การประเมินหลักสูตร (Curriculum Evaluation) หมายถึง การตัดสินคุณภาพ ประสิทธิภาพหรือคุณค่าของหลักสูตร ซึ่งต้องมีการกำหนดมาตรฐานสำหรับการตัดสินคุณภาพ รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวแล้วนำมาตรฐานที่กำหนดมาตัดสินคุณภาพข้อมูลเหล่านั้น โดยการประเมินหลักสูตรต้องตอบคำถามต่อไปนี้
- หลักสูตรช่วยให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตรได้ดีเพียงใด
- การใช้หลักสูตรดำเนินการได้ดีเพียงใด
ความสำคัญของการประเมินหลักสูตร
การประเมินหลักสูตรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างหลักสูตรใหม่ การปรับปรุงหลักสูตรที่มีอยู่ การวางแผน และการจัดสรรทรัพยากรเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
การประเมินหลักสูตรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างหลักสูตรใหม่ การปรับปรุงหลักสูตรที่มีอยู่ การวางแผน และการจัดสรรทรัพยากรเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
- ให้ทราบปัญหาที่ต้องการแก้ไขตามลำดับความสำคัญ อันจะนำไปสู่การกำหนดจุดมุ่งหมายและเป้าหมายของการดำเนินงาน
- ช่วยในการตัดสินใจเลือกทางเลือกในการแก้ปัญหา ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้อง
- ช่วยลดการสูญเปล่าของงบประมาณ ทรัพยากร กำลังคน และเวลา
- เป็นแนวทางในการวางแผนงาน และนำแผนงานมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางในการดำเนินงานและการบริหารต่อไป
- เป็นแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงองค์กรและหน่วยงาน
- ช่วยให้สามารถปฏิบัติหรือดำเนินการได้สอดคล้องตามความต้องการ
- ช่วยระบุปัญหาที่แท้จริงทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด
- ช่วยในการสำรวจปัญหาและความต้องการต่อการดำเนินหลักสูตร
จุดมุ่งหมายของการประเมินหลักสูตร
- เพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขสิ่งบกพร่องที่พบในองค์ประกอบต่าง ๆ ของการประเมิน การประเมินผลในลักษณะนี้ มักจะดำเนินการในช่วงที่การพัฒนาหลักสูตรยังดำเนินการอยู่ เพื่อพิจารณาว่าองค์ประกอบต่าง ๆ ของหลักสูตร เช่น จุดมุ่งหมาย โครงสร้าง เนื้อหา และการวัดผล มีความสอดคล้องกันหรือไม่
- เพื่อหาทางแก้ไขปรับปรุงระบบการบริหารหลักสูตร การนิเทศกำกับดูแล และการจัดกระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การประเมินผลในลักษณะนี้ จะดำเนินการในขณะที่มีการนำหลักสูตรไปใช้ จะช่วยปรับปรุงหลักสูตรให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้
- เพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารว่าควรใช้หลักสูตรต่อไปอีก หรือควรยกเลิกการใช้หลักสูตรเพียงบางส่วน หรือยกเลิกทั้งหมด การประเมินผลในลักษณะนี้ จะดำเนินการหลังจากที่ใช้หลักสูตรไปแล้วระยะหนึ่ง แล้วจึงประเมินเพื่อสรุปผลการตัดสินใจว่าหลักสูตรมีคุณภาพดีหรือไม่ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
- เพื่อต้องการทราบคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งเป็นผลผลิตของหลักสูตรว่า มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามความมุ่งหวังของหลักสูตรหลังจากผ่านกระบวนการทางการศึกษามาหรือไม่ อย่างไร การประเมินผลในลักษณะนี้ จะดำเนินการในขณะที่มีการนำหลักสูตรไปใช้แล้วช่วงหนึ่ง
ขอบเขตของการประเมินหลักสูตร
ในการประเมินหลักสูตรจะต้องประเมินให้ครบทั้งระบบของหลักสูตร ซึ่งประกอบด้วย
- การประเมินเอกสารหลักสูตร ตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างหลักการ จุดมุ่งหมาย โครงสร้าง เนื้อหา ประสบการณ์การเรียนรู้ กิจกรรรมการเรียนการสอน การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเกณฑ์การจบหลักสูตร ตรวจสอบการใช้ภาษาในเอกสารหลักสูตรว่าสื่อสารได้ตรงกันหรือไม่ ข้อกำหนดหรือแนวทางการใช้หลักสูตรมีความชัดเจนเพียงใด วางแผนการจัดการศึกษาตามหลักสูตรนี้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและระดับการศึกษาเพียงใด
- การประเมินผลระบบของหลักสูตร
- 2.1 ประเมินจุดมุ่งหมายในระดับต่าง ๆ คือ จุดมุ่งหมายของหลักสูตร จุดประสงค์ของกลุ่มวิชา จุดประสงค์รายวิชา จุดประสงค์การเรียนรู้ในระดับการสอน เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมกับผู้เรียน กับสภาพแวดล้อม ระดับความพอดีของความคาดหวัง
- 2.2 ประเมินการจัดเนื้อหาหลักสูตร คือ ความเหมาะสมของสัดส่วนเนื้อหาความรู้และประสบการณ์การเรียนรู้ ความเหมาะสมในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้เนื้อหาความรู้และได้รับประสบการณ์
- 2.3 ประเมินการสอนของผู้สอน คือ ความสามารถและความถูกต้องในการปรับหลักสูตรมาใช้ในชั้นเรียน ความรู้ความสามารถในเนื้อหาวิชาที่สอน การเตรียมการสอน การใช้เทคนิคการสอน การใช้สื่อการสอน และการใช้เทคนิคการวัดผลและประเมินผล สอนตามแนวทางของหลักสูตรหรือไม่ ความสัมพันธ์กับผู้เรียนและการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนเป็นอย่างไร ความรับผิดชอบ และการจัดกิจกรรรมการเรียนการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ จุดประสงค์ของรายวิชา และจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
- 2.4 ประเมินระบบการบริหารและการจัดการหลักสูตร คือ ประเมินความพร้อมในการใช้หลักสูตร โครงสร้างและระบบของสถาบัน การดำเนินงานของสถาบัน การจัดอาคารสถานที่ งบประมาณ หน่วยบริการการศึกษา เช่น ห้องสมุด งานแนะแนว โรงฝึกงาน ฯลฯ และการจัดเวลา
- 2.5 ประเมินโปรแกรมการประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน คือ ความสอดคล้องของวิธีการประเมินผลการเรียนกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตร ความเหมาะสมของระยะเวลาการประเมินความถูกต้องตามหลักวิชาการ ประเมินผลการเรียน
- 2.6 การประเมินผลผลิต : ตรวจสอบผลผู้สำเร็จการศึกษาในด้านความรู้ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงาน เจตคติต่อวิชาชีพ ความสามารถในการแก้ปัญหา และการปรับตัวกับสภาพงานและสภาพแวดล้อมทั่วไป ความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ความกระตือรือร้นในการแสวงหาความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพและในชีวิตส่วนตัว
กระบวนการประเมินหลักสูตร
ในการประเมินหลักสูตรมีการดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
- การวางแผนการประเมินหลักสูตร เป็นการวางแผนว่าจะประเมินหลักสูตรทั้งระบบ หรือประเมินหลักสูตรเฉพาะระบบย่อยอันใดอันหนึ่ง เช่น ประเมินเฉพาะการจัดการเรียนการสอน ประเมินเฉพาะการบริหารจัดการหลักสูตร ประเมินเฉพาะการนำความรู้ไปใช้ เป็นต้น แล้วกำหนดแผนการเก็บข้อมูล กลุ่มตัวอย่างที่จะเป็นผู้ให้ข้อมูล ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลและเกณฑ์การวิเคราะห์ข้อมูล
- การรวบรวมข้อมูล ได้แก่ การเก็บข้อมูลจากลุ่มตัวอย่าง การจัดข้อมูลเป็นหมวดหมู่ และการเตรียมการวิเคราะห์ข้อมูล
- การวิเคราะห์ข้อมูล คือ การนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาวิเคราะห์ตามเกณฑ์และวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่วางแผนไว้
- การรายงานผลวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการรายงานผลตามข้อมูลจริงที่พบพร้อมทั้งปัญหา อุปสรรค และข้อควรปรับปรุงแก้ไข
รูปแบบการประเมินหลักสูตร
รูปแบบการประเมินหลักสูตร หมายถึง กรอบความคิด เค้าโครงหรือร่างในการประเมินหลักสูตร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาพรวมทั้งหมดเกี่ยวกับการประเมินหลักสูตร โดยรูปแบบของการประเมินหลักสูตรมีหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบการประเมินหลักสูตรแบ่งกลุ่มตามนักวิชาการ นักวิจัย และนักประเมิน ได้แก่
กลุ่มที่ 1 ครอนบัค (Lee J. Cronbach) สคริเวน (Michael Scriven) และสเตก (Robert E. Stake) แนวคิดของกลุ่มนี้ต้องการให้นักประเมินเล่นบทบาทในการตัดสิน โดยครอนบัคเสนอแนวคิดก่อน แล้วสคริเวนขยายแนวคิดของครอนบัค ส่วนสเตกมีแนวคิดเน้นเรื่องการวัดเป็นสำคัญ ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทั้งของครอนบัคและสคริเวน
กลุ่มที่ 2 สตัฟเฟิลบีม (Daniel L. Stufflebeam) และอัลคิน (Mavin C. Alkin) ทั้งสองคนนี้เน้นการประเมินโดยวิธีที่เรียกว่า วิธีการตัดสินใจเพื่อจัดการ (Decision Management Approaches)
กลุ่มที่ 3 ไทเลอร์ (Ralph W. Tyler) แฮมมอน (Robert L. Hammond) และโพรวัส (Malcolm Provus) เน้นการวางแผนเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับจุดประสงค์ (Decision Objectives Strategies)
นอกจากนี้ยังมีรูปแบบของเคิร์กแพทริค ซึ่งเป็นรูปแบบการประเมินที่นิยมใช้สำหรับหลักสูตรฝึกอบรม เทคนิคเดลฟาย การใช้ระบบ ISO กับการประกันคุณภาพทางการศึกษา
ผู้เขียน/เรียบเรียง :
อรวรรณ ฟังเพราะ ครู ชำนาญการพิเศษ
รสาพร หม้อศรีใจ ครู ชำนาญการพิเศษ
ส่วนวิจัยและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สถาบัน กศน. ภาคเหนือ
อ้างอิง:
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล. (2544). ใน ประมวลสาระชุดวิชาการประเมินหลักสูตรและการเรียนการสอน หน่วยที่ 1 (น. 8-9). นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล. (2545). การประเมินหลักสูตร (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
นิรมล ศตวุฒิ. (2543). การพัฒนาหลักสูตร (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
บทความที่เกี่ยวข้อง
การประเมินหลักสูตรรูปแบบของเคิร์กแพทริค (Kirkpatrick)
อรวรรณ ฟังเพราะ ครู ชำนาญการพิเศษ
รสาพร หม้อศรีใจ ครู ชำนาญการพิเศษ
ส่วนวิจัยและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สถาบัน กศน. ภาคเหนือ
อ้างอิง:
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล. (2544). ใน ประมวลสาระชุดวิชาการประเมินหลักสูตรและการเรียนการสอน หน่วยที่ 1 (น. 8-9). นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล. (2545). การประเมินหลักสูตร (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
นิรมล ศตวุฒิ. (2543). การพัฒนาหลักสูตร (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
บทความที่เกี่ยวข้อง
การประเมินหลักสูตรรูปแบบของเคิร์กแพทริค (Kirkpatrick)