พื้นฐานการถ่ายภาพมือใหม่

กล้องในปัจจุบันจะมีสองแบบ ก็คือ Mirrorless และ DSLR ซึ่งในปัจจุบันกล้อง Mirrorless มีความนิยมอย่างแพร่หลายค่อนข้างมาก เนื่องจากศักยภาพทางเทคโนโลยี เทรนด์ของกลุ่มผู้ใช้ แล้วก็ขนาดของกล้องมีขนาดเล็กพกพาง่าย ราคาไม่แพงมากเกินไป สามารถที่จะเข้าถึงกลุ่มคนระดับทั่วไปได้มากกว่ากล้อง DSLR



กล้อง DSLR (Digital Single Lense Reflex) ทำงานโดยใช้การสะท้อนของเลนส์ชุดเดียวทั้งแสงที่จะตกลงใน CCD และแสงที่เข้าสู่ตาในช่องมองภาพ ส่วนใหญ่ภาพที่เกิดในช่องมองภาพจะเกิดจากแสงจริงสะท้อนผ่านชิ้นเลนส์เข้าสู่ ตาไม่ได้เกิดจากการรับภาพของ CCD รับแสงเฉพาะตอนที่ม่านชัตเตอร์เปิดให้แสงผ่านเท่านั้น

กล้อง Mirrorless นั้นถูกออกแบบให้มีกลไกภายในที่ง่ายกว่ามากตรงกันข้ามกับกล้อง DSLR แสงจะผ่านจากเลนส์เข้าไปยังเซ็นเซอร์ภาพโดยตรง และภาพก็จะถูกส่งไปที่ช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์แทน เพราะไม่มีกระจกสะท้อนภาพเหมือน DSLR ก็เลยเรียก Mirrorless ครับ แล้วก็ตัวกล้องจะเปิดให้เซ็นเซอร์นั้นรับภาพอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ Viewfinder สามารถมองเห็นภาพได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เรากดถ่ายภาพ ตัวม่านชัตเตอร์กลไกจะทำงานตามปกตินั่นเองครับ กล้องทั้งสองแบบสามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ เพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการ มีทั้งเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสที่ตายตัว(Fixed) หรือ เปลี่ยนความยาวโฟกัสได้ (Zoom)

การที่เราจะได้ภาพถ่ายสวยๆ มาสักภาพนั้น กล้องจะต้องทำการเปิดรับแสงเข้าไปยังเซ็นเซอร์ รับภาพในปริมาณที่พอเหมาะ ภาพที่ได้ออกมาจึงจะมีความสว่างตามที่เราต้องการ สำหรับคนที่เริ่มต้นถ่ายภาพ เรื่องของความเข้าใจว่าอะไรที่มีผลกับแสงว่าภาพสว่างหรือว่ามืด เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ และได้ใช้ตลอดการถ่ายภาพ สำคัญมาก ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราสามารถที่จะควบคุมกล้องได้ดีมากยิ่งขึ้น ถ่ายภาพได้ดีขึ้น รู้ว่าเมื่อไหร่ ควรปรับค่ารูรับแสง, ความเร็วชัตเตอร์ หรือว่า ความไวแสง (ISO) ซึ่งค่าทั้งสามอย่างนี้จะรวมกันเป็นค่าความสัมพันธ์ของแสงนั้นเองนอกจากนี้ค่าทั้งสามอย่างยังมีผลกับภาพที่เกิดขึ้นด้วยนะครับ เช่นการละลายฉากหลัง หรือการทำให้ชัดทั้งภาพ การถ่ายภาพให้หยุดนิ่งหรือว่าเบลอ แล้วก็การที่มี Noise ในภาพหรือไม่มี ก็ขึ้นอยู่กับค่านี้เหมือนกัน


รูรับแสง (Aperture)
เรื่องของรูรับแสง เลนส์ที่รูรับแสงกว้าง แสงจะเข้าที่กล้องมาก ถ่ายภาพกลางคืนได้ดี และที่สำคัญคือทำให้เกิดเอฟเฟคที่ชอบมากคือหน้าชัดหลังเบลอ ส่วนรูรับแสงแคบ คือใหผลตรงกันข้าม ภาพจะเข้าที่กล้องน้อยลง แต่จะได้เอฟเฟคที่เกิดความชัดลึก คือภาพชัดทั้งภาพเลย เหมาะกับการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์


ความเร็วชัตเตอร์ Shutter Speed
ความเร็วชัตเตอร์สูงนั้น จับภาพที่เคลื่อนไหวให้นิ่ง แต่มีผลกระทบที่ตามมาคือเมื่อความเร็วชัตเตอร์เพิ่มขึ้น แสงจะเข้ากล้องน้อยลง เพราะฉะนั้นการใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงควรใช้ในสถานที่ที่อยู่กลางแจ้ง มีแสงมาก เพื่อจะได้ไม่ต้องเพิ่ม ISO
  
ส่วนความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลงจะทำให้เราเก็บแสงได้มากขึ้น และก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่เราใช้ในการลากแสงไฟนั่นเอง ดังนั้นการจะใช้ชัตเตอร์เท่าไหร่นั้นไม่มีกฎตายตัวขึ้นอยู่กับว่าเราอยากได้ภาพแบบไหน และเรากำลังเจอสถานการณ์ใดนั่นเอง

ค่าความไวแสง (ISO) 

ISO เป็นค่าความไวแสงที่ของกล้อง ถ้ายิ่ง ISO มาก กล้องก็จะไวแสงมาก ข้อดีคือ ISO สูงจะทำให้เราถ่ายภาพในที่มืดได้ แต่การที่ ISO สูงมากก็จะทำให้เกิดสัญญาณรบกวนหรือว่า Noise นั่นเอง

ดังนั้นการเลือกใช้ ISO ก็ควรดูด้วยว่าเราต้องการอะไรในภาพตอนนั้น ถ้าเราถ่าย Landscape กลางแจ้ง มีขาตั้ง เราก็ไม่ต้องใช้ค่า ISO สูง ใช้ต่ำที่สุดที่กล้องให้ก็ได้

แต่ถ้าหากเราถ่ายภาพในอาคาร เราไม่สามารถเพิ่มรูรับแสง หรือลดสปีดจนถือกล้องได้แล้ว เราก็ควรเลือกที่จะเพิ่มค่า ISO เพื่อให้กล้องรับแสงได้ไวขึ้นครับ มี Noise ดีกว่าไม่ได้ภาพเลย


      ภาพที่ได้ออกมาจึงจะมีความสว่างตามที่เราต้องการ ซึ่งการที่เราจะรู้ได้ว่า ต้องใช้รูรับแสงขนาดเท่าใดบวกกับ สปีดชัตเตอร์เท่าใด จึงจะได้แสงที่มีความเหมาะสมดังกล่าว นั้น เราต้องทำการวัดแสงก่อน ในกล้องจะมีอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่วัดค่าแสง ที่สะท้อนจากวัตถุที่คุณกำลังจะถ่ายว่ามีค่ามากน้อยเพียงใด ซึ่งสามารถดูได้จากหน้าจอ LCD ของกล้องเรา จะมีขีดสเกลที่แสดงปริมาณของแสงอยู่ ซึ่งเรียกกันว่า สเกลวัดแสง

ระบบวัดแสงแบบต่าง ๆ ของกล้อง DSLR  
ในกล้อง DSLR มีระบบวัดแสงมาให้ประมาณ 3-4 ระบบ แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับยี่ห้อของกล้อง  ซึ่งระบบวัดแสงก็คือ ระบบวิธีการคำนวณหาค่าแสงของกล้อง การที่เราจะเลือกใช้ระบบวัดแสงแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือสภาพแสงที่เราจะถ่าย ระบบวัดแสงแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกล้อง DSLR มีดังนี้

1. ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ย
ระบบนี้จะมีในกล้อง DSLR ทุกรุ่นเลย ซึ่งจะมีชื่อเรียกแตกกันไป ในแต่ละรุ่น หลักการทำงานของระบบนี้ก็คือ กล้องจะทำการแบ่งพื้นที่ในช่องมองภาพออกเป็นส่วนๆ ซึ่งจะแบ่งเป็นกี่ส่วนก็ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตแต่ละราย จากนั้นจึงนำค่าแสงจากทุกๆ ส่วนมาคำนวณหาค่ากลาง ระบบวัดแสงนี้เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทั่วๆ ไป ที่สภาพแสงในแต่ละส่วนไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เช่น การถ่ายภาพวิวทัวทัศน์
ข้อดีของระบบนี้ คือ ใช้งานง่าย ครอบคลุมการใช้งานทั่วไป แต่ ไม่ความนำไปใช้กับการถ่ายภาพที่สภาพแสงไม่ปกติ เช่น ถ่ายภาพย้อนแสงต่าง ๆ ภาพท้องฟ้ากับพื้นดินที่มีความสว่างต่างกันมากๆ หรือ ภาพถ่ายภายในร่มแต่พื้นที่ด้านนอกสว่างมากๆ โอกาสเกิดการผิดพลาดจะมีค่อนข้างสูงเลยทีเดียว



2. ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยหนักกลาง
สำหรับระบบนี้มีความคล้ายคลึงกับระบบแรกที่กล่าวมาแล้ว เพียงแต่จะให้ความสำคัญที่ส่วนกลางของภาพเป็นหลัก มากกว่าส่วนที่อยู่รอบ ๆ คือ โดยปกติในการถ่ายภาพก็จะให้ความสำคัญในส่วนกลาง หรือให้วัตวัตถุที่ต้องการจะถ่ายอยู่ตรงกลางอยู่แล้ว ระบบนี้เหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่ให้ความสำคัญกับส่วนตรงกลางของภาพ เช่น การถ่ายภาพบุคคล หรือภาพที่ต้องการให้วัตถุอยู่กลางภาพ
ข้อควรระวังในการระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยหนักกลาง คือ เวลาวัดแสงคุณต้องแน่ใจว่า วัตถุที่ต้องการถ่ายมีขนาดใหญ่เพียงพอและครอบคลุมตรงกลางของช่องมองภาพ ซึ่งถ้าหากวัตถุที่ต้องการถ่ายมีขนาดเล็กแล้วระบบนี้ไปวัดแสงในส่วนของฉากหลังแทน ซึ่งอาจทำให้การวัดแสงผิดพลาดได้


3. ระบบวัดแสงแบบเฉพาะจุด
ระบบการวัดแสงนี้จะมีพื้นที่สำหรับการวัดแสง 3-5 เปอร์เซ็นต์ในช่องมองภาพ โดยประมาณ โดยแสดงเป็นจุดวงกลมเล็กๆ ให้เห็นในช่องมองภาพ พื้นที่ดังกล่าวนั่นแหละคือพื้นที่สำหรับวัดแสง โดยถ้าหากเราต้องการจะวัดแสงตรงจุดใหนก็ให้เล็งวงกลมเล็ก ๆ ไปตรงจุดนั้น แล้วกดชัดเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง กล้องก็จะทำการวัดแสงตรงส่วนนั้นให้ ผู้ที่จะใช้ระบบวัดแสงชนิดนี้ ควรรูจักเลือกวัตถุที่มีค่าการสะท้อนแสง 18 เปอร์เซ็นต์ หรือเทียบเท่าสีเทากลาง โดยที่นิยมใช้กันบ่อยๆ ในการอ้างอิง ก็อย่างเช่น สนามหญ้า ท้องฟ้าบริเวณที่เป็นสีเข้มหน่อย เมฆสีเทา ๆ เป็นต้น แต่ถ้าต้องการความแม่นยำจริง แนะนำให้ใช้ กระดาษสีเทา 18% ซึ่งจะให้ความแม่นยำในการวัดแสงค่อนข้างสูงมาก



เรียบเรียง / ภาพประกอบ :
นายสราวุธ เบี้ยจรัส  นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สถาบัน กศน. ภาคเหนือ


อ้างอิง :
Yochuwa Samarom. (2560, 25 พฤศจิกายน). BASIC PHOTOGRAPHY - รวมพื้นฐานการถ่ายภาพที่ควรรู้. สืบค้นจาก https://www.photoschoolthailand.com/พื้นฐานการถ่ายภาพ