หล่มภูเขียว เป็นชื่อแอ่งน้ำขนาดใหญ่บนภูเขา ตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง อยู่ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จังหวัดลำปาง ซึ่งมีลักษณะคล้ายปล่องภูเขาไฟ มีเนื้อที่ประมาณ 1-2 ไร่ มีความลึกมากจนกระทั่งมองเห็นน้ำเป็นสีเขียว เป็นแหล่งน้ำที่ฝูงปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และมีธรรมชาติโดยรอบเป็นป่าดิบแล้ง จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมาย รวมทั้งนกและสัตว์เลื้อยคลาน
ภาพจากเฟซบุ๊คหล่มภูเขียว
การเดินทาง
การไปยังหล่มภูเขียว ใช้เส้นทางถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) สายลำปาง-พะเยา ไปยังอำเภองาว แล้วแยกเข้าหมู่บ้านของตำบลบ้านอ้อน ตามเส้นทางจังหวัดหมายเลข 1013 ประมาณ 7 กิโลเมตร และมีทางแยกเข้าไปหล่มภูเขียวซึ่งเป็นถนนเป็นดินแดง อีกประมาณ 4.50 กิโลเตร จึงจะถึงบริเวณลานจอดรถยนต์ ช่วงสุดท้ายต้องเดินเท้าเป็นระยะทางประมาณ 150 เมตรเพื่อไปให้ถึงปลายทางคือ หล่มภูเขียว
ด้านธรณีวิทยา
สันนิษฐานว่า หล่มภูเขียวแต่เดิมเคยเป็นเพดานถ้ำมาก่อน แล้วยุบตัวและจมลงใต้น้ำที่เรียกว่า หลุมยุบ (Sink Hole) กลายเป็นแอ่งขนาดใหญ่ที่มีหินปูนโอบรอบ เมื่อสายน้ำพัดพาตะกอนหินปูนไหลลงมาจึงจับตัวกันเป็นชั้น ๆ ส่วนน้ำในแอ่งที่มองเห็นเป็นสีเขียวนั้นเกิดจากการสะท้อนแสงของตะไคร่น้ำและแพลงตอน
ภาพจากเว็บไซต์ tripgether.com
ด้านความเชื่อ
ในอดีตนั้น หล่มภูเขียวเคยเป็นที่ตั้งของสำนักวิปัสสนามาก่อน ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือในความเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีข้อห้ามที่รับรู้กันว่าจะไม่มีการจับสัตว์น้ำในหล่ม หรือตัดต้นไม้โดยรอบ ซึ่งก็เป็นผลดีที่ทำให้บริเวณนี้ร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้นานาพรรณ
มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ในสมัยก่อนชาวบ้านนำขันข้าว พร้อมดอกไม้ ธูปเทียน ไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แอ่งน้ำแห่งนี้ เมื่อวางเครื่องบูชาบนขอนไม้แล้วปล่อยให้ลอยไปกลางน้ำ ขอนไม้นั้นก็จมลงไปใต้น้ำก่อนที่จะลอยขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเปลวไฟจากเทียนยังสว่างไสวอยู่ ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าแอ่งน้ำแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ จึงนำน้ำไปดื่มพร้อมทั้งอธิษฐานขอให้หายจากโรคภัยต่าง ๆ นอกจากนี้ยังนำไปทำเป็นน้ำพระพุทธมนต์บ้าง หรือบางคราวก็นำไปใช้ในงานประเพณีที่สำคัญ คือ พิธีบูชาน้ำซึ่งจะทำพิธีเป็นประจำทุกปี
ข้อปฎิบัติในการเยี่ยมชม
1. ไม่อนุญาตให้ลงเล่นน้ำเพราะน้ำลึกมาก
2. ไม่อนุญาตให้ให้อาหารปลา เนื่องจากหล่มภูเขียวเป็นทะเลสาบปิด ไม่มีการหมุนเวียนระบายน้ำเข้าออก น้ำที่อยู่ในหล่มภูเขียวมาจากน้ำฝนในตามฤดูกาล การให้อาหารปลาจึงเป็นการสะสมสิ่งสกปรก และทำให้ปลาในหล่มภูเขียวไม่หาอาหารกินเองตามธรรมชาติ
3. ไม่อนุญาตให้จับปลา
นอกจากนี้ในเพจของหล่มภูเขียว ได้แจ้งว่า เจ้าหน้าที่ ยังไม่อนุญาตให้มีการปล่อยปลาเพิ่ม เนื่องจากหล่มภูเขียวเคยเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมมาก่อน ปลาที่เห็นอยู่ในปัจจุบันส่วนหนึ่งเกิดจากการปล่อยปลาในอดีต และเกิดจากการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติของปลาที่มีอยู่เดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยปลาเพิ่ม เนื่องจากอาจทำให้กระทบต่อระบบนิเวศน์และการแพร่พันธุ์ตามวงจรวัฏจักรของปลา
ผู้ไปเข้าไปท่องเที่ยวและเยี่ยมชม ควรศึกษาให้ละเอียดรอบคอบทั้งเส้นทาง กฎ ระเบียบหรือข้อห้าม เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยั่งยืน โดยสามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท และเว็บไซต์ dnp.go.th และทางเฟซบุ๊ก หล่มภูเขียว https://www.facebook.com/lompookeaw/
เรียบเรียง : แก้วตา ธีระกุลพิศุทธิ์ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
อ้างอิง :
หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ออนไลน์. (2559). เที่ยวเมืองต้องห้ามชมสระมรกตกลางหุบเขาที่ ”หล่มภูเขียว”. . สืบค้นจาก http://www.chiangmainews.co.th/page/archives/485086
สำนักงานอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช. หล่มภูเขียว. สืบค้นจาก http://park.dnp.go.th/visitor/scenicshow.php?id=945
สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. หล่มภูเขียว-ลำปาง. สืบค้นจาก http://www.onep.go.th/thailandnaturalsites/resourcedetail.php?geo_code
=LPG2&resourcetypecode=1
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์. (2561). หล่มภูเขียว” งามลึกลับท่ามกลางผืนป่า. สืบค้นจาก https://mgronline.com/travel/detail/9610000000591
เฟซบุ๊กหล่มภูเขียว. (2561). สืบค้นจาก https://www.facebook.com/lompookeaw/