ปรัชญาคิดเป็น

ปรัชญาคิดเป็น เป็นความคิดที่เกิดจากความเชื่อว่ามนุษย์โลกทุกคนต้องการมีความสุข ความสุขของคนแต่ละคนแตกต่างกัน หากแต่ละคนสามารถปรับตนเองให้กับเข้าสภาพแวดล้อมที่ตนดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างกลมกลืน ในการเสริมสร้างบุคคลให้เป็นคนคิดเป็น ต้องใช้ทักษะการคิด การแก้ไขปัญหาโดยใช้ข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนการตัดสินใจลงมือปฏิบัติ ทั้งข้อมูลตนเอง ข้อมูลวิชาการและข้อมูลสังคมและสิ่งแวดล้อม


ความหมายของปรัชญาคิดเป็น
ปรัชญา คือ การสร้างระบบความคิดเพื่อการแสวงหาคำอธิบายให้กับคำถามที่เป็นพื้นฐานที่สุดของชีวิต เช่น จุดประสงค์ของชีวิตคืออะไร พระเจ้ามีอยู่จริง คนคิดเป็นจะมีความสุข ฯลฯ

สิ่งที่เรียกว่าปรัชญาแท้ ๆ ก็คือ กิจกรรมการคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริง

ปรัชญา “คิดเป็น” อยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ความต้องการของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนมีจุดรวมของความต้องการที่เหมือนกัน คือ ความสุข คนเราจะมีความสุขเมื่อตนเองและสังคมสิ่งแวดล้อมประสมกลมกลืนกันได้ โดยการปรับตัวเราเองให้เข้ากับสังคมหรือสิ่งแวดล้อม หรือโดยการปรับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเรา หรือปรับทั้งตัวเราและสังคมสิ่งแวดล้อมให้ประสมกลมกลืนกัน หรือเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับตน คนที่สามารถทำได้เช่นนี้เพื่อให้ตนเองมีความสุขนั้น จำเป็นต้องเป็นผู้มีการคิด สามารถคิดแก้ปัญหา รู้จักตนเอง รู้จักสังคมและสิ่งแวดล้อม และมีองค์ความรู้ที่จะนำมาคิดแก้ปัญหาได้ จึงจะเรียกได้ว่าผู้นั้นเป็นคนคิดเป็น

คนที่จะทำได้เช่นนี้ต้องรู้จักคิดรู้จักใช้ปัญญา รู้จักตนเองและธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดีจึงจะเรียกได้ว่าเป็น “คนคิดเป็น” นั่นก็คือเป็นผู้ที่รู้จักปัญหาเรื่องทุกข์ รู้จักสาเหตุแห่งทุกข์ซึ่งมีอยู่ในตนและสภาพแวดล้อม รู้จักการวิเคราะห์หาวิธีดับทุกข์ ด้วยความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์ และใช้กลวิธีที่เหมาะสมในการดับทุกข์จึงจะเกิดความสุข ถ้ายังไม่เกิดความสุขก็ต้องย้อนกลับไปพิจารณาข้อมูลทั้งสามด้านคือ ตนเองอวิชาการ และสังคมสิ่งแวดล้อมใหม่อีกครั้ง เพื่อหาวิธีการดับทุกนั้นจนกว่าจะพอใจ

ดร. โกวิท วรพิพัฒน์ ได้ให้คำอธิบาย “คิดเป็น” ว่าเป็น บุคคลที่จะสามารถเผชิญปัญหาในชีวิตประจำวันได้อย่างมีระบบ ซึ่งจะสามารถพิจารณาสาเหตุของปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ และใช้ข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางเพื่อแสวงหาทางเลือก มาประกอบการพิจารณาข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือกแต่ โดยใช้ความสามารถเฉพาะตัว ค่านิยมของตนเอง และสถานการณ์ที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ประกอบการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมกับตนเองได้

“การคิดเป็น” เป็นการคิดเพื่อแก้ปัญหา คือ มีจุดเริ่มต้นที่ปัญหาแล้วพิจารณาไตร่ตรองถึงข้อมูล 3 ด้าน คือ ข้อมูลด้วยตนเอง ข้อมูลสังคมและสิ่งแวดล้อม และข้อมูลวิชาการ ประกอบการตัดสินใจ จากนั้นก็ลงมือกระทำ หากสามารถทำให้ปัญหาหมดไป กระบวนการคิดแก้ปัญหายุติลง แต่หากบุคคลยังไม่พอใจแสดงว่ายังมีปัญหาอยู่ ก็จะเริ่มกระบวนการคิดพิจารณาทางเลือกใหม่อีกครั้ง และเมื่อกระบวนการนี้ยุติลง เมื่อบุคคลพอใจและมีความสุข

สรุป ความหมายของ “คิดเป็น”
• การคิดวิเคราะห์ปัญหาและแสวงหาคำตอบหรือทางเลือกเพื่อแก้ปัญหา
• การคิดอย่างรอบคอบเพื่อการแก้ปัญหาโดยอาศัยข้อมูลตนเอง ข้อมูลสังคมสิ่งแวดล้อม และข้อมูลวิชาการ ให้เหมาะสมกับตนอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม

เป้าหมายของ “คิดเป็น”
เป้าหมายสุดท้ายของการเป็นคน “คิดเป็น” คือ ความสุข คนเราจะมีความสุขเมื่อตัวเราและสังคมสิ่งแวดล้อมประสมกลมกลืนกันอย่างราบรื่นทั้งทางด้านวัตถุ กายและใจ

แนวคิดหลักของ “คิดเป็น”
• มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการความสุข • ความสุขที่ได้นั้นขึ้นอยู่กับการปรับตัวของแต่ละคนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตาม วิธีการของตนเองอย่างมีคุณธรรม
• การตัดสินใจเป็นการคิดวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูล 3 ด้าน คือด้านตนเอง ด้านสังคม และ ด้านวิชาการ
• ทุกคนคิดเป็น เท่าที่การคิดและตัดสินใจทำให้เราเป็นสุขไม่ทำให้ใครหรือสังคมเดือดร้อน

คิดอย่างไรเรียกว่า “คิดเป็น”
“คิดเป็น” เป็นการคิดแบบพอเพียง พอประมาณ ไม่มาก ไม่น้อยเป็นทางสายกลาง สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล พร้อมที่จะรับผลกระทบที่เกิดโดยมีความรอบรู้ในวิชาการที่เกี่ยวข้องอย่างรู้จริง สามารถนำความรู้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีคุณภาพ ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง เป็นการบูรณาการเอาการคิด การกระทำ การแก้ปัญหา ความเหมาะสมและความพอดี มารวมไว้ในคำว่า “คิดเป็น” คือ การคิดเป็นทำเป็นอย่างเหมาะสมจนเกิดความพอดี และแก้ปัญหาได้ด้วย

กระบวนการแก้ปัญหาตามปรัชญา “คิดเป็น”
  1. ขั้นสำรวจปัญหา เมื่อเกิดปัญหา ย่อมต้องเกิดกระบวนการคิดแก้ปัญหา
  2. ขั้นหาสาเหตุของปัญหา เป็นการหาข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร มีอะไรเป็นองค์ประกอบของปัญหาบ้าง
    • สาเหตุจากตนเอง พื้นฐานของชีวิต ครอบครัว อาชีพ การปฏิบัติตน คุณธรรมจริยธรรม
    •  สาเหตุจากสังคม บุคคลที่อยู่แวดล้อม ตลอดจนความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมของสังคมและชุมชนนั้น
    • สาเหตุจากการขาดวิชาการความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา
  3. ขั้นวิเคราะห์ปัญหา หาทางแก้ปัญหา เป็นการวิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหา โดยใช้ข้อมูลด้านตนเอง สังคม วิชาการ มาประกอบในการวิเคราะห์
  4.  ขั้นตัดสินใจ เมื่อได้ทางเลือกแล้วจึงตัดสินใจเลือกแก้ปัญหาในทางที่มีข้อมูลต่างๆ พร้อม
  5. ขั้นตัดสินใจไปสู่การปฏิบัติ เมื่อตัดสินใจเลือกทางใดแล้ว ต้องยอมรับว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในข้อมูลเท่าที่มีขณะนั้น ในกาละนั้น และในเทศะนั้น
  6. ขั้นปฏิบัติในการแก้ปัญหา ในขั้นนี้เป็นการประเมินผลพร้อมกันไปด้วย ถ้าผลเป็นที่
    • พอใจ ก็จะถือว่าพบความสุข เรียกว่า “คิดเป็น”
    • ไม่พอใจ หรือผลออกมาไม่ได้เป็นไปตามที่คิดไว้ หรือข้อมูลเปลี่ยน ต้องเริ่มต้นกระบวนการคิดแก้ปัญหาใหม่

ลักษณะ "คนคิดเป็น 8 ปะการ"  โดย ดร.ทองอยู่ แก้วไทรฮะ
  1. เชื่อในความแตกต่างหลากหลายของคน
  2. เชื่อในลักษณะการเปลี่ยนแปลงของชีวิตและสังคมที่มีเกิด ดำรงอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา
  3. เชื่อมั่นในความพอเพียง พอประมาณ พอดี และรู้จักพึ่งตนเอง
  4. เชื่อในหลักของอริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)
  5. เชื่อว่าทุกข์หรือปัญหาใดๆ ย่อมมีอยู่ในธรรมชาติ เป็นของธรรมดา และสามารถแก้ไขได้เสมอ
  6. เชื่อมั่นว่าข้อมูลทั้งหลายเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การตัดสินใจแก้ปัญหาที่ดีต้องรู้จักใช้ รู้จักวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลาย เพียงพอ และครอบคลุมข้อมูลที่เกี่ยวกับตนเอง คือรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวิชาการที่จะเป็นบ่อเกิดของปัญหา และข้อมูลที่เกี่ยวกับสังคมสิ่งแวดล้อม ธรรมเนียมประเพณี
  7. เผชิญกับปัญหาอย่างรู้เท่าทัน มีสติ ไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบเมื่อตัดสินใจแล้วมีความ
  8. พอใจและเต็มใจรับผิดชอบกับผลการตัดสินใจเช่นนั้น จนกว่าจะมีข้อมูลใหม่เพิ่มเติม หรือมีข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป
  9. เชื่อมั่นและมั่นใจในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เรียบเรียง :
นัชรี อุ่มบางตลาด  สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง:
ทองอยู่ แก้วไทรฮะ. (2552, มิถุนายน). คิดเป็น. ในการประชุมปฏิบัติการการบรรณาธิการข้อสอบวัดผลปลายภาคเรียน ที่ 1/2552 หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. โดย สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, โรงแรมอู่ทองอินน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. สืบค้น 4 ตุลาคม 2561, จาก https://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=13174&Key=news_research