ทำอย่างไร.....ให้ผู้สูงอายุมีความสุข

ในปัจจุบันครอบครัวทั่วไปจะมีบุตรไม่เกิน 2 คน ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่ปู่ย่าตายายจะมีลูกหลานหลายคน จึงทำให้จำนวนประชากรผู้สูงอายุมีมากกว่าจำนวนเด็กแรกเกิดอย่างเห็นได้ชัด การรับมือการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในไทยนั้น รัฐบาลได้มีการวางแผนไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้ตัวผู้สูงอายุเองก็จำเป็นต้องวางแผนชีวิตของตนเองเช่นกัน ยิ่งถ้ายังมีลูกหลานอยู่ ลูกหลานก็ต้องคิดและวางแผนเลยว่า จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ได้อย่างมีความสุข ทั้งเรื่องของการดูแลสุขภาพทางกาย สุขภาพทางจิตใจ และสถานะทางการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยาก หากเราทำให้กับคนที่เรารัก เพียงแต่ผู้สูงอายุและลูกหลานต้องเริ่มต้นช่วยกันที่จะสร้างความสุขให้กันและกัน

วิธีการที่ผู้สูงอายุจะสร้างความสุขให้ตนเอง 
ก่อนอื่นผู้สูงอายุจะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า ความสุขที่แท้จริงของตนเองคืออะไร ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความต้องการแตกต่างกันไป เช่น “การได้อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา” “การได้เห็นลูกหลานที่ตนรักประสบความสำเร็จ” “การเป็นที่รักของลูกหลาน” “การที่ลูกหลานให้ความสำคัญหรือเอาใจใส่” “การเป็นที่ยอมรับหรือมีชื่อเสียงในวงสังคม” “การได้ทำประโยชน์ให้กับลูกหลานหรือสังคม” “การมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย” “การมีเงินหรือทรัพย์สมบัติสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน” “การได้ไปวัดเพื่อฟังเทศน์ฟังธรรม” หรือ“การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ” เมื่อตอบคำถามได้แล้ว ก็เริ่มสร้างความสุขให้กับตนเองได้เลย โดยเริ่มจากตัวเองก่อน ดังนี้

• การปรับตัวของผู้สูงอายุ  เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมายที่ผู้สูงอายุและครอบครัวต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุบางคนรับไม่ได้ บางคนคับข้องใจในตนเอง บางคนมีความขัดแย้งกับลูกหลานหรือคนใกล้ชิด จึงเป็นที่มาของความเครียด มีอาการซึมเศร้าและไม่มีความสุข

การที่ผู้สูงอายุจะมีความสุขได้นั้น สิ่งแรกที่จะต้องทำ คือ ต้องปรับใจของตนเองให้ได้ ด้วยการเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ยอมรับความคิดเห็นของลูกหลานและคนอื่นให้มากขึ้น ไม่เก็บตัวหรือแยกตัวเองออกจากครอบครัวหรือสังคม พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของครอบครัว เพื่อนฝูง ชุมชนหรือสังคม  ให้คิดอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกับครอบครัวและคนอื่นให้ได้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ทำอย่างไรที่จะให้เกิดความขัดแย้งกันน้อยที่สุด ตลอดจนพยายามช่วยตนเองให้มากที่สุด และยอมรับความช่วยเหลือและการดูแลของลูกหลานเมื่อถึงเวลาที่จำเป็น ก็จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขได้

ภาพจาก : https://th.anngle.org/j-lifestyle/elderjapan.html

• การดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต การจะมีความสุขได้นั้น สุขภาพกายและสุขภาพจิตก็ต้องดีด้วย ต้องระมัดระวังและป้องกันไม่ให้ตนเองเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มมีอาการที่บ่งชี้ว่าเจ็บป่วย ควรรีบไปพบแพทย์ หมั่นคอยดูแลสุขอนามัยของตนเอง ออกกำลังกายทุกวัน โดยเลือกวิธีที่เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายของตนเอง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ที่ให้คุณค่าทางอาหารครบ เหมาะกับวัย เป็นอาหารที่ย่อยง่าย ดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ดูแลระบบขับถ่ายของตนเองให้เป็นปกติ นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง และอยู่ในที่ ๆ มีอากาศถ่ายเทได้ดี เมื่อดูแลสุขภาพกายของตนเองเป็นอย่างดีแล้ว ก็ต้องดูแลสุขภาพจิตด้วย ทำจิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอ ไม่ให้ตนเองเกิดความเครียด หงุดหงิด ฉุนเฉียว ท้อแท้ หรือน้อยใจง่าย หากิจกรรมที่ทำให้ตนเองได้พักผ่อนหย่อนใจ มิฉะนั้นจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพจิต และยังส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอีกด้วย

ภาพจาก : 
www.thaihealth.or.th/Content/31008-8%20หนทางสู่การเป็น%20‘ผู้สูงอายุ’%20ที่มีความสุข.html

• การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชื่นชอบ ทำงานอดิเรกต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายของตนเอง เช่น การปลูกต้นไม้ การทำดอกไม้ประดิษฐ์ การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง การเล่นดนตรี การฟังเพลง การสวดมนต์ การเขียนหนังสือ การอ่านหนังสือ การเล่นโซเชียล ทั้งไลน์และเฟซบุ๊ก ฯลฯ การช่วยทำงานบ้านเล็กๆ น้อย ๆ การทำกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมหรือชมรม หรือการประกอบอาชีพเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่าที่ทำได้ เป็นต้น เพื่อให้คลายเหงา เกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ มีความสุข และมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคมอีกด้วย

• การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย การดำเนินชีวิตประจำวันที่เรียบง่ายเป็นวิถีชีวิตที่จะนำพาไปสู่ความสุข ด้วยการทำตัวตามสบาย ไม่ผูกมัดตนเอง กินง่าย อยู่ง่าย ดำรงชีวิตอยู่บนความพอเพียง ซึ่งไม่ได้หมายถึงการประหยัดจนรู้สึกอึดอัด แต่ให้ดำเนินชีวิตอยู่บนทางสายกลาง ใช้จ่ายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามแต่สถานภาพของแต่ละบุคคลที่มีอยู่ ไม่ทำอะไรเกินตัวหรือเกินฐานะที่ตนเองมี ไม่ทำให้ตนเองหรือคนอื่นเดือดร้อน และหาความสุขจากสิ่งใกล้ตัวที่มีหรือเป็นอยู่ ก็จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขได้

• การสร้างอารมณ์ขัน อารมณ์ขันจะช่วยคลายความกดดันลง รู้สึกเป็นทุกข์น้อยลง เกิดความรู้สึกที่ดี จิตใจเบิกบาน การสร้างอารมณ์ขันจึงเป็นเรื่องที่ดี เพราะการที่ผู้สูงอายุได้หัวเราะและยิ้มจากใจจริง ๆ เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความสุขที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อหัวเราะก็จะมีสารเอ็นโดรฟินที่เป็นสารแห่งความสุขหลั่งออกมา ทำให้คนนั้นมีความสุข ช่วยทำให้อายุยืนยาว มีสัมพันธภาพที่ดีกับลูกหลานและคนใกล้ชิด ทำให้คนรอบข้างได้ยิ้ม หัวเราะ และมีจิตใจที่แจ่มใสตลอดเวลาที่อยู่ด้วย การหัวเราะจึงเป็นพลังหรือยาวิเศษที่ช่วยให้คนมีความสุขและมีกำลังใจในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน การสร้างอารมณ์ขันให้ตนเองสามารถทำได้โดยดูภาพยนต์ตลก การชมรายการทอล์กโชว์ที่สอดแทรกความตลกจากโทรทัศน์ อ่านเรื่องขำ ๆ ในไลน์ อ่านหนังสือที่ทำให้เกิดอารมณ์ขัน เข้าไปพูดคุยหรืออยู่ในกลุ่มหรือสภาพแวดล้อมที่มีคนชอบพูดหรือเล่าเรื่องตลก หรือเล่าเรื่องตลกเพื่อทำให้คนอื่นและตนเองได้หัวเราะและมีความสุข

ภาพจาก : http://ban-laem.go.th/public/news_upload/backend/files_7_1.pdf

วิธีการสร้างความสุขให้แก่ผู้สูงอายุ  

ลูกหลาน ญาติพี่น้อง และผู้ดูแลผู้สูงอายุ เป็นบุคคลที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขในบั้นปลายชีวิต วิธีการก็เช่นเดียวกับที่ผู้สูงอายุทำด้วยตนเอง แต่ต่างกันที่ลูกหลาน ญาติพี่น้อง และผู้ดูแลผู้สูงอายุเป็นผู้ทำให้ การทำให้นั้นไม่ควรทำเพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ เพราะสิ่งที่ทำนั้นจะไม่อ่อนโยน และไม่ได้เกิดความรู้สึกที่ดี เพราะไม่ได้ออกมาจากใจ แต่การทำต้องทำด้วยใจ ด้วยความรัก และด้วยความปรารถนาดี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผู้สูงอายุสามารถรับรู้ได้ ความสุขก็จะเกิดขึ้น ถ้าใครยังไม่เคยทำ สามารถฝึกหัดทำและค่อย ๆ ทำ จะทำได้ดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะตั้งใจทำหรือไม่ วิธีทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขกระทำได้ ดังนี้

• การปรับตัวของลูกหลาน ญาติพี่น้อง และผู้ดูแลผู้สูงอายุ เมื่อประสงค์จะให้ผู้สูงอายุปรับตัวเพื่อให้ยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว ลูกหลาน ญาติพี่น้อง และผู้ดูแลผู้สูงอายุก็ต้องปรับตัวของตนเองด้วย โดยการปรับใจ ปรับความคิด และหาวิธีการที่จะปรับการทำกิจวัตรประจำวันและการทำงานของตนเองให้สอดรับกับการดูแลผู้สูงอายุ เพราะถ้าผู้ดูแลทุกคนที่เป็นทั้งลูกหลาน หรือญาติพี่น้อง หรือผู้รับจ้างมาดูแลผู้สูงอายุปรับตัวได้แล้ว ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น และช่วยสร้างความสุขให้แก่ผู้สูงอายุด้วย

• การเอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุด้วยความรัก เมื่อเรารักใครเราจะสามารถดูแลคน ๆ นั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะบุพการีหรือญาติผู้ใหญ่ ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุก็เช่นกัน ไม่ใช่จะดูแลเพราะเป็นหน้าที่ แต่สิ่งนี้ต้องใช้ความรักในการดูแล คอยพูดคุยหยอกล้อ คอยดูแลเอาใจใส่ การให้เวลาในการพูดคุย รวมไปถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อเป็นการสานสัมพันธ์ที่ดีร่วมกัน ถ้าไม่ได้อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ควรพาลูกหลานมาเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุบ่อย ๆ แสดงความรักด้วยการโอบกอด หรือหอมแก้ม เป็นสัมผัสที่ทำให้ผู้สูงอายุรับรู้ถึงความรักได้ หรือการทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุ หรือพาผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมกับคนอื่นๆ ในครอบครัวเท่าที่ทำได้ตามสภาพของผู้สูงอายุ เพื่อทำให้ผู้สูงอายุได้เห็นความสำคัญ และรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว การให้เกียรติและให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ เช่น คอยซักถามเกี่ยวกับสุขภาพ ความรู้สึก สภาพความเป็นอยู่ ขอคำปรึกษาเมื่อเวลามีปัญหา ให้ผู้สูงอายุช่วยดูแลอบรมหลาน ๆ หรือดูแลกิจการภายในบ้านเท่าที่ทำได้ พาไปตรวจสุขภาพประจำปีโดยสม่ำเสมอ เมื่อเจ็บป่วยก็พาไปพบแพทย์ คอยเฝ้าดูแลใกล้ ๆ เมื่อเจ็บป่วย หรือให้การช่วยเหลือเมื่อไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จัดหาอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายของผู้สูงอายุ พาไปออกกำลังกาย หรือถ้าไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ก็ต้องช่วยบริหารร่างกายให้ ดูแลในเรื่องการทำกิจวัตรประจำวันให้ผู้สูงอายุด้วยความอ่อนโยน และถนอมจิตใจ ดูแลเรื่องเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว ที่นอน และสิ่งแวดล้อมภายในห้องของผู้สูงอายุให้สะอาด การอยู่เป็นเพื่อนเมื่ออยู่คนเดียว ผู้สูงอายุจะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือถูกทอดทิ้ง ช่วยจัดหาสิ่งสนับสนุนในการทำงานอดิเรกหรือการทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อยในการประกอบอาชีพของผู้สูงอายุ เพื่อสนับสนุนให้มีรายได้ตามสมควร หรือให้เงินแก่ผู้สูงอายุไว้ใช้จ่ายส่วนตัว  จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขต่อการดูแลเอาใจใส่นั้น

• การสร้างอารมณ์ขันให้ผู้สูงอายุ จากที่ได้บอกแล้วว่าอารมณ์ขันจะช่วยลดความกดดัน ทำให้จิตใจเบิกบานและมีความสุข ฉะนั้นลูกหลาน ญาติพี่น้องและผู้ดูแลผู้สูงอายุต้องพยายามช่วยกันสร้างบรรยากาศให้เกิดอารมณ์ขันในผู้สูงอายุ วิธีการสร้างอารมณ์ขันให้ผู้สูงอายุ เช่น การยั่วให้ผู้สูงอายุได้ยิ้มและหัวเราะจากใจ การพูดหรือแสดงพฤติกรรมหยอกล้อให้ตลกหรือขำ ซึ่งจะช่วยลดความซึมเศร้าและความเหงาให้กับผู้สูงอายุ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นให้ผู้สูงอายุสร้างอารมณ์ขันให้ตนเองและคนรอบข้างอีกด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน เกิดบรรยากาศที่อบอุ่นในครอบครัว เพราะแต่ละคนได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เกิดความใกล้ชิดสนิทสนมกัน และเกิดความรักต่อกัน

เรียบเรียง : นางณิชากร เมตาภรณ์ ครูชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน. ภาคเหนือ

อ้างอิง : 
สถาบัน กศน.ภาคตะวันออก. (ม.ป.ป.).  การดูแลและส่งเสริมคุณภาพผู้สูงอายุ สำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ.

ไทยโพสต์. (2562, 27 มีนาคม). สร้างความสุขให้คนวัยเก๋า ติด#กิจกรรมที่ชอบและใช่. (2562, 27 มีนาคม). สืบค้นจาก https://www.thaipost.net/main/detail/32311

Smart SME. (2559, 28 ตุลาคม). 4 วิธีสร้างความสุขให้ “ผู้สูงอายุ” ได้ง่าย ๆ. สืบค้นจาก https://www.smartsme.co.th/content/50292

cheewajitmedia. 5 กิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุ เพิ่มสุข สร้างกายแข็งแรง. (2563, 11 มิถุนายน). สืบค้นจาก https://goodlifeupdate.com/healthy-body/157676.html