วัดพระแก้วดอนเต้า ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เป็นวัดขนาดใหญ่ที่เก่าแก่และสวยงาม มีอายุนับพันปี ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตั้งแต่ปี พ.ศ.1979 เป็นเวลาถึง 32 ปี จนเมื่อ พ.ศ. 2011 พระเจ้าติโลกราช เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปเชียงใหม่
แต่เดิมนั้น วัดพระแก้วดอนเต้า และ วัดสุชาดาราม เป็นวัด 2 แห่ง ที่มีพื้นที่ติดต่อกัน กระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมการศาสนาได้ประกาศรวมวัดพระแก้วดอนเต้าและวัดสุชาดารามเข้าเป็นวัดเดียวกัน และเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2527
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม
ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส
ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส
วัดพระแก้วดอนเต้า
เหตุที่วัดแห่งนี้ได้ชื่อว่า “วัดพระแก้วดอนเต้า” นั้น มีตำนานเล่าว่า นางสุชาดา ได้พบแก้วมรกตในแตงโม (ภาษาเหนือเรียกว่า หมากเต้า) และนำมาถวายพระเถระ พระเถระรูปนั้นได้จ้างช่างให้นำมรกตไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูป จึงเรียกพระพุทธรูปนั้นว่า “พระแก้วดอนเต้า” ต่อมาได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เนื่องจาก มีผู้ไปฟ้องเจ้าเมืองลำปางในขณะนั้นว่าพระเถระและนางสุชาดาเป็นชู้กัน เจ้าเมืองลำปางจึงให้จับนางสุชาดาไปประหารชีวิต ส่วนพระเถระรูปนั้น เมื่อทราบข่าวก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปหนีไป โดยนำไปฝากไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนถึงปัจจุบัน แต่บ้างก็มีการสันนิษฐานว่าชื่อ วัดพระแก้วดอนเต้า น่าจะได้มาจากการที่บริเวณย่านนี้เป็นสวนแตงโม (หมากเต้า) และเป็นที่ดอน จึงตั้งชื่อองค์พระธาตุว่า พระบรมธาตุดอนเต้า และเรียกวัดว่า วัดพระธาตุดอนเต้า และต่อมาเมื่อมีการนำพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระแก้วดอนเต้า
พระบรมธาตุดอนเต้า วัดพระแก้วดอนเต้า มีผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม พระวิหารหันหน้าไปทาง ทิศตะวันออก เป็นที่ตั้งของพระบรมธาตุดอนเต้า ซึ่งเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า
พระบรมธาตุดอนเต้า ภาพโดย : สราวุธ เบี้ยจรัส
ทางทิศใต้ขององค์เจดีย์ มีมณฑปทรงปราสาทหลังคายอดศิลปะพม่า ลักษณะงดงาม เสาและผนังของมณฑปตกแต่งด้วยลวดลายไม้และแผ่นไม้แกะสลัก ประดับด้วยกระจกสี ฝีมือละเอียดวิจิตรสวยงาม
ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ศิลปะพม่า องค์ใหญ่ เรียกว่า พระเจ้าบัวเข็ม ตลอดจนพระพุทธบาทจำลอง และรูปหล่อพระเกจิอาจารย์แห่งล้านนา
มณฑปปราสาท
ภายในมณฑปปราสาท
ภาพโดย : สราวุธ เบี้ยจรัส
ด้านขวาขององค์เจดีย์ มีวิหารหลวง ซึ่งได้รับการบูรณะโดย "ครูบาศรีวิชัย" มีสัญลักษณ์สำคัญที่ปรากฏ คือ ไม้แกะสลักบริเวณหน้าบันเป็น รูปเสือ อันเป็นปีเกิดของครูบาศรีวิชัย (ปีขาล) ขณะที่รูปนารายณ์ทรงครุฑ เป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์สยาม มีนัยหนึ่งถึงการเป็นเมืองภายใต้การปกครองภายใต้รัฐสยาม
วิหารหลวง ภาพโดย : สราวุธ เบี้ยจรัส
วัดสุชาดาราม
วัดสุชาดารามเป็นวัดขนาดเล็กและมีพื้นที่น้อย สร้างขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 2325-2352 เมื่อครั้งชาวเชียงแสนถูกกวาดต้อนมาตั้งชุมชนในเมืองเขลางค์ เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนางสุชาดา ที่ได้รับโทษประหารชีวิตด้วยความเข้าใจผิดและมาปรากฎความจริงในภายหลัง และเชื่อกันว่าที่ตั้งของวัดแห่งนี้ คือบ้านและไร่แตงโมของเจ้าแม่สุชาดาในอดีต
บริเวณวัดประกอบด้วย เจดีย์สุชาดาราม เป็นเจดีย์ทรงลังกาสุโขทัยผสมล้านนา และอุโบสถวัดสุชาดาราม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองฝีมือช่างเชียงแสน มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยภาพจิตรกรรมลายไทยลงรักปิดทอง ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยบนฐานชุกชี
เรียบเรียง : กรรณิการ์ ยศตื้อ ครูชำนาญการ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
อ้างอิง :
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2564 จาก http://www.lampang.go.th/travel/weblp/page/page3.html
วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. วัดพระแก้วสุชาดาราม. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2564 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม
วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2564 จาก
https://www.paiduaykan.com/province/north/lampang/watphrakaewdontao.html