วัดปงสนุก หรือ วัดปงสนุกเหนือ ตั้งอยู่ในเขต ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นวัดสำคัญคู่จังหวัดลำปางมาช้านาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยที่เจ้าอนันตยศ ซึ่งเป็นราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย (จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน) เมื่อครั้งเสด็จมาสร้างเขลางค์นคร (จังหวัดลำปางในปัจจุบัน) เมื่อปี พ.ศ. 1223 หรือ 1,328 ปีก่อน
เดิมวัดปงสนุกมีชื่อเรียกถึง 4 ชื่อ ได้แก่ วัดศรีจอมไคล วัดเชียงภูมิ วัดดอนแก้ว และวัดพะยาว จากประวัติศาสตร์เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2346 พญากาวิละได้ยกทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นที่ตั้งมั่นของพม่า และได้กวาดต้อนชาวเชียงแสนมายังฝั่งเวียงเหนือของนครลำปาง โดยหนึ่งในกลุ่มชาวเซียงแสนนั้นก็มีชาวบ้านบ้านปงสนุกรวมอยู่ด้วย และขณะเดียวนั้นชาวเมืองพะยาว (พะเยา) ก็ได้อพยพหนีศึกพม่ามายังฝั่งเวียงเหนือของนครลำปางเพื่ออาศัยอยู่เช่นเดียวกัน ชาวปงสนุกเชียงแสนและชาวพะยาวจึงได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ด้วยกันจนกลายเป็นหมู่บ้าน ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2386 เมื่อเจ้าหลวงมหาวงศ์ได้ไปฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นใหม่ จึงได้มีการนำชาวพะยาวอพยพกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตน แต่ยังคงเหลือชาวบ้านปงสนุกที่ยังคงอยู่ ดังนั้นชื่อวัดและชื่อหมู่บ้านจึงเหลือเพียง “ปงสนุก” เพียงชื่อเดียว ตามชื่อชาวบ้านปงสนุกที่ยังคงอาศัยอยู่ ต่อมาภายหลังจึงได้มีการแบ่งวัดเป็นวัดปงสนุกด้านเหนือและวัดปงสนุกด้านใต้
วัดปงสนุกมีโบราณสถานและสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า คือ วิหารพระเจ้าพันองค์ บ้างก็เรียกว่าวิหาร 12 ราศี หรือวิหารสะเดาะเคราะห์ เนื่องจากในสมัยก่อน เจ้านายชั้นสูงและประชาชนทั่วไปมักจะพากันมาสะเดาะเคราะห์ ณ วิหารแห่งนี้
วิหารพระเจ้าพันองค์ เป็นวิหารโถงทรงจัตุรมุขที่มีรูปแบบงดงาม สร้างด้วยไม้ เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ผสมผสานระหว่างล้านนาไทย พม่า และจีน ผสมผสานเข้าไว้ด้วยกันอย่างสวยงาม โครงสร้างของวิหารมีลักษณะเป็นมณฑปเปิดโล่งตรงกลางประดิษฐานพระพุทธรูปสี่องค์ พระพักตร์แต่ละองค์ก็หันออกไปยังทิศทั้งสี่ ในส่วนของหลังคามีลักษณะซ้อนกันสามชั้นซึ่งตกแต่งไว้อย่างสวยงาม รวมไปถึงเสาสี่เหลี่ยมที่ค้ำตัววิหารก็มีลวดลายอันน่าวิจิตรปรากฏให้เห็นอยู่แทบทุกต้น และบริเวณด้านบนรอบในของตัววิหารนั้นได้รับการประดับด้วยพระพิมพ์องค์เล็กจำนวนมากถึง 1,080 องค์ นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ วิหารพันองค์ เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างล้านนาไทย พม่า และจีนที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวของไทย และเป็นแม่แบบในการก่อสร้างอาคารหลายแห่งในประเทศไทย เช่น หอคำ ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
วิหารพระเจ้าพันองค์ ก่อนการบูรณะ
ภาพจาก: เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
พิพิธภัณฑ์วัดปงสนุก https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/776
วิหารพระเจ้าพันองค์ในปัจจุบัน ภาพโดย: สราวุธ เบี้ยจรัส
ช่วงปี พ.ศ. 2548 ได้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติ ชาวไทย และกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เข้ามาค้นคว้าหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของวัดจำนวนมาก วัดปงสนุกจึงตัดสินใจเสนอโครงการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมวิหารพระเจ้าพันองค์ ให้กรมศิลปากรพิจารณา และก็ได้รับความอนุเคราะห์จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือในการอนุรักษ์
และจากการอนุรักษ์ของเดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ “โครงการอนุรักษ์มรดกทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรมวิหารพระเจ้าพันองค์” วัดปงสนุกด้านเหนือ ได้รับคัดเลือกจาก 45 โครงการ ใน 13 ประเทศ ให้ได้รับรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ประจำปี 2551 (2008 Asia-Pacific Heritage Award for Cultural Heritage Conservation) จากองค์การยูเนสโก และเป็นวัดแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลนี้ โดยคณะกรรมการตัดสินกล่าวชมเชยว่า โครงการอนุรักษ์วัดปงสนุก เป็นต้นแบบโครงการอนุรักษ์ที่นำโดยคนในชุมชน ซึ่งได้สร้างแรงบันดาลใจในการสงวนรักษาวัดแบบล้านนาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก่อให้เกิดการฟื้นฟูองค์ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมโบราณและเทคนิคการตกแต่งประดับประดาแบบดั้งเดิม นับว่าเป็นความภูมิใจอย่างยิ่งของชาวลำปาง ร่วมถึงชาวไทยทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2551 พระครูโสภิตขันตยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดปงสนุกเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง ได้รับมอบรางวัล (Award of Merit) ด้านการอนุรักษ์มรดกทางด้านวัฒนธรรม ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ตามโครงการ 2008 Asia-Pacific Heritage Award for Cultural Heritage Conservation จากองค์การ UNESCO โดยมี ดร.ริชาร์ด อิงเกิลฮาร์ท” ที่ปรึกษาอาวุโสในผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ด้านวัฒนธรรม ประจำองค์การยูเนสโกเป็นผู้ถวาย
ภาพจาก : ผู้จัดการออนไลน์ 17 พ.ย. 2551 https://mgronline.com/local/detail/9510000135846
วัดปงสนุกยังมีสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าอีกหลายแห่ง เช่น วิหารพระนอน ซุ้มประตูโขง นอกจากนี้ยังพบว่า วัดปงสนุกเป็นสถานที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองเสาแรกของลำปาง ก่อนจะนำไปประดิษฐาน ณ บริเวณศาลากลางหลังเก่าในปัจจุบันด้วย
บันไดซุ้มประตูโขง ภาพโดย : สราวุธ เบี้ยจรัส
วิหารพระนอน ภาพโดย สราวุธ เบี้ยจรัส
นอกจากสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าแล้ว วัดปงสนุกยังเป็นแหล่งรวบรวมสิ่งที่ทรงคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรมอีกหลายอย่าง เช่น พระพุทธรูปไม้ เสาหงส์ ภาพพระบฏซึ่งเขียนเรื่องราวของพระเวสสันดรบนผ้าและกระดาษสา หีบธรรมโบราณ และธงช้างเผือกขนาดใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งทางวัดได้รวบรวมสิ่งที่ทรงคุณค่าเหล่านี้และจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ไว้ เป็นอนุรักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรม แห่งนี้ไว้คนอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา และรักษาให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยสืบไป
ภาพพระบฏ และ ธงช้างเผือก ซึ่งเก็บรักษาไว้ภายในพิพิธภัณฑ์วัดปงสนุก
ภาพจาก: เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
พิพิธภัณฑ์วัดปงสนุก https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/776
เรียบเรียง :
สราวุธ เบี้ยจรัส นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สถาบัน กศน. ภาคเหนือ
นัชรี อุ่มบางตลาด ครู ชำนาญการ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
ภาพประกอบ :
สราวุธ เบี้ยจรัส
เว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์วัดปงสนุก พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
อ้างอิง :
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. วัดปงสนุกเหนือ. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2564 จาก https://thai.tourismthailand.org/Attraction/วัดปงสนุกเหนือ
วัดปงสนุก. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2564 จาก http://www.lampang.go.th/travel/weblp/page/page12.html
ผู้จัดการออนไลน์. (2551, 19 พฤศจิกายน). เปิดตำนาน “วัดปงสนุก” แห่งลำปางอายุ 1,328 ปี ที่ยูเนสโกเพิ่งให้รางวัล “Award of Merit”. ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นจาก https://m.mgronline.com/daily/detail/9510000137202