แนวคิดการขับเคลื่อน กศน.ตำบลกับการจัดและส่งเสริมการเรียนรู้ สำหรับคนทุกช่วงวัย

เหตุผลและความจำเป็นในการจัดและส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย

การพิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นในการจัดและส่งเสริมการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัยนั้น อาจพิจารณาจากสิ่งต่างๆได้หลายประการ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ซึ่งประกอบด้วยผลการพัฒนาการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา แนวคิดการจัดการศึกษา วิสัยทัศน์ จุดมุ่งหมาย เป้าหมาย ตัวชี้วัด และยุทธศาสตร์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ ความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560
สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (2562. หน้า14) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 วรรค 3 กำหนดและวรรค 4 ไว้ว่า

รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติและการดำเนินการและตรวจสอบ การดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย

การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ

2. แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2560) ได้เสนอข้อมูลที่สำคัญที่เกี่ยวข้องไว้ในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560–2579  หลายประการ เช่น 
ผลการพัฒนาการศึกษาในช่วงปี 2552-2559 พบว่า ไทยประสบความสำเร็จในหลายด้านและมีอีกหลายด้านยังเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วนในระยะต่อไป 

ด้านโอกาสทางการศึกษา
ประชากรที่อยู่ในวัยกำลังแรงงานแม้จะได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่จำนวนแรงงานที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้นยังมีอยู่จำนวนมาก จึงต้องเร่งดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต และมีมาตรการต่าง ๆ ให้เด็กและประชาชนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐานเพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับการศึกษาของคนไทยให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ด้านคุณภาพการศึกษา
ผลการพัฒนายังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนและกำลังแรงงานที่มีทักษะ และคุณลักษณะที่พร้อมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ โดยจะต้องมีการวิเคราะห์ความต้องการกำลังคนเพื่อวางเป้าหมายการจัดการศึกษา ทั้งเพื่อการผลิตกำลังคนเข้าสู่ตลาดงานและการพัฒนากำลังคนเพื่อยกระดับคุณภาพกำลังแรงงานให้สูงขึ้น

ทักษะการเรียนรู้และการใฝ่หาความรู้ของคนไทย
เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน จากข้อมูลการอ่านหนังสือของคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป พบว่า เวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียนและนอกเวลาทำงาน เพิ่มขึ้นจาก 35 นาทีต่อวัน ในปี 2554 เป็น 66 นาทีต่อวัน ใน2558 โดยกลุ่มเยาวชน (15 – 24 ปี) ใช้เวลาในการอ่านมากที่สุด 94 นาทีต่อวัน อย่างไรก็ตาม เยาวชนอ่านหนังสือประเภทข้อความในสื่อสังคมออนไลน์/SMS/E-mail มากถึงร้อยละ 83.3 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแหล่งข้อมูลที่เยาวชนไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจ นอกจากนี้ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.7 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 36.8 ในปี 2558 โดยลักษณะการใช้เทคโนโลยีส่วนใหญ่ยังเป็นแบบตั้งรับ ผู้เรียนใช้เพื่อการสืบค้นเนื้อหาสาระ แต่ยังขาดความสามารถในการจัดการและการสังเคราะห์ข้อมูลที่สืบค้นได้รวมถึงการใช้ประโยชน์ด้านอื่น

3. แนวคิดการจัดการศึกษา
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(2560 หน้า 76-78) ได้เสนอแนวคิดการจัดการศึกษา (Conceptual Design) ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ยึดหลักสำคัญในการจัดการศึกษา ไว้ ดังนี้
หลักการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) หลักการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมและทั่วถึง (Inclusive Education) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) หลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม (All for Education) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs 2030) ประเด็นภายในประเทศ (Local Issues) อาทิ คุณภาพของคนทุกช่วงวัย การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศ ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ และวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม

4. วิสัยทัศน์ จุดมุ่งหมาย เป้าหมาย ของแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560–2579  
จากแนวคิดการจัดการศึกษาดังกล่าวข้างต้น แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) ไว้ดังนี้

“คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21” โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา 4 ประการ คือ 
  1. เพื่อพัฒนาระบบและกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ 
  2. เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองดี มีคุณลักษณะทักษะและสมรรถนะที่สอดคล้องกับบท บัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ 
  3. เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณธรรม จริยธรรม รู้รักสามัคคี และร่วมมือผนึกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  4. เพื่อนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศลดลง
เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษาดังกล่าวข้างต้น แผนการศึกษาแห่งชาติได้วางเป้าหมายด้านผู้เรียน ไว้ดังนี้

เป้าหมายด้านผู้เรียน (Learner Aspirations) 
มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (3Rs 8Cs) ประกอบด้วย ทักษะและคุณลักษณะต่อไปนี้
  1. 3Rs ได้แก่ การอ่านออก (Reading) การเขียนได้ (Writing) และการคิดเลขเป็น (Arithmetics)
  2. 8Cs ได้แก่ ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving) ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation) ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ (Cross-cultural Understanding) ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership) ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และการรู้เท่าทันสื่อ (Communications, Information and Media Literacy) ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Computing and ICT Literacy) ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้ (Career and Learning Skills) และความมีเมตตา กรุณา มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม(Compassion)
อินโฟกราฟิกจากเฟซบุ๊กเพจ เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา

5. ความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(มปป หน้า 8-9) การเรียนรู้ตลอดชีวิตนับเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางการศึกษาที่สำคัญ เพราะไม่ว่าใครก็ตามล้วนแต่ต้องเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดเวลา การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นการเรียนรู้ที่มีความสำคัญที่ทุกคนสามารถกระทำได้ในทุกช่วงวัยของชีวิตและเรียนรู้ได้ในทุกสถานที่ ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นการเรียนรู้ที่ครอบคลุมการศึกษาทุกรูปแบบ โดยทุกคนมีความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันในโอกาสทางการ ศึกษา และมีวิธีการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต รวมทั้งสาระการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ทุกคนมีอิสระในการเลือกที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการจะเรียนรู้และเลือกวิธีเรียนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความ สามารถของตนในการที่จะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องให้เต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคลมีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ รวมทั้งทักษะในการแสวงหาความรู้หรือมีเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป

จากหลักการที่กล่าวมาทั้งหมด ถ้าจะให้กศน.ตำบลมีบทบาทสนองรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 แนวคิดการจัดการศึกษา วิสัยทัศน์ จุดมุ่งหมาย เป้าหมาย ตัวชี้วัด และยุทธศาสตร์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ และสอดคล้องกับความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับการจัดและส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัยแล้ว กศน.ตำบลควรมีบทบาทดังต่อไปนี้


เขียน/เรียบเรียง : ศุภกร ศรีศักดา

อ้างอิง :
สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง. รวมกฎหมาย ระเบียบและประกาศทีเกี่ยวข้องกะงานพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560., ม.ป.ท.: ม.ป.พ., น. 14.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. (2560). แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579. ม.ป.ท.: พริกหวานกราฟฟิค จำกัด. น. 26-39.

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. เอกสารสาระหลักการและแนวคิดประกอบการดำเนินงาน กศน. : คัมภีร์ กศน., กรุงเทพฯ: เอ็น.เอ.รัตนเทรดดิ้ง. น. 8-9