ครูผู้ถ่ายทอดแนวคิดสมาร์ทฟาร์มเมอร์ วรรณพิชัย โยธินพิสุทธิ

ครูวรรณพิชัย โยธินพิสุทธิ เป็นชาวเชียงราย อยู่บ้านเลขที่ 40 หมู่ 1 ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย จบการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ช่างอิเล็กทรอนิกส์ จากวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย และเรียนต่อในระดับปริญญาตรี สาขาช่างอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้เริ่มต้นทำงานเป็นครูมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 ที่โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงรายโดยสอนวิชาการอาชีพและเทคโนโลยีในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย นับว่าเป็นครูมาถึง 20 ปีแล้ว นอกจากงานด้านการสอนแล้วในเวลาว่างหลังเลิกงาน ยังรับจ้างซ่อมบำรุงเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ และทำการเกษตรอีกด้วย


กิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียนจากอดีตถึงปัจจุบัน เน้นการเรียนการสอนงานบ้าน งานเกษตร งานช่าง งานประดิษฐ์ งานธุรกิจ งานด้านช่างนั้นจะนำนักเรียนออกฝึกปฏิบัติเดินสายไฟตามหมู่บ้าน ส่วนงานเกษตรได้สนับสนุนในให้นักเรียนทำงานการเกษตรตามภาคเรียน ทั้งด้านพืชและสัตว์ การเลี้ยงไก่พื้นเมือง ไก่พันธุ์ไข่ การเลี้ยงจิ้งหรีด การเลี้ยงปลาดุก การปลูกพืชผักสวนครัว และล่าสุดการทำสวนผักกับลาบ และกำลังจะนำองค์ความรู้การปลูกเมล่อนในโรงเรือนในลักษณะสมาร์ทฟาร์มไปฝึกปฏิบัติให้แก่เด็กนักเรียนในปีการศึกษาหน้า

ประสบการณ์ในการทำการเกษตร
ครูวรรณพิชัย เคยทำสวนยางพารามาเป็นเวลา 10 กว่าปี แล้วหยุดมาทำสวนถั่วดาวอินคาในพื้นที่ 4 ไร่ แต่ล้มเหลวเนื่องจากไม่มีคนรับซื้อผลผลิต ทำสวนมะละกอฮอแลนด์และทำสวนกล้วยน้าว้าอีก  4  ไร่ ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากพื้นที่สวนอยู่ห่างจากบ้าน ไม่มีเวลาไปดูแล เพราะต้องทำภาระหน้าที่ในการสอน

ปัจจุบันได้ทำสวนเมล่อนโดยใช้พื้นที่เพียง 1 ไร่ โดยเริ่มต้นจากการทำโรงเรือนเมล่อน 1 โรงเรือนสามารถปลูกได้ 400 ต้น และทดลองปลูกด้านนอกโรงเรือนอีก 300 ต้น และยังแบ่งพื้นที่อีก 1 ส่วน ปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง ตามฤดูกาล มีทั้งถั่วฝักยาว ชะอม ข้าวโพดหวาน นอกจานี้ยังมีไม้ผล เงาะ ลำไย ฝรั่ง อาโวคาโด้ ส้มโอ เลี้ยงบ่อปลาดุกในบ่อขนาด 2 คุณ 5 เมตร เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ 60 ตัว มีการทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ และมีโครงการที่จะทำแหล่งพลังงาน บ่อแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ เนื่องจากข้างสวนมีเกษตรกรที่ทำการเลี้ยงวัว


เนื่องจากครูวรรณพิชัย ประกอบอาชีพประจำเป็นครูสอนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี จึงมีเวลาทำการเกษตรเฉพาะตอนเช้า 04.00-06.00 น และตอนเย็นถึงค่ำหลังเลิกงานตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น. ในวันธรรมดา และเต็มวันในวันหยุดเท่านั้น โดยทำเพียงคนเดียวไม่จ้างคนงาน นอกจากมีงานเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น การทำการเกษตรของครูวรรณพิชัย จึงได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องการจัดการ  เช่น การใช้ระบบเซนเซอร์ในการให้น้ำพืชด้วยระบบน้ำหยด และมีการตั้งเวลาสำหรับการให้น้ำและให้อาหารแก่ปลาดุกและไก่พันธุ์ไข่ และการใช้วงจรปิดเพื่อติดตามดูความเคลื่อนไหวในสวน ประกอบกับการสั่งงานทางโทรศัพท์มือถือ การจำหน่ายผลิตผ่านสื่อโซเซียล

การจะพัฒนาฟาร์มอย่างรวดเร็วจำเป็นต้องใช้ทุนจำนวนไม่น้อย แต่ครูวรรณพิชัยเลือกจะพัฒนาฟาร์มของตนที่ละน้อย โดยเน้นการพึ่งตนเอง พอดี พอเพียง มีความเสี่ยงน้อยที่สุด แต่ก็ได้วางแผนระยะการพัฒนาไว้ 5 ปี โดยตั้งใจทำการเกษตรในพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อใช้เป็นแหล่งผลิตอาหารให้ครอบครัว หลังจากนั้นมีแนวคิดที่จะพัฒนาฟาร์มของตนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่เรียนวิชาอาชีพตนเองสอนอยู่และผู้สนใจทั่วไป ส่วนในขณะนี้ทำในลักษณะทำกินทำอยู่และทำเพื่อทดลองวิธีการเกษตรต่าง ๆ เปรียบเสมือนเป็นห้องเรียนส่วนตัวของตน ยังไม่เปิดให้ชุมชนเข้ามาศึกษา 

การทำการเกษตรของครูวรรณพิชัย เป็นไปตามแนวคิดของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ดังนี้
ประการที่ 1 เป็นผู้มีความรู้ในเรื่องที่ทำอยู่ สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร หรือให้คำแนะนำปรึกษากับผู้อื่นที่สนใจในเรื่องที่ทำอยู่ได้ เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในสวน มีการใช้ระบบน้ำหยด การให้น้ำให้ปุ๋ยไปกับหัวน้ำหยด การใช้สปริงเกอร์  และมินิสปริงเกอร์ การใช้ไทเมอร์ในการปิดเปิดน้ำ นอกจากนี้ครูวรรณพิชัย ยังได้ถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาแก่นักเรียน และผู้สนใจ

ประการที่ 2 มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลทั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอื่น ๆ เช่น Internet, Mobile smart phone 
โดยใช้เฟสบุค 2 แห่ง ในชื่อ อวรรณพิชัย โยธินพิสุทธิ  และรุ้งฟาร์ม และไลน์ไอดีไลน์ 0821946933

ประการที่ 3 มีการบริหารจัดการผลผลิตและการตลาด มีความสามารถในการบริหารจัดการปัจจัยการผลิต แรงงาน และทุน สามารถเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดเพื่อให้ขายผลผลิตได้ ตลอดจนสามารถจัดการของเหลือจากการผลิตที่มีประสิทธิภาพ (Zero waste management) ผลผลิตจัดจำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์ และลูกค้าขาประจำ ส่วนการกำจัดของเสียเศษวัสดุจะถูกนำมาทำปุ๋ยหมัก

ประการที่ 4 เป็นผู้มีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค มีความรู้หรือได้รับการอบรมเกี่ยวกับมาตรฐาน GAP/GMP เกษตรอินทรีย์ หรือมาตรฐานอื่นๆ (Good Agriculture Practice การจัดการเกษตรที่ดี, Good Manufactory Practice การจัดการโรงงานที่ดี)
กำกับดูแลด้วยตนเองใช้สารเคมีน้อยที่สุดและบางอย่างไม่ใช้เลย โดยอาศัยการปลูกในโรงเรือนและสารชีวภาพ นอกจากนี้ได้เคยอบรมและศึกษาดูงานเกษตรอินทรีย์ที่ไร่ อ.อธิศพัฒน์ ในจังหวัดเลย และนำมาประยุกต์ใช้ในฟาร์มของตนเอง 

ประการที่ 5 มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม/สังคม มีกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (Green economy) มีกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง
กระบวนการผลิตไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเช่น เศษวัสดุไม่เผาแต่ทำปุ๋ยหมักแทน 

ประการที่ 6 มีความภูมิใจในความเป็นเกษตรกร มีความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพการเกษตร รักและหวงแหนพื้นที่และอาชีพทางการเกษตรไว้ให้คนรุ่นต่อไป มีความสุขและพึงพอใจในการประกอบอาชีพการเกษตร
ปัจจุบันแม้ประกอบอาชีพเป็นครูเป็นหลัก แต่ก็มีความภูมิใจในการเป็นเกษตรกรด้วยเช่นกัน โดยทำการเกษตร จะทำอาชีพเกษตร และตอน เช้า 04.00  น- 06.00 น   พื้นที่ 1 ไร่  และวันหยุดทำเพียงคนเดียวไม่จ้างใครช่วยนอกจากงานเร่งด่วน ไม่มีคนงาน ในพื้นที่ 1 ไร่  มีแนวคิดที่จะใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่สอนอยู่และผู้สนใจทั่วไป และใช้แหล่งผลิตอาหารให้กับครอบครัว


เนื้อหา: วรรณพิชัย โยธินพิสุทธิ (สัมภาษณ์)
เขียน/เรียบเรียง : รักษก สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

ภาพประกอบ : จากเฟซบุ๊ก 
วรรณพิชัย โยธินพิสุทธิ, 2561, สืบค้นจาก https://www.facebook.com/profile.php?id=100003406751716
อ้างอิง :
วรรณพิชัย โยธินพิสุทธิ. (2561, 23 มีนาคม). ครูโรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย [บทสัมภาษณ์].