ผักพื้นบ้าน : มะค้อนก้อม

มะค้อนก้อม บะค้อนก้อม หรือ บ่าค้อนก้อม เป็นภาษาถิ่นภาคเหนือ ที่ใช้เรียกผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งของไทย ซึ่งก็คือ มะรุม ในภาษาไทยภาคกลาง ส่วนทางภาคอีสาน เรียกว่า ผักอีฮุม บักฮุ้ม

ภาพจาก https://www.renature.co/articles/moringa-oleifera-the-miracle-tree/

มะรุม จัดเป็นพืชผักพื้นบ้านของไทย มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบเอเชีย เช่น อินเดีย ศรีลังกา และยังพบได้ในเขตเอเชียไมเนอร์และแอฟริกา เป็นไม้ยืนต้นที่โตเร็ว ทนแล้ง ปลูกง่ายในเขตร้อน เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ต้องการน้ำและความชื้นในปริมาณปานกลาง ดูแลรักษาง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน ชาวบ้านจึงนิยมปลูกไว้ริมรั้วหรือหลังบ้าน เพื่อให้เป็นผักคู่บ้านคู่ครัวแบบพอเพียง ที่ไม่ต้องซื้อหา ในฤดูหนาวจะพบว่ามีมะรุมจำหน่ายทั่วไป ทั้งตลาดในเมืองและในท้องถิ่น คนไทยทุกภาครับประทานมะรุมเป็นผัก 

มะรุมมีประโยชน์ทั้งทางด้านอาหารและยาสมุนไพร สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เกือบทุกส่วน ตั้งแต่ ยอดอ่อน ใบ ดอก ฝัก เมล็ด ราก รวมทั้งเปลือกของลำต้นด้วย มะรุมอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุรวมหลายชนิด ซึ่งจุดเด่นของมะรุมก็คือ จะมีวิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม  โพแทสเซียม และธาตุเหล็กในปริมาณที่สูงมาก นอกจากนี้มะรุมยังมีประโยชน์ในการรักษาและบรรเทาโรคได้หลายชนิด นับว่าเป็นผักพื้นบ้านที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก

ลักษณะทั่วไป 
มะรุมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นมีลักษณะเพลาตรง สูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งน้อย แลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง เปลือกลำต้นมีสีขาวอมเทา มีตุ่มขนาดเล็กขึ้นกระจายทั่ว เนื้อไม้จัดเป็นไม้เนื้ออ่อน มีสีเหลือง เบา กิ่งมีลักษณะเพลาตรง เนื้อไม้ของกิ่งเปราะหักง่าย

ต้นมะรุม
ภาพจาก  https://www.thaiherbweb.com/th/articles/95119-มะรุม-แคปซูล-มี-10-สรรพคุณ-และ-ประโยชน์ดีกว่าอาหารเสริม-

ใบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ชนิดที่แตกใบย่อย 3 ชั้น ยาว 20-40 ซม. ออกเรียงแบบสลับ ใบย่อยยาว 1-3 ซม. รูปไข่ ปลายใบและฐานใบมน ผิวใบด้านล่างสีอ่อนกว่า และมีขนเล็กน้อยขณะที่ใบยังอ่อน ใบมีรสหวานมัน 

ใบมะรุม
ภาพจาก https://vegetweb.com/มะรุม-ลักษณะทางพฤกษศาสต/

ดอก มะรุมออกดอกได้ภายในปีแรกที่ปลูก ออกดอกในฤดูหนาว บางพันธุ์ออกดอกหลายครั้งในรอบปี ดอกเป็นดอกช่อ สีขาว กลีบเรียง มี 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบแยกกัน ดอกมีรสขม หวาน มันเล็กน้อย 

ดอกมะรุม
ภาพจาก https://www.greenpea5.com/article/16/มะรุม-สรรพคุณทางยาประโยชน์และผลข้างเคียงจากงานวิจัยม-มหิดล

ผล ผลมีลักษณะเป็นฝักยาว เปลือกสีเขียว มีส่วนคอดและส่วนมนเป็นระยะ ๆ ตามยาวของฝัก ฝักยาว 20-50 ซม. ฝักมีรสหวาน 

ผลมะรุม
ภาพจาก http://www.tsb2phibun.com/index.php/2018-12-05-07-42-07/153-2018-12-04-04-52-54

เมล็ด เมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยม มีปีกบางหุ้ม 3 ปีก เส้นผ่าศูนย์กลางของเมล็ดประมาณ 1 ซม.

เมล็ดภายในผลมะรุม
ภาพจาก https://www.medicalnewstoday.com/articles/319916#what-is-in-moringa

เมล็ดมะรุมแห้ง จะเห็นว่ามีปึกหุ้ม 3 ปีก
ภาพจาก https://www.indiamart.com/proddetail/organic-moringa-seed-22203255130.html

เมล็ดมะรุมแห้งไม่มีปีก
ภาพจาก https://www.aloftoverseas.com/moringa-seeds-without-wings/

ประโยชน์และสรรพคุณของมะรุม

ประโยชน์ทางด้านอาหาร
มะรุมสามารถรับประทานได้ ทั้งยอดอ่อน ใบ ดอก ฝัก และเมล็ด
  • ใบ ควรเลือกใบมะรุมที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป และเมื่อนำมาประกอบอาหาร ไม่ควรให้ถูกความร้อนนานเกินไป เพื่อให้ได้ประโยชน์ของสารอาหารอย่างเต็มที่ ใบและยอดอ่อนมะรุม สามารถนำมาประกอบอาหารได้ คือ แกงอ่อมยอดมะรุม ต้มจืดมะรุม ไข่เจียวมะรุม ดอกมะรุมใช้ลวกให้สุกหรือดองรับประทานกับน้ำพริก
  • ยอดหรือดอกมะรุมสด กินกับน้ำพริกแจ่ว ลาบ ก้อย
  • ฝักมะรุมอ่อน ที่นำมาปอกเปลือก หั่นเป็นท่อนและทำแกงส้มมะรุม
  • เมล็ด นำมาคั้นเป็นน้ำมันปรุงอาหาร
ในต่างประเทศ เช่น อินเดีย มีการทำผงใบมะรุมไว้เป็นอาหาร และน้ำใบมะรุมอัดกระป๋อง

แกงส้มมะรุม
ภาพจาก https://health.mthai.com/howto/health-care/26466.html

แกงใบมะรุมปลาย่าง
ภาพจาก http://beautyinfoo.com/thai-food-marum-0019/

สรรพคุณทางยา
ในตำรายาพื้นบ้าน สามารถนำทุกส่วนของต้นมะรุม ทั้งใบ ยอดอ่อน ฝัก ดอก เมล็ด ราก รวมทั้งเปลือก มาใช้ประโยชน์ในทางยาได้ ดังนี้
  • ใบ ยอดอ่อน ใช้ถอนพิษไข้ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้อักเสบ แก้แผล ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
  • ขับปัสสาวะ ป้องกันมะเร็ง ลดความดันโลหิต
  • ดอกและผล ใช้แก้ไข้หัวลม เป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ ขับน้ำตา ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันมะเร็ง
  • เมล็ด บดพอกแก้ปวดตามข้อ และแก้ไข้ ช่วยรักษาและขับพยาธิในลำไส้
  • ฝัก แก้ไข้ ป้องกันมะเร็ง ลดความดันโลหิต
  • ราก รสเผ็ด หวาน ขม สรรพคุณ แก้อาการบวม บำรุงไฟธาตุ รักษาโรคหัวใจ รักษาโรคไขข้อ
  • เปลือกลำต้น รสร้อน สรรพคุณขับลมในลำไส้ ทำให้ผายลมหรือเรอ คุมธาตุอ่อน ๆ แก้ลมอัมพาต ป้องกันมะเร็ง คุมกำเนิด เคี้ยวกินช่วยย่อยอาหาร
  • ยาง (gum) ฆ่าเชื้อไทฟอยด์ ซิฟิลิส (syphilis) แก้ปวดฟัน earache, asthma[1]
  • มันมะรุม ใช้นวดเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อตามบั้นเอวและขา 
  • ใช้รักษาเชื้อราตามผิวหนัง ศีรษะ ตามซอกเล็บ โรคน้ำกัดเท้า ใช้ทารักษาหูด และตาปลา
ประโยชน์ด้านอื่น ๆ 
  • น้ำมันที่ได้จากการคั้นเมล็ดสด นำมาใช้เป็นน้ำมันในการปรุงอาหารชนิดเดียวกับน้ำมันมะกอก แต่ดีกว่าตรงที่ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน
  • น้ำมันมะรุมนำมาใช้เป็นน้ำยาหล่อลื่นต่าง ๆ ประจำบ้านและช่วยป้องกันสนิม
  • นำมาแปรรูปเป็น "มะรุมแคปซูล" สำหรับเป็นทางเลือกให้ผู้ที่ไม่ชอบรับประทานผัก แต่อยากได้คุณประโยชน์ทางด้านสมุนไพร
  • เมล็ดมะรุม เมื่อนำมาบดละเอียด สามารถนำไปใช้กรองน้ำได้ ทำให้น้ำตกตะกอนและฆ่าเชื้อโรคในน้ำ น้ำที่ได้จะค่อนข้างสะอาดและมีรสออกหวาน
น้ำมันเมล็ดมระรุม 
ภาพจาก https://www.exportersindia.com/product-detail/plastic-bottels-moringa-seed-oil-4970568.htm

ใบมะรุมผง 
https://sunwarrior.com/blogs/health-hub/health-benefits-of-moringa

ข้อควรระวังในการรับประทานมะรุม 
 ผู้ป่วยที่ใช้มะรุมติดต่อเป็นเวลานาน ๆ ควรตรวจการทำงานของตับ เพราะพบว่า เอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น สิ่งที่ต้องระวังก็คือ และไม่ว่าจะวัยไหนก็ตาม ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้ท้องเสียได้ แต่ไม่ได้เกิดกับทุกคน ควรเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย และหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการแท้งลูกได้สูง ผู้ป่วยโรคเกาต์ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียได้ มะรุมมีพิษที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคเลือด เพราะทำให้เม็ดเลือดแตกง่าย สำหรับผู้ที่ดูแลสุขภาพด้วยการซื้อมะรุมสกัดแคปซูลมารับประทานนั้น ก็ควรระมัดระวังและควรเลือกซื้อมะรุมแคปซูลที่มี อย.

การปลูกและขยายพันธุ์
มะรุมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการปักชำกิ่ง เมล็ดมะรุมที่เหมาะกับการเพาะปลูก ควรเป็นเมล็ดพันธุ์แท้ ซึ่งพัฒนาจากเมล็ดแม่พันธุ์โดยตรง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงและสม่ำเสมอ จำนวนฝักมากและจำนวนเมล็ดต่อฝักก็มากด้วย ส่วนมากจะนิยมเพาะเมล็ดในถุงดำก่อนปลูก แล้วนําต้นกล้าลงปลูกกลางหลุม แล้วกลบดิน รดน้ำ ใช้ไม้ปักมัดด้วยเชือก 

มะรุมเป็นพืชทนแล้งได้ดีและออกดอกออกผลตามฤดูกาล การให้น้ำถ้าเป็นระยะแรกของการปลูก หรือปลูกในฤดูฝนจะไม่มีปัญหาเรื่องการให้น้ำ ส่วนฤดูแล้ง ให้น้ำตามความเหมาะสม มะรุมเป็นพืชที่โตเร็ว หากได้น้ำและปุ๋ยสม่ำเสมอ มะรุมอายุประมาณ 2-3 ปี ก็ให้ผลผลิตแล้ว สามารถเก็บขายได้ตั้งแต่ยอด ดอก ฝักอ่อนและฝักแก่

อาหารพื้นเมืองภาคเหนือ : แกงบะค้อนก้อมใส่ปลาแห้ง (แกงมะรุมใส่ปลาแห้ง)

ภาพจาก https://wowaroi.comแกงมะรุมใส่ปลาแห้ง/

ส่วนผสม
  1. บะค้อนก้อม (ลอกเปลือกแล้ว) 2 กำมือ
  2. ผักชะอม 1 มัด
  3. พริกขี้หนูแห้ง 15 เม็ด
  4. หอมแดง 6 หัว
  5. กระเทียม 1 กำ
  6. ปลาแห้ง 1 ตัว
  7. ปลาร้า 4 ช้อนโต๊ะ
  8. เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ
  9.  กะปิ 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
  1. ตั้งน้ำให้เดือด ล้างปลาแห้งให้สะอาด หลังจากนั้นนำปลาแห้งไปต้มจนเปื่อย ตักออกจากหม้อพักให้เย็น นำมาเลาะก้างออกให้หมด
  2. เตรียมพริกขี้หนูแห้ง กระเทียม หอมแดง เกลือ โขลกให้ละเอียด นำกะปิมาตำด้วยอีกรอบ
  3. ตั้งน้ำที่ต้มปลาแห้งให้เดือด นำพริกแกงที่ตำเสร็จเรียบร้อยใส่ลงไปในหม้อแกง จากนั้นนำปลาร้าใส่กระชอนลวกน้ำร้อนเพื่อกรองก้างปลาออก และใส่ปลาแห้งที่เลาะก้างเสร็จแล้วลงไปอีกครั้งหนึ่ง
  4. ใส่บะค้อนก้อม ที่ลอกเปลือก และหั่นยาวประมาณสองนิ้วลงไปในหม้อแกงร้อน ๆ ปิดฝาทิ้งไว้ ประมาณ 10 นาที หรือใช้วิธีสังเกตจากสีของบะค้อนก้อม เนื้อในจะใส ๆ
  5. ปิดแก๊ส นำผักชะอมใส่ลงในหม้อแกง คนให้เข้ากัน พร้อมตักเสิร์ฟ
  6. ข้อแนะนำในการเลือกบะค้อนก้อม ควรเลือกขนาดปานกลางเนื้ออ่อน ๆ จะกินได้ทั้งเมล็ด ถ้าฝักใหญ่แก่ ๆ เมื่อบีบดูเนื้อจะแน่นแข็ง เวลารับประทานจะมีแกนกลางตรงเมล็ด ไม่อร่อย

เรียบเรียง : 
ณิชากร เมตาภรณ์ ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง:
การปลูกมะรุม. สืบค้น 14 กันยายน 2564, จาก http://eto.ku.ac.th/neweto/e-book/plant/tree_fruit/moringa.pdf

มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะเภสัชศาสตร์. (2553, 25 กุมภาพันธ์). มะรุม พืชที่ทุกคนอยากรู้. สืบค้นจาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/8/มะรุม-พืชที่ทุกคนอยากรู้/

มะรุม. (2564, 27 กันยายน). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. สืบค้น 28 กันยายน 2564, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/มะรุม

Nutcharin. วิธีการปลูกมะรุม. สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน 2564 จาก http://tik-farm.blogspot.com
/2012/05/blog-post_03.html

มะรุม สรรพคุณและประโยชน์ของมะรุม 78 ข้อ. (2560, 4 สิงหาคม). สืบค้นจากhttps://medthai.com/มะรุม/
Cat Smile. (2563, 9 เมษายน). แกงมะรุมใส่ปลาแห้งอาหารพื้นบ้านล้านนา. สืบค้นจาก https://food.trueid.net/detail/0VbxM1Q4RJ2g