ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Banking)

ปัจจุบันการความนิยมต่อการใช้เทคโนโลยีในโลกออนไลน์และการพัฒนาของระบบเทคโนโลยีในโลกการเงินส่งผลให้เกิดบริการทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ ที่อำนวยความสะดวกและตอบสนองต่อการดำเนินชีวิตมากขึ้น ผู้บริโภคยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและทัศนคติในการทำธุรกรรมทางการเงินไปสู่การทำธุรกรรมทางการเงินด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา รวดเร็ว และสะดวกสบาย ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โดยมีแน้วโน้มที่จะใช้บริการของธนาคารในรูปแบบ ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Banking) หรือ ธนาคารดิจิตอล (Digital Banking) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร
ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Banking, E-Banking) หรือ ธนาคารดิจิทัล (Digital Banking) คือ ระบบการให้บริการในการทำธุรกรรมต่าง ๆ กับธนาคาร ผ่านอินเทอร์เน็ตหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องมาธนาคาร

บริการของธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ มี ดังนี้
1. บริการธนาคารผ่านอินเตอร์เน็ต ผู้ใช้บริการสามารถทำการโอนเงิน เช็คยอดเงิน โอนเงินระหว่างบัญชีของตนเอง โอนเงินบัญชีบุคคลอื่นทั้งบัญชีธนาคารเดียวกันและต่างธนาคาร ชำระค่าสินค้าและบริการ ชำระบัตรเครติด เติมเงินโทรศัพท์มือถือ ชำระเงินกู้ ซื้อขายกองทุน ฯลฯ ได้ด้วยตนเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ธนาคาร การให้บริการธนาคารผ่านอินเตอร์เน็ต ได้แก่ Internet Banking และ Mobile Banking
  • บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ต (Internet Banking) เป็นบริการธนาคารในระบบออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าไปยังทางเว็บไซต์ของธนาคารที่ผู้ใช้ได้สมัครใช้บริการไว้ เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินด้วยตนเอง
  • บริการธนาคารทางโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) เป็นการให้บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตที่พัฒนาขึ้นมาให้สอดรับกับโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา โดยผู้ใช้ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันของธนาคารในโทรศัพท์มือถือ บริการธนาคารบนมือถือกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีแนวโน้มจะมีอัตราการใช้มากกว่าการใช้บริการผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์
ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์แทบทุกแห่งเปิดให้บริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ Internet Banking และ Mobile Banking แล้วในชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ธนาคารไซเบอร์ (Cyber Banking) ธนาคารออนไลน์ (Online Banking) บริการธนาคารผ่านอินเตอร์เน็ตของธนาคารในประเทศไทยที่เปิดให้บริการ  เช่น
  • ธนาคารกรุงไทย KTB Internet Banking แอปพลิเคชันสำหรับ Mobile Banking คือ KTB netbank
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB Easy Net แอปพลิเคชันสำหรับ Mobile Banking คือ SCB Easy
  • ธนาคารกสิกรไทย K-Cyber Banking แอปพลิเคชันสำหรับ Mobile Banking คือ K-Plus
  • ธนาคารออมสิน GSB Internet Banking แอปพลิเคชันสำหรับ Mobile Banking คือ MyMo
  • ธนาคารกรุงเทพ Bualuang iBanking แอปพลิเคชันสำหรับ Mobile Banking คือ Bualuang mBanking
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา Krungsri Online แอปพลิเคชันสำหรับ Mobile Banking คือ KMA (Krungsri Mobile App)
  • ธนาคารทหารไทย TMB Internet Banking แอปพลิเคชันสำหรับ Mobile Banking คือ TMB Touch
  • ธนาคารธนชาติ Thanachar iNet แอปพลิเคชันสำหรับ Mobile Banking คือ Thanachrt Connect

Application สำหรับ Mobile Banking ของธนาคารต่าง ๆ

2. บริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เช่น
  •  บริการธนาคารทางโทรศัพท์ (Tele Banking) ให้บริการในการสอบถาม หรือเรียกดูข้อมูล และทำธุรกรรมผ่านทางโทรศัพท์อัตโนมัติผ่านทางหมายเลขโทรศัทพ์แบบ Call Center ของแต่ละธนาคาร สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้หลากหลาย โดยไม่ต้องเดินทางไปธนาคาร เช่น สอบถามยอดเงิน ถามยอดบัตรเครดิต โอนเงิน ชำระค่าสินค้าและบริการ เติมเงินโทรศัพท์มือถือ บริการด้านบัตรเครดิต หรือซื้อกองทุน
  •  บริการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม (ATM) 
  •  บริการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเครื่องทำธุรกรรมทางด้านการเงินอัตโนมัติ VTM (Virtual Teller Machine) ผ่าน VDO Call 
  •  บริการสมาร์ทการ์ด (Smart Card) หรือบัตรชำระเงิน บัตรเดบิตแบบต่าง ๆ
  •  บริการแจ้งเตือนอัตโนมัติผ่านโทรศัพท์มือถือด้วย SMS 
 เครื่องทำธุรกรรมทางด้านการเงินอัตโนมัติ VTM (Virtual Teller Machine) 
โดย ธนาคารกรุงไทย, 2560, สืบค้นจาก https://www.ktb.co.th


เขียน/เรียบเรียง : นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน). (2561). "E-BANKING คืออะไร ?" สืบค้นจาก https://www.etda.or.th/content/1238.html 

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน). (6 กุมภาพันธ์ 2561). "ธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์". สืบค้นจาก http://www.scb.co.th/th/personal-banking/electronic-banking .