ผักพื้นบ้าน: ผักเฮือด

ผักเฮือด เป็นผักพื้นบ้านที่คนนิยมกินกันทั่วประเทศ ทางภาคเหนือ เรียก ผักเฮือด ผักฮี้ คนภาคกลางและภาคใต้ เรียก ผักเลือด ผักเลียบ ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม จะทิ้งใบหมดและจะผลิใบใหม่ในช่วงปลายฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

ต้นผักเฮือดถือเป็นไม้ประวัติศาสตร์ เป็น “ไม้เสื้อเมือง” หรือ “ไม้มิ่งเมือง” ของเมืองเชียงใหม่ ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงไว้ว่า ขณะที่สามสหายสามกษัตริย์ (พญามังราย พญางำเมือง และพญาร่วง) หารือกันสร้างเมืองเชียงใหม่ ปี พ.ศ.1839 ขณะนั้นมีพญาหนูเผือกตัวใหญ่พร้อมด้วยบริวารสี่ตัว ไต่ออกจากชัยภูมิไปเข้าโพรงในต้นผักเฮือด ทั้งสามพระองค์ทรงอัศจรรย์ใจยิ่ง และทรงเห็นเป็นนิมิตอันดีจึงนำข้าวตอกดอกไม้ใส่พานทองบูชา พร้อมสถาปนาให้เป็น “ไม้มิ่งเมือง” ของเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ตั้งแต่บัดนั้น

ต้นผักเฮือด หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
อดีดผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปลูกไว้เมื่อ 20 พฤษภาคม 2542

ลักษณะทั่วไป
ลักษณะต้น: เฮือด เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดกลาง ลำต้นสูง 8-15 เมตร ต้นที่อายุมากจะแตกพุ่มใหญ่ ต้นที่ถูกตัดกิ่ง หักกิ่งบ่อยจะดูเหมือนคล้ายตอไม้มีปุ่มปม กิ่งก้านมาก ยิ่งตัด ยิ่งแตกกิ่ง ลำต้นมีรากอากาศ

ต้นผักเฮือด อายุร้อยกว่าปี ที่บ้านปางมะโอ ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
ภาพจากเว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รายการภัตตาคารบ้านทุ่ง https://program.thaipbs.or.th/BanTung/episodes/56701

ใบ ใบผักเฮือดคือส่วนที่เราใช้รับประทาน โดยจะรับประทานเมื่อยังเป็นยอดอ่อนที่เริ่มงอกระยะแรก ยอดดอนมีลักษณะคล้ายดอกจำปาตอนตูม ผลิยอดใบอ่อนสีชมพู หรือสีชมพูอมเขียว ใบอ่อนแลดูใสแวววาวไปทั้งต้น และมีปลอกหุ้มใบ เป็นกาบใบสีขาว พอเจริญเต็มที่ใบอ่อนจะกลายเป็นใบแก่มีสีเขียว ปลายใบมนทู่ ขอบใบเรียบ ผิวใบมัน กว้าง 6-7 ซม. ยาว 7-18 ซม. มีหูใบขนาดเล็ก

ยอดอ่อน (ซ้าย) ภาพจาก https://www.kasettambon.com/เอียนดอย-ภาคอีสาน-คะนาง/
ใบอ่อน (ขวา) ภาพจาก https://morkeaw.net/spicy-salad-with-ficus-lacor-buch-ham

ดอก ออกดอกเป็นช่อตามกิ่งและซอกใบ เส้นผ่าศูนย์กลางดอกประมาณ 4-6 มม. ก้านดอกสั้น

ผล ผลอ่อนมีสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดง ม่วง หรือดำ เมื่อแก่เต็มที่ เส้นผ่าศูนย์กลางของผลประมาณ 1-2 ซม. ภายในมีเมล็ดมาก มักเป็นอาหารของนก 
 
ผลอ่อน เฮือด ภาพจาก https://www.shutterstock.com/

การขยายพันธุ์
ผักเฮือดมีการขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง

ประโยชน์และสรรพคุณ
สรรพคุณทางยา ผักเฮือดมีสรรพคุณทางยา ทั้งภายนอกและภายใน
  • เปลือกลำต้น หมอพื้นบ้านทางภาคเหนือใช้เปลือกของต้นผักเฮือด ประมาณหนึ่งฝ่ามือ สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มดื่มแก้ปวดท้อง อีกทั้งใช้เป็นยาทำให้อาเจียน นอกจากนี้ยังนำเปลือกมาต้ม ใช้ล้างแผลเปื่อย แผลติดเชื้อแบคทีเรียอย่างเฉียบพลัน ที่เข้าสู่ผิวหนังแท้และระบบน้ำเหลืองได้
  • ใบ ใบมีสารคล้ายเอสโตรเจน ใช้ขับพยาธิตัวกลม ขับฤดูในกรณีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ขับปัสสาวะ ไล่แมลง สำหรับสตรีแม่ลูกอ่อนที่มีอาการไอ ห้ามกินผักเฮือด จะทำให้ไอกำเริบ
  • ดอก ดอกมีสรรพคุณในการฆ่าเหา แก้โรคผิวหนัง แผลพุพองจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก
  • ผล ผลสุกสดหรือแห้ง มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ในประเทศจีนใช้ใบรักษาการปวดเส้นเอ็น ปวดดวงตา ปวดหัว แก้คัน และรักษาแผล
  • ราก ใช้เปลือกหรือรากสำหรับรักษาอาการปวดไขข้อ แขนขาชา อ่อนล้า
ประโยชน์ด้านอาหาร ผักเฮือดเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินเอ แคลเซียม ฟอสฟอรัส มีรสฝาด มัน เปรี้ยว ชาวบ้านนิยมเก็บยอดอ่อน มากินเป็นผักสด หรือประกอบอาหาร ทางภาคเหนือนิยมนำมาแกงใส่กระดูกซี่โครงหมู แกงใส่ปลา หรือนำไปลวก นึ่ง ทำผักลวกราดกะทิ เป็นผักเคียงจิ้มน้ำพริก และที่นิยมทำกันมาก คือ ยำผักเฮือด ใส่กากหมู หรือแคบหมู ทางภาคใต้นิยมนำไปต้มกะทิปลาเค็ม แกงเผ็ดปลา แกงเผ็ดไก่ หรือแกงกะทิ

อาหารพื้นบ้านภาคเหนือ: ยำผักเฮือด
ส่วนผสม
 1. ผักเฮือก 500 กรัม
 2. เนื้อหมู 300 กรัม
 3. พริกแห้ง 15 เม็ด
 4. ข่าแก่หั่นแว่น 10 แว่น
 5. กระเทียม 10 กลีบ
 6. เกลือ ½ ช้อนชา
 7. น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
 8. ปลาร้าสับละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
 9. ต้นหอม
ยำผักเฮือด
ขั้นตอนและวิธีทำ
  1.  นำผักเฮือดมาล้างด้วยน้ำสะอาด พักให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นจึงนำไปนึ่งให้สุกเปื่อย (ประมาณ 45 นาที) จึงนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พักเอาไว้
  2.  ทำพริกแกง โดยนำพริกแห้งไปย่างบนเตาไฟให้กรอบ ส่วนปลาร้านำไปห่อด้วยใบตองย่างไฟให้สุกเช่นกัน แล้วนำเอาพริกแห้งที่ย่างกรอบใส่ลงในครก เติมเกลือ ข่า กระเทียม โขลกให้เข้ากันทั้งหมด แล้วจึงใส่ปลาร้าสับที่ย่างไฟสุกลงไปโขลกให้เข้ากัน
  3. นำพริกแกงที่โขลกไว้ คลุกเคล้ากับผักเฮือดให้ส่วนผสมเข้ากันทั้งหมด
  4. ตั้งกระทะให้ร้อน ใส่น้ำมันพืชลงไป เอากระเทียมลงไปเจียวให้เหลืองหอม แล้วจึงใส่เนื้อหมูลงไปผัดให้สุกเหลือง นำเอาผักเฮือดที่คลุกเคล้ากับพริกแกงแล้วลงไปผัด คนให้เข้ากัน ปรุงรสตามใจชอบอีกครั้งหนึ่ง เป็นอันเสร็จเรียบร้อย 

เรียบเรียง: 
ณิชากร เมตาภรณ์ ครูชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
กมลทิพย์ ประเทศ และคณะ. (2561, 13 กุมภาพันธ์). การขยายพันธุ์. สืบค้นจาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=116&code_db=610010&code_type=01

ต้นผักเฮือด. สืบค้น 18 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.at-chiangmai.com/ผักเฮือด/

สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน : CBT-I. (2555, 14 กุมภาพันธ์). ประโยชน์ของผักเฮือด. สืบค้นจากhttps://www.facebook.com/cbticlub/posts/ 349023695129008/

อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช. (2561, 2 เมษายน). ผักเฮือด-สรรพคุณทางยา. สืบค้นจาก https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_53567

ผักพื้นบ้าน ผักเฮือด. สืบค้น 11 สิงหาคม 2564 จาก
http://area-based.lpru.ac.th/veg/www/Native_veg/v258.htm

ยำผักเฮือด เมนูสุขภาพต้นตำรับของชาวเหนือ ได้ทั้งความอร่อยและสุขภาพดี. (2563, 5 มิถุนายน). สืบค้นจาก https://food.trueid.net/detail/2z6n4lWrVR4z