ประเพณีล้านนา : ประเพณียี่เป็ง

ความหมายของประเพณียี่เป็ง
“ยี่เป็ง” เป็นภาษาล้านนา แยกได้สองคำ คือ
“ยี่” แปลว่า สอง หมายถึงเดือนสองของชาวล้านนา ซึ่งชาวล้านจะนับเดือนแบบจันทรคติ เร็วกว่าภาคกลาง 2 เดือน เดือนสองของชาวล้านน้าจึงตรงกับเดือนสิบสองของชาวไทยภาคกลาง 
“เป็ง” แปลว่า เพ็ญ หมายถึงคืนที่มีพระจันทร์เต็มดวง ดังนั้น ยี่เป็ง จึงหมายถึงวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของภาคกลาง 
ประเพณียี่เป็ง จึงหมายถึงประเพณีในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนา ซึ่งตรงกับเดือนสิบสองของไทยภาคกลาง ซึ่งก็คือประเพณีลอยกระทงแบบล้านนานั้นเอง ถือเป็นประเพณีที่สนุกสนานรื่นเริงของชาวล้านนาในยามฤดูปลายฝนต้นหนาว ท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใส


ความเชื่อและกิจกรรมประเพณียี่เป็ง
ประเพณียี่เป็งของชาวล้านนา อยู่บนรากฐานความเชื่อเดียวกับประเพณีลอยกระทงในภูมิภาคของไทย คือ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อขอขมาแม่พระคงคา บูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวล้านนา การเฉลิมฉลองงานประเพณีลอยกระทงแบบล้านนานจะการประดับตกแต่งโคมตามบ้านเรือน จัดซุ้มประตูป่าหรือซุ้มประตูเข้าสู่ปรัมพิธีประกอบพิธีกรรมของหมู่บ้าน เข้าวัดทำบุญทำทาน ฟังเทศน์มหาชาติ โดยมีความเชื่อเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

1. ตั้งธรรมหลวง หรือ เทศน์มหาชาติ
การตั้งธรรมหลวง หรือเทศน์มหาชาติ ในอดีตนับเป็นหัวใจหลักของงานยี่เป็ง โดยแบ่งการเทศน์เป็น วันแรกเทศน์ธรรมวัตร วันที่สองเทศน์คาถาพัน ก่อนที่จะเทศน์มหาชาติก็จะเทศน์เรื่องอื่นไปเรื่อย ๆ พอถึงวันสุดท้ายก็จะเทศน์ด้วยคัมภีร์ชื่อ มาลัยต้น มาลัยปลาย และอานิสงส์มหาชาติ รุ่งขึ้นเวลาเช้ามืดก็จะเริ่มเทศน์มหาชาติตั้งแต่กัณฑ์ทศพรเรื่อยไป จนครบทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งมักจะไปเสร็ฐเอาในเวลาทุ่มเศษ แล้ว จะมีการเทศนธรรมพุทธาภิเษกปฐมสมโพธิ สวดมนต์เจ็ดตำนานย่อ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร และสวดพุทธาภิเษก ปัจจุบันนิยมเทศน์จบภายในวันเดียว

2. การจัดตกแต่งซุ้มประตูป่า 
ก่อนถึงวันยี่เป็น 1-2 วัน ชาวล้านนาจะเตรียมจัดตกแต่งประตูบ้าน ประตูวัด ประตูร้านค้า บริษัท ด้วยซุ้มประตู โดยนำต้นกล้วย ใบมะพร้าว ต้นอ้อย ต้นข่า มาทำซุ้ม ประดับด้วยโคมไฟพื้นเมืองหรือโคมยี่เป็ง และดอกไม้ เช่น ดอกตะล่อม(บานไม่รู้โรย) ดอกคำปู้จู้ (ดาวเรือง) ซึ่งการทำซุ้มประจูนี้เรียกว่า “ประตูป่า” ซึ่งตามความเชื่อของคนล้านนา ประตูป่า คือเครื่องสักการะถวายการต้อนรับพระเวสสันดรครั้งเสด็จออกจากป่าเข้าสู่เมือง ซึ่งปรากฏในเวสสันดรชาดก อันเป็นชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะประสูติเป็นพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ ยังเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมแรงร่วมใจของคนในบ้าน ในบริษัท หรือในชุมชน ที่มาช่วยกันทำและประดับตกแต่งซุ้มประตูให้สวยงาม ในบางพื้นที่จัดให้มีการประกวดประตูป่าด้วย

3. จุดผางประทีส (ผางประทีป)  
ผางประทีส หรือ ผางประทีป เป็นเครื่องสักการบูชาในพระพุทธศาสนา คำว่า "ผาง" คือภาชนะดินเผาที่มีลักษณะคล้ายถ้วยเล็ก ๆ สำหรับใส่ขี้ผึ้งหรือน้ำมัน และเส้นฝ้ายสำหรับจุดไฟ ส่วน "ประทีส" คือแสงสว่าง การจุดผางประทีสเพื่อเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) และพระศรีอริยะเมตไตร และเชื่อกันว่าเป็นการจุดบูชาเพื่อตอบแทนบุญคุณให้แก่ผู้มีพระคุณ และเป็นการสักการะต่อสรรพสิ่งที่เราได้ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น ประตูบ้าน กำแพง หน้าต่าง บันได อีกทั้งเชื่อว่าแสงสว่างของประทีปจะช่วยให้เกิดสติปัญญา มีแต่ความเฉลียวฉลาด มีแสงนำทางชีวิตให้มีแต่ความเจริญก้าวหน้า


4. จุดบอกไฟ (ดอกไม้ไฟ) ตามธรรมเนียมของชาวล้านนา เมื่อถึงประเพณียี่เป็ง ตามวัดวาอารามต่าง ๆ จะเตรียมกันทำดอกไม้ไฟหรือบอกไฟ เพื่อใช้จุดเป็นพุทธบูชา บูชาพระเกศแก้วจุฬามณี จุดบูชาประกอบพิธีเทศน์มหาชาติ และให้เด็ก ๆ ได้เล่นสนุกสนานกัน ซึ่งดอกไม้ไฟที่นิยมเล่นกันในช่วงคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง ส่วนใหญ่เป็นดอกไม้ไฟที่มีประกายแสงที่ขาดไม่ได้เลยคือพลุโอ่งหรือที่คนเมืองเรียกกันว่า “บอกไฟน้ำต้น” ด้วยพลุโอ่งมีประกายไฟออกมาเป็นพุ่มสวยงาม บางคนเชื่อว่าจะเมื่อจุดในช่วงยี่เป็ง ช่วยให้ชีวิตรุ่งโรจน์โชติช่วงเหมือนกับประกายไฟของดอกไม้ไฟ

5. ปล่อยว่าว (โคมลอย)
ว่าว” ในภาษาล้านนา หมายถึง เครื่องเล่นชนิดหนึ่งทำด้วยกระดาษ สำหรับปล่อยให้ลอยไปตามลม คล้ายกับบอลลูน  ปัจจุบันนิยมเรียกตามภาษาภาคกลางว่า “โคมลอย” 
ตามวัฒนธรรมของล้านนา ในช่วงยี่เป็งจะมีการปล่อยว่าวไฟ หรือ โคมลอย ด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นการสักการะพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี ที่ประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ ต่อมายังเชื่อกันว่าการปล่อยโคมลอยเปรียบเสมือนการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศก ปล่อยเรื่องที่ไม่ดีออกไปจากชีวิต ในช่วงยี่เป็งจะมีการปล่อยว่าว 2 แบบ คือ
  • ว่าวฮม (ว่าวลม) หรือ โคมควัน เป็นโคมที่นำกระดาษหลายสีมาทำเป็นถุงรับความร้อนจากควันไฟ ใช้ควันไฟที่มีความร้อนอัดเข้าไปในตัวว่าว เรียกว่า “ฮมควัน” เพื่อให้พยุงให้ลอยขึ้นไปในอากาศได้ มี 2 ชนิดคือ ว่าวสี่แจ่ง มีทรงสี่เหลี่ยม และ ว่าวมน ซึ่งมีทรงมน มักจะผูกสายประทัดติดที่หางว่าวและจุดเมื่อปล่อย นิยมปล่อยกันในช่วงกลางวัน

  • ว่าวไฟ หรือ โคมไฟ นิยมจุดในตอนกลางคืน ใช้หลักการเดียวกันกับการทำว่าวฮม แต่ใช้กระดาษน้อยกว่าและอาศัยความร้อนจากลูกไฟที่ผูกติดกับแกนกลาง ทำให้ว่าวลอยขึ้นสู่อากาศ ลูกไฟที่ผูกติดแกนกลางนั้น ปัจจุบันนิยมใช้กระดาษชำระชุบขี้ผึ้งเทียน

6. โคมยี่เป็ง 
ในช่วงก่อนจะถึงวันยี่เป็ง จะมีการประดิษฐ์โคมรูปลักษณะต่าง ๆ  เพื่อเตรียมใช้ในการจุดผางประทีปบูชา โดยการแขวนใส่ค้างโคมบูชาตามพระธาตุเจดีย์ แขวนไว้หน้าวิหาร กลางวิหาร ในปัจจุบันนิยมแขวนประดับตกแต่งตามอาคารบ้านเรือนด้วย ซึ่งโคมกลางวัน นิยมทำด้วยกระดาษที่มีสีสันสะดุดตา ส่วนโคมกลางคืน จะเป็นกระดาษขาว เพื่อให้แลเห็นความสว่างไสวของแสงไฟที่จุดในโคมมีหลากหลายรูปแบบ หลายรูปทรง เช่น โคมรังมดส้ม โคมไห โคมกระจัง โคมดาว โคมกระบอก โคมเงี้ยว (โคมเพชร) โคมหูกระต่าย โคมผัด โคมแอว โคมญี่ปุ่น ฯลฯ 



7. ล่องสะเปา ในอดีตชาวล้านนาไม่นิยมลอยกระทง แต่นิยมล่องสะเปา หรือไหลเรือสำเภา โดยชาวบ้านช่วยกันทำสะเปาที่วัด เป็นรูปเรือลำใหญ่ วางบนแพไม้ไผ่ และนำสะตวง พร้อมด้วยข้าวของต่างๆ ทั้งหม้อ ไห เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ ใส่ลงไปในสะเปา ในช่วงหัวค่ำของวันยี่เป็ง จึงพากันหามสะเปา พร้อมแห่ด้วยฆ้องกลองจากวัดไปลอยที่แม่น้ำ และทำพิธีเวนทานที่ท่าน้ำก่อนปล่อยสะเปาลอยลงไป ขณะที่สะเปาลอยไปได้ระยะหนึ่ง จะมีคนยากจนคอยดักรอสะเปากลางแม่น้ำ เพื่อนำเอาของอุปโภคต่างๆมาใช้อุปโภคและบริโภค จึงเป็นการบริจาคทานแบบหนึ่ง 


ส่วนการลอยกระทง รับมาจากภาคกลางในช่วงหลัง โดยเจ้าดารารัศมี พระราชชายา เป็นผู้ที่ริเริ่มการลอยกระทงที่เชียงใหม่เป็นคนแรก ในช่วง พ.ศ.2460-2470 โดยจุดเทียนบนกาบมะพร้าวทำเป็นรูปเรือเล็ก หรือรูปหงส์ และใช้ท่อนไม้ปอทำเป็นรูปเรือ 

หลังจากที่การลอยกระทงกลายเป็นประเพณีที่คนไทยทั่วทุกภูมิภาคนิยมปฏิบัติกัน ความเชื่อบางอย่างก็สืบทอดกันต่อมาด้วยเช่นกัน เช่น การตัดผมและเล็บใส่ในกระทง เพื่อเป็นการลอยเคราะห์โศกโชคร้ายต่างๆ ไปกับกระแสน้ำ บางคนก็นิยมใส่เหรียญหรือเงินลงไปในกระทง เพราะเชื่อว่าการให้ทานจะช่วยให้คำอธิษฐานสมหวัง 

กิจกรรมในประเพณียี่เป็ง
ประเพณีปฏิบัติของชาวล้านนาในเทศกาลยี่เป็ง ช่วงเช้าจะเข้าวัดทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัว ตกแต่งสถานที่ด้วย ซุ้มประตูป่า ประดับไฟสีต่าง ๆ ตอนหัวค่ำ ไปบูชาเทียนพระประธานในวิหารโบสถ์เพื่อสืบชะตา รับโชค และสะเดาะเคราะห์ โดยเทียนนี้จะใช้ไส้เทียนเท่าอายุของตัวเองหรืออาจจะเผื่อไว้เล็กน้อย กระดาษสาที่เขียนคาถา วันเดือนปีเกิดของคนๆ นั้น  เมื่อกลับมาบ้านก็จะจุดบูชาพระพุทธรูปที่บ้าน จุดประทีบหน้าบ้าน จุดดอกไม้ไฟ ปล่อยโคมลอย
• ช่วงเช้า
เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณตีห้าของวันยี่เป็ง มีการถวายข้าวมธุปายาส โดยนำไปถวายหน้าพระประธาน โดยมีปู่อาจารย์กล่าวคำสังเวย บูชาพระพุทธเจ้า เสร็จแล้วประเคนพระพุทธรูปเป็นเสร็จพิธี
หลังจากนั้น เวลาประมาณ 06.00 น. ทานขันข้าว อุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ตาย บรรพบุรุษ หลังจากนั้นเวลาประมาณ 07.00 น.จะพากันนำดอกไม้ธูปเทียนใส่ในขันแก้วทั้งสาม เมื่อพระสงฆ์ขึ้นบนวิหาร พ่ออาจารย์จะนำไหว้พระรับศีล และกว่าคำเวนทานเดือนยี่เป็ง ช่วงสาย ๆ พระเณรและเด็ก ๆช่วยกันปล่อยโคม “ว่าวฮม” ลอยขึ้นฟ้า เพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์
 • ช่วงกลางวัน
ถวายคัมภีร์ธัมม์ชะตา ปีเกิด หรือเดือนเกิด วันเกิด และนิมนต์พระสงฆ์เทศน์ให้ฟังที่วัด หรือบางวัดอาจมีการเทศน์มหาชาติ หรือบางวัดมีการทำสะเปาเพื่อเตรียมแห่ไปลอยที่แม่น้ำใหญ่ในตอนค่ำ
• ช่วงค่ำ
นำขันข้าวตอกดอกไม้ และผางประทีสไปวัดเพื่อบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ และพระรัตนตรัย พระสงฆ์จะเทศน์ธัมม์ อานิสงส์ผางประทีส และจุดประทีปโคมไฟ ทั่วบริเวณวัด จุดบอกไฟ เป็นพุทธบูชา หลังเสร็จสิ้นการทำบุญที่วัดแล้ว กลับมาบ้านบูชาผางประทีสตามประตูบ้าน บ่อน้ำ ครัวไฟ หม้อน้ำ ยุ้งข้าว ฯลฯ และปล่อยโคมไฟ “ว่าวไฟ” อย่างสนุกสนาน ฟังเทศน์มหาชาติ บางแห่งที่มีการทำสะเปา จะมีการแห่ขบวนสะเปาไปลอยที่แม่น้ำใหญ่ที่อยู่ในบริเวณนั้น

ในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ งานประเพณียี่เป็งจะมีสามวันคือ
- วันขึ้นสิบสามค่ำ เรียกว่า วันดา จะเป็นวันสำหรับการซื้อของตระเตรียมสิ่งต่างๆ ไปทำบุญที่วัด
- วันขึ้นสิบสี่ค่ำ จะไปทำบุญกันที่วัด พร้อมทำกระทงใหญ่ไว้ที่วัดและนำของกินมาใส่กระทงเพื่อทำทานให้แก่คนยากจน
- วันขึ้นสิบห้าค่ำ จะนำกระทงใหญ่ที่วัด และกระทงเล็กส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ

เขียน/เรียบเรียง :
นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2555). ประเพณีล้านนา : ประเพณียี่เป็ง. สืบค้น 9 พฤษภาคม 2562, จาก https.cmu.ac.th/ntic/lannatradition/yeepeng.php

ประเพณียี่เป็ง ล้านนา. สืบค้น 10 กันยายน 2561, จาก http://www.topchiangmai.com/culture/ประเพณียี่เป็ง-ล้านนา/

หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่. (2559). ประเพณียี่เป็ง. สืบค้น 15 พฤษภาคม 2561, จาก http://www.finearts.go.th/chiangmailibrary/ข่าวประชาสัมพันธ์/2016-12-14-02-56-05/item/ประเพณียี่เป็ง.html