กระบวนการพัฒนาหลักสูตรกับวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง

กระบวนการพัฒนาหลักสูตร
ในการสร้างหรือพัฒนาหลักสูตร เริ่มต้นมาจากความต้องการของสังคมและชุมชน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้หลักสูตรเป็นสื่อในการพัฒนาคน ดังนั้นการสร้างหลักสูตรจึงต้องมีการดำเนินการเป็นกระบวนการ (นิรมล ศตวุฒิ และคณะ, 2546: 11)

กระบวนการพัฒนาหลักสูตรประกอบด้วยขั้นตอน ซึ่งต้องทำให้สำเร็จตามลำดับ เพื่อให้โครงการพัฒนาหลักสูตรมีความสมบูรณ์ งานที่ต้องทำในแต่ละขั้นตอนมีความหลากหลาย แต่มีกำหนดผลที่แน่นอนเอาไว้ กระบวนการพัฒนาหลักสูตรเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องและเป็นวัฏจักรมากกว่าจะเป็นกิจกรรมที่ทำต่อกันเป็นเส้นตรง เป็นกิจกรรมที่เป็นพลวัตรมากกว่าจะเป็นกิจกรรมที่คงที่ ซึ่ง นิรมล ศตวุฒิ (2543, 20 - 23) ได้สรุปกระบวนการพัฒนาหลักสูตรไว้ดังภาพ
◘ ขั้นตอนการร่างหลักสูตร (ขั้นที่ 1 - 4) 
ขั้นที่ 1 การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน เป็นการวิเคราะห์ปรัชญาการศึกษา จิตวิทยาการเรียนรู้ ผู้เรียน สังคม และเนื้อหาความรู้
  • การวิเคราะห์ปรัชญาการศึกษา และจิตวิทยาการเรียนรู้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดของนักปรัชญาและนักจิตวิทยา แล้วนำแนวคิดเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหลักสูตร
  • การวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียน มีจุดประสงค์เพื่อพิจารณาความต้องการของผู้เรียนและพัฒนาหลักสูตรให้สนองตอบความต้องการเหล่านั้น
  • การวิเคราะห์ข้อมูลทางสังคม เพื่อศึกษาสภาพสังคมในปัจจุบันและอนาคตทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง วัฒนธรรม ระบบครอบครัว ค่านิยมของสังคม รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมแล้วนำมาพัฒนาหลักสูตรที่เตรียมผู้เรียนให้พร้อมที่จะไปดำรงชีวิตและปฏิบัติในสังคมนั้น
  • การวิเคราะห์เนื้อหาความรู้ เพื่อศึกษาลักษณะธรรมชาติของเนื้อหาความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางวิทยาการเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาหลักสูตรที่ประกอบด้วยเนื้อหาความรู้ที่ทันสมัย
ขั้นที่ 2 กำหนดหลักการและจุดมุ่งหมายของหลักสูตร เป็นการนำข้อมูลพื้นฐานที่วิเคราะห์และรวบรวมได้ในขั้นที่ 1 มาเป็นแนวคิดและตัวชี้นำในการกำหนดเป้าหมายของหลักสูตรในหลักการ และกำหนดคุณลักษณะของผู้เรียนจบหลักสูตรในจุดมุ่งหมายให้ชัดเจนว่าจะมีความรู้ ทักษะ แนวคิดอะไร มีเจตคติอย่างไร สามารถทำอะไรได้ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างไร

ขั้นที่ 3 เลือกและจัดเนื้อหาและประสบการณ์ในหลักสูตร
  • เลือกและจัดเนื้อหาและประสบการณ์ที่ช่วยเอื้อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะตามที่คาดหวังไว้ในจุดมุ่งหมายของหลักสูตร หรือบรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
  • จัดทำโครงสร้างหลักสูตร ประกอบด้วยรายวิชา หรือหัวเรื่องของเนื้อหา และเวลาเรียน
  • จัดทำคำอธิบายของเนื้อหาของแต่ละรายวิชา หรือแต่ละหัวเรื่อง
ขั้นที่ 4 กำหนดแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแนวทางการประเมินหลักสูตร
  • การกำหนดแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นการกำหนดวิธีการประเมินผลพร้อมทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินได้ว่าผู้เรียนมีคุณลักษณะตามที่คาดไว้ในจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
  • การกำหนดแนวทางการประเมินหลักสูตร เป็นการกำหนดรูปแบบที่จะใช้ในการประเมินหลักสูตร หรือวิธีการที่จะใช้ในการประเมินหลักสูตร
◘ ขั้นตอนหลังจากการร่างหลักสูตร (ขั้นที่ 5 – 8)
ขั้นที่ 5 ตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรและปรับแก้ก่อนนำไปใช้ เป็นขั้นที่นำหลักสูตรที่ร่างเสร็จแล้วไปตรวจสอบ ซึ่งมีวิธีการตรวจสอบได้หลายวิธี เช่น การใช้รูปแบบการตรวจสอบคุณภาพหลักสูตร การตรวจสอบกับลักษณะของหลักสูตรที่ดี การตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญหรือคณะกรรมการ หรือวิเคราะห์แต่ละองค์ประกอบของหลักสูตรเพื่อพิจารณาความเหมาะสม เป็นต้น แล้วนำผลการตรวจสอบมาปรับปรุงแก้ไขร่างหลักสูตรให้ดีขึ้น เตรียมพร้อมที่จะนำไปใช้

ขั้นที่ 6 นำหลักสูตรไปใช้ เป็นขั้นที่นำหลักสูตรที่ตรวจสอบคุณภาพและแก้ไขให้สมบูรณ์แล้วไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน โดยใช้วิธีการต่าง ๆ ที่มั่นใจว่าได้มีการใช้หลักสูตรอย่างเหมาะสม เช่น วางแผนการสอน ทดสอบก่อนเรียน จัดการเรียนการสอนและบริหารหลักสูตร ประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนเป็นต้น

ขั้นที่ 7 ประเมินหลักสูตร เป็นการประเมินหลักสูตรทั้งระบบ ทุกขั้นตอน แล้วนำผลจากการประเมินมาพิจารณาร่วมกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน เพื่อตัดสินผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร และนำผลการประเมินมาปรับปรุงประสิทธิภาพของหลักสูตร

ขั้นที่ 8 ปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร เป็นการนำผลการประเมินหลักสูตรมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ในกรณีผลการประเมินพบข้อบกพร่องหรือปัญหาอุปสรรคในส่วนปลีกย่อย ผู้พัฒนาหลักสูตรจะดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร หากพบข้อบกพร่องหรือปัญหาอุปสรรคในประเด็นใหญ่ ซึ่งจะต้องเปลี่ยนโครงสร้างของหลักสูตรก็จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร

วงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (Deming Cycle - PDCA)
วงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (Deming Cycle - PDCA) เป็นวงจรที่พัฒนามาจากวงจรที่คิดค้นโดยวอล์ทเตอร์ ซิวฮาร์ท (Walter Shewhart) ผู้บุกเบิกการใช้สถิติสำหรับวงการอุตสาหกรรม และต่อมาวงจรนี้เริ่มรู้จักกันมากขึ้นเมื่อ เอดวาร์ด เดมมิ่ง (W.Edwards Deming) ปรมาจารย์ด้านการบริหารคุณภาพ ได้เผยแพร่ให้เป็นเครื่องมือสำหรับการปรับปรุงกระบวนการทำงานของพนักงานภายในโรงงานให้ดียิ่งขึ้น และช่วยค้นหาอุปสรรคในแต่ละขั้นตอนการผลิตโดยพนักงานเอง จนวงจรนี้เป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า “วงจรเดมมิ่ง” ต่อมาพบว่า แนวคิดในการใช้วงจร PDCA นั้น สามารถนำมาใช้ได้กับทุกกิจกรรม จึงทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นทั่วโลก โดยใช้อักษรนำของศัพท์ภาษาอังกฤษ มาเป็นตัวย่อ คือ PDCA ดังนี้
P: Plan หมายถึง วางแผน
D: Do หมายถึง ปฏิบัติตามแผน
C: Check หมายถึง ตรวจสอบ/ประเมินผลและนำผลประเมินมาวิเคราะห์
A: Action หมายถึง ปรับปรุงแก้ไขดำเนินการให้เหมาะสมตามผลการประเมิน
การเปรียบเทียบกระบวนการพัฒนาหลักสูตรกับวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (Deming Cycle - PDCA)
จากกระบวนการพัฒนาหลักสูตร 8 ขั้นตอน ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (Deming Cycle - PDCA) จะเห็นได้ว่า การดำเนินการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรตามกระบวนการพัฒนาหลักสูตร มีลักษณะการดำเนินงานใกล้เคียงกับการดำเนินงานตามวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง ดังแผนภาพ
การเปรียบเทียบกระบวนการพัฒนาหลักสูตรกับวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (Deming Cycle - PDCA)


จากการเปรียบเทียบการดำเนินการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรตามกระบวนการพัฒนาหลักสูตรกับการดำเนินงานตามวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง แสดงให้เห็นว่า หลักสูตรจะมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาผู้เรียนให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายทางการศึกษาได้ จะต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนกระบวนการ ซึ่งต้องทำให้สำเร็จตามลำดับ และสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนกระบวนการ หากพบข้อบกพร่อง ก็จะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพบริบทและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานอีกครั้ง เช่นเดียวกับการดำเนินงานตามวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง เช่น การประกันคุณภาพ การดำเนินงานประจำปีของหน่วยงานและสถานศึกษา เป็นต้น


เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ  ครู ชำนาญพิเศษ กลุ่มวิชาการ  ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง

อ้างอิง :
นิรมล ศตวุฒิ. (2543). การพัฒนาหลักสูตร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ. (2560). คู่มือการพัฒนาหลักสูตร สำหรับครู กศน.. พิมพ์ครั้งที่ 2. ลำปาง: บอยการพิมพ์.