ผักพื้นบ้าน : เชียงดา...สุดยอดผักพื้นบ้าน

เชียงดา หรือ จินดา หรือ เจียงดา เป็นพืชไม้เถาเลื้อย พบได้ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย พม่า ศรีลังกา เป็นผักพื้นบ้านที่คนในท้องถิ่นนิยมบริโภค ปลูกกันมากทางภาคเหนือของประเทศไทย ส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือดินและส่วนต่าง ๆ เมื่อถูกตัดหรือหั่น จะมีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนมไหลออกมา ผักเชียงดาจะมีรสขมเล็กน้อย ชนิดที่อยู่ในป่าจะมีรสขมกว่า และใบใหญ่กว่า แต่สีของใบจะเข้มน้อยกว่าพันธุ์ที่ปลูกตามบ้าน ผักเชียงดาสามารถแตกยอดได้ตลอดปี และแตกแขนงได้มาก ช่วงเวลาที่ยอดผักอร่อยที่สุด คือ ช่วงหน้าแล้ง

เชียงดา  
ภาพจาก : เว็บไซต์อุทยานหลวงราชพฤกษ์ 
https://www.royalparkrajapruek.org/News/news_detail?newsid=338

ลักษณะทั่วไป
ลำต้น เชียงดา เป็นพืชไม้เถาเลื้อย มีสีเขียวเข้ม ขนาดของลำต้นมีเส้นผ่า ศูนย์กลาง 0.5-5 ซม.
ใบ เป็นใบเดี่ยว สีเขียวเข้ม หน้าใบเขียวเข้ม มากกว่าหลังใบ ออกจากข้อเรียงเป็นคู่ ตรงกันข้าม ฐานใบมน ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน
ดอก ออกดอกเป็นช่อแน่น ดอกย่อยมีขนาดเล็กกลม สีขาวอมเขียวอ่อน
ผล เชียงดาจะออกผลเป็นฝัก รูปร่างคล้ายหอก

ลักษณะต้นและใบของเชียงดา
ภาพจาก เว็บไซต์เทคโนโลยีชาวบ้าน
https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_98889

ดอกเชียงดา 
ภาพจาก : https://health.kapook.com/view202278.html

ผล (ฝัก) เชียงดา
ภาพจาก : https://medthai.com/ผักเชียงดา/

ประโยชน์และสรรพคุณของผักเชียงดา

ประโยชน์ด้านอาหาร
ผักเชียงดาถือเป็นราชินีของผักพื้นบ้าน ประชาชนในภาคเหนือของไทยปลูกเชียงดาเป็นพืชผักสวนครัว และนิยมกินกันมาตั้งแต่โบราณ เนื่องจากมีรสชาติอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอก สามารถนำมาประกอบอาหารได้อย่างหลากหลาย เช่น แกงใส่ปลาแห้ง แกงรวมกับผักพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ นำมาผัดใส่ไข่หรือหมู หรือลวกกินกับน้ำพริก
ยอดผักเชียงดา 
ภาพจาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/924287/ 

ผักเชียงดาผัดใส่ไข่       ภาพโดย : Nicha47   

แกงผักเชียงดาใส่ปลาแห้งและไข่มดแดง
ภาพจาก : https://www.facebook.com/ChaingmaiLarb/

สรรพคุณทางยา 
นอกจากจะนำผักเชียงดามาประกอบอาหารแล้ว ยังใช้เป็นยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคด้วย โดยนำผักเชียงดามาสับแล้วนำไปตากแห้งบดเป็นผง ใช้ชงเป็นชาดื่ม หรือจะนำมาบรรจุลงในแคปซูลก็ได้ เพราะมีสรรพคุณในทางยามากมาย ถือว่าเป็น “ยาแก้หลวง” คือ เป็นยาที่ใช้แก้ได้หลายอาการ รักษาได้หลายโรค เช่น
  • ลดน้ำตาลในเลือด ผักเชียงดาจะมีสารอาหารซึ่งอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ได้แก่ กรดจิมเนมิก (gymnemic acid) เป็นสารที่มีอยู่ในรากและใบของผักเชียงดา มีรูปร่างเหมือนน้ำตาลกลูโคส เมื่อทานผักเชียงดาแล้ว ลำไส้จะดูดซึมกรดจิมเนมิกเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีกว่าน้ำตาล มีผลทำให้การดูดซึมน้ำตาลลดลง และช่วยเพิ่มปริมาณอินซูลินให้สูงขึ้น จากคุณสมบัติทั้งสองอย่างนี้จึงทำให้ผักเชียงดาสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้
  • ต้านการเกิดมะเร็ง ในผักเชียงดาไม่มีวิตามินเอ แต่มีสารประกอบจำพวกแคโรทีน ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในตับได้ พบในผักและผลไม้ที่มีสีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีแดง ผักเชียงดาก็เช่นเดียวกัน มีคุณสมบัติเป็นสารต้านการเกิดมะเร็ง และเป็นสารอาหารที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง โดยทำหน้าที่เป็นสารแอนติออกซิแดนต์ (Antioxidant) ซึ่งคอยกำจัดสารอนุมูลอิสระ
ในงานวิจัยยังพบว่า ผักเชียงดามีสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน โรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มีสารออกฤทธิ์ที่ช่วยควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ ช่วยควบคุมและปรับระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ ช่วยลดและควบคุมปริมาณไขมันในร่างกายให้สมดุล แก้อาการปวดเมื่อยอันเนื่องมาจากการทำงาน ช่วยเรื่องแก้เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ตัวร้อน แก้ไข้สันนิบาต (ชักกระตุก) แก้หวัด ภูมิแพ้ หอบหืด แก้แพ้ยา แพ้อาหาร ปวดข้อ เป็นยาระบาย ช่วยระงับประสาท ช่วยชำระล้างสารพิษตกค้างในร่างกาย ช่วยทำให้เจริญอาหาร ฯลฯ

การปลูกและขยายพันธุ์
เชียงดาขยายพันธุ์โดยปักชำกิ่งและเพาะเมล็ด แต่คนจะนิยมการปักชำกิ่งมากกว่า เพราะเป็นวิธีที่ง่าย สามารถทำเองที่บ้านได้ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ในฤดูฝนจะให้ผลผลิตมาก

การขยายพันธ์เชียงดาด้วยการปักชำ
ภาพจาก : เอกสารเผยแพร่ การขยายพันธุ์ผักเชียงดาโดยวิธีการปักชำ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
https://webs.rmutl.ac.th/assets/upload/files/2017/11/20171103073750_29790.pdf

อาหารเมืองเหนือ : แกงผักเชียงดาใส่ปลาแห้ง
จากเว็บไซต์และฐานข้อมูลอาหารพื้นบ้านล้านนา โดย ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
http://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannafood/detail_lannafood.php?id_food=121

แกงผักเซียงดาใส่ปลาแห้ง มีวิธีการแกงเช่นเดียวกับแกงผักหวานบ้าน และแกงผักหวานป่า แต่ไม่ใส่วุ้นเส้น นิยมใส่ปลาย่าง หรือปลาแห้ง
ส่วนผสม
 1. ผักเซียงดา  100 กรัม
 2. ปลาแห้ง   50 กรัม
 3. มะเขือเทศลูกเล็ก 5 ลูก

เครื่องแกง
 1. พริกแห้ง 5 เม็ด
2. กระเทียม 5 กลีบ
3. หอมแดง 5 หัว
4. กะปิ 1 ช้อนชา
5. เกลือ 1 ช้อนชา

ภาพจาก http://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannafood/detail_lannafood.php?id_food=121

วิธีการทำ
1. โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด
2. ต้มน้ำ พอเดือด ละลายเครื่องแกงในน้ำเดือด
3. ใส่ปลาแห้ง ต้มจนปลานุ่ม
4. ใส่ผักเซียงดา ตามด้วยมะเขือเทศ พอผักสุก ปิดไฟ
เคล็ดลับในการปรุง : ไม่ควรแกงนาน เพราะเป็นผักใบอ่อน ควรรับประทานในขณะแกงยังร้อน


เรียบเรียง : 
ณิชากร เมตาภรณ์ ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
การขยายพันธุ์ผักเชียงดา โดยวิธีการปักชำ. (2562, 4 เมษายน). สืบค้นจาก https://78point.wordpress.com/2019/04/04/การขยายพันธุ์ผักเชียงด/

ผักเชียงดา ผักพื้นบ้านที่มีประโยชน์ต้านโควิด 19. สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2564 จาก https://www.sgethai.com/article/ผักเชียงดา-ผักพื้นบ้าน/

นิตยา บุญทิม, ดร. ผักเชียงดา (ตอนที่ 1). สืบค้นจาก https://stri.cmu.ac.th/article_detail.php?id=51
อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช. (2561, 17 กุมภาพันธ์). เชียงดา ของดีที่หาได้ในแดนเหนือ. สืบค้นจาก https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_98889

33 สรรพคุณประโยชน์ของผักเชียงดา ! (ผักจินดา). สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2564 จาก https://medthai.com/ผักเชียงดา/

สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศูนย์สนเทศภาคเหนือ. แกงผักเชียงดา. สืบค้นจาก http://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannafood/detail_lannafood.php?id_food=121