บทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง

บทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง (Linear Programming) ประกอบด้วยบทเรียนที่แบ่งเป็นตอนสั้น ๆ แล้วนำเสนอเป็นขั้นสั้น ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากเนื้อหาส่วนที่ง่ายหรือส่วนที่เป็นพื้นฐานไปเป็นลำดับจนถึงเนื้อหาที่ยากและซับซ้อนขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีการ “สนองตอบ” ในแต่ละขั้นสั้น ๆ คือ ผู้เรียนจะได้ลองตอบคำถาม เติมข้อความหรือเลือกคำตอบแล้วมี “ผลป้อนกลับ” คือมีการเฉลยคำตอบหรือแนวคำตอบให้ได้ตรวจสอบทันที ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ทันทีว่าสิ่งที่ตัวเองได้ลองทำนั้นถูกต้องหรือไม่ ในบทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรงนั้นผู้เรียนจะเรียนเรียงตามลำดับตาม “กรอบ” หรือขั้นสั้น ๆ ของบทเรียน ที่เสนอเนื้อหาไปทีละน้อยทีละน้อยอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ผู้เรียนแต่ละคนจะเรียนไปตามความเร็วช้าของตนเองโดยไม่ต้องรอผู้เรียนคนอื่น ซึ่งเป็นลักษณะการเรียนด้วยตนเอง ที่ผู้เรียนสามารถเรียนตามอัตราความสามารถของตนเอง ขณะที่เรียนด้วยบทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง ผู้เรียนจะต้องบันทึกประสบการณ์การเรียนของตนเองเอาไว้ กล่าวคือขณะที่เรียนแต่ละขั้นในแต่ละกรอบ ผู้เรียนจะเขียนคำตอบลงไปด้วย เพื่อจะได้ตรวจสอบรวบยอดว่าตนเองทำผิดอะไร ตรงไหน จำนวนมากน้อยเท่าไหร่ ตลอดบทเรียน เป็นการตรวจสอบตนเองของผู้เรียนเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเอง

การเสนอบทเรียนเป็นขั้นสั้น ๆ ในแต่ละกรอบที่เรียนลำดับไปทีละน้อยทีละน้อย จากความรู้ที่ง่ายหรือเป็นพื้นฐานไปสู่ความรู้ที่ยากหรือซับซ้อนขึ้นนั้น ในบางกรอบจะมีการย้ำทบทวนเนื้อหาความรู้ที่ได้เสนอไปแล้วอีกครั้ง เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้แม่นยำขึ้น และจะมีกรอบที่ย้ำหรือทบทวนเช่นนี้เป็นระยะ ๆ แต่วิธีการเสนอกรอบทบทวนนี้จะแตกต่างไปจากวิธีการที่ได้เสนอเมื่อเริ่มแรก ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายที่จะต้องเรียนซ้ำ และเมื่อจบบทเรียนแล้วก็จะมีกรอบทบทวนบทเรียนทั้งหมดอีกครั้งหนึ่งเป็นการประเมินผลการเรียนไปด้วยในตัว

หลักของบทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง ประกอบด้วย
  1. หลักของการแบ่งบทเรียนเป็นตอนสั้น ๆ นำเสนอเป็นขั้นสั้น ๆ ภายในกรอบเรียงตามลำดับ
  2. หลักของการให้ผู้เรียนมีการสนองตอบขณะเรียน ได้มีโอกาสลองทำ ลองตอบ
  3. หลักของการให้ผลป้อนกลับ โดยมีเฉลยคำตอบหรือให้แนวตอบทันทีหลังจากผู้เรียนลองทำ และลองตอบ
  4. หลักของการทวนซ้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อย้ำความแม่นยำในการเรียนรู้ และหลักของการสรุปทบทวนท้ายบทเรียน
  5. หลักของการเรียนด้วยตนเอง ให้ผู้เรียนได้เรียนตามอัตราความสามารถและความเร็วช้าของตนเอง
  6. หลักของการตรวจสอบตนเองทั้งระหว่างเรียนและเมื่อจบบทเรียน โดยผู้เรียนเขียนคำตอบไว้ในกรอบตรวจสอบกับเฉลยคำตอบทุกครั้ง แล้วตรวจสอบรวบยอดว่าผิดพลาดมากน้อยเพียงใดอีกครั้งเมื่อจบบทเรียน
นอกจากนี้ อรนุช ลิมตศริ (2546, 157 - 158) ได้กล่าวถึงบทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรงไว้ว่า มีหลักการในการสร้างบทเรียนโดยจัดเรียงลำดับขั้นและหน่วยย่อยของบทเรียนจากง่ายไปหายาก หน่วยย่อยนั้นเรียกว่า “กรอบ” (Frame) ผู้เรียนจะต้องเรียนจากกรอบแรกไปจนกระทั่งกรอบสุดท้ายของบทเรียนโดยข้ามหน่วยใดหน่วยหนึ่งไม่ได้ ความรู้จากกรอบแรกจะเป็นพื้นฐานของกรอบถัดไป ในแต่ละกรอบพร้อมด้วยคำถาม ซึ่งจะให้ผู้เรียนตอบได้เป็น 2 ลักษณะ คือ แบบเลือกคำตอบ และแบบเติมคำหรือข้อความ ดังนี้

ลักษณะของบทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง
  1. บทเรียนที่ให้ผู้เรียนเลือกคำตอบ เป็นการสร้างบทเรียนตามหลักการของเพรสซี (Pressey) โดยที่ผู้เรียนทุกคนอ่านข้อความเดียวกันตามลำดับเดียวกัน และตอบคำถามเหมือนกัน เมื่อผู้เรียนตอบคำถามถูกต้องจะมีสิ่งเร้าถัดไปมาเสนอให้ แต่ถ้าผู้เรียนตอบผิดจะมีข้อยกเว้น คือ ต้องกลับไปอ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาในกรอบเดิมอีกครั้ง แล้วจึงเลือกคำตอบใหม่อีกจนกว่าจะถูกต้อง การตอบถูกจึงเป็นการให้รางวัลหรือการเสริมแรงแก่ผู้เรียน และทำให้เกิดการเรียนรู้จากคำตอบที่ถูกนั้น ดังภาพ


  2. บทเรียนชนิดเติมคำหรือข้อความ เป็นผลจากการศึกษาด้านพฤติกรรมศาสตร์ของสกินเนอร์ (Skinner) เน้นที่การระลึกหาคำตอบ (recall) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ดังภาพ


เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ  ครู ชำนาญพิเศษ กลุ่มวิชาการ  ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง

อ้างอิง :
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล และนิรมล ศตวุฒิ. (2546). การเขียนเอกสารวิชาการ. พิมพ์ครั้งที่ 3. 
กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อรนุช  ลิมตศิริ. (2546). นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนการสอน. กรุงเทพมหานคร : 
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.