การศึกษาทางเลือกในประเทศไทย

ประเทศไทยเริ่มมีการจัดการศึกษาทางเลือกขึ้น เมื่อมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งในมาตรา 12 กำหนดให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยมีโอกาสและสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้เอง

รูปแบบการศึกษาทางเลือกในไทยมีอะไรบ้าง ?
รูปแบบของการศึกษาทางเลือก มีความยืดหยุ่นและหลากหลายสอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ รวมทั้งเนื้อหาสาระที่เรียนรู้ ซึ่งแนวทางของการศึกษาทางเลือกในประเทศไทย พอสรุปได้ 7 รูปแบบ ดังนี้ (สุชาดา จักรพิสุทธิ์, 2548 อ้างใน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. หน่วยศึกษานิเทศก์, 2551: 31 - 35)
  1. การศึกษาทางเลือกที่จัดโดยครอบครัวหรือโฮมสคูล ซึ่งครอบคลุมทั้งแบบครอบครัวเดี่ยว กลุ่ม และเครือข่ายครอบครัว
  2. การศึกษาทางเลือกที่อิงกับระบบโรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนที่สามารถจัดหลักสูตร หรือกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากโรงเรียนตามแนวกระแสหลักทั่วไป เน้นนวัตกรรมการเรียนรู้ การทดลองปฏิบัติหรือประสบการณ์ เช่น โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เป็นต้น
  3. การศึกษาทางเลือกสายครูภูมิปัญญา ได้แก่ พ่อครูปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้แก่ผู้เรียน เช่น ศิลปะ การช่าง ด้านเกษตรกรรม การแพทย์พื้นบ้าน สมุนไพร เป็นต้น
  4. การศึกษาทางเลือกสายศาสนาและวิธีปฏิบัติธรรม จัดการเรียนรู้แก่สมาชิกทั้งแนวเศรษฐกิจพอเพียง ต่อต้านการบริโภคนิยม การปฏิบัติสมาธิในแนวต่าง ๆ ตามวิถีความเชื่อ
  5. การศึกษาทางเลือกที่เป็นสถาบันนอกระบบ ได้แก่ กลุ่มกิจกรรมทางการศึกษาที่มีการจัดหลักสูตร หรือกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง ไม่อิงกับหลักสูตรรัฐ มีทั้งแบบเสียค่าใช้จ่าย และไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เสมสิกขาลัย สถาบันเรียนรู้ขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) เป็นต้น
  6. การศึกษาทางเลือกกลุ่มการเรียนผ่านกิจกรรม เป็นการเรียนรู้ที่กว้างขวางหลากหลายที่สุด มีผลในการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ทั้งกลุ่มการเรียนรู้ ผ่านกลุ่มกิจกรรมชุมชน การสืบสานภูมิปัญญา การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์ทรัพยากร การแพทย์พื้นบ้าน การสาธารณสุข การจัดการปัญหาชุมชน เด็ก และสตรี เป็นต้น
  7. การศึกษาทางเลือกผ่านสื่อการเรียนและแหล่งเรียนรู้ ทั้งที่เป็นสื่อมวลชน เช่น นิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อชุมชน อินเทอร์เน็ต ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยว หรือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ
ที่ผ่านมาการศึกษาทางเลือกในไทยมีปัญหาอะไรบ้าง ?
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกได้เข้าหารือกับ สพฐ. โดยมี รศ.ประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ขณะนั้น) เป็นประธานการประชุมในประเด็นการจัดการศึกษาของกลุ่มการศึกษาทางเลือก ที่มีอุปสรรค ข้อติดขัดสำคัญในเรื่องการจัดการศึกษาทางเลือกตามมาตรา 12 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 เป็นช่องทางที่เปิดให้คนไทยมีโอกาสและสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้เอง การศึกษาทางเลือก แม้จะมีกฏหมายรองรับมา 16 ปีแล้ว แต่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือ สพฐ.ในฐานะผู้ออกกรอบระเบียบการปฏิบัติกลับเขียนด้วยภาษาที่กำกวม ทำให้ผู้ปฏิบัติงานตีความไม่ตรงกัน รวมทั้งความเข้าใจของข้าราชการสำนักงานเขตพื้นที่ต่อการศึกษาทางเลือก จนบัดนี้ปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ส่งผลให้ผู้จัดการศึกษาทางเลือกประสบปัญหาในหลาย ๆ ด้าน

นอกจากนี้ สำนักงานเขตพื้นที่ยังตีความกฎหมาย กฎกระทรวงที่ไม่สอดคล้องกันกับบ้านเรียน/ศูนย์การเรียน รวมทั้งทัศนคติของกลุ่มศึกษานิเทศน์ การพิจารณาแผนการเรียน ความไม่วางใจครอบครัว การไม่ยอมรับว่าระบบโรงเรียนในเขตตนเองมีปัญหา ส่งผลให้เป็นอุปสรรคในการขอจัดอนุญาตจัดตั้งศูนย์การเรียน/บ้านเรียน เจ้าหน้าที่ไม่มีความเข้าใจในการพิจารณาอนุญาต นัดหมายผู้จัดการศึกษาทางเลือกหลายครั้ง ทำให้ครอบครัว/ผู้จัดการศึกษาทางเลือกเสียเวลาในการประสานงานติดตามด้วยวาจาและทำหนังสือ


รวบรวมและเรียบเรียงโดย :
อรวรรณ ฟังเพราะ และ รสาพร หม้อศรีใจ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. หน่วยศึกษานิเทศก์. (2551). เอกสารสาระหลักการและแนวคิดประกอบการดำเนินงาน กศน. : คัมภีร์ กศน. กรุงเทพ : หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย.

ถกปัญหาการศึกษาทางเลือก โอกาสของเด็กไทยและแนวโน้มออกจากระบบ – จัดการศึกษาเอง. สืบค้นจาก https://thaipublica.org/2015/04/alternative-education-1/