วิธีการเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์



โดยทั่วไป แอลกอฮอล์ที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเจลล้างมือ คือ เอทานอล (ethanol หรือ ethylalcohol) เป็นของเหลวใสไม่มีสี มีกลิ่นเฉพาะตัว และสามารถระเหยได้ดี 

แต่มีแอลกอฮอล์อีกชนิดหนึ่ง คือ เมทานอล (methanol หรือ methyl alcohol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้ในสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ใช้เป็นเชื้อเพลิงจุดให้แสงสว่าง หรือปนกับทินเนอร์สำหรับผสมแลคเกอร์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่มีพิษ ห้ามใช้กับร่างกาย เมทานอลสามารถดูดซึมได้ทางผิวหนัง ลมหายใจ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบหลอดคออักเสบ กรณีที่มีการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาอาจส่งผลทำให้เยื่อบุตาอักเสบ หากสูดดมเข้าไปมาก ๆ จะทำให้เกิดการปวดท้อง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุกหายใจลำบาก การมองเห็นจะผิดปกติจนอาจทำให้ตาบอดได้

การออกฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะไปยับยั้งการเจริญของเซลล์แบคทีเรียหลากหลายชนิด รวมถึง ไวรัส และเชื้อรา จึงนิยมใช้ในการฆ่าเชื้อผิวหนังและพื้นผิวทั่วไป โดยนิยมใช้สารละลายแอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้น 70% เนื่องจากระเหยไม่เร็วเกินไปและมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จุลินทรีย์จะดูดซึม และออกฤทธิ์ทำลายเซลล์ของจุลินทรีย์ ขณะที่แอลกอฮอล์ 95% - 100% จะมีการระเหยรวดเร็วมากและมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอที่จะดูดซึมเข้าไปในเซลล์ แต่จะทำให้เกิดการคายน้ำออกจากเซลล์อย่างรวดเร็วโดยไม่ได้ฆ่า และเมื่ออยู่ในสภาวะเหมาะสม จุลินทรีย์เหล่านี้ได้รับน้ำเข้าเซลล์ จะสามารถคงสภาพเดิมได้ นอกจากนี้ยังพบว่าแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นน้อยกว่า 50% จะมีประสิทธิภาพในการทำลายจุลินทรีย์ลดน้อยลงมาก

จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเพื่อป้องกันความเสี่ยง เจลแอลกอฮอล์จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการนำมาทำความสะอาดมือ เพื่อป้องกันเชื้อโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงขอแนะนำวิธีการเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์ เพื่อมิให้ได้รับผลิตภัณฑ์ปลอม ดังนี้

การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
  1. เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เจลล้างมือที่มีฉลากแสดงให้เห็นชัดเจน ระบุชื่อผลิตภัณฑ์และชื่อทางการค้า ประเภทหรือชนิดของผลิตภัณฑ์ ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต หรือ ผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ คำเตือน เลขที่ใบรับจดแจ้ง
  2. เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เจลล้างมือที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท ที่สามารถป้องกันการระเหยของแอลกอฮอล์ได้ เมื่อเปิดใช้จะมีกลิ่นเฉพาะของแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือที่ดี ควรมีความหนืดเหมาะสมไม่เหนียวเหนอะหนะในขณะใช้ สามารถคงอยู่ในอุ้งมือเมื่อเทใส่ฝ่ามือ และมีความคงตัวทางกายภาพ ไม่เกิดการแยกชั้น เปลี่ยนสี จับเป็นก้อน หรือตกตะกอน
  3. ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ หรืออาจสังเกตได้จากเมื่อสัมผัสกับมือแล้วจะไม่มีความเย็นจากการระเหยของแอลกอฮอล์ หรือมีลักษณะผิดปกติ เช่น แยกชั้น จับเป็นก้อน ตกตะกอน สีเปลี่ยน โดยสามารถตรวจสอบเลขที่ใบรับจดแจ้งที่เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ “ตรวจสอบผลิตภัณฑ์” ซึ่งในรายละเอียดการจดแจ้งเครื่องสำอางต้องแสดงเป็นประเภทผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกาย รูปแบบใช้แล้วไม่ล้างออก หรือผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องระวังคือ อย่าวางเจลใกล้ความร้อนหรือเปลวไฟ เพราะแอลกอฮอล์ติดไฟง่าย และเพื่อประสิทธิภาพในการทำความสะอาด ควรลูบให้ทั่วฝ่ามือและนิ้วมือ ทิ้งไว้ 20 – 30 วินาที จนแอลกอฮอล์แห้ง หากรู้สึกว่าผิวแห้ง สามารถใช้ร่วมกับครีมบำรุงผิวได้

การใช้ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือ
  1. หากใช้เป็นครั้งแรกควรทดสอบการแพ้ก่อน โดยการทาผลิตภัณฑ์ปริมาณเล็กน้อยที่บริเวณท้องแขนและทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง สังเกตความผิดปกติ ได้แก่ ผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อน บวม
  2. เทผลิตภัณฑ์เจลล้างมือ 2-3 มิลลิลิตร ใส่ลงในฝ่ามือ ถูให้ทั่วทั้งสองมือเป็นเวลาประมาณ 20 วินาที และปล่อยให้แห้งในอากาศ
  3. ควรเก็บผลิตภัณฑ์เจลล้างมือในภาชนะปิดสนิท ในบริเวณที่ไม่ถูกแสงแดด หรือบริเวณที่ร้อน เพราะจะท้าให้แอลกอฮอล์ระเหย และความเข้มข้นของแอลกอฮอล์อาจลดลงได้
ข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือ
  1. เจลล้างมือ มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก สามารถติดไฟได้ หากทามือแล้วยังไม่แห้ง ควรหลีกเลี่ยงเปลวไฟ โดยเฉพาะผู้สูบบุหรี่ ควรระวังเป็นพิเศษ
  2. ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือกับเด็กทารก และบริเวณผิวบอบบาง เช่น รอบดวงตา และบริเวณที่ผิวอักเสบ มีสิว มีบาดแผล หากสัมผัสแอลกอฮอล์บ่อย ๆ อาจท้าให้เกิดการระคายเคือง และผิวหยาบกระด้าง

เรียบเรียง:
นัชรี อุ่มบางตลาด ครูชำนาญการ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ


อ้างอิง:
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. (2563, 2 เมษายน). อย. แนะวิธีการเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์ ป้องกันสินค้าปลอม. สืบค้นจาก https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/140801

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. กระทรวงสาธารณสุข. (2558). ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือ [E-Book]. สืบค้นจากhttp://e-library.dmsc.moph.go.th/ebooks/files/ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือ.pdf