บทเรียนสำเร็จรูป

บทเรียนสำเร็จรูปเป็นสื่อสำหรับเรียนด้วยตนเอง อาจใช้สำหรับศึกษาเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม ซึ่งอาจพบว่ามีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ตามลักษณะของการนำไปใช้ เช่น บทเรียนสำเร็จรูป แบบเรียนสำเร็จรูป บทเรียนโปรแกรม โปรแกรมการสอน แบบเรียนด้วยตนเอง ชุดการเรียนด้วยตนเอง เป็นต้น ดังนั้น บทเรียนสำเร็จรูปจึงเป็นสื่อการเรียนการสอนชนิดหนึ่งที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เรียนเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคล สามารถเรียนรู้ได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ มีการแบ่งเนื้อหาเป็นตอนย่อย ๆ เรียกว่า กรอบ (Frame) โดยเรียงลำดับเนื้อหาจากง่ายไปหายาก มีคำถามให้ผู้เรียนได้คิดค้นหาคำตอบ และมีคำเฉลยให้ทราบได้ทันที การประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนดูได้จากการตอบคำถามที่กำหนดไว้


จุดมุ่งหมายของบทเรียนสำเร็จรูป
  1. เพื่อให้ผู้เรียนสามารถประกอบกิจกรรมเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเต็มความสามารถ โดยครูคอยให้คำแนะนำช่วยเหลือเมื่อผู้เรียนมีปัญหา
  2. เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ไปตามลำดับขั้นจากง่ายไปหายาก
  3. เพื่อให้ผู้เรียนสามารถประเมินตนเอง และทราบถึงพัฒนาการในการเรียนรู้ของตนเอง
  4. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจ เมื่อประสบความสำเร็จในการเรียนรู้
หลักการเรียนรู้ด้วยบทเรียนสำเร็จรูป
  1. ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรม หรือมีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรม
  2. ผู้เรียนได้ประเมินตนเอง และรู้คำตอบได้ทันที
  3. มีการเสริมแรงให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจเมื่อสามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง และมีความพยายามที่จะแก้ไขส่วนที่บกพร่อง
  4. ผู้เรียนได้เรียนรู้ไปทีละลำดับจากง่ายไปยากตามศักยภาพและความสามารถของแต่ละคน
หลักการสร้างบทเรียนสำเร็จรูป
  1. หลักการเรียนรู้เพิ่มขึ้นทีละน้อย (Gradual Approximation) การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีถ้ามีการแบ่งขั้นของกิจกรรมการเรียนเป็นขั้นตอนสั้น ๆ ทีละขั้นตอน แต่ละขั้นตอน ย่อย ๆ มีการลำดับจากสิ่งที่ง่ายไปหาสิ่งที่ยากอย่างต่อเนื่องกัน ในการสร้างบทเรียนโปรแกรมโดยอาศัยหลักการดังกล่าว จึงมีการแบ่งเนื้อหาการเรียนออกเป็นกรอบซึ่งผู้เรียนจะค่อย ๆ เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ จนจบบทเรียน
  2. หลักการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างกระฉับกระเฉง (Active Participation) ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการกระทำด้วยตนเอง ซึ่งอาจอยู่ในลักษณะของการซักถาม เพื่อให้ผู้เรียนได้ตอบคำถาม อภิปราย ทดสอบหรือวิธีการอื่นที่อาศัยหลักจิตวิทยาในการเสนอสิ่งเร้าเพื่อให้ผู้เรียนมีการตอบสนอง (S-R Theory) การเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรม การเรียนในลักษณะนี้ทำให้ผู้เรียนติดตามบทเรียนตลอดเวลา
  3. หลักการที่ผู้เรียนได้ทราบผลการเรียนของตนเองอย่างทันทีทันใด (Immediate Feedback) การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีถ้าผู้เรียนได้รู้ผลของการกระทำว่าสิ่งที่ทำไปนั้นถูกหรือผิด ถ้าผิด ที่ถูกควรทำอย่างไร ในบทเรียนโปรแกรมจึงมีการเฉลยคำตอบที่ถูกต้องภายหลังที่ผู้เรียนได้ตอบสนองสิ่งเร้าไปแล้ว (ได้เลือกตอบหรือได้เติมข้อความที่เหมาะสมในช่องว่าง) จะทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
  4. หลักความสำเร็จ (Successful Experience) การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีถ้าผู้เรียนรู้สึกว่าได้รับความสำเร็จ ทำได้ถูกต้อง ในทางกลับกัน ถ้าผู้เรียนไม่ประสบความสำเร็จก็จะเกิดความท้อถอย ไม่อยากทำ จากหลักการดังกล่าวจึงมีการปูพื้นฐาน เริ่มจากการแบ่งการเรียนเป็นหน่วยย่อย ๆ ง่ายต่อการเข้าใจ และได้รับผลตอบสนองอย่างฉับพลัน ทำให้ผู้เรียนได้รับความพอใจในความสำเร็จของตนเสมือนการให้รางวัล ซึ่งจัดเป็นการเสริมแรงอย่างหนึ่งทำให้ผู้เรียนอยากจะเรียนรู้ต่อไป
จิตวิทยาที่เป็นพื้นฐานของบทเรียนสำเร็จรูป
• ทฤษฎีของธอร์นไดค์ 

เอ็ดเวิร์ด ลี ธอร์นไดค์ (Edward L. Thorndike) เป็นนักจิตวิทยาและนักการศึกษาชาวอเมริกัน (เกิด 31 สิงหาคม พ.ศ. 2417 สิ้นชีวิตวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2492) ที่ใช้เวลาเกือบทั้งอาชีพที่วิทยาลัยครู มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เป็นผู้วางรากฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับจิตวิทยาการศึกษา 

งานของธอร์นไดค์ เกี่ยวกับจิตวิทยาเปรียบเทียบและกระบวนการเรียนรู้ นำไปสู่ทฤษฎีการเรียนรู้ที่เน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง หรือ ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (Connectionism Theory) โดยมีหลักพื้นฐานว่า การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองที่มักจะออกมาในรูปแบบต่าง ๆ หลายรูปแบบ โดยการลองถูกลองผิดจนกว่าจะพบรูปแบบที่ดีและเหมาะสมที่สุด
จากการทดลองและแนวความคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ ดังกล่าวมาข้างต้น เขาได้เสนอกฎการเรียนรู้ที่สำคัญขึ้นมา 3 กฎ ซึ่งปัจจุบันเป็นกฎการเรียนรู้ที่ใช้อย่างแพร่หลายในชั้นเรียน
กฎการเรียนรู้
  1. กฎแห่งผล (Law of Effect) เป็นการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง ทั้งสองสิ่งจะเชื่อมโยงกันได้ถ้าสามารถสร้างภาพที่น่าพอใจให้แก่ผู้เรียน ซึ่งอาจได้จากการเสริมแรง เช่น การให้รางวัล หรือคำตอบที่ถูกต้อง เป็นต้น
  2. กฎแห่งการฝึกหัด (Law of Exercise) การที่ผู้เรียนได้กระทำซ้ำ ๆ บ่อยครั้ง ได้มีโอกาสฝึกหัดในเรื่องที่เรียน จะช่วยให้การเรียนรู้เกิดขึ้น
  3. กฎแห่งความพร้อม (Law of Readiness) เมื่อร่างกายพร้อมที่จะกระทำแล้วได้มีโอกาสได้กระทำ ย่อมก่อให้เกิดการเรียนรู้ อาจกล่าวได้ว่าการเรียนรู้จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อผู้เรียนพร้อมที่จะตอบสนอง
• ทฤษฎีของสกินเนอร์ 
 เบอร์รัช เอฟ. สกินเนอร์ (Burrhus Frederic Skinner) เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เกิดเมื่อ 20 มีนาคม 2447 เสียชีวิต 18 สิงหาคม 2533 เป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดตั้งแต่ พ.ศ. 2501 จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2517 นอกจากนี้ สกินเนอร์ยังเป็น นักพฤติกรรมนิยม นักเขียน นักประดิษฐ์ และนักปรัชญาสังคม 

ทฤษฎีของสกินเนอร์ส่วนใหญ่จะใช้หลักการของธอร์นไดค์ ส่วนสำคัญที่นำมาใช้เป็นหลักในบทเรียนสำเร็จรูป คือ ทฤษฎีการเสริมแรง (Reinforcement Theory) ผู้เรียนจะเกิดกำลังใจต้องการเรียนต่อ เมื่อได้รับการเสริมแรงในขั้นตอนที่เหมาะสม การเสริมแรงของบทเรียนสำเร็จรูปจะใช้การเฉลยคำตอบให้ผู้เรียนทราบทันที และพยายามหาวิธีการ เพื่อไม่ให้เกิดการตอบสนองที่ผิดพลาด โดยจัดเสนอความรู้ให้ต่อเนื่องทีละขั้นตอนอย่างละเอียด
ลักษณะของบทเรียนสำเร็จรูป
  1. มีการกำหนดจุดประสงค์อย่างชัดเจน ที่สามารถวัดได้และสังเกตได้ เรียกว่า จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
  2. เนื้อหาวิชาจะแบ่งเป็นหน่วยย่อย จัดลำดับเป็นขั้นตอนในรูปของกรอบ (Frame) แต่ละกรอบจะเสนอเนื้อหาเป็นขั้นตอนทีละน้อย และอาจมีความสั้นยาวแตกต่างกันตามความเหมาะสม
  3. จัดเรียงลำดับกรอบของบทเรียนอย่างต่อเนื่องจากง่ายไปหายาก และเหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียน
  4. มีการย้ำทวนและให้ผู้เรียนได้ทดสอบตนเองตลอดเวลา โดยในทุกขั้นตอนของการเรียนจะมีคำถามเพื่อทดสอบผู้เรียน และมีคำตอบให้ผู้เรียนทราบเพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับทันที และอาจมีคำอธิบายเพิ่มเติมด้วย
  5. ผู้เรียนมีโอกาสตอบสนอง หรือมีส่วนร่วมในการเรียนจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในกรอบ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหา และมีทักษะในเรื่องที่เรียน
  6. มีการเสริมแรงทุกระยะขั้นตอนที่สำคัญ ๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสนใจและต้องการเรียนต่อการเสริมแรงอาจอยู่ในรูปของคำชม หรือการที่ผู้เรียนรู้ว่าตนทำได้ถูกต้อง
  7. ไม่จำกัดเวลาในการเรียน ผู้เรียนสามารถใช้เวลาเรียนได้ตามความสามารถของตน เด็กที่อ่อนสามารถเรียนได้สำเร็จโดยใช้เวลามากกว่าเด็กที่เรียนเก่งได้
  8. มีการวัดผลที่แน่นอน มีทั้งทดสอบย่อยในระหว่างที่เรียน ทดสอบก่อนเรียน และหลังเรียนเพื่อวัดความก้าวหน้าในการเรียนอย่างชัดเจน
ดังนั้น บทเรียนสำเร็จรูปจึงมีลักษณะเป็นบทเรียนที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ชัดเจน ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำกัดเวลาในการเรียน มีการแบ่งเนื้อหาออกเป็นหน่วยย่อย ๆ ในรูปของกรอบ โดยเรียงลำดับเนื้อหาจากง่ายไปหายาก ผู้เรียนมีโอกาสได้ตอบสนองหรือมีส่วนร่วมในการเรียนจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ และตอบคำถามที่กำหนดไว้ในกรอบ ซึ่งสามารถตรวจคำตอบด้วยตนเองได้ทันที สิ่งสำคัญต้องมีการเสริมแรงเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ และต้องการเรียนต่อไปด้วย

ชนิดของบทเรียนสำเร็จรูป
  1. บทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง (Linear Programme)  มีหลักการในการสร้างบทเรียนโดยจัดเรียงลำดับขั้นและหน่วยย่อยของบทเรียนจากง่ายไปหายาก หน่วยย่อยนั้นเรียกว่า “กรอบ” (Frame) ผู้เรียนจะต้องเรียนจากกรอบแรกไปจนกระทั่งกรอบสุดท้ายของบทเรียนโดยข้ามหน่วยใดหน่วยหนึ่งไม่ได้ ความรู้จากกรอบแรกจะเป็นพื้นฐานของกรอบถัดไป ในแต่ละกรอบพร้อมด้วยคำถาม ซึ่งจะให้ผู้เรียนตอบได้เป็น 2 ลักษณะ คือ แบบเลือกคำตอบ และแบบเติมคำหรือข้อความ
  2. บทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขา (Branching Programme) บทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขาไม่ได้เสนอความรู้เรียงกรอบและผู้เรียนเรียนไปตามลำดับเป็นเชิงเส้น แต่บทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขาจะมีกรอบหลักอยู่ส่วนหนึ่งซึ่งไม่ต่อเนื่องกัน ตัวเลือกในแต่ละตัว จะนำผู้เรียนให้ไปศึกษาในกรอบหรือหน้าอื่นต่อไป การเรียงลำดับขั้นหรือกรอบ (Frame) จะไม่เป็นตามลำดับ ถ้าผู้เรียนตอบคำถามของกรอบในบทเรียนนั้นได้ถูกต้อง ก็อาจจะข้ามกรอบบางกรอบไปเรียน ในกรอบของเนื้อหาของบทเรียนที่กำหนด ถ้าผู้เรียนตอบผิดจะได้รับการอธิบายเหตุผลหรือสาเหตุที่ผิด และอาจให้เรียนเพิ่มเติมจากหน่วยย่อยอีก
  3. บทเรียนสำเร็จรูปแบบไม่แยกกรอบ (Linear Programme)  เป็นบทเรียนสำเร็จรูปที่มีการนำเสนอเนื้อหาสาระที่เพิ่มขึ้นทีละน้อยตามลำดับขั้น ในบทเรียนจะมีแบบทดสอบและแบบเฉลยให้ตรวจสอบได้ในทันทีเหมือนบทเรียนสำเร็จรูปแบบที่ 1 – 2 หากแต่การนำเสนอเนื้อหาสาระไม่นำเสนอในรูปของกรอบ เนื้อหาที่นำเสนอต้องต่อเนื่องกัน เหมือนกับการเขียนตำราหรือบทความ
  4. บทเรียนตามเอกัตภาพ (Individualized Learning Lesson) หรือชุดการเรียนตามเอกัตภาพ (Individualized Learning Package)  แต่ละบทเรียนจะประกอบด้วยสาระสำคัญ จุดประสงค์ เนื้อหาและประสบการณ์ กิจกรรมการเรียน สื่อการเรียนรู้ และการประเมินผล
ที่ให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเอง จนเกิดการเรียนรู้และแสดงสมรรถภาพได้ รวมทั้งได้ประเมินผลความก้าวหน้าของตนเอง โดยจะมีความแตกต่างจากบทเรียนสำเร็จรูปที่กล่าวไปข้างต้น คือ บทเรียนตามเอกัตภาพจะมีการใช้สื่อประสมประกอบในบทเรียนด้วย และกิจกรรมการเรียนรู้จะหลากหลายไม่เพียงแต่อ่านและตอบคำถาม หรือเลือกตอบและเติมคำในช่องว่างเท่านั้น บางครั้งผู้เรียนอาจจะไปทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน หรือทำกิจกรรมรูปแบบอื่นตามที่กำหนดไว้ในกิจกรรมการเรียนของบทเรียนนั้น ๆ


ข้อดีและข้อจำกัดของบทเรียนสำเร็จรูป
ข้อดีของบทเรียนสำเร็จรูป
  1. ผู้เรียนมีโอกาสเรียนด้วยตนเอง เรียนได้เร็วหรือช้าตามความสามารถของตน คล้ายกับได้เรียนกับครูตัวต่อตัว
  2. สนองความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล
  3. ช่วยแบ่งเบาภาระครู ทำให้ครูมีเวลาในการเตรียมกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ
  4. บทเรียนสำเร็จรูปนำเสนอเนื้อหาในลักษณะที่ส่งเสริมให้การเรียนน่าสนใจในลักษณะเกมที่สนองความสามารถแต่ละบุคคล
  5. เมื่อผู้เรียนตอบผิดก็จะไม่อายเพื่อน และสามารถแก้ไขความเข้าใจผิดได้ทันที
  6. การเรียนไม่จำกัดเวลาและสถานที่
ข้อจำกัดของบทเรียนสำเร็จรูป
  1. บทเรียนสำเร็จรูปเหมาะสำหรับเนื้อหาที่เป็นความจริง (fact) ความคิดรวบยอด หลักการเรียนรู้ต่าง ๆ หรือความรู้พื้นฐาน เช่น คณิตศาสตร์ การสะกดคำศัพท์ภาษาต่างประเทศ หลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์บางแขนง หรือวิชาอื่น ๆ ที่มีลักษณะวิชาดำเนินตามลำดับขั้นของตรรกศาสตร์ อย่างไรก็ตามบางวิชาไม่สามารถสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรมได้ดี เช่น วิชาเรียงความ วิชาที่ต้องการแสดงความคิดเห็น ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ หรือวิชาที่มีความลึกซึ้งมาก ๆ
  2. ข้อจำกัดในการออกแบบบทเรียน บทเรียนที่ดีควรได้รับการออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญในวิชาแขนงนั้น ๆ โดยต้องเป็นผู้ที่ใช้ภาษาได้ชัดเจน ถูกต้อง มีความรู้ ทางด้านจิตวิทยาการศึกษา และหลัก
  3. ในการเขียนโปรแกรม จึงจะทำให้การสอนมีประสิทธิภาพสูงสุด
  4. การที่เรียนแบบเดียวซ้ำ ๆ ในลักษณะบทเรียนเส้นตรง อาจทำให้เด็กที่เรียนเก่งเกิดความเบื่อหน่ายได้
  5. การสอนแบบบทเรียนสำเร็จรูปเป็นการสอนรายบุคคล จึงทำให้ผู้เรียนขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม จึงไม่ควรใช้บทเรียนสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว บทเรียนสำเร็จรูปแบบสาขาที่เขียนได้ดีนั้นค่อนข้างยาก
  6. ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุผล ถ้าผู้เรียนไม่ปฏิบัติตามวิธีการเรียนที่ถูกต้อง อาจดูเฉลยคำตอบแล้วนำมาตอบ ก็จะทำให้การเรียนไม่ได้ผล

เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ ครู ชำนาญพิเศษ กลุ่มวิชาการ  ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง


อ้างอิง : 
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล และนิรมล ศตวุฒิ. (2546). การเขียนเอกสารวิชาการ. พิมพ์ครั้งที่ 3. 
กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อรนุช  ลิมตศิริ. (2546). นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนการสอน. กรุงเทพมหานคร : 
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล. (2550). เอกสารประกอบการนิเทศ เรื่อง บทเรียนสำเร็จรูป. โรงแรมโลตัส
ปางสวนแก้ว เชียงใหม่, 20 มิถุนายน.