ตัวอย่างการจัดการศึกษาทางเลือกในไทย

การจัดการศึกษาทางเลือกในปัจจุบันสามารถเห็นได้จากรูปแบบของโรงเรียนวิถีธรรม โรงเรียนวิถีธรรมชาติ การสอนแบบ Home-based learning หรือ Home-school เป็นต้น ซึ่งมีจุดเน้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอน ผู้เรียน เนื้อหาหลักสูตร การจัดบรรยากาศให้เข้ากับวิถีของชุมชน และความเชื่อเป็นหลัก
ปัจจุบันมีบุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาทางเลือกจำนวนมาก ต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทางเลือกในไทย

1. ครอบครัววิภานันท์ 
ครอบครัววิภานันท์อาศัยอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จัดการศึกษาให้ลูกโดยการเรียนการสอนแบบบ้านเรียน (Home School) โดยมุ่งเน้นจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนตามนิสัยการเรียนรู้ของลูก แบบค่อยเป็นค่อยไป และเรียนรู้จากการเฝ้าสังเกต และทดลองทำด้วยตนเอง นอกจากนี้ลูกยังมีความชอบค่อนไปทางศิลปะ นาฏศิลป์ และดนตรี โดยจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2

ครอบครัววิภานันท์ประสบผลสำเร็จและมีความภาคภูมิใจในผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของบุตรตนเอง ได้แก่ ลูกมีความสุขในชีวิตประจำวัน อารมณ์เบิกบาน แจ่มใจ มีความใฝ่รู้ กระตือรือร้น สนใจในคน สิ่งของเรื่องราวต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว มีลักษณะที่พึงประสงค์ในสังคม เป็นคนน่าคบหา มีความรับผิดชอบที่เหมาะสมตามระดับอายุ

2. โรงเรียนรุ่งอรุณ 
391 ถนนพระราม 2 ซอย 33 (ซอยวัดยายร่ม) แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150  http://www.roong-aroon.ac.th/

โรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Not for Profit Organization) ภายใต้มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ก่อตั้งและได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนในปี พ.ศ.2540 มีการจัดการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Learning) บูรณาการการเรียนรู้สู่ชีวิต ด้วยกระบวนการเรียนรู้ไปบนกิจวัตรประจำวัน บ่มเพาะลักษณะนิสัยที่ดีในวิถีของการรู้อยู่ รู้กิน และรู้ประมาณตนอย่างพอเหมาะพอดี การเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ การเรียนรู้จากสถานการณ์จริงในสังคม จนเข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของทุกสิ่งที่เรียน มีความรู้ความเข้าใจอย่างเชื่อมโยงตนเอง สังคมและโลก ประยุกต์ใช้ความรู้อย่างสร้างสรรค์ ขยายศักยภาพและสร้างดุลยภาพแห่งมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วนย่อย ดังนี้
  • โรงเรียนเล็ก ระดับอนุบาล 1 – อนุบาล 3
  • โรงเรียนประถม ระดับประถม 1 – ประถม 6
  • โรงเรียนมัธยม ระดับมัธยม 1 – มัธยม 6
การเรียนรู้ตามแนวทางของวิถีรุ่งอรุณ เป็นวิถีชีวิตแห่งการเรียนรู้ที่ครู นักเรียน พ่อแม่ เรียนรู้และเติบโตร่วมกัน มีชุมชนที่มีกัลยาณมิตรคอยโอบล้อม ทุกคนเป็นผู้เรียนรู้ เป็นตัวอย่างในการฝึกฝนตนเอง จนเป็นที่พึ่งของตนเองและผู้อื่นได้

3. โรงเรียนวรรณสว่างจิต 
โรงเรียนวรรณสว่างจิต  137 ถนนพระราม2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
http://www.wsc.ac.th/th/

โรงเรียนวรรณสว่างจิต เป็นโรงเรียนเอกชน สังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาการประถมศึกษากรุงเทพมหานคร ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2528

โรงเรียนวรรณสว่างจิตเรียนรู้ผ่านของจริง ไม่มีเด็กนักเรียนหรือครูคนไหนในชั่วโมงเรียนนี้นั่งท่อง ก- ฮ อยู่ในห้องเรียน มีแต่เสียงเจื้อยแจ้ว หัวร่อต่อกระซิกที่ดังแว่วมาจากใต้ร่มไม้ในชั่วโมงเรียนวิชาบูรณาการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของชั้นเรียนที่นี่ ระบบการจัดการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ แผนกเด็กเล็ก (ก่อนเข้าอนุบาล 2-3 ขวบ) แผนกอนุบาล และแผนกประถม

ทางด้านเด็กเล็กนั้น โรงเรียนใช้แนวคิดทฤษฎีของวอร์ดอร์ฟ ทฤษฎีทางการศึกษาที่เน้นเรื่องจิตวิญญาณด้านความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้มองการศึกษาแยกออกมาจากชีวิต หากมองว่าชีวิตทุกอย่างในโลกสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียวทางธรรมชาติ ซึ่งคล้ายทฤษฎีแนวพุทธที่มุ่งเน้นไปที่จิตใจ ความดีงาม เน้นสมาธิ การจดจ่อของเด็กในการทำงาน โดยใช้ศิลปะเป็นตัวนำ เรียนรู้ธรรมชาติและที่มาที่ไปของสิ่งต่าง ๆ ห้วงเวลา 1 วันที่เด็ก ๆ ใช้ชีวิตในโรงเรียน ทุกคนจะมีความเป็นอิสระ พูดคุยกับเด็กช่วงก่อนเข้าเรียน เปลี่ยนคาบ หรือตอนเย็น มีการจัดของเล่นที่เป็นของจากธรรมชาติ ไม่ซับซ้อน เช่น ผ้าย้อมสีจากธรรมชาติ บล็อกจากไม้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กต้องจินตนาการกับของเล่นเยอะเพราะเด็กวัย 2 ขวบจินตนาการสูง ครูผู้สอนจึงเล่านิทานให้เด็กฟังเพื่อให้เด็กจินตนาการตาม นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทำอาหาร ให้ครูเป็นคนทำแต่เด็กช่วย เช่น ปั้นแป้ง ร่อนแป้ง อบ พอสุกก็รับประทานกัน มีการให้ปลูกข้าวหน้าห้อง เด็กเห็นขั้นตอน ตั้งแต่การหว่าน งอก ออกรวง เก็บจากรวงทำอาหาร มีการจับต้องได้สัมผัสของจริง สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กได้เห็นที่มาที่ไปของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รู้ว่าอาหารต้องผ่านการลงมือทำ ข้าวต้องปลูกจึงจะได้กิน เด็กจึงเกิดความผูกพันกับธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ให้เด็กซึมเข้าไปในจิตใจและเด็กจะเห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ เรียกว่า "ทฤษฎีวอร์ดอร์ฟ" จะช่วยให้เด็กมีสมาธิขึ้น กลับมาอยู่กับปัจจุบันไม่ตกเป็นเด็กในยุครีโมต ที่มีสมาธิสั้นขึ้นทุกวัน ๆ สำหรับตัวแปรสำคัญ คือ ครูจะต้องคำนึงว่าเด็กนั้นเรียนรู้จากแบบอย่างของผู้ใหญ่ ไม่ได้รู้จากการบอก การสั่ง ครูเหมือนเป็นแม่แบบ เมื่อครูสงบเด็กก็สงบ เมื่อครูวุ่นวายเด็กก็วุ่นวาย บทบาทของครูก็จะเหมือนแม่เลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน รวมทั้งในแต่ละเทอมก็จะมีการวางแผนการสอนล่วงหน้า จัดกิจกรรมที่ทำซ้ำสม่ำเสมอ เป็นเวลาแน่นอนจนทำให้เกิดวินัยไม่ใช่เกิดจากการบังคับของผู้ใหญ่ ส่วนชั้นอนุบาลเด็กจะเริ่มโตขึ้น การเรียนการสอนก็จะต้องมีการปรับให้เป็นแบบผสมผสาน

นอกจากจะเรียนรู้ธรรมชาติแล้ว ยังมีเรื่องของ co-language คือเรียนภาษาแบบธรรมชาติกับการสอนแบบโปรเจกต์ แอพโพรช ซึ่งก็คือการสอนแบบโครงการเหมือนกับกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ สำหรับ co-language เป็นการสร้างให้เด็กรักการอ่านเขียน โดยไม่ได้หวังว่าเมื่อเด็กจบอนุบาล 3 จะสามารถอ่านได้เขียนได้ แต่เตรียมความพร้อมเพื่อการอ่านเขียนในชั้นประถม และสร้างทัศนคติที่ดีต่อภาษาให้เด็ก ให้เห็นว่าภาษามีความสำคัญเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน นำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น ในห้องเรียนจึงมีแต่นิทานไม่มีตำราเรียน สร้างสภาพแวดล้อมให้เห็นว่าภาษาเป็นสิ่งมีประโยชน์ "อยากเขียนอะไรก็เขียนได้ไม่มีผิดถูก เราไม่ให้เริ่มจากให้เขาเรียน กอ. ไก่ ขอ. ไข่ แต่เริ่มจากชื่อของเขา เอง เขาสามารถที่จะเก็บของถูกที่ หยิบจับถูก ซึ่งถ้าอ่านออกก็จะทำถูก ถ้าให้เขาเริ่มจากการฟัง พูด อ่านและเขียน เด็กก็จะเกลียดภาษาตั้งแต่ต้น ในคาบภาษาไทยจึงไม่มีการคัดลายมือ แต่เน้นวาดรูปภาพ ถือเป็นภาษาหนึ่งที่บันทึกความคิดออกมา และเป็นเรื่องที่เด็ก ๆ ทุกคนทำได้ บางภาพอาจดูไม่รู้เรื่อง แต่เขาสามารถเล่าอธิบายได้ ครูมักจะพาเด็ก ๆ ออกข้างนอกห้องเรียน ศึกษาสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เช่น วันนี้ดอกไม้ตูม พรุ่งนี้ดอกไม้บานแล้ว พวกเขาได้เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง" ส่วนโครงการวิทยาศาสตร์ จะเน้นที่กระบวนการคิดแก้ปัญหา โดยเริ่มจากเรื่องที่เด็กสนใจ อยากรู้ ตั้งสมมติฐาน เช่น เจอลูกอ๊อด เด็กก็สงสัยว่าโตขึ้นลูกอ๊อดจะเป็นอะไร ครูก็ถามต่อว่าหนูคิดว่าโตขึ้นมันจะเป็นอะไร บางคนบอกเป็นแมว เป็นกบ เป็นหมา ครูจดบันทึก แล้วให้เด็กทดลองเลี้ยงดู ให้เขาได้คำตอบด้วยตัวเอง ครูจะคอยกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก โดยการจดบันทึกข้อมูลจากนั้นก็จะเฉลยในสิ่งที่เด็กคิดว่าใช่หรือไม่

สำหรับผลพัฒนาการของเด็ก ครูจะทำหน้าที่บันทึกเด็กรายบุคคล แล้วส่งข่าวสารถึงผู้ปกครองทุกสัปดาห์ "ผู้ปกครองที่นำลูกมาเรียนกับเรามีทั้งที่พอใจและยังสงสัย กังวลใจตลอดเวลา กับภาพการเรียนการสอนที่แปลก การบ้านก็น้อย เดินทั้งวันแล้วก็ปลูกต้นไม้ ซึ่งเด็กข้างบ้านการบ้านเยอะ ก็ห่วงว่าลูกจะสู้ลูกคนอื่นไม่ได้ เด็กจบไปจะมีที่เรียนดี ๆ ไหม เด็กจะอยู่ร่วมกับสังคมได้ไหม เรื่องเหล่านี้เราไม่กังวลเรามั่นใจว่าเด็กทำได้ แต่ผู้ปกครองกลัวไปเอง และขณะนี้มีโรงเรียนทางเลือกหลายแห่งเปิดระดับมัธยม"

ทำไมส่งลูกมาเรียนทางเลือก ?
ชลธิชา ประถมบุตร แม่น้องเฟริน ซึ่งเรียนอยู่อนุบาล 2 เล่าว่า โรงเรียนสไตล์นี้เน้นที่ตัวเด็กแต่ละคน ซึ่งมีลักษณะ บุคลิก เอกลักษณ์ต่างกัน ทั้งนี้ สาเหตุที่ส่งมาเรียนเพราะอยากให้ลูกเป็นเด็กฉลาดร่าเริงสมกับวัยของเขา ไม่ต้องเครียดมาก ได้เรียนได้เล่นในสิ่งที่เขาชอบเขาต้องการ เด็กควรได้รับการพัฒนาความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ไม่เน้นวิชาการ อ่านออกเขียนได้ "เรื่องความรู้พี่สอนเขาเองได้ พี่พร้อมเสมอสำหรับลูกเชื่อว่าต่อไปลูกจะเป็นเด็กที่ดีมีความรับผิดชอบ หลังเลิกเรียนก็ไปรับลูก ระหว่างนั่งรถลูกจะเล่าว่าวันนี้เรียนเรื่องอะไรบ้าง ครูเล่านิทานเรื่องอะไร และทุกวันพุธ ทางโรงเรียนจะเชิญผู้ปกครองมาพูดคุย บอกว่าโรงเรียนสอนอะไร ทำกิจกรรมอะไรบ้างและให้ผู้ปกครองเข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับน้อง ๆ" ชลธิชาแจกแจงพร้อมอธิบายว่า ผู้ปกครองคนใดมีแนวคิดส่งลูกเรียนโรงเรียนทางเลือกจะต้องมีเวลาร่วมกิจกรรมกับลูกด้วย
ส่วน น้องไวน์ ด.ญ.เลิศค่า ณ นครพนม น้องยีนส์ ด.ญ.ณัชชา จิระศักดิ์พิศาล น้องนีม ด.ญ.อชิตา บินกำซัน นักเรียน ป.4 บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า โรงเรียนของเราสนุกทั้งเรียนและเล่นที่โรงเรียนนี้ไม่เหมือนโรงเรียนอื่น ซึ่งเพื่อน ๆ แถวบ้านมักจะนำมาพูดคุยเปรียบเทียบกัน เช่น ครูไม่ดุ การบ้านไม่เยอะ ได้มีชั่วโมงคุยเล่นกับเพื่อน ได้ทัศนศึกษาบ่อย ๆ แต่ก็ต้องรู้จักทำความสะอาดดูแลห้องเรียน ล้างจานข้าว หุงข้าวกันเอง น้องๆ ทั้ง 3 คนยืนยันว่าชอบมาก ไม่อยากจบจากโรงเรียนนี้

4. โรงเรียนดรุณสิกขาลัย
ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
126 ถนนประชาอุทิศ บางมด ทุ่งครุ กทม. 10140

ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นโรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาในกำกับของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดตั้งขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือระหว่างมูลนิธิไทยคม มูลนิธิศึกษาพัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ The Media Lab of MIT เป็นโรงเรียนที่ไม่แสวงหาผลกำไร และไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยการนำทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) ของ Prof.Seymour Papert แห่ง Massachusetts Institute of Technology (MIT) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

เรียนรู้ผ่านสิ่งใกล้ตัว พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ให้ข้อมูลว่า ดรุณสิกขาลัยต่างจากแห่งอื่น ๆ เนื่องจากใช้สิ่งใกล้ตัวเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเรียนผ่านโครงงานต่าง ๆ ที่ครูและนักเรียนร่วมกันคิดว่า ตลอดหนึ่งสัปดาห์หรือภายในหนึ่งเดือนว่าจะเรียนเรื่องอะไรบ้าง จากนั้นครูจะมาวางแผนว่าสิ่งที่เด็กต้องการเรียนนั้นควรอยู่ช่วงวัน เวลาใดถึงจะเหมาะสม "เราไม่ได้จัดบรรยายภาพเหมือนชั้นเรียนปกติทั่วไปที่จะมีโต๊ะเก้าอี้ให้เด็กนั่งเรียนอยู่ในชั้นเรียน แต่เราจัดให้เด็กอายุไล่เลี่ยกันเรียนเรื่องเดียวกัน เพื่อให้พี่สอนน้อง ดูแลน้อง ขณะเดียวกันให้สิทธิเด็กมาแลกเปลี่ยนความรู้กันตั้งแต่ก่อนจะลงมือทำโครงงาน คือให้เด็กไปค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ อย่างหนังสือในห้องสมุด อินเทอร์เน็ต สอบถามจากผู้เชี่ยวชาญจากสถานที่จริง ๆ ส่วนครูมีหน้าที่อำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และชี้แนะเด็ก"

ยกตัวอย่างโครงงานพิซซ่า โรงเรียนจะให้เด็กค้นคว้าแล้วมาสรุปก่อนทำว่าต้องใช้อะไรบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ จากนั้นเด็กจะแบ่งหน้าที่กันเองว่าใครจะเป็นคนไปซื้อของที่ตลาดสดหรือซูเปอร์มาร์เกตขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเด็ก "ผมเกือบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่าเด็กวัยไม่เกิน 10 ขวบสามารถทำพิซซ่าถาดพิเศษที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร มีทั้ง คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน โดยใส่ปลาทูน่า อาหารทะเล หมู เนื้อ ผัก ซึ่งไม่เหมือนยี่ห้อดังที่คนมักจะสั่งมารับประทานกัน" พารณ เล่าว่า เด็ก ๆ อธิบายว่าพิซซ่าของพวกเขาไม่ใช่อาหารขยะที่กินให้อิ่มท้อง แต่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องเพราะมีการทดสอบทางขบวนการวิทยาศาสตร์ว่า พิซซ่า 1 ชิ้น มีไขมัน โปรตีน แป้ง วิตามิน จำนวนเท่าไหร่ "วิธีการเรียนจากของจริง โดยเด็กลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ระหว่างทำเด็กจะรู้สึกสนุกซึมซับความรู้โดยไม่รู้ตัว พอทำเสร็จแล้วเด็กจะช่วยกันชิมว่ารสชาติอร่อยมั้ย บกพร่องตรงไหน เผื่อทำถาดต่อไปจะได้รสชาติถูกปาก ประการสำคัญเด็ก ๆ รู้จักการทำงานเป็นทีมเวิร์ก ช่วยกันคนละไม้คนละมือ" ทั้งนี้ โรงเรียนไม่ได้ให้เด็กนั่งทำอาหารเพียงอย่างเดียว ยังพาเด็กไปเรียนรู้นอกสถานที่ด้วย อย่างที่บ้านควาย จังหวัดสุพรรณบุรี ท้องฟ้าจำลอง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สวนผีเสื้อ เป็นต้น "ทางโรงเรียนไม่ได้ให้เด็กไปเดินดูแล้วจดข้อความที่สถานที่นั้น ๆ ติดไว้นะ เพียงแต่ก่อนที่จะออกไปเปิดหูเปิดตาเรียนเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง จะให้เด็กค้นข้อมูลก่อน ยกตัวอย่าง สวนผีเสื้อ เด็กสามารถแยกแยะว่า ผีเสื้อลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่าอะไร รู้เรื่องวงจรชีวิต และจากความชอบส่งผลให้เด็กบางคนทำแฟ้มผีเสื้อขึ้น ไว้เป็นพอร์ตของตัวเอง"
ระบบการเรียนการสอนของที่นี่ไม่มีการสั่ง เด็กต้องเรียนเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะเราคิดว่าการบังคับให้เด็กทำเรื่องที่สั่งเด็กอาจไม่ชอบ เด็กอาจมีปฏิกิริยาต่อต้าน เราจึงเลือกวิธีที่ว่าเด็กอยากเรียนรู้เรื่องอะไรให้เสนอเข้ามาแล้วโรงเรียนจัดให้ เชื่อว่าเด็กจะเรียนอย่างมีความสุข สนุก แล้วจำเรื่องที่เรียนได้อย่างแม่นยำ"


รวบรวมและเรียบเรียง
อรวรรณ ฟังเพราะ ครู ชำนาญการพิเศษ
รสาพร หม้อศรีใจ ครู ชำนาญการพิเศษ
ส่วนวิจัยและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. หน่วยศึกษานิเทศก์. (2551). เอกสารสาระหลักการและแนวคิดประกอบการดำเนินงาน กศน. : คัมภีร์ กศน. กรุงเทพ : หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย.

สมเกียรติ อินทสิงห์. (2559). การศึกษาทางเลือก: หลักสูตรและการเรียนการสอนที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล. เข้าถึงเมื่อ 6 มีนาคม 2561. บทความวิชาการจาก Veridian E-Journal, Silpakorn University ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2559. สืบค้นได้จาก https://www.tci-thaijo.org/ index.php/Veridian-E-Journal/article/view/67120/54761.

โรงเรียนรุ่งอรุณ. ความเป็นมาแห่งรุ่งอรุณ. สืบค้นจาก http://www.roong-aroon.ac.th/?page_id=1863.
มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว. การศึกษาทางเลือก. เข้าถึงเมื่อ 6 มีนาคม 2561. สืบค้นจาก http://www.familynetwork.or.th/content/