มิวเซียมลำปาง พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งเมืองลำปาง


พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งรวบรวมวัตถุและองค์ความรู้ที่แสดงถึงประวัติความเป็นมาและความรุ่งเรืองของพื้นที่นั้น ๆ แต่พิพิธภัณฑ์ในรูปแบบเดิมซึ่งเป็นเพียงการจัดแสดงโบราณวัตถุตั้งไว้ให้ชมนั้น เข้าถึงได้เฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจในประวัติศาสตร์เท่านั้น การที่จะเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้ไปยังคนทุกกลุ่มได้นั้น พิพิธภัณฑ์จึงต้องปรับรูปแบบการนำเสนอ ที่ดึงดูดความสนใจคนทุกกลุ่มให้อยากเข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ของสถานที่นั้น ดังเช่น พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง หรือ มิวเซียมลำปาง (Museum Lampang)

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง หรือ มิวเซียมลำปาง คือ แหล่งเรียนรู้ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Discovery Museum) ประเภทพิพิธภัณฑ์เมือง (City Museum) ในระดับจังหวัดลำปาง เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างโครงข่ายพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ประเภทอื่น ๆ ที่มีอยู่ทั้งในจังหวัดลำปางและจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง

แนวคิดการจัดนิทรรศการในมิวเซียมลำปาง 
การนำเสนอนิทรรศการในมิวเซียมลำปาง นั้น ได้นำเสนอเรื่องราวของลำปางผ่าน 3 หัวข้อหลัก คือ “คน-เมือง-ลำปาง” ดังนี้
  • “คน” เป็นการนำเสนอเรื่องราวของผู้ที่มีบทบาทสำคัญปรากฎอยู่ในเรื่องราวของจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะผู้มีส่วนสำคัญต่อประวัติศาสตร์ โบราณคดี เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม 
  • “เมือง” นำเสนอเรื่องราวของนครลำปางตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน จนถึงลำปางในอนาคต การเปลี่ยนผ่านและเหตุการณ์สำคัญในอดีตส่งผลอย่างไรมาถึงภาพของลำปางในยุคปัจจุบัน 
  • “ลำปาง” มิวเซียมลำปางได้สำรวจและเก็บรวบรวมความเป็นลำปาง จาก13 อำเภอของจังหวัดลำปาง ทั้งด้านความเหมือนและแตกต่าง นำมาจัดแสดงด้วยรูปแบบที่ทันสมัยผสมผสานเทคโนโลยีแบบอินเตอร์แอ๊กทีฟ โดยแบ่งออกเป็น 16 ห้องนิทรรศการ ดังนี้
การจัดห้องนิทรรศการ 
  • ห้องที่ 1 ก่อร่างสร้างลำปาง (Building Lampang City)  จาก 500,000 ปีที่แล้ว ถึงปัจจุบัน ใครบ้างที่มีบทบาทต่อการพัฒนาเมืองลำปาง กลุ่มคนเหล่านั้นทำให้เมืองลำปางแต่ละยุคเป็นอย่างไร
  • ห้องที่ 2 เปิดตำนาน อ่านลำปาง (Legends of Lampang) ลำปางอุดมด้วยตำนาน ทั้งตำนานเมือง ย่าน วัด วีรบุรุษ แต่ละตำนาน ล้วนมีความหมายและทิ้งเบาะแสให้ตีความ
  • ห้องที่ 3  ผ่อผาหาอดีต (Back to the Past) ฟอสซิลมนุษย์เกาะคา (โฮโม อิเรคตัส) อายุอย่างน้อย 500,000 ปี ภาพเขียนสีและหลุมฝังศพอายุกว่า 3,000 ปี ที่ช่องประตูผา บ่งชี้ว่าพื้นที่ลำปางเหมาะสมสำหรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่บรรพกาล
  • ห้องที่ 4  ประตูโขงโยงรากเหง้า (Pratu Khong, Roots of Lampang) ลอดซุ้มประตูโขง วัดพระแก้วดอนเต้าเข้าสู่ “เขลางค์นคร” เมืองลำปางรุ่นแรก ซึ่งเป็นเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีอายุกว่า 1,300 ปี บ้านพี่เมืองน้องกับเมือง “หริภุญชัย” ของพระนางจามเทวี ธิดาแห่งรัฐละโว้
  • ห้องที่ 5  สี่สหายฉายประวัติ (Fantastic Four of Lampang’s History) เดินผ่านประตูม้า เข้ามาฟังสี่สหายแห่งวัดปงสนุก ช้าง นาค สิงห์ อินทรี บอกเล่าเรื่องราวการผจญภัย และการย้ายจากเขลางค์นคร มาสร้างเมืองลำปางรุ่นที่สองเรียกว่า “เวียงลคอร” (เวียงละกอน) ภายใต้อำนาจของล้านนา พม่า และอยุธยา
  • ห้องที่ 6  แง้มป่องส่องเวียง (A Look into Lampang) แง้มหน้าต่างเรือขนมปังขิง ส่องดูความเป็นไปของ “นครลำปาง” เมืองลำปางรุ่นที่สาม ซึ่งอยู่ในยุครัตนโกสินทร์ การค้าเฟื่องฟู คลาคล่ำไปด้วยพ่อค้าต่างชาติ พม่า ไทใหญ่ จีน ฝรั่ง เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าไม้ที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ
  • ห้องที่ 7  ไก่ขาวเล่าวันวาน (Chicken Stories) สัญลักษณ์ของเมืองลำปาง คือ “ไก่ขาว” สารพัดไก่ในลำปาง จะมาบอกเล่าพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลำปางตั้งแต่ปลายยุคนครลำปางจนถึงปัจจุบัน
  • ห้องที่ 8  จุดเปลี่ยนเมืองลำปาง (Turning Points of Lampang) อดีต-ปัจจุบัน..”คน” หลากหลายกลุ่มผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาแสดงบทบาทในการเปลี่ยน “เมือง” แต่ละยุค ชาวลั๊วะ ยวน (ล้านนา) พม่า และชาวบางกอก สร้างจุดเปลี่ยนอะไรให้เมืองลำปางบ้าง
  • ห้องที่ 9 รางเหล็กข้ามเวลา (Railway Story) รางรถไฟ ไม่ใช่เพียงเส้นทางคมนาคมขนส่งแบบใหม่สะดวกรวดเร็ว แต่รางเหล็กนี้ได้นำพาสิ่งใหม่ๆ เข้ามามากมาย สร้างความเปลี่ยนแปลง ให้เมืองลำปางแบบ “พลิกโฉม”
  • ห้องที่ 10  รถม้าพาม่วน (Lampang on a Carriage) ไม่ใช่แค่รถรับจ้าง แต่คือ “รถม้าลำปาง” ม่วนอ๊กม่วนใจ๋ ไปกับการนั่งรถม้าเที่ยวชมเมืองลำปาง ผ่านเมืองเก่า วัดเก่า ย่านการค้าโบราณ และสถานที่สำคัญของเมืองลำปาง
  • ห้องที่ 11 วัดพม่าหน้าตาอินเตอร์ (Myanmar Temples, International Style) ยุคอาณานิคม พม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ชาวอังกฤษ พม่า-ไทยใหญ่ เข้ามาทำกิจการค้าไม้ในลำปาง ครั้งนั้น คหบดีชาวพม่าต่างสร้างวัดไว้ที่นี่มากมาย จนลำปางมีวัดพม่ามากที่สุดในประเทศไทย และไม่ใช่แค่วัดพม่า แต่เป็น “วัดพม่าผสมฝรั่ง” ซึ่งมีเฉพาะที่ลำปาง
  • ห้องที่ 12 พอดีพองาม อารามลำปาง (Simple Temple of Lampang) จำลองภูมิจักรวาลตามความเชื่อทางพุทธศาสนาลงบนโลกมนุษย์..เตี้ยแจ้ กะทัดรัด พอดีพองาม พอสมพอควรกับการใช้สอยจริง..สอดคล้องกับภูมิประเทศ ภูมิอากาศ.. ทั้งหมดนี้ คือ บุคลิกของ “วัดเมืองลำปาง”
  • ห้องที่ 13  คมปัญญา (Wisdoms of Lampang) ไม่รู้ภาษาอะไร ไม่ได้มีไว้พูดกับคน เครื่องขยายเสียงชั้นดี ไม่ต้องมีปลั๊กเสียบ...ป่าทั้งป่า กว้างไม่กี่วา หนาไม่กี่ศอก...ร่วมหาคำตอบ และ อึ้ง ทึ่ง ไปกับภูมิปัญญาทั้งศาสตร์และศิลป์ของชาวลำปาง
  • ห้องที่ 14 ซับป๊ะเสียงสำเนียงลำปาง (Dialects of Lampang) ภาษาลำปางมีเอกลักษณ์เฉพาะตน คนลำปางไม่ได้ “อู้กำเมืองล้านนา” แต่ “อู้กำเมืองลำปาง” แม้แต่กำเมืองลำปางเอง ในแต่ละอำเภอก็มีสำเนียงและศัพท์บางคำที่แตกต่างกัน
  • ห้องที่ 15  ลำปางมีดีเมืองนี้ห้ามพลาด (Tourism in Lampang) รวบรวมของดีและสถานที่ท่องเที่ยวในลำปางอันหลากหลาย พิเศษไม่เหมือนใคร สะท้อนออกมาในรูปแบบของของที่ระลึกและสิ้นค้านานาประเภทให้เลือกซื้อหา
  • ห้องที่ 16 เนี๊ยะ...ลำปาง (This is Lampagn) บทสรุปทิ้งท้ายของการเยี่ยมชม ร่วมแสดงความคิดเห็น เมื่อรู้จักลำปางแล้วบอกได้ไหม “คุณชอบอะไรในลำปาง” 

ท่านสามารถแวะชมมิวเซียมลำปางได้ที่ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเดิม ถนนไปรษณีย์ ตำบลสวนดอก อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เวลาที่ให้เข้าชม คือ วันอังคาร - วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00 - 17.00 น. (ปิดวันจันทร์) หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 054-237 237 ต่อ 3207

รวบรวม/เรียบเรียง :
ชนัตถธร สาธรรม  กศน.อำเภอเมืองลำพูน
นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง:
มิวเซียมไทยแลนด์. (2562). มิวเซียมลำปาง. สืบค้น 6 มิถุนายน 2562 จาก https://www.museumthailand.com/th/museum/Museumlampang

เฟสบุ๊คมิวเซียมลำปาง. สืบค้น 6 มิถุนายน 2562 จาก https://www.facebook.com/museumlampangg