติ่งแหลม โคนกลีบเชื่อมกับคางเส้าเกสร กลีบปาก แผ่เป็น 3 แฉก เปิดกว้าง แฉกกลางมีขนาดใหญ่รูปครึ่งวงกลม ริมแผ่นปากเป็นฝอย มีลายสีม่วงแดงแล้วจางเป็นสีขาว กลีบดอก รูปรีปลายกลีบหยักเป็นฟันไม่สม่ำเสมอ ปลายกลีบมนสีม่วง ปลายเว้า กลางกลีบคอด
  • ช่วงเวลาในการออกดอก  เมษายน-พฤษภาคม
ลักษณะดอก เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด
ภาพโดย นัชรี อุ่มบางตลาด

ลักษณะดอก ดอกเอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด  
ภาพจาก Facebook หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF
https://ms-my.facebook.com/ForestHerbarium/posts/6829819653710330
  • ผล
ลักษณะผล เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด
ภาพโดย นัชรี อุ่มบางตลาด

10. ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์
เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด มีถิ่นกำเนิดและกระจายพันธุ์ในธรรมชาติค่อนข้างกว้าง พบได้ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งกัมพูชา ไทย ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม จีนตอนใต้ไปถึงจีนกลาง และภูมิภาคอินโดจีน ดังพื้นที่สีเขียวที่แสดงในภาพแผนที่ ส่วนพื้นที่สีส้มในแผนที่ คือด้านตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย เป็นพื้นที่ที่สงสัยว่ามีการพบเอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิดปรากฏอยู่

ส่วนในประเทศไทยพบได้ในทุกภูมิภาค ตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และพบบ้างในป่าดิบเขาและป่าดิบแล้ง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 750-1,300 เมตร ตามที่โล่งแจ้ง แสงแดดจัดและแสงแดดรำไร 

แผนที่แสดงถิ่นกำหนดและการกระจายพันธุ์ของเอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด
ภาพจาก : Plants of the World Online 
https://powo.science.kew.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:615287-1

11. การปลูกและการขยายพันธุ์
เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ใช้วิธีการปลูกโดยให้เกาะกับต้นไม้ยืนต้นจะดีที่สุด ถ้าพื้นที่มีจำกัดสามารถปลูกในกระเช้าแขวนหรือในกระถางได้ โดยเครื่องปลูกเป็นกาบมะพร้าสับ รองก้นกระถางด้วยถ่าน ชอบแสงแดดปานกลาง ถ้าอยู่ในร่มมากเกินไปจะไม่ออกดอก
 
12. การใช้ประโยชน์ 
ปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม

ชื่อเอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด หรือ กระเป๋าปิด กันแน่ 
กล้วยไม้สกุลกุหลาบที่พบตามธรรมชาติในประเทศไทย ที่มีชื่อคล้ายกันมากคือ เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด และ เอื้องกุหลาบกระเป๋าปิด ทำให้มีหลายคนสับสนระหว่างชื่อ กล้วยไม้พันธุ์นี้ชื่ออะไรกันแน่ อันทีจริงแล้ว ทั้ง 2 ชนิด เป็นกล้วยไม้ในสกุลกุหลาบเช่นเดียวกัน แต่เป็นคนละพันธุ์ หากดูจากชื่อวิทยาศาสตร์จะเป็นว่ามีชื่อแตกต่างกัน 
  • เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด มีชื่อวิทยาศาตร์ว่า Aerides falcata Lindl.  
  • เอื้องกุหลาบกระเป๋าปิดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aerides odorata Lour.  
ทั้งสองพันธุ์มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่จะสังเกตความแตกต่างได้ชัดเจนจากลักษณะดอก โดยดอกเอื้องกุหลาบกระเป๋าปิด กลีบปากดอก มีลักษณะหุบปิดติดกันอย่างเห็นได้ชัดจะปิดไม่เปิดกว้างอย่างเอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด 

ลักษณะดอกเอื้องกุหลาบประเป๋าปิด   
ภาพจาก hhttps://afriorchids.co.za/products/afri818

เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด ในสถาบัน กศน. ภาคเหนือ ปลูกด้วยวิธีการเกาะกับลำต้นต้นไม้ใหญ่บริเวณหน้าอาคารอำนวยการ และหน้าอาคารสัมมนาทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ ต้นยังไม่เป็นกอใหญ่เนื่องจากเพิ่งปลูกในระยะเวลาเพียง 1-2 ปี แต่ก็ได้ออกดอกให้ได้ชื่นชมกันไปแล้วในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่าน และในการทำกิจกรรมจิตอาสาเนื่องในโอกาสวันสำคัญอย่างเช่นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระราชินีฯ ที่ผ่านมา ชาว กศน. ภาคเหนือ ได้ร่วมใจกันขยายพันธุ์กล้วยไม้หลากหลายชนิดรวมทั้งได้ขยายพันธุ์เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิดเพิ่มขึ้นอีกหลายต้นด้วย คาดว่าในปีหน้าชาว กศน. ภาคเหนือ และแขกผู้มาเยี่ยมเยือน คงได้ชื่นชมดอกเอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิดที่ช่อดอกใหญ่ขึ้น และสวยงามมากขึ้นเช่นกัน

เขียน/เรียบเรียง/ภาพประกอบ: 
นัชรี อุ่มบางตลาด  ครู ชำนาญการ  สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง:
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา. (2556). พืชอนุรักษ์ในบัญชีไซเตส (CITES) : กล้วยไม้ป่าในผืนป่าตะวันออก ตอนที่ 1. ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด. https://www.dnp.go.th/thailand-wen/issues_tw/pdf_issues/orchid_west.pdf

กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา. (ม.ป.ป). ระบบการควบคุมของไซเตส. http://portal.dnp.go.th/Content/citesdnp?contentId=1600

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน), อุทยานหลวงราชพฤกษ์. (2560, 12 กันยายน). เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด. สืบค้นจาก https://www.royalparkrajapruek.org/Plants/view?id=36

ไพบูลย์ ไพรีพ่ายฤทธิ์. (2518). กุหลาบกระเป๋าเปิด. วารสารพืชสวน, 11 (2), 48-53. https://kukrdb.lib.ku.ac.th/journal/JHORT/search_detail/dowload_digital_file/317562/72626

องค์การสวนพฤกษศาสตร์. (2559, 25 สิงหาคม). เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด. http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botabot_id
=2792