ผักพื้นบ้าน: ผักปลัง พืชสมุนไพรพื้นบ้านมากประโยชน์

ผักปลัง (Malabar Spinach) ทางภาคเหนือ เรียกว่า ผักปั๋ง มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกา และมีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น พม่า ลาว กัมพูชา เป็นต้น ส่วนประเทศไทยพบได้ในทุกภาค ผักปลังเป็นพืชผักสมุนไพร มี 2 ชนิด ต่างกันตามสีของลำต้นและดอก ถ้าลำต้นเขียว ดอกขาว เรียกผักปลังขาว ถ้าลำต้นแดง ดอกแดง เรียกผักปลังแดง ทั้งสองชนิดสามารถนำมาประกอบอาหารได้เช่นเดียวกัน ผักปลังเป็นพืชผักที่ปลูกง่าย และสามารถขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ ในสวน ไร่ นา นอกจากนี้ชาวบ้านยังนิยมปลูกผักปลังบริเวณรั้วบ้านเพื่อให้เถาเลื้อยขึ้น เป็นพืชที่ออกยอดเกือบตลอดปี ยิ่งเป็นช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว ปลูกกันมากทางภาคเหนือ และภาคอีสาน นิยมนำใบ ยอดอ่อน และดอกอ่อนมารับประทาน รสชาติหวานกรอบ มีกลิ่นเฉพาะตัว 

ผักปลังขาว

ผักปลังแดง
ภาพจาก ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=238

ลักษณะทั่วไปของผักปลัง ผักปลังเป็นพืชล้มลุก มีลักษณะ ดังนี้
  • ลำต้น ลำต้นเป็นไม้เลื้อยที่มีเถายาว อวบน้ำ มีทั้งสีเขียวและสีม่วงแดง
  • ใบ ใบเดี่ยวเรียงสลับ มีรูปร่างคล้ายรูปหัวใจหรือรูปไข่ ป้อม ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ไม่มีขน แผ่นใบอวบน้ำเป็นมันเกลี้ยง ก้านใบยาวมีสีเขียว หรือสีม่วงแดง ตามสายพันธุ์ ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน ใบแก่มีสีเขียวเข้ม เมื่อบีบขยี้จะมีเมือกยางเหนียว สีใส ลื่นมือ
  • ดอก ดอกของผักปลังมีลักษณะเป็นช่อ ออกดอกตามง่ามใบ 1 ดอกมี 5 กลีบ ดอกย่อยมีลักษณะทรงระฆัง กลีบดอกจะมีสีเขียว หรือสีม่วงแดง ไม่มีก้านดอก ดอกสีขาวอมชมพู
  • ผล ผลอ่อนจะมีสีเขียว ผลกลมฉ่ำน้ำ ผลแก่มีสีม่วงอมดำ ลักษณะเปลือกผลบาง นิ่ม ภายในผลจะมีเมล็ด ลักษณะทรงกลมผิวเรียบแข็ง สีน้ำตาล และมีน้ำสีม่วงดำภายในเมล็ดด้วย
  • ราก เป็นระบบรากแก้ว แทงลงดิน รากมีลักษณะกลมเล็ก ๆ มีรากแขนงและรากฝอยสีน้ำตาล
ภาพจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/ผักปลัง

ประโยชน์และสรรพคุณของผักปลัง

ประโยชน์ด้านอาหาร 
ผักปลังมีคุณค่าทางโภชนาการมาก ชาวบ้านนิยมนำมารับประทาน เพราะมีรสชาติหวานกรอบ มีกลิ่นเฉพาะตัว เป็นผักที่มีเมือกมาก จึงช่วยระบายท้องได้ดี ผักปลังสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายเมนู เป็นผักที่ใช้ได้ทั้งใบ ยอดอ่อนและดอกอ่อน เมนูอาหารพื้นบ้านจากผักปลัง มีทั้งประเภทแกง เช่น แกงจืดผักปลังหมูสับ แกงเลียงผักปลัง แกงส้มผักปลัง แกงผักปลังใส่แหนม แกงปลาใส่ผักปลัง แกงส้มชะอมดอกผักปลัง ฯลฯ ประเภทผัด เช่น ผัดผักปลังใส่แหนม ผักปลังผัดใส่ไข่ ผักปลังหมูกรอบ ผัดเปรี้ยวหวานผักปลัง ฯลฯ ยำดอกผักปลัง และผักปลังลวกจิ้มน้ำพริกปลาทู นอกจากนี้ ผลแก่ผักปลังแดง มีสารแอนโทไซยานิน นิยมใช้เป็นสีผสมอาหาร หรือแป้งทำขนมต่าง ๆ ได้หลายอย่าง

สรรพคุณทางยา  ผักปลังเป็นพืชที่ปลูกและหาง่ายในท้องถิ่น มีประโยชน์และสรรพคุณทางยา ใช้นำมารักษาโรคต่าง ๆ ได้หลายโรค เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ รวมทั้งเบต้าแคโรทีน ซึ่งเมื่อได้กินเข้าไป ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นวิตามินบำรุงสายตา สามารถป้องกันโรคมะเร็ง และยังมีฤทธิ์ในการช่วยต้านทานอนุมูลอิสระ ผักปลังเป็นสมุนไพรธรรมชาติที่มีประโยชน์ทั้งต้น มีฤทธิ์เย็น รสหวานเอียน แก้ร้อนใน และลดไข้ 
  • ใบ มีสรรพคุณในการระบายท้อง ขับปัสสาวะ แก้บิด แก้อักเสบ แก้โรคกระเพาะอักเสบ แก้กลาก แก้ผื่นคัน ฝี 
  • ดอก ใช้ทาแก้กลากเกลื้อน แก้โรคเรื้อน ดับพิษฝีดาษ แก้เกลื้อน คั้นเอาน้ำทาแก้หัวนมแตกเจ็บ 
  • ต้น กิ่ง และก้าน แก้อึดอัด แน่นท้อง ระบายท้อง แก้พิษฝีดาษ แก้พิษฝี แก้อักเสบบวม ต้มดื่มแก้ไส้ติ่งอักเสบ 
  • รากมีสรรพคุณแก้มือเท้าด่าง แก้รังแค แก้โรคผิวหนัง แก้ท้องผูก 
นอกจากนี้ ชาวไทยภาคเหนือและชาวเมี่ยน จะนำยอดอ่อนมาต้มให้สตรีที่อยู่ไฟกินเป็นยาบำรุง ชาวม้งนำยอดอ่อน แกงหรือใส่ต้มไก่เป็นยาบำรุงเลือดลมสำหรับคนที่เลือดลมไม่ดี ชาวไทเมืองนำเถามัดเอวให้สตรีใกล้คลอดเพราะเชื่อว่าช่วยให้คลอดง่าย

การปลูกและขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ผักปลัง มี 2 วิธี คือ วิธีการปลูกด้วยการเพาะเมล็ด และวิธีการปลูกด้วยนำก้านกิ่งแก่ไปปักชำ แต่ที่นิยมกันมาก คือ การเพาะเมล็ด โดยเอาเมล็ดแก่ตากให้แห้ง เพาะกระบะทราย หรือหยอดลงถุงดินเล็ก รดน้ำให้ชุ่ม เมื่อแตกต้นก็ย้ายปลูกตามที่ต้องการ หรือจะเอาเมล็ดไปหยอดที่ดินที่อยากให้ขึ้น ไม่กี่วันก็ได้ต้นผักปลัง โดยปลูกระยะห่างกัน ประมาณ 50 x 50 ซม. หลังจากที่ต้นกล้างอกแล้ว ให้ทำหลักปักไว้ให้เลื้อย ควรปลูกในหน้าฝนเพราะจะเจริญเติบโตได้ดีกว่า และงอกงามเร็วกว่าปลูกในฤดูอื่น เป็นพืชสวนครัวที่ปลูกง่าย ขึ้นง่าย ไม่ต้องดูแลมาก

ภาพโดย : เจษฎา กาพย์ไชย จาก https://www.gotoknow.org/posts/ 498495

วิธีการดูแลรักษาผักปลัง ให้รดน้ำทุกวัน แต่ไม่ให้แฉะ ชอบแดดรำไร เป็นไม้ล้มลุกเลื้อย จะแตกยอดตามกิ่ง ให้ปล่อยเลื้อยทอดยอดไปเรื่อย ๆ โดยเราจับลำต้น ให้ทอดยอดสูงจากพื้น แล้วใช้เชือกมัดไว้กับหลักที่ปักไว้ แต่เมื่อเริ่มโตเต็มที่ ประมาณ 1 เดือน ให้รดน้ำวันเว้นวัน และควรดายหญ้าพรวนดินรอบ ๆ ต้นบ้าง ต้นผักปลังอาจอยู่ได้นาน ถ้ามีการหมั่นให้น้ำ ดูแล เพียงแต่อย่าให้ออกลูกออกผล จนแก่แห้งทั้งต้น คอยตัดคอยเด็ดเป็นประจำ ต้นแม่จะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และให้ยอด ให้ใบ ให้ดอก ตลอดทั้งปี

การเก็บผลผลิตผักปลัง จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่อเริ่มโตเต็มที่หลังปลูกลงในแปลง ได้ประมาณ 1-2 เดือน และเมื่อเก็บยอดแล้ว ก็จะแตกยอดใหม่ออกมาเรื่อย ๆ ถ้ามีผลผลิตมาก และต้องการเก็บรักษาให้สดได้นาน ๆ ให้นำผักปลังมาล้างน้ำให้สะอาด สะเด็ดน้ำให้แห้ง แล้วนำมาห่อด้วยกระดาษหรือผ้าขาวบาง จากนั้นใส่ถุงหรือกล่องพลาสติก แล้วนำไปแช่ตู้เย็น จะเก็บไว้ใช้ได้นานขึ้น  

อาหารพื้นบ้านภาคเหนือ: แกงผักปลัง (แก๋งผักปั๋งจิ้นส้ม)

แก๋งผักปั๋งจิ้นส้ม 
ภาพจาก https://www.maenoicurry.com/article/44/แกงผักปลัง-หรือ-แก๋งผักปั๋งจิ้นส้ม

ผักปลัง เป็นผักพื้นบ้านที่ชาวเหนือนิยมนำยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อนซึ่งมีรสจืดเย็น มากิน ที่คนเหนือนิยมกินกันมากก็คือ แกงผักปลัง หรือคนเหนือเรียกว่า “แก๋งผักปั๋ง” และต้องใส่จิ้นส้มหรือแหนมลงไปด้วย ให้มีรสชาติเปรี้ยวของแหนม ซึมเข้าไปในน้ำพริกแกง แกงผักปลังนั้นเมื่อทำเสร็จแล้วควรมีรสชาติเปรี้ยวนำ ตามด้วยเค็ม มีส่วนผสมและวิธีทำดังนี้

ส่วนผสม
ยอดอ่อนและดอกผักปลัง (ผักปั๋ง) 1 ถ้วย
จิ้นส้มหมู (แหนม) 200 กรัม
มะเขือเทศสีดา 8 ลูก
เกลือป่น ½ ช้อนชา
น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำเปล่า 3 ถ้วย
ส่วนผสมเครื่องแกง
พริกชี้ฟ้า 5 เม็ด
กระเทียม 6 กลีบ
หอมแดง 1 หัว
กะปิ ½ ช้อนโต๊ะ

วิธีทำแกงผักปั๋งใส่แหนม
1. เด็ดผักปลัง เอาส่วนยอดอ่อนและช่อดอกางน้ำให้สะอาดแล้วพักไว้ก่อน 
2. หั่นหรือยีแหนมให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ กระจายออกจากกัน
3. โขลกเครื่องแกง นำพริกชี้ฟ้า กระเทียม หอมแดง และเกลือป่น ใส่ครกโขลกให้ละเอียด เติมกะปิลงไป โขลกให้เข้ากันดี
4. นำหม้อใส่น้ำเปล่ายกขึ้นตั้งไฟ ใช้ไฟกลาง พอน้ำในหม้อเดือดใส่พริกแกงที่โขลกไว้ลงไป
5. รอให้น้ำเดือดอีกรอบ ใส่ผักปลัง พอผักใกล้สุกใส่แหนม ใส่มะเขือเทศ คนให้เข้ากัน ทิ้งไว้สักพักให้แหนมหรือจิ้นส้มสุกดีก่อน ปรุงรสตามชอบด้วยน้ำปลา มะนาว

ข้อแนะนำ/ข้อควรระวังในการรับประทานผักปลัง  การรับประทานผักปลัง  ผักปลังที่เรานำมาประกอบอาหาร ยังไม่พบว่ามีผลกระทบอะไรกับสุขภาพ แต่หากใช้ผักปลังในรูปแบบสารสกัดหรือในรูปแบบอื่น ๆ นั้น เพื่อความปลอดภัย ต้องปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญถึงขนาดและวิธีใช้ก่อนใช้เสมอ


เรียบเรียงโดย : 
ณิชากร เมตาภรณ์ ครูชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์. (2563, 16 สิงหาคม). ผักปลัง..พืชเป็นอาหาร. สืบค้นจาก https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_155935

นายผัก. (2561, 10 พฤศจิกายน). ผักปลัง (Ceylon Spinach) พร้อม 11สรรพคุณทางยา ที่คุณไม่ควรพลาด. สืบค้นจาก จาก https://vegetweb.com/ผักปลัง-ceylon-spinach-พร้อม-11สรรพคุณ/

ผักปลัง. (2560, 27 กันยายน). สืบค้นจาก https://www.thai-thaifood.com/th/ผักปลัง/

ผักปลัง สุดยอดสมุนไพรพิชิตเบาหวาน. (2562, 23 มิถุนายน). สืบค้นจาก https://amprohealth.com/herb/ceylon-spinach/

ผักปลัง. (2561, 2 กรกฎาคม). ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2564, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ผักปลัง