คุณสมบัติของสมาร์ทฟาร์มเมอร์

คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย Smart Farmer และ Smart Officer ได้กำหนดคุณสมบัติของ Smart Farmmer หรือเกษตรกรปราดเปรื่องไว้ เป็นกรอบเบื้องต้นในการคัดกรองคุณสมบัติของเกษตรกรเพื่อจัดชั้นเกษตรกรเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มเกษตรกรปราดเปรื่องต้นแบบ 2) กลุ่มที่เป็นเกษตรกรปราดเปรื่องอยู่แล้ว (Existing Smart Farmer) และ 3) กลุ่มเกษตรกรที่ต้องพัฒนาให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Developing Smart Farmer)

คุณสมบัติของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ 

ผู้ที่เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จะพิจารณาจากคุณสมบัติ 2 ด้าน คือ

ด้านที่ 1 คุณสมบัติด้านรายได้ 
มีรายได้รวมทางการเกษตรไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ครัวเรือน/ปี โดยรายได้ดังกล่าวนี้วัดจาก รายได้ที่เป็นเงินสดจากการจำหน่ายผลผลิต ผลพลอยได้ และสิ่งอื่นใดที่ได้จากกระบวนการผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ให้รวมถึงคำจำกัดความของรายได้ทางการเกษตรตามนิยามของการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ข้อมูลรายได้ของเกษตรกรจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และข้อมูลบัญชีครัวเรือนเกษตรกรและกลุ่มอาชีพของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ด้วย

ด้านที่ 2 คุณสมบัติพื้นฐาน 6 ข้อ เกษตรกรที่เป็น Smart Farmer ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐาน 6 ข้อ โดยต้องผ่านการพิจารณาตามตัวบ่งชี้อย่างน้อยหนึ่งตัวบ่งชี้ในแต่ละคุณสมบัติ ดังนี้


ภาพ Smart Farmer  จาก เว็บไซต์กรมปศุสัตว์. โดย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเลย, 2560,  
สืบค้นจาก http://www.dld.go.th/th/index.php/th/service-people/infographic-menu
/13392-info-pvlo-loe-25600717-2
  1. มีความรู้ในเรื่องที่ทำอยู่ สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรหรือให้คำแนะนำปรึกษากับผู้อื่นได้ สามารถเป็นเกษตรกรต้นแบบหรือจุดเรียนรู้ให้กับผู้อื่น
  2. มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลทั้งจากเจ้าหน้าที่และผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอื่น ๆ เช่น Internet Mobile Phone Smart Phone มีการบันทึกข้อมูลและใช้ข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์วางแผนก่อนเริ่มดำเนินการและบริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการนำข้อมูลมาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอาชีพของตนเองได้
  3. มีการบริหารจัดการผลผลิตและการตลาด มีความสามารถในการบริหารจัดการปัจจัยการผลิต แรงงาน และทุน ฯลฯ มีความสามารถในการบริหารจัดการปัจจัยการผลิต แรงงาน และทุน สามารถเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดเพื่อให้ขายผลผลิตได้ มีการจัดการของเหลือจากการผลิตที่มีประสิทธิภาพ (Zero waste management)
  4. มีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค มีความรู้หรือได้รับการอบรมเกี่ยวกับมาตรฐาน GAP GMP เกษตรอินทรีย์ หรือมาตรฐานอื่น ๆ มีกระบวนการผลิตที่สอดคล้องกับมาตรฐาน GAP GMP เกษตรอินทรีย์ หรือมาตรฐานอื่นๆ
  5. มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม/สังคม มีกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (Green Economy) มีกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง
  6. มีความภูมิใจในความเป็นเกษตรกร มีความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพการเกษตร รักและหวงแหนพื้นที่และอาชีพทางการเกษตรไว้ให้คนรุ่นต่อไป มีความสุขและพึงพอใจในการประกอบอาชีพการเกษตร
เมื่อประเมินคุณสมบัติของเกษตรกรแล้ว ผ่านทั้งคุณสมบัติด้านรายได้และคุณสมบัติพื้นฐาน เกษตรกรรายนั้นจะอยู่ในกลุ่มที่เป็นเกษตรกรปราดเปรื่องอยู่แล้ว (Existing Smart Farmer) แต่ถ้าไม่ผ่านคุณสมบัติด้านรายได้ หรือคุณสมบัติพื้นฐาน หรือทั้งสองคุณสมบัติ เกษตรกรรายนั้นจะอยู่ในกลุ่มเกษตรกรที่ต้องพัฒนาให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Developing Smart Farmer)

คุณสมบัติสมาร์ทฟาร์มเมอร์ต้นแบบ
สำหรับเกษตรกรที่จะเป็นเกษตรกรต้นแบบนั้น จะต้อง
เป็นเกษตรกรที่ผ่านการประเมินคุณสมบัติด้านรายได้และคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็นเกษตรกรปราดเปรื่องอยู่แล้ว (Existing Smart Farmer) และผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและตัวบ่งชี้ของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ต้นแบบเฉพาะสาขา โดยคณะทำงานระดับกรมจะเป็นผู้พิจารณากำหนดคุณสมบัติและตัวบ่งชี้ของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ต้นแบบเฉพาะสาขา เพิ่มเติมที่สอดคล้องกับกิจกรรมในการประกอบอาชีพทางการเกษตร ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าเกษตรที่เป็นเป้าหมายภารกิจของกรม เช่น
กรมประมงเป็นผู้กำหนดคุณลักษณะของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ต้นแบบ สาขาการประมง
กรมการข้าวเป็นผู้กำหนดคุณลักษณะของ Smart Farmer ต้นแบบ สาขาข้าว เป็นต้น


เรียบเรียง : รักษก อภิวงค์คำ / นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบัน กศน.ภาคหนือ

อ้างอิง :
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2556). คู่มือแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย Smart Farmer และ Smart Officer. คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย Smart Farmer และ Smart Officer, น. 18-19. สืบค้นจาก https://www.opsmoac.go.th/strategic-files-391191791803

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2560). แผนงาน Smart Farmer. สืบค้นจาก

https://www.moac.go.th/ a4policy-alltype-391191791803
ฤทัยชนก จริงจิตร (2556). เจาะลึก “Smart Farmer” แค่แนวคิดใหม่ หรือจะพลิกโฉมการเกษตรไทย. สืบค้นจาก http://www.tpso.moc.go.th/sites/default/files/1074-img.pdf