สถานีรถไฟนครลำปาง Unseen Lampang

สถานีรถไฟนครลำปางจัดเป็นสถานีรถไฟชั้น 1 (อยู่ในเขตเมืองและอำเภอขนาดใหญ่) หากแบ่งตามระดับชั้นของสถานีรถไฟ เป็นรองเพียงสถานีเดียวคือ สถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งเป็นสถานีรถไฟชั้นพิเศษในกรุงเทพมหานคร

ภายในพื้นที่ย่านสถานีรถไฟ 161 ไร่ ในตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง จ. ลำปาง ประกอบด้วยอาคารสถานีรถไฟ หอสัญญาณ ที่ทำการตำรวจรถไฟ โรงเก็บน้ำมัน โรงกำเนิดไฟฟ้า สถานพยาบาล อาคารโรงซ่อมรถจักร ถังเก็บน้ำสำหรับเติมรถจักรไอน้ำ ชานชาลาขนส่งสินค้า กลุ่มบ้านพักพนักงานรถไฟและสโมสรรถไฟ

สถานีรถไฟนครลำปางในปี พ.ศ.2564  
ภาพโดย: สราวุธ เบี้ยจรัส

สถานีรถไฟนครลำปางเป็นสถานีรถไฟรุ่นแรก ๆ ที่สร้างขึ้นในประเทศไทยและยังคงเหลืออยู่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สร้างระหว่างปี พ.ศ. 2458-2459  ในสมัยรัชกาลที่ 6  เป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายเหนือ มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการ และมีนายช่างชาวเยอรมัน เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2459  

รถไฟขบวนแรกที่มาถึงลำปาง เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2459
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ

สำหรับรถไฟขบวนแรกที่เคลื่อนมายังสถานีรถไฟนครลำปางนั้น เป็นขบวนที่บรรทุกเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ยังมิได้ขนส่งผู้โดยสารมายังเมืองนี้  ส่วนขบวนที่สองนั้นใช้บรรทุกปูนซีเมนต์และอุปกรณ์เพื่อก่อสร้างสะพาน รัษฎาภิเศก ที่ก่อสร้างเสร็จในปีต่อมา (มีนาคม 2460) ขบวนที่สามนั้นเองจึงเป็นขบวนที่ขนส่งผู้โดยสารจากต่างเมืองมายังนครลำปาง ในสมัยเริ่มแรกสถานีรถไฟนครลำปางเป็นสถานีปลายทางของรถไฟสายภาคเหนือ นับว่าการสร้างสถานีรถไฟแห่งนี้ได้นำความก้าวหน้ามาสู่นครลำปางก่อนเชียงใหม่หลายปี เนื่องจากการเจาะอุโมงค์ที่ถ้ำขุนตานเพื่อไปเชียงใหม่นั้นยังไม่แล้วเสร็จ เส้นทางรถไฟสายนี้เริ่มแรกรองรับขบวนรถ พิษณุโลก-ลำปาง และ อุตรดิตถ์-ลำปาง ก่อนมีรถด่วนสายเหนือตรงจากจากสถานีในกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 642 กิโลเมตร ขึ้นมาลำปาง เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2465 นับเป็นชุมทางการขนส่งที่ทันสมัยที่สุด จึงเป็นศูนย์รวมการกระจายสินค้าและส่งเสริมการเดินทางของผู้คนจากกรุงเทพฯ ไปพื้นที่อื่นในภาคเหนือ

สถานีรถไฟนครลำปาง ปี 2489

อาคารสถานีรถไฟนครลำปางเป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐฉาบปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีปีก 2 ข้างเชื่อมกับโถงกลาง รูปแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียล มีการใช้โค้ง (arch) และการประดับตกแต่งด้วยไม้ฉลุ และปูนปั้น ออกแบบโดยวิศวกรชาวเยอรมันชื่อนายอินสท์ อัลท์มันน์ (Ernst  Altmann) ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบบาวาเรียน คอทเทจ (Bavarian Cottage) ที่มีการใช้ไม้ทะแยงมุมยึดไม่ให้อาคารโยก ซึ่งเป็นเทคนิคการก่อสร้างแบบเยอรมันผสมผสานการประดับตกแต่งหัวเสา ซุ้มโค้งและลวดลายพื้นเมือง ซึ่งใช้ลายหม้อ (ปูรณฑฏะ) ผสมลายเครือเถา หรือที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ลายหม้อดอก” 

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานีรถไฟนครลำปางเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการทำลาย เนื่องจากเป็นเส้นทางลำเลียงและยุทโธปกรณ์ของญี่ปุ่น แต่ก็ได้รับความเสียหายเล็กน้อย โดยหลักฐานที่มาอยู่ถึงปัจจุบันคือรอยกระสุนปืน ที่คานหลังคาชานชลาสถานีรถไฟ

อาคารสถานีดังที่เห็นในปัจจุบันได้ผ่านการต่อเติมมาเป็นบางส่วน โดยเฉพาะช่วงก่อนปี พ.ศ. 2520 มีการต่อเติมส่วนควบคุมบริเวณปีกทางทิศใต้ ส่วนที่พักคอยด้านติดรางรถไฟ และซุ้มด้านหน้าที่จอดรถ จากนั้นมีการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคา กระเบื้องพื้น และปรับปรุงพื้นชั้นล่างทั้งหมดในปี พ.ศ. 2538

ความโดดเด่นของสถานีรถไฟนครลำปาง
นอกเหนือจากการให้บริการรถไฟโดยทั่วไปแล้ว  สถานีรถไฟนครลำปางยังมีความโดดเด่นอีกหลายประการ ได้แก่
  
1. อาคารสถานีรถไฟลำปาง ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแห่งสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ ประจำปี พ.ศ. 2536  

2. หัวรถจักรไอน้ำ บริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟนครลำปาง มีหัวรถจักรไอน้ำที่เลิกใช้งานแล้วมาจัดแสดงไว้อย่างโดดเด่น หลังจากได้รับมอบหัวรถจักรไอน้ำจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2506 และกำหนดให้สถานีรถไฟแห่งนี้เป็นสถานีประวัติศาสตร์ ควรค่าที่จะอนุรักษ์สืบต่อไป

หัวรถจักรไอน้ำ หน้าสถานีรถไฟนครลำปางในปัจจุบัน 
ภาพโดย: สราวุธ เบี้ยจรัส

3. รถจักรดีเซลไฟฟ้าดาเวนพอร์ท มีการใช้รถจักรดีเซลไฟฟ้าดาเวนพอร์ท (Davenport) ขนาด 500 แรงม้า ที่นำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 ปัจจุบันรถจักรดีเซลไฟฟ้าดาเวนพอร์ทรุ่นนี้ ไม่่ได้ทำหน้าที่เป็นขบวนรถโดยสารหรือรถสินค้าแบบในสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว คงมีเหลือใช้งานสำหรับทำสับเปลี่ยนภายในย่านสถานีใหญ่ ๆ ตามต่างจังหวัด เพียงไม่กี่คัน เช่น ที่สถานีศิลาอาสน์ นครลำปาง และนครราชสีมา สำหรับสถานีรถไฟนครลำปางได้นำรถจักรรุ่นนี้มาใช้เพื่อสับเปลี่ยนขบวนรถไฟโดยสารหรือรถน้ำมันในย่านสถานีรถไฟนครลำปาง หรือใช้ลากตู้รถไฟสั้น ๆ ในงานวันเด็ก พาเด็ก ๆ และผู้ปกครองเดินทางในระยะใกล้ราว 1 กิโลเมตร จากสถานีนครลำปางถึงสะพานข้ามแม่น้ำวัง 


รถจักรดีเซลไฟฟ้าดาเวนพอร์ท  
ภาพจาก: https://pantip.com/topic/39335882

จังหวัดลำปางได้จัดงานรถไฟรถม้าลำปางขึ้นประจำทุกปี ในช่วงต้นเดือนเมษายน เป็นที่สนใจของประชาชนจังหวัดลำปางและนักท่องเที่ยว โดยมีการจัดงานยิ่งใหญ่มีการชมนิทรรศการประวัติศาสตร์รถไฟ-รถม้า ชมการแสดงดนตรีและสิ่งบันเทิง การแสดงดนตรีพื้นบ้าน การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน จากกลุ่มประชาชนและนักเรียน นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและสินค้าทั่วไปงานรถไฟรถม้าลำปางทำให้เมืองลำปางมีชีวิตชีวาและคึกคักขึ้นมาทันที


เรียบเรียง :
แก้วตา ธีระกุลพิศุทธิ์ ครูชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น, บรรณาธิการ. (2558). 2 ฝากแม่น้ำวัง 2 ฝั่งนครลำปาง. พิมพ์ครั้งที่ 2. ลำปาง : สำนักงานจังหวัด.

ปริญญา ชูแก้ว. หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย. สืบค้นจาก
https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NAJUA/article/view/16746/15137

สถานีรถไฟนครลำปาง รอยทางแห่งความรุ่งเรือง. สืบค้น 5 มกราคม 2564 จาก https://www.lannapost.net/2019/08/blog-post_56.html

จิราพร แซ่เตียว. (2563). เกร็ดประวัติศาสตร์ สถานีรถไฟนครลำปาง. สืบค้น 8 มกราคม 2564 จาก http://www.muangboranjournal.com/post/Nakhon-Lampang-railway-station