การแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงโปว์ บ้านแม่จองไฟ

การแต่งกาย คือ การที่มนุษย์นำเครื่องนุ่งห่มมาใช้ในการห่อหุ้มร่างกาย การแต่งกายจะสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้สิ่งที่ได้มาจากธรรมชาติ เช่น ใบไม้ หนังสัตว์ ขนนก ฯลฯ แต่ต่อมามีการดัดแปลงการใช้เครื่องห่อหุ้มจากธรรมชาติเพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น เช่น การผูก มัด สาน ถัก ทอ จนมาถึงการตัดเย็บ และกลายเป็นเทคโนโลยีสิ่งทอในปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าการแต่งกายบ่งบอกถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมของแต่ละชุมชนว่ามีลักษณะเป็นเช่นไร ถ้าในภูมิประเทศที่มีอากาศหนาว ก็จะแต่งกายมิดชิดหลายชั้นเพื่อช่วยบรรเทาความหนาว แต่ถ้าถ้าภูมิประเทศมีอากาศร้อนก็จะแต่งกายที่มีผ้าน้อยชิ้นหรือโปร่งสบาย อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนถึง สังคม ศาสนา วัฒนธรรม รวมถึงรสนิยมเฉพาะตัวบุคคลด้วย โดยเฉพาะการแต่งกายของชนเผ่าต่าง ๆ นั้น ล้วนแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณะเฉพาะของแต่ละชนเผ่าได้อย่างชัดเจน ดังเช่น ชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่บ้านแม่จองไฟ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ มีเอกลักษณ์การแต่งกายเฉพาะกลุ่ม ซึ่งหากผู้คนพบเห็นก็จะทราบได้ว่าเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านแม่จองไฟ การแต่งกายของคนบ้านแม่จองไฟ สามารถแบ่งการแต่งกายตามเพศ อายุ ได้ดังนี้


1. การแต่งกายของเด็กสาวและหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน 
เด็กหญิงและหญิงที่ยังไม่แต่งงานจะใส่ชุดสีขาว ทรงสอบ ยาวถึงน่อง เรียกว่า “สุ่มร่อง” ความหมายว่า เป็นผู้หญิงที่ยังบริสุทธิ์ ถึงแม้ว่าผู้หญิงคนนั้นจะมีอายุมากแล้วก็ตาม แต่หากยังไม่ได้แต่งงานก็จะใส่ชุดสุ่มร่องตลอดไป ชุดสุ่มร่องจะมีสีพื้นสีขาว ในอดีตนิยมใช้ผ้าฝ้ายเพราะเป็นผ้าที่สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี ในส่วนลวดลายของชุดขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์ของผู้ทอ ส่วนมากจะเป็นริ้วสีแดงและมีสีอื่นบ้างประปราย ในสมัยก่อนสีแดงเป็นสีที่นิยมเนื่องจากเป็นสีของเปลือกไม้ เวลาย้อมสีจะติดทนนาน ส่วนด้านล่างของชุดสุ่มร่องจะมีการม้วนด้ายให้เป็นเส้น ๆ เพื่อเพิ่มความสวยงาม ชุดสุ่มร่องนี้ผู้เป็นแม่จะเป็นคนทอให้ลูกได้สวมใส่
ชุดสุ่มร่อง     ภาพโดย สิริลักษณ์ เป็งคำ

เด็กสาวชาวกะเหรี่ยงสวมใส่ชุดสุ่มรอง   ภาพโดย นันทิกานต์ ภู่ชินาพันธ์

2. การแต่งกายสำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว
หญิงชาวกะเหรี่ยงที่แต่งงานแล้วต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดสุ่มร่องสีขาวเป็นเสื้อและผ้าถุง โดยเสื้อจะเป็นผ้าสีพื้นสีดำหรือสีน้ำเงิน ๆ ประดับตกแต่งด้วยลูกเดือยปักลายด้วยด้ายสีต่าง ๆ ตามความสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคล เรียกว่า “เสื้อลูกเดือย” ลวดลายของเสื้อจะเป็นลวดลายในชีวิตประจำวัน เช่น ลายดอกไม้ ลายเส้นตรง เส้นโค้ง หรือลายสี่เหลี่ยม 

เสื้อลูกเดือย       ภาพโดย อัศราวุธ จองไฟ

ในส่วนของผ้าถุงหรือที่ภาษาเหนือเรียกว่า “ซิ่น” นั้น ตัวซิ่นจะใช้สีพื้นสีแดงเป็นหลักและสอดแทรกลายผ้าซิ่นให้สวยงามด้วยการมัดย้อมสีด้ายจากเปลือกไม้ ในส่วนของลวดลายก็ขึ้นอยู่กับความชอบและการสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคล ซึ่งหัวซิ่นและตีนซิ่นจะมีลวดลายเหมือนกัน



ผ้าซิ่นสำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว     ภาพโดย อัศราวุธ จองไฟ

3. การแต่งกายของผู้ชาย 
สำหรับผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กชาย หนุ่มโสด หรือชายหนุ่มที่แต่งงานแล้ว จะแต่งกายเหมือนกันคือ ตัวผ้าทอเป็นผ้าฝ้ายพื้นสีขาวสลับกับสีโทนสีแดง โดยปกติแม่จะเป็นผู้ทอให้ลูกชาย หรือภรรยาจะทอให้กับสามี ซึ่งสามารถสวมใส่เป็นเสื้อหรือนุ่งเป็นโสร่งก็ได้ ในอดีตส่วนใหญ่จะนุ่งเป็นโสร่งแต่ในปัจจุบันการสวมใส่จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากในสถานการณ์ทั่วไปจะสวมใส่เป็นเสื้อ แต่เมื่อมีงานพิธีกรรมทางศาสนา เช่น พิธีเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน ก็จะนุ่งเป็นโสร่ง


เครื่องแต่งกายของผู้ชาย   ภาพโดย สิริลักษณ์ เป็งคำ

ผ้าทอที่นำมาทำเป็นเสื้อสำหรับผู้ชาย   ภาพโดย อัศราวุธ จองไฟ

ผ้าทอที่นำมานุ่งเป็นโสร่ง    ภาพโดย นันทิกานต์ ภู่ชินาพันธ์

ปัจจุบันการแต่งกายด้วยชุดพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านแม่จองไฟนั้นมีน้อยลง แต่จะยังคงสวมใส่ในกรณีที่มีงานสำคัญหรือประเพณีของหมู่บ้าน เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมการแต่งกายที่ดีงามและคงความเป็นเอกลักษณ์ของบ้านแม่จองไฟ เช่น ประเพณีปีใหม่ ประเพณีเลี้ยงผีหมู่บ้าน 

การทอผ้ากะเหรี่ยง เป็นภูมิปัญญาที่สำคัญควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ โรงเรียนบ้านแม่จองไฟ (รัฐราษฎรพัฒนา) เป็นโรงเรียนบ้านประจำหมู่บ้านได้เห็นความสำคัญของภูมิปัญญาการทอผ้ากะเหรี่ยงจึงได้จัดทำหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้เกี่ยวกับการทอผ้ากะเหรี่ยง โดยมีการเชิญวิทยากรที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านมาสอนนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ทักษะการทอผ้ากะเหรี่ยงและมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมการแต่งกายด้วยการให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดชนเผ่าทุกวันอังคารเพื่อเป็นการสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านให้คงอยู่สืบไป


นักเรียนโรงเรียนบ้านแม่จองไฟ (รัฐราษฎรพัฒนา) เรียนรู้ทักษะในการทอผ้ากะเหรี่ยง
ภาพโดย   นาถอนงค์  สมภาร


เรียบเรียง : สิริลักษณ์ เป็งคำ  ครูผู้ช่วย  สถาบัน กศน.ภาคเหนือ 

อ้างอิง:
สมภพ ยี่จอหอม, จุฑามาศ ประมูลมาก, จรรยวรรธ สุธรรมา, และเลิศศักดิ์ ทองสวัสดิ์วงค์. (2564).  ต่าบึ๊ ต่าทา เรื่องราวผืนผ้าปกาเกอะญอ ห้วยตองก๊อ. https://online.fliphtml5.com/yegve/uizm/?fbclid=IwAR1VWUWd0lgoggZwACXsMWryo19lWr7O5GRVDCd4wryKqX_NntPZERgCmP8#p=37

ลัดดาวัลย์ ซุ่นฮะ. (2564). ประวัติบ้านแม่จองไฟ. สืบค้นจาก http://banmaechongfai.longnfe.go.th