ประเพณีล้านนา : ตานก๋วยสลาก

ความหมาย และความสำคัญของประเพณีทานก๋วยสลาก
ประเพณีตานก๋วยสลาก หรือ ทานก๋วยสลาก เป็นประเพณีของชาวล้านนา มีการเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ตานก๋วยสลาก ตานสลาก กิ๋นข้าวสลาก กิ๋นก๋วยสลาก หรือกิ๋นสลาก ภาษาไทยกลางเรียกว่า เรียกว่า "สลากภัต"


ประเพณีตานก๋วยสลากของชาวล้านนานิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน 12 เหนือ ถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี สาเหตุที่ถือปฏิบัติกันเช่นนี้ก็เพราะว่า เป็นช่วงที่ชาวบ้านได้ทำนากันเสร็จแล้ว หยุดพักผ่อน พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหน ประกอบกับเป็นช่วงเวลามีผลไม้สุก เช่น ลำไย มะไฟ สมโอ เป็นต้น เมื่อต้นข้าวในนาเริ่มเขียวขจี ชาวนาที่มีฐานะไม่ค่อยดีการดำรงชีวิตก็เริ่มขัดสนเนื่องจากข้าวในยุ้งหมดก่อนที่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวฤดูต่อไปจะมาถึง ดังนั้นการตานก๋วยสลากในช่วงนี้จึงเท่ากับว่าได้สงเคราะห์คนยากคนจน เชื่อกันว่าได้กุศลแรง

ประเพณีการทำบุญทานก๋วยสลาก เป็นประเพณีการทำบุญที่สำคัญของชาวล้านนา มีคติธรรมทางพุทธศาสนา โดยมีแก่นสาระคือ การสั่งสอนให้คนรู้จักบาปบุญคุณโทษ สอนให้สร้างความดีในชาตินี้เพื่อผลบุญในชาติหน้า สอนให้ลูกหลานมีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว

งานทำบุญทานก๋วยสลากเป็นงานทำบุญที่ต้องจัดอย่างใหญ่โต เป็นหน้าเป็นตาวัดของชุมชน ซึ่งการจัดงานจะต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจ และความสามัคคีของคนจำนวนมาก จึงเป็นการส่งเสริมการสร้างความสามัคคี และความปรองดองในหมู่คณะ ในทางคติธรรม การทานก๋วยสลากยังมีคติสอนใจพระภิกษุสามเณรมิให้ยึดติดในลาภสักการะทั้งหลาย เพราะสลากที่ศรัทธานำมาถวายนั้นมีความแตกต่างหลากหลายกันไป พระสงฆ์และสามเณรจึงไม่ควรยึดติด 

 
ตำนานที่มาของตานก๋วยสลาก
ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงในปัจจุบัน มีตำนานกล่าว่า ตั้งแต่สมัยพุทธกาลมีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียน ผู้คนอยู่เสมอ ครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว นางก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธานิสัยใจคอที่โหดร้ายก็กลับเป็นผู้เอื้ออารีแก่คนทั่วไปจนผู้คนต่างพากันซาบซึ้งในมิตรไมตรีของนางยักษิณีตนนั้น ถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งปันให้ แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมาก นางยักษิณีจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์/สามเณร จับสลากด้วยหลักอุปโลกนกรรม คือสิ่งของที่ถวาย มีทั้งของของมีราคามากและมีราคาน้อยแตกต่างกันไปตามแต่โชคของผู้ได้รับ การถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีจึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีทำบุญสลากภัตในพุทธศาสนา

พิธีตานก๋วยสลาก
พิธีตานก๋วยสลากมี 2 วัน คือ
  • วันดา เป็นวันก่อนวันทำพิธีตานก๋วยสลาก ๑ วัน (วันสุกดิบ) เป็นวันที่ต้องจัดเตรียมสิ่งของ ทั้งของกินและของใช้ต่าง ๆ เป็นเครื่องไทยทาน สำหรับนำมาจัดใส่ก๋วยสลาก ชาวบ้านใกล้เรือนเคียง ญาติสนิทมิตรสหายจะมาช่วยกันจัดแต่งครัวทาน ซึ่งถือเป็นประเพณีที่จะได้ทำบุญร่วมกัน ผู้ชายจะจักตอกสานก๋วย (ตะกร้า) เตรียมไว้ ส่วนผู้หญิงจะจัดเตรียมห่อของทำบุญตามแต่ศรัทธาและกำลังทรัพย์ ของที่เตรียมส่วนใหญ่ได้แก่ อาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร พริก หอม กระทียม เกลือ กะปิ ปลาร้า ข้าวต้ม ขนมต่างๆ หมาก เมี่ยง บุหรี่ เป็นต้น เครื่องอุปโภค เช่น ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า เครื่องใช้สอยต่างๆ สิ่งของเหล่านี้จะบรรจุลงในก๋วย ที่กรุด้วยใบตองหรือกระดาษปิดมัดรวมกันเป็นมัด ๆ สำหรับเป็นที่จับ ตรงส่วนที่รวบไว้นี้จะมีเงินเสียบไม้ไผ่อยู่ เรียกว่า “ยอด” ซึ่งจะมากน้อยแล้วแต่กำลังศรัทธา และจะมีช่อนำทานใบเล็กๆ หลากสีปักเสียบไว้ที่ก๋วยสลาก
  • วันตานสลาก วันรุ่งขึ้นถัดจากวันดา คือวันตานสลาก ชาวบ้านจะนำก๋วยสลากไปวางเรียงไว้เป็นแถว ๆ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่จะจัดเตรียมขันดอก ใส่ข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน ถือขัน(พาน) ไปวัด ส่วนใหญ่จะไปกันทั้งครอบครัว เพราะถือว่าการทานก๋วยสลากได้อานิสงฆ์มาก และเพื่อถวายพระในเวลาที่มีการเรียก “เส้นสลาก” 
เครื่องประกอบพิธีกรรม “ก๋วยสลาก”
1. ต้นสลาก หรือ ก๋วยสลาก เป็นเครื่องไทยทานที่ศรัทธานำมาถวายพระภิกษุสามเณร แบ่งออกเป็น 5 ประเภท
     1.1 ต้นสลากเล็ก เรียกว่า “ก๋วยซอง” หรือ “ก๋วยน้อย” บางแห่งเรียกว่า “ก๋วยขี้ปุ๋ม” เป็นก๋วยสานด้วยตอกไม้ไผ่ เป็นรูปตะกร้าทรงสูงปล่อยเส้นตอกให้พ้นจากตัวตระกร้าขึ้นไป รองด้วยใบตอง ใส่ข้าวปลาอาหารครัวทานทั้งหลาย ผลไม้ที่ใส่ในก๋วยซองจะมีขนาดเล็ก เช่น กล้วยประมาณ 2 ลูก ส้มโอตัดเป็นชิ้นเล็กๆ อ้อยตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 1 คืบ มะปราง และส้มเป็นต้น เมื่อใส่สิ่งของครบแล้วจึงรวบตอกที่พ้นขึ้นไปผูกติดกันเพื่อปิดปากก๋วย เสียบยอดด้วยดอกไม้และติดใบด้วยเหรียญหรือธนบัตรจำนวนน้อย ไม้เสียบสลากจะทำด้วยไม้ไผ่เล็กๆ ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร 
      1.2 ต้นสลากขนาดกลาง เรียกว่า “ก๋วยสำรับ” คือภาชนะที่ใช้บรรจุข้าว อาหาร ในสมัยโบราณสานด้วยเส้นตอกไม้ไผ่ เช่นเดียวกับ “ก๋วยตีนช้าง” “เพียด” “พ้อม” และซ้าข้าวบาตร ภาชนะจะสานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นเครื่องจักสานที่ชาวบ้านมีไว้ใช้งาน ต่อมาภายหลังใช้กาละมัง และถังน้ำ ซึ่งจะมีขนาดใหญ่และมีปริมาณมากกว่าต้นสลากเล็ก
      1.3 ต้นสลากโชค เป็นสลากที่จัดทำเป็นพิเศษกว่าสลากธรรมดา ภาชนะที่ใช้เป็นต้นสลากบรรจุทำด้วยไม้ไผ่ขนาดใหญ่สาน เช่น กระบุง หรือกาละมังขนาดใหญ่ ถังเปล และโอ่งน้ำ เพื่อใช้บรรจุข้าวปลาอาหารและผลไม้ให้ได้จำนวนมาก ต้นดอกทำจากใบคาหรือฟางข้าว มัดด้วยตอกเป็นลำต้นปักเสียบด้วยดอกไม้กระดาษแล้วติดธนบัตรจำนวนมาก ผู้ถวายมักจะมีฐานะดีการเงินไม่ขัดสน ในสมัยก่อนมักจะทำเป็นรูปเรือนหลังเล็กๆ มีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่นหม้อข้าว หม้อแกง ถ้วยชาม เครื่องนอนหมอนมุ้ง เสื่ออ่อน ไม้กวาด เครื่องนุ่มห่ม อาหารสำเร็จรูป 1 สำรับ (ขันโตกข้าว) และรอบๆเรือนหลังเล็กจะมีต้นกล้วยต้นอ้อยผูกติดไว้แล้วยังมียอดเงินจำนวนมาก
     1.4 ต้นสลากย้อม เป็นการทานสลากจากหญิงสาวโสดบริสุทธิ์ โดยหญิงสาวจะต้องเก็บหอมรอมริบเงินทองไว้ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยสาว เมื่อได้เงินทองมาพอสมควรและเป็นสาวเต็มตัวแล้ว และมีการทานสลากในชุมชนนั้น จะต้องเตรียมสลากย้อมไว้ สลากย้อมนี้จะทำเป็นต้นไม้สูง หรือกิ่งไม้สูงประมาณ 4-5 วา มีร่มกางที่ปลายยอด บางแห่งจะทำเป็นรูปนกหรือหงส์ มีปากคาบเหรียญเงินหรือธนบัตร ลำต้นสลากจะมีฟางมัดเป็นกำๆ เพื่อจะได้ปักไม้ และเครื่องไทยทานต่าง ๆ เช่นเดียวกับต้นสลากโชค เครื่องใช้จะแขวนกับกิ่งดอก ส่วนใหญ่เป็นของใช้ของหญิงสาว เช่น กระจก หวี น้ำมันทาผม น้ำหอมและผ้าเช็ดหน้า หญิงสาวมักนิยมทานสลากย้อมถวาย เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อแต่งงานแล้วจะทำให้ครอบครัวมีความสุขความเจริญ 
      1.5 สลากมหาชมพู หรือสลากพญาชมพู หรือสลากพระอินทร์ เป็นการเรียกการทานสลากที่เคยได้ทำขึ้นในอดีต เช่น ที่บ้านกู่แดง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันการทานสลากประเภทนี้ได้หายไป แต่ไปปรากฏในเชียงตุง ประเทศพม่า ซึ่งพี่น้องไทขึนนิยมทานสลากประเภทนี้กันมาก โดยจะเป็นการรวมกันทำก๋วยสลากของหญิงสาวในหมู่บ้าน หรือญาติพี่น้อง ๒-๓ หลังคาเรือน ร่วมกันนำเอาสิ่งของประเภทเครื่องใช้ เครื่องนอน กล้วย อ้อย ส้มโอ เครื่องเขิน เครื่องทอง บรรจุลงไปในก๋วยที่ประดับประดาอย่างสวยงาม พร้อมดอกไม้ธูปเทียน แล้วจัดขบวนแห่เหมือนกับขบวนแห่ครัวทานเข้าวัด จะนำด้วยพานดอกไม้ธูปเทียน ขบวนฟ้อน ขบวนฆ้องกลอง เมื่อไปถึงก็จะนำไปไหว้หน้าพระประธาน แล้วจึงถวายทานแด่พระภิกษุผู้จับสลากมหาชมพูนี้ได้ โดยผู้ถวายจะอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งเจ้ากรรมนายเวร พญาอินทร์ พญาพรหม ฯลฯ
      1.6 ต้นสลากหลวง หรือเรียกว่าต้นโชคหลวง ทำขึ้นด้วยวัสดุหลายอย่าง บางแห่งทำเป็น “ช้างฝ้าย” หรือ “ม้าฝ้าย” ด้วยการสานโครงไม้ไผ่รูปช้างหรือรูปม้าแล้วเอาเส้นฝ้ายปั่นที่ทอเป็นผ้าแล้ว หุ้มโครงส่วนบนของรูปสัตว์เหล่านั้นทำเป็นต้นดอก ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้กระดาษ บางท้องถิ่นทำเป็นซองอ้อยมีต้นดอกหรือกิ่งไม้แขวนด้วยของกินของใช้ต่างๆ บางแห่งใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ แขวนของกินของใช้ตั้งแต่ปลายถึงโคน หรือสร้างเป็นบ้านจำลอง หรือสร้างเป็นรูปปราสาท มีข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนที่จำเป็นทุกอย่าง หรือบางท้องถิ่นก็สร้างเป็นยุ้งข้าวแล้วใส่ข้าวเปลือกจำนวนหลายถังไว้ข้างใน พระภิกษุสามเณรรูปใดได้รับก็ต้องให้ญาติพี่น้องช่วยกันหาบขนกลับวัด
2. เส้นสลาก เมื่อชาวบ้านทั้งหลายนำก๋วยสลากไปที่วัดในตอนเช้าก่อนเพลแล้ว ก็จะนำก๋วยสลากไปแจ้งคณะกรรมการจัดงานว่าเป็นของใคร จากวัดไหน จะอุทิศให้ใคร โดยเขียนข้อความลงในแผ่นใบลาน หรือกระดาษแผ่นยาว ๆ ให้ครบจำนวนก๋วยสลาก แล้วมรรคทายกจะเก็บรวบรวมเอาเส้นสลากทั้งหมด บางแห่งจะแบ่งเส้นสลาก ออกเป็น 3 ส่วน คือ ก๋วยสลากของพระเจ้า(พระพุทธรูป) และอีก 2 ส่วนจะแบ่งเฉลี่ยออกไปให้พระสงฆ์และสามเณรทุกรูปที่มาในงาน หากมีเศษเหลืออยู่ก็ปัดเป็นของวัดที่จัดงานนั้นไป จากนั้นก็นำก๋วยสลากไปกองรวมกันไว้ตามจุดที่ทางวัดจัดไว้