“ก๋องปู่จา” เป็นภาษาคำเมือง ส่วนคำว่า “กลองปู่จา” หรือ “กลองบูชา” เป็นภาษาเขียนในเขตภาคเหนือตอนบน เป็นกลองโบราณชนิดหนึ่ง ซึ่งได้มีการพัฒนารูปร่างและลักษณะการตีของกลองมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากกลองใบใหญ่ใบเดียวที่ใช้ตีเป็นเครื่องส่งสัญญาณในการโจมตีศัตรูของกองทัพในเวลาสงคราม ตีส่งสัญญาณบอกข่าวแก่ชุมชน ใช้เป็นเครื่องดนตรีมหรสพ เป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ มีจังหวะการตีเรียกว่า “สะบัดชัย” กลองชนิดนี้จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กลองสะบัดชัย” เมื่อไม่มีการรบทัพจับศึก ก็ได้พัฒนาทั้งรูปร่างลักษณะจังหวะการตี และนำมาใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา จึงเรียกว่า “ก๋องปู่จา” “กลองปู่จา” หรือ “กลองบูชา” ต่อมาได้พัฒนาเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การตีเพื่อให้เกิดความบันเทิงความสนุกสนาน ตามงานบันเทิงต่าง ๆ สามารถพบเห็นได้ในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านโดยทั่วไป
ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นมาของ ก๋องปู่จา
ก๋องปู่จา หรือ กลองปู่จา ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีตั้งแต่เมื่อใด มีความเชื่อที่มีการเล่าขานกันต่อมาจากตำนานต้นกำเนิดของกลองบูชา ซึ่งเกี่ยวพันกับความเชื่อเรื่อง พระอินทร์ยักษ์ ความชั่วร้าย และแนวคิดทางศาสนา อยู่ 2 ตำนาน ที่มีความคล้ายคลึงกัน คือ ตำนานเรื่อง ยักษ์ตาทิพย์กับพระอินทร์ และเรื่องยักษ์ตาทิพย์กับนางคาก๋อง (กลอง) โดยทั้ง 2 เรื่อง เป็นการกล่าวถึงยักษ์ตนหนึ่งที่ลงมากินเนื้อมนุษย์ในช่วงเวลาทุก 7 วัน และพระอินทร์เนรมิตกลองใบใหญ่เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ให้พ้นภัยจากยักษ์ ชาวบ้านจึงพากันยกกลองนั้นมาตั้งไว้บูชาเป็นมงคลของเมืองตลอดมา ในอดีตต้องตีกลองทุก 3 วัน 7 วัน เพราะหากไม่ตีกลองจะทำให้ยักษ์มากินบ้านกินเมือง และกินคนในหมู่บ้าน ซึ่งได้ถือกันต่อมาว่าจะต้องตีกลองทุกวันพระหรือเทศกาลต่าง ๆ เพื่อให้ชาวบ้านได้ปฏิบัติกิจในวันพระหรือในเทศกาลที่จัดขึ้น
ลักษณะของ “ก๋องปู่จา”
ก๋องปู่จา เป็นกลองในตำนานประวัติศาสตร์พื้นบ้านภาคเหนือ เป็นเครื่องดนตรีชนิดเครื่องกระทบ ประเภทเครื่องหนัง ใช้ตีบรรเลงด้วยท่อนไม้ หรือค้อนไม้ตีกลอง มักพบเห็นแขวนหรือวางอยู่บนหอกลองหรือศาลาตามวัดต่างๆ ในเขตภาคเหนือตอนบน
ก๋องปู่จา มีลักษณะเป็นกลองชุม คือ มีกลองขนาดต่าง ๆ รวมกัน ประกอบด้วยกลองขนาดใหญ่ 1 ใบเรียกว่า“กลองหลวง” หรือบางท้องที่เรียกว่า “กลองตึ้ง” และกลองบริวาร เป็นกลองเล็กเรียว่า “กลองลูกตุ๊บ” อีกก 3 ใบ สำหรับไล่เสียง
- กลองหลวง หรือ กลองใบใหญ่ มีลักษณะเป็นกลองสองหน้าขนาดใหญ่ ตัวกลองใช้ไม้จริง เช่น ไม้สัก ไม้ขนุน ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้ชิงชัน ขุดเป็นโพรงขึ้นหน้าด้วยหนัง ใช้หมุดไม้หรือภาษาพื้นบ้านเรียกว่าแส้ เป็นตัวขึงหนังหน้ากลองให้ตึง หน้ากว้างประมาณ 90 ซ.ม. ขึ้นไป ยาวประมาณ 1.5 เมตร ขนาดไม่แน่นอนแล้วแต่ไม้ที่ทำ ก่อนหุ้มกลองต้องทำการบรรจุหัวใจกลองไว้ข้างในตัวกลอง แล้วจึงหุ้มกลองด้วยหนังวัวหรือหนังควาย ใช้น้ำเต้าแห้งลงอักขระโบราณ คาถาเมตตามหานิยม ผ้ายันต์และของมีค่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ บรรจุรวมลงไปในน้ำเต้า นำไปแขวนไว้ในตัวกลองใบใหญ่
- กลองลูกตุ๊บ หรือกลองใบเล็กอีก 3 ใบ ทำเหมือนกับกลองใบใหญ่ แต่ข้างในตัวกลองไม่มีการบรรจุหัวใจกลอง มีขนาดหน้ากว้าง 12-18 นิ้ว ความยาวของกลองลูกตุ๊บ 18-24 นิ้ว
ลักษณะการจัดวางรูปแบบกลองบูชา
การวางก๋องปูจา จะวางกลองลูกตุ๊บใช้เรียงซ้อนกันข้างล่าง 2 ใบ และข้างบน 1 ใบ วางไว้ทางซ้ายกลองแม่หรือกลองใหญ่ ถ้าเห็นกลองลูกตุ๊บวางซ้อนกันไว้ด้านขวากลองใหญ่จะใช้วิธีการตีอีกแบบหนึ่งเรียกว่า “กลองจัยมงคล”
การวางกลองลูกตุ๊บ มี 3 ลักษณะดังนี้
1) วางกลองลูกตุ๊บไว้ด้านขวากลองใหญ่ซ้อนเป็นรูปสามเหลี่ยม
2) วางกลองลูกตุ๊บไว้ด้านซ้ายกลองใหญ่ซ้อนเป็นรูปสามเหลี่ยม
3) วางกลองลูกตุ๊บไว้ด้านข้างซ้ายกลองใหญ่เป็นรูปแนวนอน
การตีก๋องปู่จา ในโอกาสต่าง ๆ
ในอดีต การตีก๋องปู่จามี 3 เหตุผลสำคัญ คือ ตีบอกเหตุเมื่อยามเกิดศึกสงคราม ตีในงานเฉลิมฉลอง และตีในพิธีศาสนกิจ เพราะชาวบ้านเชื่อกันว่า ก๋องปู่จาเป็นของสูง ฉะนั้น จะนำมาตีเป็นการเล่นประกอบการฟ้อนรำไม่ได้ ทำให้มีการนำกลองปูจาออกมาตีน้อยลงและจำกัดเฉพาะที่ ปัจจุบันจึงมีผู้นำกลองปูจาออกมาแสดงในงานต่าง ๆ บ้าง โดยใช้วิธีไม่บรรจุหัวใจกลอง เพื่อจะได้สามารถนำเสียงของกลองมาประกอบการฟ้อนรำและการแสดงได้ โดยไม่ขัดกับขนบประเพณีโบราณแต่อย่างไร ปัจจุบันการ มักตีในโอกาส ดังนี้
- ตีเป็นสัญญาณของการทำบุญ การตีกลองบูชานั้นตีเพื่อเป็นพุทธบูชา ในคืนวันโกนหรือคืนก่อนวันพระ วันขึ้นหรือแรม 7 ค่ำหรือ 14 ค่ำ ในเวลาประมาณ 2-3 ทุ่ม เพื่อเป็นสัญญาณเตือนให้ทราบว่า วันรุ่งขึ้นเป็นวันพระ เพื่อที่สาธุชนจะได้เตรียมตัวในการปฏิบัติตนงดเว้นจากอบายมุข ทำตนเองให้สะอาดโดยการถือศีล ทำความดี ละเว้นจากความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส และเตรียมไปทำบุญที่วัด
- ตีในวันพระ การตีกลองบูชาเป็นระยะ ๆ นั้น ชาวบ้านที่ไม่ได้ทำบุญหรือฟังเทศน์ เสียงกลองบูชาจะทำให้ชาวบ้านได้ทราบถึงกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทราบว่า การเทศนาธรรมได้จบแล้วหรือเวลาทำวัตรเย็น เป็นต้น สาธุชนเมื่อได้ยินเสียงกลองบูชาก็จะยกมือโมทนาสาธุกับนักศีลนักบุญในวัดไปด้วย
- ใช้เป็นสัญญาณตีบอกเหตุ ให้มวลชนในหมู่บ้านได้ทราบ เช่น นัดหมายประชุม นัดหมายเข้าขบวนเคลื่อนครัวทาน แจ้งเหตุร้าย
- ใช้ตีเป็นกลองไชย เป็นการฉลองชัย ฉลองความสำเร็จ แสดงความยินดีเมื่ออาคันตุกะมาเยี่ยม เช่น ขบวนแห่ผ้าป่า ขบวนกฐิน ขบวนครัวทาน หรือตีแสดงความปีติเมื่อพระท่านให้พรเสร็จแล้ว
ก๋องปู่จา จะพบเห็นได้มากในภาคเหนือตอนบน เช่น แพร่ พะเยา เชียงราย ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และ น่าน ในปัจจุบันหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ได้มีการส่งเสริม รักษา และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้ดำรงสืบไป โดยจัดกิจกรรม เช่น การประกวดแข่งขันการตีกลองปู่จา ของจังหวัดลำปาง ซึ่งจะจัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และ การแข่งขันตีกลองปู่จา ในงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ ของจังหวัดแพร่ ในเดือนมีนาคม เป็นต้น
การแข่งขันตีกลองปู่จา ในงานประเพณีสลุงหลวงกลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง
ภาพจาก Lampang13 News Online : http://www.lampang13.com
การแข่งขันตีกลองปู่จา ในงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
ภาพจาก : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ http://thainews.prd.go.th
เขียน/เรียบเรียง :
นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
อ้างอิง :
เชียงใหม่นิวส์. (2562, 4 กุมภาพันธุ์). “ก๋องปู่จา” มรดกของชาวล้านนาที่กำลังจะหายไป. เชียงใหม่นิวส์. สืบค้น 20 มิถุนายน 2562 จาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/907338
พรสวรรค์ จันทะวงศ์ (2558). กลองบูชาในสังคมและวัฒนธรรมของชาวเชียงใหม่ (รายงานผลการวิจัย). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.