งานประเพณีบูชาเสาอินทขิล วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่
ภาพจาก : https://library.mju.ac.th
ความเป็นมา
เสาอินทขิล เป็นเสาหลักเมืองที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ เป็นที่เคารพสักการะและนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รวมวิญญาณของชาวเมืองและบรรพบุรุษในอดีต ถือเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของเชียงใหม่ ซึ่งมีการทำพิธีสักการะบูชาเสาอินทขิลเป็นประจำทุกปี
ในปี พ.ศ.1839 พระเจ้ามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ได้ทรงสร้างเสาอินทขิลขึ้นเมื่อครั้งสถาปนาราชธานี "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" แรกสร้างตั้งอยู่วัดสะดือเมือง (วัดอินทขิล) ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหอประชุมติโลกราชข้างศาลากลางหลังเก่า
เมื่อปี พ.ศ.1934 พระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังรายซึ่งครองราชอาณาจักรล้านนาไทย ได้ทรงสร้างวัดเจดีย์หลวงและพระธาตุเจดีย์หลวงขึ้น
ครั้นต่อมาในสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 วงศ์ทิพจักร ราวปี พ.ศ. 2343 ให้ย้ายเสาอินทขิลมาไว้ ณ วัดเจดีย์หลวงและได้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่พร้อมทั้งสร้างวิหารครอบไว้เมื่อปี และพระองค์โปรดฯ ให้สร้างรูปปั้นกุมภัณฑ์และฤาษี ไว้พร้อมกับเสาอินทขิลนั้นด้วยเพื่อให้ประชาชนชาวเมืองได้สักการะบูชา และทำพิธีบวงสรวงเป็นประเพณีสืบกันมา
หออินทขิล ภาพจาก : https://www.thainorthtour.com
เสาอินทขิล
เสาอินทขิลได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง โดยสร้างครั้งแรกทำด้วยหิน สร้างครั้งที่สองทำด้วยอิฐก่อโบกปูน เสาอินทขิลปัจจุบันก็สร้างด้วยอิฐโบกปูนประดับลวดลายติดกระจกสี ปัจจุบันตั้งอยู่กึ่งกลางวิหารจตุรมุขศิลปะแบบล้านนา เป็นเสาอิฐก่อสอปูนติดกระจกสีรอบเสาวัดได้สูง 2.27.5 เมตร วัดรอบโคนเสาได้ 5.67 เมตร รอบปลายเสา 3.4 เมตร มีพระพุทธรูปทองสำริดปางรำพึง ที่พลตรีเจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) นำมาถวายวัดเจดีย์หลวง เมื่อปี 2514 ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบก เหนือเสาอินทขิลให้ได้สักการบูชาคู่กับหลักเมืองด้วย
งานประเพณีบูชาเสาอินทขิล จะอัญเชิญพระพุทธรูป พระเจ้าฝนแสนห่า พระพุทธรูปทองสำริดปางมารวิชัย แบบสิงห์ 2 หน้าตักกว้าง 63 ซม.สูง 87 ซม. ของวัดช่างแต้ม มาประดิษฐานบนรถแห่ไปตามถนนสายต่าง ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ แล้วก็อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในซุ้มบุษบกหน้าพระวิหารหลวง เพื่อให้ชาวเมืองบูชาคู่กับเสาอินทขิล และยามค่ำคืนจะมีการละเล่นพื้นเมืองศิลปะพื้นบ้านสมโภชบูชาตลอดงาน
กิจกรรมในประเพณีเข้าอินทขิล ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 5 กิจกรรม คือ
1. พิธีบูชาเสาอินทขิล
พิธีนี้กระทำโดยการจุดธูปเทียน บูชาเสาอินทขิล บูชาต้นยางหลวง บูชากุมภัณฑ์ฤาษี 2 ตน และการบูชาช้าง 8 ตัว ในวัดเจดีย์หลวง ทั้งนี้เพื่อให้บ้านเมืองอยู่สงบสุขร่มเย็น
2. พิธีใส่ขันดอก
เป็นพิธีที่กระทำต่อจากการจุดธูปเทียนบูชาอินทขิล ทางวัดจะเตรียมพานเรียงไว้เป็นจำนวนมากเพื่อให้ประชาชนนำดอกไม้ ที่ตนเตรียมมา ไปวาง ในพาน (ขัน) จนครบ เหมือนกับการใส่บาตรดอกไม้ การถวายดอกไม้เป็นการแสดงความเคารพบูชาแก่เสาอินทขิล กุมภัณฑ์ฤาษี และพระรัตนตรัย
3. การใส่บาตรพระประจำวันเกิด
ภาพจาก : เชียงใหม่นิวส์ https://www.chiangmainews.co.th
นอกจากเปิดวิหารอินทขิล จัดพานรับดอกไม้แล้ว ทางวัดยังได้จัดเตรียมบาตร วางไว้หน้าพระพุทธรูปประจำวันเกิดทั้ง 7 วัน เพื่อให้ประชาชนทำบุญตามวันเกิด คือ
- วันอาทิตย์ - พระพุทธรูปปางถวายเนตร
- วันจันทร์ - พระพุทธรูปปางห้ามญาติ
- วันอังคาร - พระพุทธรูปปางไสยาสน์
- วันพุธ - พุทธรูปปางอุ้มบาตร
- วันพฤหัสบดี - พระพุทธรูปปางขัดสมาธิ
- วันศุกร์ - พระพุทธรูปปางรำพึง
- วันเสาร์ - พระพุทธรูปปางนาคปรก
พระเจ้าฝนแสนห่า คือ พระพุทธรูปทองสำริดปางมารวิชัย แบบสิงห์ 2 หน้าตักกว้าง 63 ซม.สูง 87 ซม. ปซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดช่างแต้ม ใกล้ ๆ กับวัดเจดีย์หลวง ชาวเชียงใหม่เชื่อว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธานุภาพบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เทศบาลนครเชียงใหม่จึงอาราธนามาประดิษฐานบนรถแห่ไปตามถนนสำคัญในเมืองให้ประชาชนสรงน้ำในวันแรม 12 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งเป็นวันเริ่มงานประเพณี หลังจากนั้นก็นำมาประดิษฐานไว้วงเวียนหน้าพระวิหารวัดเจดีย์หลวง ทุกวันตลอดงานพิธีเข้าอินทขิล เพื่อให้ประชาชนที่ไปร่วมงาน ได้สรงน้ำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้อย่างทั่วถึง
5. พิธีสืบชะตาเมือง
ภาพจาก : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ http://thainews.prd.go.th
5. พิธีสืบชะตาเมือง
พิธีสืบชะตาเมือง เป็นพิธีที่กระทำหลังจากสิ้นสุดการบูชาเสาอิทขิลแล้วระยะหนึ่ง แต่ก็ยังคงอยู่ในช่วงครึ่งแรก ของเดือน 9 เหนือ ประเพณีมีขึ้นเนื่องจากเมืองเชียงใหม่สร้างชื้นตามหลักโหราศาสตร์และการเลือกชัยภูมิ ตลอดจนมหาทักษาเพื่อให้ได้ชัยภูมิ เวลา และฤกษ์ที่เป็นมงคลอันจะบันดาลให้เมืองเจริญรุ่งเรืองสืบไป อย่างไรก็ตามเมื่อวันเวลาผ่านไป ย่อมมีบางช่วงที่ดวงเมืองเบี่ยงเบนตามลัคนา การทำบุญสืบชะตาเมืองจะช่วยให้เคราะห์ร้ายลดลงและสถานการณ์ต่าง ๆ กลับดีขึ้น
พิธีสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ จะกระทำในตัวเมือง 10 แห่ง คือกลางเวียง อันเคยเป็นสะดือเมือง ประตูทั้ง 5 ประตู และแจ่งเวียง (มุมเมือง) ทั้ง 4 แจ่ง เมื่อมีพระบรมราชานุสรณ์สามกษัตริย์มาประดิษฐาน ที่หน้าศาลากลางเก่า ตั้งแต่ พ.ศ.2526 การทำพิธีสืบชะตา ณ กลางเวียง ก็กระทำที่บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ โดยมีพระสงฆ์ 9 รูป ส่วนประตูเมืองและแจ่งอีก 9 แห่งมีพระสงฆ์แห่งละ 11 รูป รวมทั้งสิ้นเป็น 108 รูป เท่ากับ จำนวน 108 มงคลในลัทธิพราหมณ์ และเท่ากับ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ รวม 108 ประการเช่นกัน
พิธีสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ จะกระทำในตัวเมือง 10 แห่ง คือกลางเวียง อันเคยเป็นสะดือเมือง ประตูทั้ง 5 ประตู และแจ่งเวียง (มุมเมือง) ทั้ง 4 แจ่ง เมื่อมีพระบรมราชานุสรณ์สามกษัตริย์มาประดิษฐาน ที่หน้าศาลากลางเก่า ตั้งแต่ พ.ศ.2526 การทำพิธีสืบชะตา ณ กลางเวียง ก็กระทำที่บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ โดยมีพระสงฆ์ 9 รูป ส่วนประตูเมืองและแจ่งอีก 9 แห่งมีพระสงฆ์แห่งละ 11 รูป รวมทั้งสิ้นเป็น 108 รูป เท่ากับ จำนวน 108 มงคลในลัทธิพราหมณ์ และเท่ากับ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ รวม 108 ประการเช่นกัน
เรียบเรียง :
นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
อ้างอิง :
ศูนย์สารสนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ประเพณีบูชาเสาอินทขิล. สืบค้น 20 พฤษภาคม 2562, จาก http://library.cmu.ac.th/ntic/knowledge_show.php?docid=23