บทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา

บทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา (Branching Programme) เป็นแนวคิดของคราวเดอร์ (Crowder) ซึ่งลักษณะบทเรียนจะคล้ายกับแบบเลือกตอบของเพรสซี กล่าวคือ การสร้างบทเรียนตามหลักการของเพรสซี (Pressey) โดยที่ผู้เรียนทุกคนอ่านข้อความเดียวกันตามลำดับเดียวกัน และตอบคำถามเหมือนกัน เมื่อผู้เรียนตอบคำถามถูกต้องจะมีสิ่งเร้าถัดไปมาเสนอให้ แต่ถ้าผู้เรียนตอบผิดจะมีข้อยกเว้น คือ ต้องกลับไปอ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาในกรอบเดิมอีกครั้ง แล้วจึงเลือกคำตอบใหม่อีกจนกว่าจะถูกต้อง การตอบถูกจึงเป็นการให้รางวัลหรือการเสริมแรงแก่ผู้เรียน และทำให้เกิดการเรียนรู้จากคำตอบที่ถูกนั้น แต่การสร้างบทเรียนตามแนวคิดของแนวคิดของคราวเดอร์ มีข้อแตกต่างกันตรงที่ว่า ตัวเลือกในแต่ละตัวจะนำผู้เรียนให้ไปศึกษาในกรอบหรือหน้าอื่นต่อไป การเรียงลำดับขั้นหรือกรอบ (Frame) จะไม่เป็นตามลำดับ ถ้าผู้เรียนตอบคำถามของกรอบในบทเรียนนั้นได้ถูกต้อง ก็อาจจะข้ามกรอบบางกรอบไปเรียนในกรอบของเนื้อหาของบทเรียนที่กำหนด ถ้าผู้เรียนตอบผิดจะได้รับการอธิบายเหตุผลหรือสาเหตุที่ผิด และอาจให้เรียนเพิ่มเติมจากหน่วยย่อยอีก ดังนั้นผู้เรียนต้องทำตามคำแนะนำในแต่ละกรอบอย่างเคร่งครัด ซึ่งหน่วยย่อยหรือกรอบในบทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขามี 2 ชนิด คือ 1) กรอบยืน เป็นกรอบที่อธิบายเนื้อหาและมีคำถามแบบเลือกตอบหลายคำตอบให้ผู้เรียนเลือก 2) กรอบสาขา เป็นกรอบที่ช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนตอบคำถามในกรอบนั้นได้ถูกต้อง (อรนุช ลิมตศิริ, 2546: 157-159)

นอกจากนี้ นิรมล ศตวุฒิ และศักดิ์ศรี ปาณะกุล (2544, 197-198) ยังกล่าวไว้ว่า บทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขาไม่ได้เสนอความรู้เรียงกรอบและผู้เรียนเรียนไปตามลำดับเป็นเชิงเส้น แต่บทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขาจะมีกรอบหลักอยู่ส่วนหนึ่งซึ่งไม่ต่อเนื่องกัน เช่น 1, 3, 4, 7, 9, 11 ถ้าผู้เรียนตอบคำถามในกรอบหลักถูกทุกครั้งก็จะเรียนจบภายใน 6 กรอบนี้ สำหรับผู้เรียนที่ตอบคำถามในกรอบหลักแล้วไม่ถูกต้องก็จะถูกส่งไปเรียนหรือดูคำอธิบายที่ง่ายขึ้นในกรอบซ่อม เช่น 

ภาพที่ 1 : ถ้าตอบคำถามในกรอบที่ 1 ไม่ถูก ก็จะส่งไปเรียนกรอบที่ 5 แล้วจึงส่งกลับไปเรียบกรอบเดิม เมื่อตอบถูกก็จะเรียนกรอบ 3 ถ้าตอบคำถามในกรอบ 3 ไม่ถูกก็จะถูกส่งไปเรียนกรอบ 8 ก่อน แล้วจึงส่งกลับไปเรียนกรอบเดิม เมื่อตอบถูกก็ไปเรียนกรอบ 4 ต่อไป หรือเมื่อเรียนซ่อมในกรอบ 8 แล้ว อาจจะส่งไปเรียนกรอบ 4 ต่อไปเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อมโยงของเนื้อหา 

จะเห็นได้ว่าผู้เรียนแต่ละคนจะเรียนตามจำนวนกรอบที่ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนในการทำความเข้าใจเนื้อหา และความถูกต้องในการตอบคำถาม

ลักษณะบทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา 
อัญชลี ธรรมะวิธีกุล (2550, 4-6) กล่าวว่าบทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขายังมีอีกหลายรูปแบบ ดังนี้ 

1. กรอบสาขาแบบ Remedial Loops
ถ้าผู้เรียนไม่สามารถตอบคำถามในกรอบสาระการเรียนรู้หลักได้แล้วจะต้องเข้าไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมในกรอบการเรียนรู้สาขาที่แตกแขนงออกมาตั้งแต่สองสาขาขึ้นไป ศึกษาสาระการเรียนรู้สาขาแรกแล้วก็สามารถกลับไปศึกษาในกรอบสาขาการเรียนรู้หลักได้ในทันที แต่ถ้ายังไม่ผ่านก็ศึกษาในสาระการเรียนรู้สาขาอื่น ๆ จนพร้อมแล้วจึงกลับไปศึกษาและทดสอบในกรอบสาระการเรียนรู้หลักอีกครั้ง เมื่อผ่านแล้วก็ศึกษาในกรอบสาระการเรียนรู้ถัดไป ดังภาพที่ 2

2. กรอบสาขาแบบ Secondary Tracks
เมื่อผู้เรียนศึกษาเรียนรู้ในกรอบสาระการเรียนรู้ที่ 1 และสามารถตอบคำถามได้ก็ผ่านไปเรียนรู้ในกรอบสาระการเรียนรู้ที่ 2 ถ้าไม่ผ่านต้องกลับไปศึกษาในกรอบสาระการเรียนรู้สาขา 1 ถ้าตอบได้ถูกต้องก็ไปเรียนในกรอบสาระการเรียนรู้ที่ 2 แต่ถ้าตอบผิดก็ต้องไปเรียนในกรอบสาระการเรียนรู้สาขา 2 จนกว่าจะผ่าน ดังภาพที่ 3


3. กรอบสาขาแบบ Gate Frame
เมื่อศึกษาในกรอบสาระการเรียนรู้ 1 แล้ว สามารถที่จะข้ามกรอบสาระการเรียนรู้ไปข้างหน้าได้หลายกรอบ แต่เมื่อข้ามกรอบสาระการเรียนรู้ไปแล้ว ไม่สามารถตอบคำถามในกรอบสาระการเรียนรู้ที่ข้ามได้ต้องถอยกลับคืนไปกรอบสาระการเรียนรู้ 1 เพื่อศึกษาเพิ่มเติมอีกครั้ง เป็นต้น ดังภาพที่ 4


ชนิดของกรอบในบทเรียนสำเร็จรูป
  1. กรอบตั้งต้น (Set Frame) เป็นกรอบที่เป็นเสมือนกรอบนำเข้าสู่บทเรียน ในกรอบนี้จะเป็นข้อมูลการเรียนรู้หลักการ ทฤษฎี และคำถามง่าย ๆ ที่กำหนดให้ผู้เรียนตอบคำถามได้ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้กำลังใจหรือเสริมแรงให้มีความสุขกับการเรียนรู้
  2. กรอบฝึกหัด (Practice Frame) เป็นกรอบที่ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกหัดทำกิจกรรมที่มีเนื้อหาสาระเชื่อมโยงมาจากกรอบตั้งต้น ในกรอบฝึกหัดนี้เป็นกรอบสำหรับการฝึกทักษะการอ่าน การคิด การวิเคราะห์ และการเขียน ซึ่งเนื้อหาสาระการเรียนรู้จะเพิ่มมากขึ้นกว่ากรอบตั้งต้น
  3. กรอบรองกรอบส่งท้าย (Sub-Terminal Frame) เป็นกรอบการเรียนรู้ก่อนที่จะถึงกรอบการเรียนรู้สรุปที่ผู้เรียนได้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้มาตามลำดับ โดยมีเนื้อหาสาระที่เข้มข้นขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนใกล้จะสรุปองค์ความรู้ที่สมบูรณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากบทเรียนสำเร็จรูปได้อย่างชัดเจนถูกต้อง
  4. กรอบส่งท้าย (Terminal Frame) เป็นกรอบสาระการเรียนรู้สรุปสุดท้าย หรือกรอบจบของบทเรียนสำเร็จรูป เป็นกรอบที่มีเนื้อหาสาระเข้มข้น และยากกว่าสาระการเรียนรู้อื่นที่ผ่านมา
ส่วนประกอบของบทเรียนสำเร็จรูป ประกอบด้วย
  1. คำชี้แจง / คำแนะนำในการศึกษาด้วยบทเรียนฉบับนั้น
  2. แนวคิด
  3. วัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เกิดจากการศึกษาบทเรียนสำเร็จรูป
  4. เนื้อหาเรียงลำดับจากง่ายไปยาก
  5. แบบฝึกหัด / คำถาม เพื่อทบทวนความเข้าใจในเนื้อหาที่ได้ศึกษา พร้อมเฉลย
  6. แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน
  7. เฉลยแบบทดสอบ
ขั้นตอนในการสร้างบทเรียนสำเร็จรูป 
การสร้างบทเรียนสำเร็จรูปมีขั้นตอนในการสร้าง 4 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ขั้นวางแผน (Planning Stage)

  1. ศึกษาหลักสูตร
    ขั้นแรกสุดต้องศึกษาหลักสูตรให้ละเอียดเพื่อทราบว่าจะต้องสอนอะไร มีเนื้อหาอะไร ควรศึกษาเอกสารหลักสูตรต่าง ๆ เช่น ประมวลการสอน คู่มือครู ตำราเรียน สมุดแบบฝึกหัด เป็นต้น เมื่อเลือกเนื้อหาที่จะนำมาสร้างบทเรียนสำเร็จรูปได้แล้ว ต้องพิจารณาต่อไปว่า จะสร้างแบบเส้นตรงหรือแบบสาขา
  2. ขั้นกำหนดจุดมุ่งหมายในการสร้า
    โดยอาศัยจากหลักสูตรและความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก จุดมุ่งหมายนี้ควรมีทั้งจุดมุ่งหมายทั่วไปที่กล่าวไว้กว้าง ๆ และจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม (Behavioral Objectives) ที่สามารถสังเกตและวัดผลได้
  3. วิเคราะห์เนื้อหา (Task Analysis)
    เป็นการนำเอาเนื้อหาทั้งหมดที่จะสร้างมาแตกเป็นหัวข้อย่อยอย่างละเอียด และเรียนลำดับจากง่ายไปหายาก การกระทำเช่นนี้เรียกว่า “การวิเคราะห์ภารกิจ” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ดีตลอดบทเรียน ซึ่งการวิเคราะห์ภารกิจนั้นทำให้ทราบว่าในการเรียนเรื่องนั้น ๆ จะต้องอาศัยความรู้พื้นฐานหรือพฤติกรรมเมื่อเริ่มเรียนอะไรบ้าง ระหว่างเรียนจะต้องเรียนรู้อะไรบ้าง และพฤติกรรมขั้นสุดท้าย (Terminal Behavioral) คืออะไร
  4. การสร้างแบบทดสอบ
    เป็นการสร้างแบบทดสอบเพื่อวัดผลการเรียนรู้ในบทเรียนเรื่องนั้น ซึ่งจะสร้างโดยยึดจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมเป็นหลัก แบบทดสอบนั้นนอกจากจะช่วยให้ทราบผลการเรียนหลังจากเรียนบทนั้นแล้ว ยังช่วยให้ทราบถึงความงอกงามในการเรียนจากจุดเริ่มต้นถึงจุดสุดท้ายโดยการพิจารณาคะแนนทดสอบหลังเรียน (Post-test) กับก่อนเรียน (Pre-test) ถ้าผลการสอนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนมากแสดงว่าผู้เรียนเกิดความงอกงาม และชี้ให้เห็นว่าบทเรียนมีประสิทธิภาพ ซึ่งแบบทดสอบนี้ต้องเป็นแบบทดสอบที่มีความเชื่อมั่น (Reliability) แบบทดสอบที่ใช้ก่อนเรียนและหลังเรียนบทเรียนสำเร็จรูปนี้ ควรเป็นฉบับเดียวกัน หรือถ้าเป็นแบบทดสอบคนละฉบับ ก็ควรเป็นแบบทดสอบที่วัดในเนื้อหาเดียวกับแบบทดสอบก่อนเรียน แต่ต่างกันในเรื่องวิธีการหรือข้อความเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 2 ขั้นดำเนินการเขียน (Developmental Stage)
  1. เขียนบทเรียน
    ในการเขียนบทเรียนสำเร็จรูปนั้นประกอบด้วยหน่วยย่อย ซึ่งเรียกว่า กรอบ (Frame) ตั้งแต่กรอบแรกจนกรอบสุดท้าย โดยอาจเลือกการเขียนแบบเส้นตรงหรือแบบแตกกิ่งก็ได้
  2. ทบทวนและแก้ไข
    หลังจากเขียนบทเรียนสำเร็จรูปแล้ว ควรพิจารณาหาจุดบกพร่องและแก้ไขทางด้านความถูกต้องของเนื้อหา ภาษา และเทคนิคการเขียน เช่น ความต่อเนื่องของบทเรียน และความเหมาะสมของการแบ่งกรอบ เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 3 ขั้นทดลอง (Try Out) แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
  1. การทดลองเป็นรายบุคคลและปรับปรุงแก้ไข (Individual Try Out and Revision)
    เมื่อเขียนบทเรียนเสร็จแล้วควรนำไปทดลองใช้กับผู้เรียนทีละคน โดยเลือกผู้เรียนที่เรียนอ่อนกับปานกลาง เพราะจะได้ข้อมูลในการแก้ไขจุดบกพร่องดีกว่าเลือกเด็กเก่ง ก่อนที่ผู้เรียนจะได้เรียนบทเรียนสำเร็จรูปนี้ ควรทำแบบทดสอบก่อนเรียน (Pre-test) จากนั้นจึงให้ผู้เรียนเรียนบทเรียนสำเร็จรูปไปทีละกรอบอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะเดียวกันผู้สร้างบทเรียนจะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน
    ถ้าข้อความใดที่ผู้เรียนไม่แน่ใจ ไม่เข้าใจ หรือมีความคิดเห็นใด ๆ จากการเรียนบทเรียน ผู้สร้างบทเรียนจะจดบันทึกไว้เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข ข้อสำคัญคือ ครูต้องสร้างความเข้าใจอันดีกับผู้เรียนเพื่อให้ได้รับความร่วมมืออย่างดี เมื่อผู้เรียนเรียนจบบทเรียนแล้วก็ให้ทำแบบทดสอบหลังเรียน (Post-test) อีกครั้งหนึ่ง การทดลองระยะนี้กระทำกับผู้เรียนทีละคน ประมาณ 3 – 4 คน บางครั้งเรียกการทดลองระยะนี้ว่า การทดลองแบบหนึ่งต่อหนึ่ง (one to one) เมื่อปรับปรุงแก้ไขในขั้นนี้แล้วก็นำไปทดลองในระยะที่สองต่อไป
  2. การทดลองเป็นกลุ่มและปรับปรุงแก้ไข (Group Try Out and Revision)
    นำบทเรียนที่ผ่านการปรับปรุงจากข้อมูลที่ได้จากการทดลองใช้รายบุคคลมาทดลองกับผู้เรียนปานกลาง จำนวน 5-8 คน ก่อนทำการทดลองควรสร้างความเข้าใจแก่ผู้เรียนเสียก่อน เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจว่าตนเป็นที่ปรึกษาและให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงแก้ไขบทเรียนให้ดีขึ้น หลังจากนั้นก็ทดสอบก่อนเรียน (Pre-test) กับผู้เรียนทั้งกลุ่ม เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับคะแนนที่ได้หลังจากเรียนบทเรียนสำเร็จรูปไปแล้ว และจะทราบได้ว่าผู้เรียนรู้เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด เมื่อผู้เรียนทำแบบทดสอบแล้วก็เริ่มเรียนบทเรียนได้ ผู้สร้างบทเรียนต้องบันทึกเวลาเริ่มเรียนบทเรียน เพื่อทราบเวลาเรียนโดยเฉลี่ยในการเรียนบทเรียนสำเร็จรูปนี้ หลังจากเรียนบทเรียนจบแล้วก็ให้ทำแบบทดสอบหลังเรียน (Post-test) ผลการสอบครั้งหลังจะเป็นเครื่องชี้ว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายหรือไม่ จากนั้นผู้สร้างบทเรียนสำเร็จรูปควรซักถามถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้เรียนพบขณะเรียนจากบทเรียน เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงบทเรียนต่อไป
  3. การทดลองภาคสนามหรือทดลองกับห้องเรียนจริง และปรับปรุงแก้ไข (Field Try Out and Revision)
    นำบทเรียนที่ผ่านการปรับปรุงในขั้นการทดลองเป็นกลุ่มไปทดลองใช้กับผู้เรียนในสภาพห้องเรียนจริง โดยมีการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนเช่นเดียวกับระยะแรก ๆ จุดมุ่งหมายของการทดสอบกับห้องเรียนจริง คือ ต้องการทราบความเที่ยงตรง (Validity) ในการทำหน้าที่ของบทเรียน คือ ต้องการทราบว่าใช้ได้ดีกับผู้เรียนในสภาพจริงหรือไม่ เนื่องจากก่อนทดลองภาคสนาม บทเรียนนี้ได้ผ่านการปรับปรุงแก้ไขมาหลายครั้ง จึงคาดว่าส่วนที่ต้องแก้ไขจะมีน้อย แต่ถ้ามีข้อบกพร่องอีก ก็ต้องปรับปรุงแก้ไข จนเป็นที่แน่ใจว่าเหมาะสมที่จะนำไปแพร่หลายและเชื่อได้ว่าบทเรียนโปรแกรมนี้ใช้ได้ผลแน่นอน จึงนำไปใช้ในขั้นต่อไป
ขั้นตอนที่ 4 ขั้นนำไปใช้ (Implementation)
เป็นขั้นที่นำบทเรียนสำเร็จรูปที่ผ่านการทดลองทั้ง 3 ระยะ มาแล้วอย่างได้ผล และนำไปใช้กับนักเรียนในสภาพชั้นเรียนทั่วไป และเป็นไปอย่างแพร่หลายกว้างขวาง อย่างไรก็ตามผู้สร้างบทเรียนสำเร็จรูปยังต้องติดตามผลการใช้บทเรียนสำเร็จรูปนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ ครู ชำนาญพิเศษ กลุ่มวิชาการ  ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง

อ้างอิง :
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล และนิรมล ศตวุฒิ. (2546). การเขียนเอกสารวิชาการ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อรนุช  ลิมตศิริ. (2546). นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนการสอน. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อัญชลี ธรรมะวิธีกุล. (2550, มิถุนายน.). บทเรียนสำเร็จรูป . การประชุมจัดโดย สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ, โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว เชียงใหม่.