ประเพณีปีใหม่ม้ง: การละเล่นโยนลูกช่วง

ความรักจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากเราไม่รู้จักกัน? สวัสดีทุกท่าน และขอขอบคุณที่ให้ความสนใจและเข้ามาอ่านบทความของเราในวันนี้ ก่อนอื่นใด ความรักคือสิ่งสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใดในโลกนี้ล้วนแล้วแต่มีความรักที่สวยงามด้วยกันทั้งสิ้น ชาติพันธุ์ม้งก็เช่นกัน วันนี้เราจะนำทุกท่านไปรู้จักกับวัฒนธรรมม้งที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและความหวังของคนหนุ่มสาวในการหาคู่ครอง นั่นคือ การละเล่นโยนลูกช่วงในวันขึ้นปีใหม่
การละเล่นลูกช่วงของชาวม้ง
ภาพจาก https://hmongscity.com/2014/11/15/การละเล่นลูกช่วงpov-khaub-hnab/#

ชาติพันธุ์ม้ง หรือ ชาวม้ง เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในประเทศไทย จากการตรวจสอบทางประวัติศาสตร์พบว่า ชาวม้งมีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน ต่อมาจึงอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชากรชาวม้งในประเทศไทยมีมากเป็นอันดับ 2 รองจากกะเหรี่ยง และยังเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีประเพณีและวัฒนธรรมที่น่าสนใจและควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ สำหรับประเพณีและวัฒนธรรมตลอดทั้งความเชื่อของชาวม้งได้รับการสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ เช่น ประเพณีฉลองปีใหม่ เรียกว่า “ น่อเป๊โจ่วซ์ (Noj Peb Caug)” โดยจะจัดตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 หรือถ้าปีไหนที่ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ตรงกับช่วงเดือนพฤศจิกายน ก็จะเลื่อนเป็นวันขึ้น1 ค่ำ เดือน 2 แทน (จัดในช่วงปลายเดือนธันวาคม หรือ ต้นเดือนมกราคมของทุกปี ) ในงานฉลองปีใหม่ ชาวม้งทุกคน ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย คนแก่และเด็ก จะแต่งกายด้วยชุดประจำชาติหลากสีสันและประดับเครื่องเงินสวยงาม จากนั้นจูงมือกันมาที่งานเฉลิมฉลองปีใหม่ที่จัดขึ้นในหมู่บ้าน เด็ก ๆ จะจับกลุ่มกันเล่นลูกข่างและร้องรำทำเพลง ส่วนหนุ่มสาวจะจับคู่กันโยนลูกช่วง พูดคุยและเกี้ยวพาราสีกัน
การละเล่นโยนลูกช่วง
ภาพจาก Facebook เรื่องสร้างภาพขอให้บอก
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.445811282990478&type=3

การโยนลูกช่วง หรือ การละเล่นลูกช่วง ในภาษาม้งออกเสียงว่า “ป๊อเป๊าะ (Pov pob)” เป็นหนึ่งในประเพณีของชาวม้งที่มีมาแต่ช้านาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้คนหนุ่นมสาวได้ทำความรู้จักกัน และเลือกคู่ครองที่ตนเองพึงพอใจ ท่านผู้อ่านอาจกำลังสงสัยว่าทำไมต้องมีกิจกรรมแบบนี้? นั่นเป็นเพราะว่า ในดีตเมื่อชาวม้งถึงวัยเจริญพันธุ์ก็จะออกเรือนไปกับคนที่พ่อแม่เลือกให้หรือที่เรามักเรียกกันว่า “การคลุมถุงชน” และในสมัยนั้นชาวม้งก็มองว่าการเกี้ยวพาราสีต่อหน้าผู้หลักผู้ใหญ่หรือในที่สาธารณะเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและดูไม่งามอย่างยิ่ง ดังนั้นเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องนี้และช่วยให้คนหนุ่มสาวได้มีอิสระในการเกี้ยวพาราสีและเลือกคู่ครองด้วยตนเองมากขึ้น จึงได้คิดค้นการละเล่นลูกช่วงขึ้นมา และกำหนดให้เป็นกิจกรรมประจำในเทศกาลฉลองปีใหม่ม้งของทุกปี

ลูกช่วง (Pob)  เป็นลูกทรงกลมขนาดเท่ากับลูกเทนนิส ทำจากเศษผ้าเหลือใช้ในบ้าน เมื่อใกล้ถึงช่วงเทศกาลฉลองปีใหม่ หญิงสาวชาวม้งจะนำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บชุดม้งมาทำเป็นลูกช่วง โดยนำเศษผ้ามาม้วนพันกันจนได้ลูกทรงกลมขนาดพอดีมือ จากนั้นนำผ้าอีกชิ้นหนึ่งมาห่อเป็นชั้นนอก และเย็บปิดให้เรียบร้อย  


ลักษณะของลูกช่วง 
ภาพโดย นายจือ แซ่ลี

เมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ หญิงสาวจะแต่งกายด้วยชุดม้งที่มีสีสันสวยงาม ประดับประดาด้วยลูกปัดหรือเครื่องเงินมากมาย พร้อมกับนำลูกช่วงที่ทำขึ้นเองไปที่งานฉลองปีใหม่ในหมู่บ้าน ภายในงานหากมีชายหนุ่มและหญิงสาวที่ถูกตาต้องใจกัน ก็จะพากันไปโยนลูกช่วงที่สนามกลางแจ้งภายในงาน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจำเป็นต้องจัดสรรพื้นที่ส่วนนี้ใหกับคนหนุ่มสาวตามธรรมเนียมปฏิบัติ จากนั้นชายหนุ่มกับหญิงสาวจะยืนตรงข้ามกันโดยเว้นระยะห่างพอสมควร และเริ่มโยนลูกช่วงไปมาหากัน ซึ่งก็เป็นรูปแบบการเกี้ยวพาราสีอย่างหนึ่งของชาวม้ง ในระหว่างที่ทั้งคู่โยนลูกช่วงอยู่นั้น ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะพูดคุยไถ่ถามเรื่องราวของอีกฝ่าย รวมถึงข้อมูลส่วนตัวของอีกฝ่ายด้วย เช่น ชื่อแซ่ (ตระกูล) บ้านอยู่ที่ไหน หรือมาจากหมู่บ้านใด ชอบหรือไม่ชอบอะไรบ้าง ฯลฯ เมื่อทั้งคู่ได้พูดคุยจนเกิดความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน การโยนลูกช่วงเป็นเพียงกิจกรรมให้หนุ่มสาวได้มารู้จักกัน สร้างความสัมพันธ์กันเท่านั้น มิใช่!!! โยนกับใครแล้วต้องคบหรือแต่งงานกับคนนั้น

งานเทศกาลปีใหม่ ของชาติพันธุ์ม้ง อ.ปัว จ.น่าน 
ภาพจาก บทความเรื่อง https://thecitizen.plus/node/37589

โยนลูกช่วงกับสาวงามและหนุ่มหล่อมากกว่าหนึ่งคนได้ไหม ?
การละเล่นโยนลูกช่วง นอกจากการจับคู่โยนชายหนึ่งหญิงหนึ่งแล้ว ยังสามารถจับคู่โยนหญิงสองชายหนึ่ง หรือหญิงหนึ่งชายสองก็ได้ ขึ้นอยู่ความพึงพอใจของการโยนแต่ละบุคคล เนื่องจากบางคนอาจมากับเพื่อนหรือญาติพี่น้อง หรือบางคนอาจรู้สึกเขินอายหากต้องโยนกันตัวต่อตัว ดังนั้นจึงไม่มีกฎตายตัวว่าต้องจับคู่กันโยนกี่คน และก็ไม่มีการจำกัดอายุของหนุ่มสาวที่มาโยนลูกช่วงด้วย แต่หนุ่มสาวที่มาโยนลูกช่วง ส่วนใหญ่มักจะเป็น คน “โสด” ที่ต้องการมาหาคู่ครองจากงานนี้ ซึ่งคำว่า “โสด” ในที่นี้ ไม่ได้หมายความเพียงผู้ที่ยังไม่เคยผ่านการแต่งงานมาก่อน แต่ยังรวมถึงพ่อหม้ายแม่หม้าย หรือพ่อร้างแม่ร้าง ด้วย

เราจำเป็นต้องรักและแต่งงานกับคู่โยนลูกช่วงของเราหรือไม่ ?
ไม่จำเป็นครับ การโยนลูกช่วงเป็นเพียงขั้นตอนของการทำความรู้จักกันเท่านั้น ซึ่งทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีอิสระในการเลือกคู่ครองที่ตนเองพอใจเท่ากัน และเนื่องจากงานฉลองปีใหม่ม้งไม่ได้จัดเพียงวันเดียว โดยทั่วไปจะจัดกัน 3-4 วัน ดังนั้น เราสามารถโยนลูกช่วงกับคนที่เราสนใจได้มากกว่าหนึ่งคน และไม่จำเป็นว่าต้องคบกับใครคนใดคนหนึ่ง หรือทุกคนที่เราโยนลูกช่วงด้วยในปีนั้น หมายความว่า บางคนอาจได้ แฟน หรือ คู่ครอง จากงานในปีนี้ และบางคนอาจยังคงโสดต่อไปอีกหนึ่งปี สองปี หรือสามปี ก็ได้

การละเล่นโยนลูกช่วงไม่เพียงแต่ช่วยให้คนหนุ่มสาวชาวม้งได้มีโอกาสเลือกคู่ครองของตัวเองเท่านั้น และยังเป็นการลดความกังวลของพ่อแม่เกี่ยวกับการละเมิดธรรมเนียม ประเพณี และความเชื่อที่รักษาและสืบทอดต่อกันมาแต่บรรพบุรุษด้วย นอกจากนี้ การที่ให้ชายหนุ่มหญิงสาวยืนห่างกันในระหว่างโยนลูกช่วง ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นระยะที่พอดีสำหรับการโยนลูกช่วงเท่านั้น แต่ยังเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ไม่ให้ชายหนุ่มหญิงสาวที่ยังไม่รู้จักกันดีอยู่ใกล้ชิดกันจนเกินไป ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันไม่ให้วัยรุ่นไฟแรงเกิดอารมณ์พลุ่งพล่านเมื่ออยู่ใกล้กับเพศตรงข้ามด้วย นับว่าเป็นกิจกรรมเกี้ยวพาราสีที่ยอดเยี่ยมและรอบคอบมากจริง ๆ

การละเล่นโยนลูกช่วง
ภาพจาก Facebook เรื่องสร้างภาพขอให้บอก
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.445811282990478&type=3

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสังคมม้งจะเคร่งครัดในการปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีมากเพียงไร แต่ก็ยังให้อิสระเต็มที่กับเรื่องของความรักด้วย แม้ว่าจะมีโอกาสเพียงปีละครั้งเท่านั้น  แต่การเฝ้ารอจนกว่าจะถึงวันนั้นก็คุ้มค่ามากจริง ๆ  และ ถึงแม้ว่าความรักจะเป็นเรื่องของความรู้สึกและโชคชะตา แต่การสร้างโอกาสให้กับโชคชะตาก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน 

เริ่มต้น ปีใหม่ ด้วย ความรักใหม่  ค้นหาคนของหัวใจด้วยการละเล่นโยนลูกช่วง


เขียน/เรียบเรียง : วนศาสตร์ วัฒนาสกุลลี  ครูผู้ช่วย  สถาบัน กศน. ภาคเหนือ