ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” กับความอยู่รอด

ความเป็นมา
เมื่อปีพ.ศ. 2523 กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ในขณะนั้น ได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ขึ้น โดยส่งครูอาสาหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ครูดอย จำนวน 1-2 คนเข้าไปฝังตัวพักอยู่กับประชาชนในชุมชน และมีการสร้างอาคารขนาดเล็ก เรียกว่า อาศรม ด้วยวัสดุท้องถิ่น เพื่อให้บริการการศึกษา และพัฒนาชุมชนแก่ผู้ใหญ่ในเวลากลางคืน และสอนเด็กตั้งแต่อนุบาลถึง ป.6 ในตอนกลางวัน โดยมุ่งให้สามารถช่วยเหลือตนเองและเป็นพลเมืองดีของชาติ 


โดยในปี พ.ศ. 2523-2529 ได้ทดลองการจัดการศึกษาในรูปแบบ “ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา” (ศศช.) ขึ้น มีเป้าหมายเพื่อจัดการศึกษาทั้งชุมชน โดยยึดหลักการ “การศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม” และได้พัฒนาหลักสูตรประถมศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา พ.ศ. 2524 ใช้สอนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 


การดำเนินงานการจัดการศึกษาในรูปแบบ ศศช. นอกจากจะมีหลักสูตรเฉพาะ มีแบบเรียน คู่มือครู รวมถึงระบบนิเทศติดตามผล รูปแบบการอบรมครู เมื่อสรุปผลการทดลองโครงการฯ กรมการศึกษานอกโรงเรียน ได้ขยายงานเข้าสู่ระบบงานปกติ จากเดิมที่ทดลองในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และลำปาง ต่อมาขยายเป็น 14 จังหวัด ในเขตภาคเหนือที่มีชาวไทยภูเขา 

จากการดำเนินงานที่ผ่านมาโครงการ ศศช. นี้ เมื่อปี พ.ศ.2527 ได้รับรางวัล Nessim Habif Award จาก UNESCO รางวัลที่ 1 ประเภทสื่อโสตทัศนูปกรณ์ เรื่อง “อาศรม” และรางวัลที่ 3 ประเภทเอกสารสิ่งพิมพ์ส่งเสริมการอ่าน ต่อมา พ.ศ. 2537 ได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโก ในฐานะที่เป็นแนวคิดใหม่ในการจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันมีการขยายเปิดตามชุมชนการเรียนรู้ชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” 773 แห่งในจังหวัดต่าง ๆ



ปัจจุบัน สถานการณ์ของ ศศช. พบว่าจังหวัดที่มี ศศช. 13 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก น่าน เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี มีศศช.รวมกันทั้งหมด 778 แห่ง และปรากฏว่า ศศช.ที่มีเด็กวัยเรียน 334 แห่ง (ร้อยละ 42.88) ไม่มีเด็กวัยเรียน 445 แห่ง (ร้อยละ 57.12) สำหรับ ศศช.ที่มีเด็กยังพบว่า มีเด็กจำนวนน้อย คือ 1-9 คน ถึง 90 แห่ง แสดงว่า ศศช.ส่วนใหญ่ไม่มีเด็กในวัยเรียน หากรวมกับศศช. ที่มีเด็กวัยเรียนจำนวนน้อย ก็จะมีถึง 535 แห่ง หรือร้อยละ 68.68 และมีแนวโน้มว่าเด็กจะลดลงเรื่อย ๆ 

ดังนั้น หากเรายังยึดติดกับการสอนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็ก ในอีกไม่นานเราจะไม่มีเด็กให้สอน แล้วศศช.ก็จะหมดความสำคัญลงไป หาก ศศช.ไม่จัดและส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่และทุกๆคน อาจจะนำไปสู่การยุบ ศศช.ที่ไม่มีเด็กก็เป็นได้ แต่ผมเชื่อว่าพวกเราชาว ศศช.ทุกท่าน ด้วยหัวใจที่แข็งแกร่งและมุ่งมั่นในอุดมการณ์ จะไม่มีใครยอมจำนนจนกระทั่งถูกยุบแน่ จึงมีประเด็นคำถามที่ท้าทาย คือ แล้วให้ ศศช.อยู่รอดอย่างสง่างามได้อย่างไร ซึ่งผมใคร่ขอเสนอแนวทางไว้ตามหลักการดำเนินงานของ ศศช.ดังต่อไปนี้


1. จัดและส่งเสริมการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน 
การจ้ดและส่งเสริมการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานเกิดขึ้นจริงและประเมินได้ เป็นการจัดการศึกษาภายใต้กรอบความคิดดังต่อไปนี้


การใช้พื้นที่หรือชุมชนเป็นฐาน (Community Based) ในการจัดหรือส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวคือ ชุมชนเป็นห้องเรียนของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ขอบข่ายของชุมชนอาจจะเป็นระดับหมู่บ้าน/ชุมชน 

ผู้เรียน (Learner) คือ ประชาชนทุกคนในหมู่บ้านหรือชุมชน เพราะปัญหาของชุมชน ทุกคนในชุมชนต้องเรียนรู้และช่วยกันแก้ปัญหา

หลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ (Problems and Vision Based) มาจากหลายแนวทาง เช่นปัญหาและความต้องการของชุมชน จุดเด่น วิสัยทัศน์ของชุมชน

การจัดกิจกรรม เพื่อการเรียนรู้ อาจจัดการเรียนรู้ในรูปแบบของโครงการ (Project Based) เนื่องจากประชาชนหรือผู้เรียนมีปัญหาความต้องการและความสนใจที่แตกต่างกัน กิจกรรมการเรียนรู้จึงต้องแตกต่างกัน

รูปแบบการจัดการเรียนรู้
ทั้งปัญหาและวิสัยทัศน์ของชุมชน จะสามารถจัดการเรียนรู้ได้ทั้งในรูปแบบการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยพิจารณาตามความต้องการหรือความเหมาะสมและเป้าหมายของแต่ละกิจกรรม


การจัดกระบวนการเรียนรู้ในกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยใช้ชุมชนเป็นฐานตามรูปแบบดังกล่าว มาจากพื้นฐานความเชื่อ 3 ประการ 
  1. ชุมชนที่มีศักยภาพ คือ ชุมชนที่มีความสามารถในการเผชิญ พึ่งพาตนเองและในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
  2. การจัดการศึกษาเพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพ จึงต้องเป็นการจัดการศึกษาที่เน้นบทบาทของผู้เรียน คือชุมชนเป็นสำคัญ กระบวนการจัดการเรียนรู้ทุกขั้นตอนต้องมาจากการดำเนินการของชุมชนหรือผู้เรียน
  3. การจัดการศึกษาที่มีความหมายแก่ผู้เรียน คือการศึกษาที่นำมาซึ่งการแก้ปัญหาของชุมชน
2. แผนเรียนรู้รายบุคคล/กลุ่ม/ชุมชน
แนวคิดการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของ ศศช.ซึ่งเป็นการจัดและส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่เป็นหลักการให้ผู้ใหญ่ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต น่าจะต้องคำนึงหลักการดังต่อไปนี้
เป็นการศึกษาที่ต้องการใช้ผลการเรียนไปใช้ในชีวิตประจำวัน  และต้องการใช้ผลในทันทีที่สำเร็จการศึกษาจากกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ
  • เป็นการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและชุมชนในปัจจุบันมากกว่ามุ่งผลประโยชน์ในอนาคต
  • เป็นการศึกษาที่เน้นการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละคน และชุมชน
  • เป็นการศึกษาที่สามารถตอบสนองความต้องการและความแตกต่างของแต่ละบุคคล 
  • เป็นการศึกษาที่มุ่งเสริมสร้างศักยภาพของคนและชุมชนด้วยกระบวนการทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
  • การจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาพวิถีชีวิตของคนในแต่ชุมชน เพื่อการพัฒนาชุมชนที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชน 
  • เป็นการศึกษาที่เรียนได้ด้วยลงมือเองและถือว่าผู้เรียนเป็นแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ที่สำคัญ
  • เป็นการศึกษาที่ผู้เรียนกำหนดหรือเสนอแผนการเรียนรู้และแก้ปัญหาเอง 
  • เป็นการศึกษาที่ผู้เรียนมีวิธีเรียนที่หลากหลาย
  • เป็นกระบวนการจัดการที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนได้เพิ่มพูนสมรรถนะ 
จากฐานความคิดดังกล่าว จะต้องดำเนินการจัดและส่งเสริมการเรียนรู้ตามสภาพปัญหาความต้องหรือวิสัยทัศน์ของแต่ละบุคคล กลุ่มบุคคล เช่น กลุ่มอาชีพ และชุมชน ซึ่งจะสอดคล้องกับความเชื่อพื้นฐานของปรัชญา”คิดเป็น”ที่เชื่อว่าคนมีความแตกต่างกันอย่างหลากหลาย ความต้องการของคนก็ไม่เหมือนกัน แต่คนทุกคนต้องการความสุข ซึ่งความสุขของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แผนการเรียนรู้รายบุคคล/กลุ่ม/ชุมชนจึงน่าจะเป็นทางออกได้



แนวทางการจัดการจัดการศึกษาของ ศศช. ดังกล่าว จะเป็นการทำให้ชาวบ้านทุกคนได้รับการเรียนอย่างมีความหมายในการพัฒนาตนเองและชุมชน เป็นประโยชน์ทั้งระดับบุคคลและชุมชน ผูกพันกับคนทุกคน ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ



เขียน/เรียบเรียง : ศุภกร ศรีศักดา
ภาพประกอบ : บัญชา มีโชค / สราวุธ เบี้ยจรัส / เฉลิมพล อินต๊ะเสน