การศึกษาทางเลือกคืออะไร ?

พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 กำหนดให้การจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งนอกจากการศึกษาทั้งสามรูปแบบแล้ว ยังมีการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งที่มาตรา 12 ได้กำหนดไว้คือ การศึกษาทางเลือก ซึ่งเป็นอีกแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนที่มีความต้องการที่แตกต่างและหลากหลายในปัจจุบัน หลักสูตรและการเรียนการสอนสาหรับการศึกษาทางเลือกนี้ จะช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติของตนเอง ได้เรียนตามที่ชอบ สนใจ และที่อยากจะเรียนอย่างแท้จริง อิงพัฒนาการส่วนบุคคลเพื่อนำไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นปัจเจกชนที่มีประสิทธิภาพ อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งบล็อกที่จะนำเสนอต่อไปนี้ จะเป็นการนำเสนอในส่วนของการศึกษาทางเลือก เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ที่สนใจได้ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการตัดสินใจจัดการศึกษาหรือวางแผนการศึกษาให้บุคคลในครอบครัวให้สอดคล้องเหมาะสมกับศักยภาพของบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลาย

การศึกษาทางเลือก (Alternative Education) หมายถึง การจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองตอบต่อความต้องการของผู้เรียนที่ไม่ประสงค์จะเรียนในระบบการศึกษาตามปกติ


ทำไมต้องมีการศึกษาทางเลือก ?

การศึกษาทางเลือก (Alternative Education) เป็นการจัดการศึกษาที่มีรูปแบบแตกต่างไปจากการศึกษาตามแนวกระแสหลักในระบบทั่วไป การศึกษาทางเลือกจัดขึ้นบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าธรรมชาติของมนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย การศึกษาทางเลือกจึงมีหลายรูปแบบ แต่ทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งด้านสติปัญญาและจิตใจ

การศึกษาทางเลือกเกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลเนื่องจากการศึกษากระแสหลักขาดความหลากหลายทั้งเนื้อหา วิธีการ และการปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก บทเรียนและความรู้ความคิดใหม่ มีกฎเกณฑ์มาก ยึดความต้องการของส่วนกลางเป็นหลัก และเชื่อว่าทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบนั้นได้ เป็นการทำลายศักยภาพของคนซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย

การศึกษาทางเลือกจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการจัดการศึกษาแนวใหม่ที่มุ่งตอบสนองความต้องการที่แตกต่างและหลากหลายของผู้เรียน ลดความเป็นทางการและข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จากหน่วยงานทางการศึกษาของรัฐ มีความยืดหยุ่นสูง อิสระในการกำหนดเนื้อหาสาระต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียนอย่างแท้จริง รวมทั้งให้ความสำคัญกับขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และค่านิยมในชุมชนท้องถิ่น ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัด และความสามารถ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่เต็มตามศักยภาพของตนเอง


รวบรวมและเรียบเรียงโดย
อรวรรณ ฟังเพราะ และ รสาพร หม้อศรีใจ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง:
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. หน่วยศึกษานิเทศก์. (2551). เอกสารสาระหลักการและแนวคิดประกอบการดำเนินงาน กศน. : คัมภีร์ กศน. กรุงเทพ : หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย.

ชูเกียรติ ลีสุวรรณ์. การศึกษาในระบบนอกระบบชิดซ้ายไป การศึกษาทางเลือกคือการศึกษาสำหรับยุคสมัยที่แท้จริง. สืบค้นจาก https://m.facebook.com/groups/ 188312267856822 view=permalink&id=1750668024954564