ทองดี ธุระวร หรือ ตุ๊โฟ ศิลปินเตหน่ากู ชาวกะเหรี่ยง
ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส
วีดิโอ ความเป็นมาของเตหน่ากู จากช่องยูทูป สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
https://www.youtube.com/watch?v=N8gH0rYtlIA
https://www.youtube.com/watch?v=N8gH0rYtlIA
ลักษณะของเตหน่ากู
เตหน่ากู มีลักษณะโค้งงอคล้ายพิณ สายข้างหนึ่งยึดตรึงกับกล่องเสียง สายอีกข้างหนึ่งถูกตรึงกับคอที่มีรูปทรงโค้งงอ จะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบ เตหน่ากูประกอบ 5 ส่วนหลัก คือ
- ลำตัวหรือกล่องเสียง ทำจากไม้อะไรก็ได้ที่เนื้อไม้ไม่แข็งหรือไม่อ่อนเกินไป โดยใช้ไม้ที่เป็นท่อนมาเหลาและกลึงขึ้นรูปร่างเหมือนกล่องทรงรีหรือสี่เหลี่ยมคางหมู แล้วเจาะไม้ด้านในให้เป็นโพรง ขัดผิวไม้ให้เรียบ
- คอหรือทวน มีลักษณะเป็นก้านยาวโก่งและโค้งสูงขึ้น โดยทำจากแผ่นไม้เนื้อแข็งที่มีความหนาประมาณ 2 นิ้ว กว้างอย่างน้อย 8 นิ้ว นำมาตัดให้โค้งงอ ถ้าไม้มีความกว้างมากก็จะได้คอที่มีความโค้งมาก ที่คอจะเจาะรูเพื่อใส่ลูกบิดตั้งสายเสียง
- ฝาปิดโพรงกล่องเสียงและยึดสาย เดิมทำจาหนังสัตว์ แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิจะมีผลกับหนังสัตว์ อากาศเย็นหนังสัตว์จะแข็ง อากาศร้อนหนังสัตว์จะอ่อนตัว ทำให้มีผลต่อการตั้งสาย ในปัจจุบันจึงมักทำฝาปิดโพรงด้วยแผ่นโลหะบาง ๆ เช่น แผ่นสังกะสี
- ลูกบิดปรับตั้งสาย มักทำจากไม้เนื้อแข็ง หรือไม่ไผ่ที่มีอายุ 3-4 ปี ลูกบิดอาจมีได้ตั้งแต่ 6-12 อัน แล้วแต่จำนวนสายที่ผู้ประดิษฐ์เตหน่ากูออกแบบ
- สาย สายเตหน่ากูเดิมทำจากเอ็นของสัตว์ รากเถาวัลย์ หรือหวาย แต่มีขั้นตอนในการทำที่ค่อนข้างยาก ต้องแช่น้ำอย่างน้อยครึ่งวันเพื่อให้เหนียวนุ่น เมื่อแช่น้ำก็จะส่งกลิ่นเหม็น ปัจจุบันจึงไม่นิยมนำมาทำสายเตหน่ากู แต่จะใช้เส้นเอ็นหรือลวด เช่น สายเบ็ด หรือสายเบรกรถจักรยานมาทำเป็นสายเตหน่ากู
ลักษณะของเตหน่ากู ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส
ลูกบิดยึดสายและปรับตั้งเสียงของเตหน่ากู ภาพโดย สราวุธเบี้ยจรัส
ในอดีต เครื่องดนตรีเตหน่ากูถูกใช้ในการให้ความเพลิดเพลิน และหนุ่มชาวกะเหรี่ยงใช้ในการเกี้ยวพาราสีเท่านั้น ต่อมาศิลปินและปราชญ์ได้นำมาใช้ในการขับเคลื่อนเรื่องราวทางวัฒนธรรมกับคนพื้นราบ ให้เกิดความเข้าใจวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงในทางที่ถูกต้อง เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และเป็นที่รู้จักเครื่องดนตรีเตหน่ากูในเวลาต่อมา
นายทองดี ธุระวร หรือ ตุ๊โฟ ศิลปินเตหน่ากูและปราชญ์ชาวกะเหรี่ยง ที่คนเมืองรู้จักกันในนามพะตีทองดี ได้กล่าวถึงเครื่องดนตรีเตหน่ากูในยุคปัจจุบันไว้ได้ว่า เครื่องดนตรี เตหน่ากู เป็นที่รู้จักแก่สังคมในเมืองได้ไม่นาน เพราะแต่ก่อนเป็นเพียงเครื่องดนตรีที่ถูกใช้ในการเล่นประกอบการเล่าเรื่อง การเกี้ยวพาราสี และเพื่อความบันเทิงใจเท่านั้น ซึ่งจะเกิดขึ้นในชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่ยังคงวิถีชีวิตดั้งเดิม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2537 เป็นช่วงที่วัฒนธรรมกะเหรี่ยงเริ่มเสื่อมสลาย ชนเผ่าถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ “ทำลายป่า” จึงได้มีนโยบายให้คนออกจากป่า ซึ่งมีผลกระทบต่อชาวกะเหรี่ยงที่มีวิถีชีวิตพึ่งป่า ในสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุผลให้ศิลปินและปราชญ์ชาวกะเหรี่ยงหลายท่านออกจากบ้านป่า เพื่อบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตการดำรงอยู่กับธรรมชาติ โดยใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่าจากป่าสู่เมือง เนื้อหาในเพลงจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตเป็นลักษณะของการระบายความรู้สึกและขอความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งทำให้ความสำคัญในเนื้อเพลงของบทเพลงอาจถูกลดทอนลง ดนตรีกลายเป็นเครื่องมือในการนำเสนอเรื่องราวเพื่อจะได้มาซึ่งความอยู่รอดของชุมชนชาวกะเหรี่ยง
ต่อมาองค์กรพัฒนาเอกชนได้ร่วมมือกับศิลปินและปราชญ์ชาวกะเหรี่ยงจัดกิจกรรมการแสดงดนตรี เพื่อเป็นสื่อและเวทีให้คนพื้นราบได้เรียนรู้วิถีชีวิตคนกับป่าของกะเหรี่ยง ว่าแท้จริงแล้วคนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ ศิลปินหลายท่านได้ออกจากบ้านป่าพร้อมเครื่องดนตรีเตหน่ากู เพื่อเป็นตัวแทนของชุมชน และเครื่องดนตรีเตหน่ากูก็เป็นที่รู้จักในสังคมเมืองตั้งแต่นั้นมา
ณัฐวุฒิ ธุระวร หรือ คลีโพ ศิลปินชาวกระเหรี่ยงได้กล่าวถึง วิวัฒนาการของเตหน่ากูว่า แต่เดิมนั้นเตหน่ากูใช้ในการเกี้ยวพาราสีของชายหนุ่มชาวกระเหรี่ยง ชายหนุ่มคนใดเล่นดนตรีเป็นก็จะเป็นที่สนใจมากกว่าคนอื่น ๆ ในการเกี้ยวพาราสีมักจะใช้บทกวีที่เรียกว่า “ธา” ในการประกอบเสียงเตหน่ากู ดังนั้นสิ่งที่สวยงามกว่าเสียงดนตรีจากเตหน่ากู คือเนื้อหาของบทกวีที่ชายหนุ่มเขียนให้หญิงสาว และเตหน่ากูในอดีตจะมีแค่ 6 สาย จึงมีโน้ตแค่ 6 เสียง การเล่นก็จะเล่นทำนองเดิม ๆ ซึ่งเป็นทำนองเก่าแก่วนเวียนไป ปัจจุบัน ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เครื่องดนตรีเตหน่ากู มีได้ถึง 14 สาย และนำทฤษฎีวิธีการเล่นดนตรีสากลเข้ามาใช้ ทำให้เล่นดนตรีได้หลากหลายขึ้น และสามารถเล่นกับอุเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีสากลอื่น ๆ ได้ด้วย
วีดิโอ พัฒนาการของเตหน่ากู จากช่องยูทูป สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
https://www.youtube.com/watch?v=4NW-giU8BN8
เตหน่ากู 2 ก้าน 14 สาย ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส
เขียน/เรียบเรียง:
ธนากร หน่อแก้ว ครูชำนาญการ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
เฉลิมพล อินต๊ะเสน เจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
นัชรี อุ่มบางตลาด ครู ชำนาญการ สถาบัน กศน. ภาคเหนือ
เฉลิมพล อินต๊ะเสน เจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
นัชรี อุ่มบางตลาด ครู ชำนาญการ สถาบัน กศน. ภาคเหนือ
อ้างอิง:
ทองดี ธุระวร. ภูมิปัญญาเครื่องดนตรีเตหน่ากู อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่. สัมภาษณ์. 2562
ธนพชร นุตสาระ. (2561). แนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรมดนตรีเตหน่ากูของชาวกะเหรี่ยง ตำบลบ้านจันทร์
อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่. วารสารวิจัยราชภัฎเชียงใหม่. 15(2), 84-99. http://cmruir.cmru.ac.th/handle/123456789/997
สถาบัน กศน. ภาคเหนือ. (2563, 8 เมษายน). ประวัฒิความเป็นมาของเตหน่ากู [วีดิโอ]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=N8gH0rYtlIA
สถาบัน กศน. ภาคเหนือ. (2563, 8 เมษายน). พัฒนาการของเตหน่ากู [วีดิโอ]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=4NW-giU8BN8