การประเมินหลักสูตรรูปแบบของเคิร์กแพทริค (Kirkpatrick)

รูปแบบของเคริกแพทริค(Kirkpatrick) เป็นรูปแบบการประเมินที่นิยมใช้สำหรับโครงการหรือหลักสูตรฝึกอบรม เคิร์กแพทริค ได้เสนอแนะการประเมินผลเป็น 4 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 การประเมินปฏิกิริยา (Reaction) 
เป็นการประเมินปฏิกิริยาตอบสนองของผู้เข้ารับการอบรมว่ามีความรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโครงการ เช่น หลักสูตร/เนื้อหาสาระตรงกับความต้องการหรือไม่ ความคิดเห็นต่อเอกสาร สถานที่ โสตทัศนูปกรณ์ ระยะเวลาของการอบรมเหมาะสมเพียงไร วิทยากรเหมาะสมหรือไม่ ได้รับความรู้-ทักษะในระดับใด มีความคาดหวังอย่างไรต่อการนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปใช้งาน เป็นต้น
เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล อาจเป็นมาตราส่วนประมาณค่า การสัมภาษณ์ แบบสอบถามควรมีคำถามแบบปลายเปิดไว้ตอนท้าย เพื่อให้ผู้ตอบได้แสดงความคิดเห็นตามที่ต้องการ

ระดับที่ 2 การประเมินการเรียนรู้ (Learning)เป็นการประเมินผลการเรียนที่เกิดขึ้นกับผู้เข้ารับการอบรม เช่น การเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ ก่อน-หลังการฝึกอบรม เกี่ยวกับความรู้/ความคิด ทัศนคติ/ค่านิยม ทักษะ/การปฏิบัติ เป็นต้น
เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล อาจเป็นแบบทดสอบ (Test) แบบวัดการปฏิบัติ (Performance Test) การสังเกตพฤติกรรม

ระดับที่ 3 การประเมินพฤติกรรม (Behavior)
เป็นการประเมินพฤติกรรมเมื่อกลับไปปฏิบัติงานว่าเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่พึงประสงค์หรือไม่ มีการนำความรู้และทักษะที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานมากน้อยเพียงไร เป็นต้น
เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล อาจเป็นแบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกพฤติกรรมของผู้บังคับบัญช

ระดับที่ 4 การประเมินผลลัพธ์ (Results)
ที่เกิดต่อองค์กรเป็นการประเมินผลสัพธ์หรือผลกระทบที่เกิดต่อองค์กร อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เข้ารับการอบรม เช่น การลดลงของปัจจัยเสี่ยง การเพิ่มของประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงาน/องค์กร การลดลงของต้นทุน การเพิ่มกำไร ประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมงาน หรือผู้เกี่ยวข้อง/หน่วยงาน/องค์การ/สถาบัน เป็นต้น
เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล อาจเป็นแบบบันทึก (รายงาน) การตรวจสอบ แบบสอบถามผู้บังคับบัญชาของหน่วยงาน แบบวิเคราะห์ต้นทุน-ผลกำไร แบบบันทึกค่าสถิติหรือดัชนีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

ตัวอย่างการนำรูปแบบของเคิร์กแพทริคไปใช้
กรอบแนวคิดที่ใช้ในการประเมินหลักสูตรโดยใช้รูปแบบของเคิร์กแพทริค (Kirkpatrick)

กลุ่มตัวอย่างและเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
“การประเมินหลักสูตรการจัดทำหนังสือเรียนรายวิชาเลือก สำหรับการศึกษานอกโรงเรียน”
โดยใช้รูปแบบของเคิร์กแพทริค (Kirkpatrick)
1. การประเมินหลังฝึกอบรมใหม่  (Internal Measures)
1.1 การประเมินปฏิกิริยา (Reaction)ได้แก่ การประเมินความพึงพอใจของผู้เข้ารับการอบรม โดยใช้แบบประเมินความพึงพอใจ มาตราประมาณค่า 5 ระดับ
1.2 การประเมินการเรียนรู้ (Learning)ได้แก่ การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เข้ารับการอบรม โดยการทดสอบหลังเรียน โดยใช้แบบทดสอบเป็นปรนัย 4 ตัวเลือก

2. การประเมินหลังฝึกอบรมไปแล้วระยะหนึ่ง (External Measures)
2.1 การประเมินพฤติกรรม (Behavior)ได้แก่ การประเมินผลการนำความรู้จากการพัฒนาตามหลักสูตรการจัดทำหนังสือเรียนฯ ไปใช้ในการปฏิบัติงาน โดยการสัมภาษณ์ผู้เข้ารับการอบรม และการสนทนากลุ่มผู้เกี่ยวข้อง เช่น ครู กศน. เจ้าหน้าที่ ฯลฯ เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ ประเด็นสนทนากลุ่ม
2.2 การประเมินผลลัพธ์ (Results)ที่เกิดต่อองค์กรได้แก่ การประเมินผลกระทบจากการพัฒนาของผู้เข้ารับการพัฒนาตามหลักสูตรการจัดทำหนังสือเรียนฯ ที่มีต่อสถานศึกษาและผู้เกี่ยวข้อง โดยใช้การสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษา โดยใช้แบบสัมภาษณ์

หมายเหตุ : โดนัลด์ แอล เคิร์กแพทริค (Donald L. Kirkpatrick, 1975) เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา และอดีตประธานสมาคมการฝึกอบรมและพัฒนาแห่งอเมริกา (ASTD : The American Society for Tranning and Development) เป็นผู้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการฝึกอบรมและการประเมินผลการฝึกอบรมว่า “การฝึกอบรมนั้นเป็นการช่วยเหลือบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการฝึกอบรมใด ๆ ควรจะจัดให้มีการประเมินผลการฝึกอบรม ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้รู้ว่า การจัดโปรแกรมการฝึกอบรมมีประสิทธิผลเพียงใด” และเป็นผู้สร้างรูปแบบการประเมินผลการฝึกอบรม ซึ่งต่อมารู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อ รูปแบบของเคิร์กแพททริก ความคิดของเคิร์กแพททริกถูกตีพิมพ์ต่อผู้ชมในวงกว้างในวารสารการฝึกอบรมและการพัฒนาของสหรัฐ ในปี ค.ศ. 1959โดนัลด์ แอล เคิร์กแพทริค เสียชีวิตแล้วเมื่อ 9 พฤษภาคม 2557 รวมอายุ 90 ปี

รวบรวม/เรียบเรียง/เขียน :
อรวรรณ ฟังเพราะ ครู ชำนาญการพิเศษ และ รสาพร หม้อศรีใจ ครู ชำนาญการพิเศษ
ส่วนวิจัยและพัฒนาฯ สถาบัน กศน. ภาคเหนือ

อ้างอิง :
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล. (2545). การประเมินหลักสูตร. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

บทความที่เกี่ยวข้อง :
การประเมินหลักสูตร