กศน. กับแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตอนที่ 1

ความเป็นมา
ประเทศไทยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องท่ามกลางปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น ปัญหาการเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้งของนักการเมือง การแบ่งพรรคแบ่งพวก ความขัดแย้งของคนในสังคม ขาดคุณธรรมจริยธรรม เศรษฐกิจ ปากท้องความเป็นอยู่ของประชาชน ขาดความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาคในสังคม ทุจริตคอรัปชัน เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน ความไม่เข้าใจในเรื่องของประชาธิปไตย ความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา ยาเสพติด การใช้กฎหมายในทางที่ผิด เป็นต้น จนกระทั่งพัฒนามาสู่วิกฤติที่สำคัญ เช่น
  1. มีความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองอย่างรุนแรง หยั่งลึกจากระดับประเทศไปถึงระดับครอบครัว
  2. การใช้อำนาจการปกครองที่ทำอยู่เดิม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความแตกแยก และการกระทำผิดของกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ได้อีกต่อไป
  3. การชุมนุมทางการเมืองที่มีอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางความคิด และการแก่งแย่งผลประโยชน์ทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำให้ประชาชนแตกแยกจนไม่อาจปรองดองได้
  4. ปัญหาทุจริตและคอรัปชัน มีคดีความจำนวนมากอยู่ในชั้นศาลและยังรอกระบวนการยุติธรรมตัดสิน
  5. การบังคับใช้กฎหมายปกติต่อปัญหาข้างต้น บังคับใช้ไม่ได้กับทุกกลุ่ม ทำให้เกิดความหวาดระแวง เกลียดชังกันในหมู่ประชาชนวงกว้าง
  6.  มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งในทางลับและเปิดเผย สร้างความไม่พอใจและเกลียดชังของประชาชนโดยรวมที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ประกอบกับที่ผ่านมา การจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (Civic Education) ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่สำคัญในการสร้างผู้เป็นกำลังสำคัญในอันที่จะสืบทอดวัฒนธรรม ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ก่อเกิดการสืบสานอุดมการณ์และความเป็นพลเมืองที่มีพลังความคิด พลังความรัก และพลังความสามัคคี อยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของการเคารพกติกาของสังคม เคารพผู้อื่น และเคารพหลักการของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถูกให้ความสำคัญอย่างเจือจาง ได้ถูกลดความสำคัญให้เหลือเพียงเป็นสาระหนึ่งในสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาเท่านั้น และอีกทั้งเป็นวิชาที่แทบไม่มีผลต่อการเรียนต่อหรือเข้ามหาวิทยาลัยเลย ดังนั้น จึงไม่ได้รับความสำคัญและขาดการพัฒนาอย่างเหมาะสมกับยุคสมัย

ประเด็นของการจัดและส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
 


“พลเมือง” ในระบอบประชาธิปไตย แตกต่างจากพลเมืองของระบอบอื่นที่พลเมืองจะมี “คุณสมบัติ” อย่างไร จะเป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจประสงค์จะให้เป็น ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยเจ้าของอำนาจสูงสุดคือประชาชน ดังนั้น ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจจึงกำหนดชีวิตตนเองได้ “ประชาชน” ในระบอบประชาธิปไตย จึงแตกต่างหลากหลายได้ เมื่อแตกต่างหลากหลายได้ จึงต้องเคารพซึ่งกันและกัน และใช้กติกาในการแก้ปัญหาจึงจะสามารถอยู่ร่วมกันและปกครองกันตามวิถีทางประชาธิปไตยได้ ดังนั้น  “พลเมือง” ในระบอบประชาธิปไตย จึงหมายถึงสมาชิกของสังคมที่มีอิสรภาพ (liberty) และพึ่งตนเองได้ (independent) ใช้สิทธิเสรีภาพโดยควบคู่กับความรับผิดชอบ เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เคารพความแตกต่าง เคารพหลักความเสมอภาค เคารพกติกา ไม่แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ตระหนักว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม มีจิตสาธารณะ และกระตือรือร้นที่จะรับผิดชอบหรือร่วมขับเคลื่อนสังคมและแก้ปัญหาผิดชอบหรือร่วมขับเคลื่อนสังคมและแก้ปัญหาสังคมในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ในครอบครัว ชุมชนจนถึงระดับประเทศ ระดับอาเซียน และระดับประชาคมโลก (วรากรณ์ สามโกเศศ, 2554, น.6)

การเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตย ที่ดีนั้น เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงการเสริมสร้างความเป็น “พลเมือง” ซึ่งคำว่า “พลเมือง” นี้ ไม่ได้สื่อถึงการมีสิทธิและเสรีภาพอย่างเดียว หากแต่สื่อถึงหน้าที่ และความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ในระบอบประชาธิปไตย หน้าที่ของพลเมืองในสังคมต้องเริ่มจาก
การเลือกคนเข้ามาบริหารประเทศ โดยต้องเลือกด้วยความรับผิดชอบต่อการออกเสียงของตนเอง และเมื่อเลือกแล้ว ก็ต้องติดตาม (จุรี วิจิตรวาทการ, 2555)

หลักการของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ประกอบด้วย 1) การเคารพในกติกา คือ การเคารพกฎหมาย 2) เคารพในผู้อื่น คือเคารพในสิทธิ ความแตกต่าง และความเสมอภาค และ 3) มี ความรับผิดชอบต่อสังคม (สถาบันพระปกเกล้า, 2555)

“ความสำคัญของความเป็นพลเมืองต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอยู่ที่การตระหนักในความเป็นส่วนร่วม เป็นเจ้าของร่วมในความดีงามบางอย่างร่วมกัน” (กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2555)

คุณลักษณะของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย มีผู้รู้มีความเห็นในหลายทัศนะ เช่น
วรากรณ์ สามโกเศศ (2554, น.6) มีความเห็นว่า “พลเมือง” ในระบอบประชาธิปไตยสามารถสรุปคุณสมบัติได้ 6 ประการดังต่อไปนี้
  1. มีอิสรภาพ (liberty) และพึ่งตนเองได้ (independent) ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของระบบอุปถัมภ์
  2. เคารพสิทธิผู้อื่น ไม่ใช้สิทธิเสรีภาพของตนไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น (ทั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมใช้...สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น”)
  3. เคารพความแตกต่าง มีทักษะในการฟัง และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเอง
  4. เคารพหลักความเสมอภาค เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น และเห็นคนเท่าเทียมกันมองคนเป็นแนวระนาบ ไม่ใช่แนวดิ่ง
  5. เคารพกติกา เคารพกฎหมาย ใช้กติกาในการแก้ปัญหา ไม่ใช้กำลัง และยอมรับผลของการละเมิดกฎหมาย
  6. รับผิดชอบต่อสังคม ตระหนักว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม กระตือรือร้นที่จะรับผิดชอบและร่วมแก้ไขปัญหาสังคมโดยเริ่มต้นที่ตนเอง

เขียนและเรียบเรียง: ศุภกร ศรีศักดา

อ้างอิง:
วรากรณ์ สามโกเศศ. (2554, 3 มีนาคม). การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง. มติชน, น.6. สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/312096/M540303.pdf

ความสำคัญของพลเมืองต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไทย. (2555, 23 มีนาคม). จดหมายข่าวการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 13. สืบค้นจาก https://www.kpi.ac.th/media_kpiacth/pdf/M10_362.pdf

ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นพลเมืองไทย. (2555, 23 มีนาคม). จดหมายข่าวการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 13. สืบค้นจาก https://www.kpi.ac.th/media_kpiacth/pdf/M10_362.pdf


บทความที่เกี่ยวข้อง
• กศน. กับแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมือง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตอนที่ 1