ประเภทของขยะ
ขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในกิจกรรมต่าง ๆ สามารถจำแนกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และขยะอันตราย ซึ่งเราจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในขยะแต่ละชนิด เพื่อที่จะสามารถจัดการคัดแยกได้อย่างถูกต้อง ดังนี้
- ขยะอินทรีย์ หรือขยะย่อยสลายได้ เป็นขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้ มีประมาณ 46% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ขยะประเภทนี้สามารถนำมาหมักเป็นปุ๋ยหมักได้ เช่น เปลือกผลไม้ ใบไม้ เศษอาหาร เศษผัก เศษเนื้อสัตว์ ที่เหลือจากการรับประทานและการประกอบอาหาร แต่ขยะอินทรีย์ที่กล่าวถึงนี้ ไม่รวมถึง ซากสัตว์หรือเศษของพืชผักผลไม้ที่เกิดจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ
- ขยะรีไซเคิล หรือบางคนเรียกว่า ขยะแห้ง เป็นของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ที่ย่อยสลายได้ยาก สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ โดยนำไปรีไซเคิลหรือแปรรูปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น แก้ว กระดาษ กระป๋องเครื่องดื่ม พลาสติก โลหะ อลูมิเนียม ยางรถยนต์ กล่องเครื่องดื่มแบบ UHT ซึ่งจากปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด มีขยะประเภทนี้อยู่ประมาณ 42% สามารถนำไปขายได้
- ขยะทั่วไป เป็นขยะที่มีลักษณะที่ย่อยสลายยาก และไม่คุ้มค่าสำหรับการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่หรือรีไซเคลิก เช่น ถุงพลาสติกใส่อาหาร หลอด ซองขนม ซองลูกอม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทิชชู กล่องอาหาร แก้วกระดาษเคลือบใส่เครื่องดื่ม ห่อพลาสติกใส่ขนม ถุงบรรจุผงซักฟอก ถุงพลาสติกเปื้อนเศษอาหาร กล่องโฟมเปื้อนอาหาร ฟอยล์เปื้อนอาหาร ซองหรือถุงพลาสติกสำหรับบรรจุเครื่องอุปโภคด้วยวิธีรีดความร้อน เป็นต้น จำเป็นต้องหาวิธีกำจัดอย่างถูกวิธี ขยะประเภทนี้ปีประมาณ 9% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด
- ขยะอันตราย เป็นขยะที่ปนเปื้อนหรือมีองค์ประกอบของวัตถุอันตรายชนิดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ สารพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรคหรือเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม วัตถุระเบิดได้ วัตถุไวไฟ วัตถุมีพิษ วัตถุกัมมันตรังสี วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง วัตถุอย่างอื่นที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรืออาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์ เช่น หลอดไฟ หลอดฟลูออเรสเซนต์ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ ภาชนะที่ใช้บรรจุสารกำจัดแมลงหรือวัชพืช กระป๋องสเปรย์บรรจุสีหรือสารเคมี เป็นต้น ควรนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีตาม เพื่อไม่ไห้รั่วซึมลงแหล่งน้ำ หรือชั้นผิวดิน ขยะประเภทนี้มีอยู่ประมาณ 3%
สีของถังขยะ มีความหมายว่าอย่างไร ?
- ถังขยะสีเขียว รองรับขยะอินทรีย์ ขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำมาหมักทำปุ๋ยได้ เช่น ผัก ผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้
- ถังขยะสีเหลือง ถังขยะสีเหลืองรองรับขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลหรือขายได้ เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ
- ถังขยะสีน้ำเงินหรือสีฟ้า รองรับขยะย่อยสลายไม่ได้ ไม่เป็นพิษ และไม่คุ้มค่าการรีไซเคิล เช่น พลาสติกห่อลูกอม ซองบะหมี่สำเร็จรูป ถุงพลาสติก โฟมและฟอล์ยที่เปื้อนอาหาร
- ถังขยะสีแดง หรือ ถังขยะสีเทาฝาสีส้ม รองรับขยะที่มีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ขวดยา ถ่านไฟฉาย กระป๋องสีสเปรย์ กระป๋องยาฆ่าแมลง ภาชนะบรรจุสารอันตรายต่าง ๆ
การจัดการขยะโดยอาศัยหลัก 5R
อินโฟกราฟิกจาก : สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
https://erdi.cmu.ac.th/?p=1987
- Reduce ลดการใช้ เพื่อเป็นการลดขยะจากแหล่งที่เกิด โดยพยายามหลีกเลี่ยงหรือลดการทำให้เกิดขยะ ลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์สิ้นเปลือง เช่น การใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก ลดการใช้หลอดดูด เป็นต้น
- Reuse หรือ Refuse นำมาใช้ซ้ำ เป็นการนำวัสดุของใช้กลับมาใช้ในรูปแบบเดิมหรือนำมาซ่อมแซมใช้ หรือนำมาใช้ทำประโยชน์อื่น ๆ โดยแบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอนคือ
- ขั้นตอนการผลิตสินค้า พยายามทำให้เกิดเศษวัสดุหรือของเสียน้อยที่สุด
- ขั้นตอนการนำของใช้มาใช้ซ้ำ เป็นการยืดอายุการใช้งานก่อนจะนำไปทิ้ง เช่น การนำขวดพลาสติกมาบรรจุน้ำ การใช้กระดาษ 2 หน้า
- Repair ซ่อมแซมแก้ไข เป็นการซ่อมแซมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อให้สามารถใช้งานต่อได้ เช่น การซ่อมแซมเสื้อผ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด เป็นต้น
- Reject หลีกเลี่ยงการใช้ ปฏิเสธการใช้สิ่งที่กำจัดยากหรือก่อให้เกิดมลพิษ เช่น กล่องโฟม ยาฆ่าแมลง
- Recycle การนำกลับมาผลิตใหม่ เป็นการแปรสภาพและหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้ใหม่ โดยนำไปผ่านกระบวนการผลิตใหม่อีกครั้ง
วิธีช่วยลดขยะ ที่ทุกคนทำได้ง่าย ๆ
- เลิก/ลด การใช้ถุงพลาสติก ลองคิดดูว่าใน 1 วัน เราใช้ถุงพลาสติกไปแล้วกี่ใบ และถุงพลาสติกใช้เวลากี่ปีในการย่อยสลาย วิธีลดขยะง่าย ๆ แค่หันมาใช้ถุงผ้า แต่หากไม่สะดวกในการพกถุงผ้า ควรใช้ถุงพลาสติกซ้ำ เพราะอย่างน้อยก็ช่วยลดขยะไปได้
- เลิกใช้หลอดพลาสติก คนส่วนใหญ่มองข้ามเรื่องหลอดพลาสติก เพราะคิดว่าเป็นขยะชิ้นเล็ก ๆ แต่รู้ไหมว่า หลอดพลาสติกเป็นขยะที่พบมากเป็นลำดับต้น ๆ
- ซื้อของขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เช่น จากที่เคยซื้อโลชั่นขวดเล็ก ๆ เปลี่ยนเป็นซื้อขนาดที่ใหญ่กว่าเดิม ซึ่งถ้าเทียบขนาดหรือปริมาณกับราคาแล้วยังถูกกว่าขนาดเล็กด้วย และยังเป็นการลดขยะไปได้อย่างน้อย 1 ชิ้น
- พกขวดหรือแก้ว ในปัจจุบันนี้มีแก้วน้ำหรือขวดน้ำรูปแบบสวย ๆ ลายน่ารัก น่าพกมากมาย บางอันสามารถเก็บความเย็นหรือความร้อยได้ดีมาก ๆ อีกด้วย ลองพกไปโรงเรียน ไปที่ทำงาน หรือพกไปร้านกาแฟ ซึ่งบางแห่งยังได้ส่วนลดด้วยถ้านำแก้วไปเอง
- พกกล่อง / ปิ่นโต ลองหาซื้อกล่องดี ๆ น่ารัก ๆ เอาไว้ซื้อกับข้าวกลับบ้านแทนการใช้กล่องโฟม เพราะกล่องโฟมย่อยสลายยากและยังไม่ดีต่อสุขภาพ อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งอีกด้วย
- DIY ลองนำวัสดุหรือสิ่งของอะไรที่ไม่ใช้แล้ว มาประดิษฐ์ทำให้มีประโยชน์ ขึ้นมาใหม่ เช่น เสื้อผ้า กล่องกระดาษ แล้วถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย อวดฝีมือตัวเองได้อีกด้วย
เรียบเรียง :
นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
อ้างอิง :
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2563, 28 กันยายน). 5Rs วิธีง่าย ๆ เราก็ช่วยรักษาโลกได้. [อินโฟกราฟิก]. สืบค้นจาก https://erdi.cmu.ac.th/?p=1987
การแยกขยะแบบถูกวิธี-รู้จักกับขยะประเภทต่าง ๆ ให้มากขึ้น. (2561, 21 พฤษภาคม). สืบค้นจาก https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/113711.html
ถังขยะแต่ละสี มีความหมายว่าอย่างไร? วิธีแยกขยะอย่างถูกวิธี และมีประสิทธิภาพ. (2561, 4 กันยายน). สืบค้นจาก https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/113522.html