ประเพณีล้านนา : สืบชะตา

การสืบชะตา หรือ สืบชาตา เป็นพิธีกรรมที่ชาวล้านนานิยมทำในโอกาสต่าง ๆ เพื่อต่อดวงชะตาหรือต่ออายุให้ยืนยาว ให้มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายปราศจากโรคภัยทั้งหลาย และเพื่อความเป็นสิริมงคลทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป พิธีสืบชะตาเป็นพิธีใหญ่ที่ต้องอาศัยคนและเครื่องประกอบพิธีจำนวนมาก อาจจัดทำพิธีสืบชะตาขึ้นโดยเฉพาะ หรือจัดร่วมกับพิธีอื่น ๆ ก็ได้ เช่นกัน


การสืบชะตาสามารถจัดขึ้นเพื่อสืบชะตาให้แก่คนทั้งที่เป็นฆราวาสหรือภิกษุ หรือสืบชะตาหมู่บ้าน เมือง แม้กระทั่งยุ้งข้าวหรือเหมืองฝายก็ได้ การสืบชะตาแต่ละสิ่งอาจมีพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไปบ้าง ซึ่งประเพณีการสืบชะตาแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานกันระหว่างความเชื่อในศาสนาพุทธ ฮินดู หรือพราหมณ์ และเรื่องผีสางเทวดา ประเพณีสืบชะตาไม่เพียงปรากฏแพร่หลายในภาคเหนือของไทยเท่านั้น แต่ยังพบได้ในสังคมของคนไทยใหญ่ ยอง และเขิน บริเวณรัฐฉานของพม่า รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ละว้าในตอนเหนือของไทยด้วย

ประเพณีสืบชาตาที่นิยมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. สืบชะตาคน
มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความเป็นสิริมงคลนับเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวล้านนาไทยนิยมทำกันในหลายโอกาส เช่น เนื่องในวัดเกิด วันเกิดครบรอบ (24 ปี 36 ปี 48 ปี 60 ปี 72 ปี) ได้รับยศศักดิ์หรือตำแหน่งสูงขึ้น วันขึ้นบ้านใหม่ ย้ายที่อยู่ใหม่ บางครั้งเกิดเจ็บป่วย เมื่อมีหมอ(หมอดู) ทายทักว่าชะตาไม่ดี ชะตาขาดควรจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์ และสืบชะตาต่ออายุเสีย จะทำให้คลาดแคล้วจากโรคภัย และอยู่ด้วยความสวัสดีต่อไป


การสืบชะตาคนนี้ วิธีการสืบชะตามีเครื่องพิธีคล้ายคลึงกัน อาจจะแตกต่างกันไปบ้างในเครื่องพิธีบางอย่าง และชื่อของเครื่องในพิธีเท่านั้น สถานที่จะจัดทำพิธีสืบชะตาจะทำในห้องโถง หากเป็นวัดก็จะจัดในพระวิหาร หรือที่ “หน้าวาง” คือห้องรับแขกของเจ้าอาวาส ถ้าเป็นบ้านก็จัดทำ “บนเติ๋น” คือห้องรับแขก ซึ่งต้องใช้ห้องกว้าง เพราะให้เพียงพอสำหรับแขกที่มาร่วมงาน หากเป็นวัดก็มีพระภิกษุสามเณรรวมทั้งอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ถ้าเป็นบ้านก็ต้อนรับญาติมิตรแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน แขกที่มาร่วมงานนี้โดยมากจะเป็นญาติพี่น้องลูกหลาน บางครั้งก็มีผู้สนิทสนมคุ้นเคยมาร่วมด้วย

2. ประเพณีสืบชะตาบ้าน 
มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้จะขับไล่สิ่งที่อัปมงคลในหมู่บ้าน และเพื่อให้เกิดมงคลแก่หมู่บ้านนั้น ๆ  ซึ่งตามความเชื่อของชาวล้านส่วนมากคิดว่าบ้านที่ตั้งมาตามฤกษ์ยามวันดีวันเสียนั้น มีเวลาที่ราหูมฤตยูเข้ามาทับเบียดเบียนทำให้ชะตาบ้านขาดลง เป็นเหตุให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในบ้านนั้นประสบความเดือดร้อนเจ็บป่วยกันไปทั่วในหมู่บ้าน ในกรณีที่มีคนตายติด ๆ กันในหมู่บ้านเกิน 3 คน ขึ้นไปในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ชาวบ้านถือว่าอุบาทว์ตกลงมาสู่บ้าน หรือชาวบ้านถือเป็นเรื่อง “ขึดบ้าน ขึดเรือน” จะทำพิธีขจัดปัดเป่า เรียกว่า สืบชะตาบ้าน

ในปีหนึ่งมักจะจัดให้มีการสืบชะตาบ้านหนึ่งครั้ง และมักจะทำก่อนเข้าพรรษา บางแห่งก็ทำในวันปากปี ปากเดือน ปากวัน ได้แก่วันที่ 16, 17, 18 เมษายน ชาวบ้านจะกำหนดเอาวันใดวันหนึ่งสืบชะตาบ้าน เพื่อให้เกิดความสวัสดีแก่ประชาชนภายในหมู่บ้านของตน
การทำพิธีสืบชะตาบ้านจะทำกันที่ “หอเสื้อบ้าน” ซึ่งเป็นหอที่ประชาชนสร้างขึ้นไว้ใกล้ ๆ กับ “ใจบ้าน” หรือเสาหลักของหมู่บ้าน หอเสื้อบ้านนี้เชื่อกันว่าเป็นที่สิงสถิตขิงดวงวิญญาณบรรพบุรุษผู้ก่อสร้างหมู่บ้าน อาจจะเป็นหัวหน้าสิงสถิตอยู่ คอยคุ้มกันป้องกันลูกหลาน ให้มีความสุขความเจริญ พ้นจากภัยอันตรายทั้งหลาย 

3. สืบชะตาเมือง 
การทำพิธีสืบชะตาเมืองของชาวล้านนาไทยมีมาแต่สมัยโบราณกาล  ซึ่งเชื่อกันว่าการสร้างป้านแปลงเมืองจะต้องมี “ดวงชะตาเมือง” มีจุดศูนย์กลางของเมือง ต้องมีเทพเจ้าที่ปกปักรักษาคุ้มครอง เช่น พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง ดังนั้นเมื่อบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขก็มักจะทำพิธีสืบชะตาเมืองเพราะบ้านเมือง ถือเป็นพิธีที่แสดงออกซึ่งความเคารพกตัญญูต่อผู้พิทักษ์รักษาบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัย ในทางกลับกันหากมีเหตุการณ์ผิดปกติในบ้านเมือง ผู้เป็นใหญ่ในเมืองนั้น จะร่วมทำพิธีสืบชะตาเมืองขึ้น เพื่อสืบอายุเมืองต่อไปมิให้ขาดลง
พิธีสืบชะตาเมือง ก็เพื่อต้องการให้บ้านเมืองประสบความเจริญรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ด้วยความเชื่อว่าเทพารักษ์ซึ่งอยู่เบื้องบน จะช่วยอำนวยความสุขให้ สมปรารถนาเมื่อทำพิธีการให้ถูกต้องตามลัทธิผีสางเทวดา ในการทำพิธีสืบชะตาเมืองนี้ ปรากฏในพับหนังสา (สมุดข่อย) จารึกด้วยตัวหนังสือ ล้านนาไทย หลายฉบับกล่าวถึงพิธีสืบชะตาเมืองในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาไทย รัชกาลที่ 13 ในราชวงค์มังราย ซึ่งครองราชสมบัติตั้งแต่ พ.ศ. 2038-2068 ไว้อย่างละเอียด และ พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นประธาน ในพระราชพิธีสืบชะตาเมืองเพื่อให้เกิด สวัสดีมงคล โดยทั่วกัน


ประเพณีสืบชะตาเมืองเชียงใหม่
นับแต่สร้างนครเชียงใหม่ พ.ศ. 1839 เป็นต้นมา ชางเมืองมีพระมหากษัตริย์และเจ้าผู้ครองนครเป็นประธานจัดพิธีสืบชะตาเมือง อันเป็นพระราชพิธีต่ออายุเมืองให้ยืนยงคงอยู่และสร้างความสุขสมบูรณ์แก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งมวล จะทำพิธีบูชาหรือไหว้เสาอินทขิล คือ เสาหลักเมืองในปลายเดือน 8 เหนือ เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ไปเสร็จสิ้นเดือน 9 เหนือ เรียกว่า " 8 เข้า 9 ออก "หมายถึง เข้าพิธีในระหว่างปลายเดือนพฤษภาคม และต้นเดือนมิถุนายน ของทุกปี
พิธีสืบชะตาเมืองเชียงใหม่

สถานที่ทำพิธี
สำหรับพิธีทำบุญสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ จัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปี ซึ่งประเพณีดังกล่าวได้ยึดตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณของชาวล้านนา ที่ถือว่าพิธีการสืบชะตา เป็นการต่ออายุให้ยืนยาว ช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย เสริมสิริมงคลทำให้ประชาชนชาวเชียงใหม่อยู่เย็นเป็นสุข กำหนดจัด ณ 10 หน่วยพิธี ได้แก่ 
• หน่วยพิธีกลางเวียงเชียงใหม่ ( พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์) 
• หน่วยพิธีประตูเมือง 5 แห่ง ประตูท่าแพ ประตูเชียงใหม่ ประตูสวนปรุง ประตูสวนดอก ประตูช้างเผือก 
• หน่วยพิธีแจ่งหรือมุมเมือง 4 แห่ง แจ่งกู่เฮือง แจ่งหัวริน แจ่งศรีภูมิ พิธีแจ่งกะต้ำ 
โดยมีจำนวนพระสงฆ์ในหน่วยพิธิกลางเวียง 9 รูป หน่วยพิธีประตูเมืองและแจ่งแห่งละ 11 รูป รวมเป็น 108 รูป อันเป็นเครื่องหมายแห่งมงคล 108 ในศาสนาพราหมณ์ ส่วนศาสนาพุทธ หมายถึง พระพุทธคุณ 56 พระธรรมคุณ 38 พระสังฆคุณ 14 รวมเป็น 108 เช่นเดียวกัน
การเตรียมเครื่องพิธีกรรม
1. ทำประรำในบริเวณพิธีทั้ง 10 แห่ง
2. นิมนต์พระสงฆ์ตามที่กำหนดไว้
3. เตรียมเครื่องสบชะตาเมือง
4. คัมภีร์เทศน์มี มังคลสูตรสารากริวิชชาณสูตร และโลกวุฒิสูตร เป็นต้น
5. เตรียมเครื่องบูชาท้าวจตุโลกบาล และเทพเจ้าประจำเมือง
6. เตรียมข้าวปลาอาหารและไทยทานถวายพระสงฆ์
7. โยงสายสิญจน์จากบริเวณพิธีอื่นๆ เข้าสู่ใจกลางเวียงอันเป็นต้นพิธี

เรียบเรียง : 
นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
มณี พยอมยงค์. (2537). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. เชียงใหม่ : ส.ทรัพย์การพิมพ์.

ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา. (มปป.) ประเพณีสืบชะตา. สืบค้น 10 กรกฎาคม 2562, จาก http://www.lanna-arch.net/society/apr_1

ศูนย์มานุษย์วิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2559). ประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย : สืบชะตา. สืบค้น 10 กรกฎาคม 2562, จาก https://www.sac.or.th/databases/rituals/detail.php?id=6

ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2550). ประเพณีสืบชะตาเมืองเชียงใหม่. สืบค้น 10 กรกฎาคม 2562, จาก http://library.cmu.ac.th/ntic/knowledge_show.php?docid=14