เงาพระธาตุกลับหัวที่ลำปาง Unseen Lampang

จังหวัดลำปาง หรือเขลางค์นคร ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งรถม้าและชามตราไก่ เพราะเป็นจังหวัดเดียวในไทยที่มีรถม้าวิ่งอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ลำปางยังขึ้นชื่อในเรื่องของชามเซรามิกตราไก่ ซึ่งสามารถพบเห็นสัญลักษณ์เซรามิกรูปไก่ตามป้ายชื่อถนน บนสะพาน หรือตามตึกต่าง ๆ ได้ทั่วไปในเมือง นอกจากรถม้าและชามตราไก่ที่เป็นสัญลักษณ์ของลำปางแล้ว เมืองลำปางยังน่าฉงนตรงที่เป็นเมืองที่มีเงาพระธาตุกลับหัวให้ชมกันอยู่หลายวัด

เงาพระธาตุกลับหัวที่ปรากฏอยู่ในหลายแห่งนั้น เป็นปรากฏการณ์หักเหของแสงในหลักการเดียวกลับกล้องรูเข็ม การเกิดเงาพระธาตุนั้นขึ้นอยู่กับความลงตัวของหลาย ๆ ปัจจัย แต่ที่ลำปางจะแปลกตรงที่มีเงาพระธาตุปรากฏให้ชมกันหลากหลายรูปแบบทั้งเงาพระธาตุหัวกลับ หัวตั้ง เงาพระธาตุซ้อนชั้น ซึ่งเงาพระธาตุกลับหัวเช่นนี้เป็นภูมิปัญญาของผู้สร้างในสมัยก่อนที่คำนวณหาทิศทางของแสง เงาพระธาตุในจังหวัดลำปางที่พบและเป็นอันซีนของจังหวัดลำปาง มีดังต่อไปนี้

1. เงาพระธาตุ วัดพระธาตุลำปางหลวง 
วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ที่ ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา ถือเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของชาวลำปาง สำหรับองค์พระธาตุที่ทำให้เกิดเงานั้น เป็นองค์พระธาตุเจดีย์แบบล้านนาผสมเจดีย์ทรงลังกา ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมด้วยบัวมาลัยสามชั้น เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ฉลุลาย หรือที่เรียกว่าทองจังโก ตามตำนานกล่าวว่าเป็นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เงาพระธาตุที่ปรากฏที่วัดพระธาตุลำปางหลวงนั้น มีปรากฏอยู่ 2 แห่ง คือ ภายใน “วิหารพระพุทธ” และ “มณฑปพระพุทธบาท”

เงาพระธาตุที่ปรากฏในวิหารพระพุทธ มีเงาพระธาตุที่ลอดผ่านรูผนังมาปรากฏบนผืนผ้าภายในวิหาร   เป็นเงาพระธาตุหัวตั้งสีสันเหมือนจริง ปัจจุบันภาพเงาพระธาตุจะดูจืดจางลงไม่คมชัดเช่นเดิม เนื่องจากพฤติกรรมของคนที่ชอบเอานิ้วไปแหย่ไปจิ้มรูที่แสงส่องรอดผ่านเข้ามาในวิหาร ทำให้รูที่แสงส่องเข้ามากว้างขึ้น ความคมชัดของเงาที่เกิดขึ้นก็น้อยลงตามไปด้วย 

เงาพระธาตุที่ปรากฏในมณฑปพระพุทธบาท (ซุ้มพระพุทธบาท) ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งในวัดพระธาตุลำปางหลวงที่ปรากฏภาพเงาพระธาตุ เงาพระธาตุแห่งนี้ดูแล้วคมชัดสวยงามกว่าที่วิหารหลวง อาจจะเนื่องมาจากปริมาณคนที่เข้ามาดูมีน้อยกว่า เพราะที่มณฑปพระพุทธบาทมีข้อจำกัดคือ ห้ามมิให้ผู้หญิงขึ้นไปบนมณฑปพระพุทธบาท เพราะได้สร้างครอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ด้านล่าง จึงห้ามผู้หญิงขึ้นตามคติความเชื่อของล้านนา มีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่ขึ้นไปได้ จึงมีผู้มาชมน้อยกว่า 

ซุ้มพระพุทธบาท หรือ หอพระพุทธ วัดพระธาตุลำปางหลวง ที่ปรากฏเงาพระธาตุกลับหัว
ภาพโดย : TARIYA SAKMANGKORN
จาก  https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Wat_Phrathat_Lampang_Luang

วัดพระธาตุลำปางหลวง
ภาพโดย : Warin~commonswiki 
จาก https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Wat_Phrathat_Lampang_Luang

เงาพระธาตุกลับหัว ภายในซุ้มพระพุทธบาท 
ภาพโดย : Pitchayawat  
จาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:เงาสะท้อนพระธาตุลำปางหลวง.jpg

2. เงาพระธาตุจอมปิง  
วัดพระธาตุจอมปิง เป็นวัดอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปางที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของการปรากฏเงาพระธาตุกลับหัว ตั้งอยู่ที่ บ้านจอมปิง ต.นาแก้ว อ.เกาะคา จ.ลำปาง ที่วัดแห่งนี้มีปูชนียสถานที่สำคัญคือ พระธาตุเจดีย์สีเหลืองทองทรงล้านนา สูง 34 เมตร กว้าง 17 เมตร ตามตำนานกล่าวว่าภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทางด้านทิศตะวันตกของพระธาตุเจดีย์ มีพระอุโบสถเก่าแก่ สถาปัตยกรรมแบบล้านนา ที่หน้าต่างพระอุโบสถมีรูเล็ก ๆ ที่แสงสามารถลอดผ่านเข้ามาทำให้เกิดเงาพระธาตุพาดลงบนพื้น ต่อมาทางวัดจึงได้นำเอากรอบผ้าขาวมาเป็นฉากรับภาพเพื่อให้สามารถมองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น เงาพระธาตุที่วัดจอมปิงจะมีสีสันที่เหมือนจริง เช่นเดียวกับที่วัดพระธาตุลำปางหลวง 

เงาพระธาตุที่วัดพระธาตุจอมปิง 
ภาพจาก : https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/921393/

3. วัดพระธาตุดอยน้อย 
วัดพระธาตุดอยน้อย ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าผา อ.เกาะคา จ.ลำปาง ที่วัดแห่งนี้มีเงาพระธาตุให้ชมถึง 6 เงาเลยทีเดียว โดยมีลักษณะเป็นเงาของพระธาตุหัวตั้ง ปรากฏภายในวิหารหลังเปียง หากเดินตรงเข้าไปจากประตูทางเข้า ทางฝั่งขวาของวิหารได้ปรากฏเงาพระธาตุซ้อนกันเป็นชั้น ๆ 4 เงา และเงาที่ด้านข้างเล็ก ๆ ส่วนบนอีก 1 เงา ส่วนทางฝั่งซ้ายก็ยังมีีเงาพระธาตุหัวตั้งปรากฏขึ้นอีก 1 เงาที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งองค์พระธาตุองค์จริงภายในบรรจุอัฐิพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ทางด้านหลังของวิหาร เดิมมีลักษณะเป็นองค์พระธาตุสีดำมีส่วนยอดเป็นสีทองเหลืองอร่าม ภายหลังได้มีการบูรณะเป็นสีทองทั้งองค์

เงาพระธาตุดอยน้อย 
ภาพจาก : http://www.lampang.go.th/travel/weblp/page/page5.html

พระธาตุดอยน้อยซึ่งบูรณะเป็นสีทองทั้งองค์
ภาพจาก : เฟซบุ๊กวัดพระธาตุดอยน้อย

4. เงาพระธาตุวัดอักโขชัยคีรีวัดอักโขชัยคีรี 
วัดอักโขชัยคีรีวัดอักโขชัยคีรี ตั้งอยู่บนเนินเขาริม ถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม บริเวณกิโลเมตรที่ 50–51 อ.แจ้ห่ม จังหวัดลำปาง วัดนี้แม้จะไม่มีชื่อเสียงเท่ากับวัดพระธาตุลำปางหลวงและวัดพระธาตุจอมปิง แต่ก็เป็นวัดที่ปรากฏเงาพระธาตุเช่นกัน มีทางขึ้นเป็นบันไดนาคจำนวน 227 ขั้น เท่ากับศีลของพระภิกษุสงฆ์ เมื่อขึ้นไปด้านบนจะเจอกับพระธาตุเจดีย์ ลักษณะเป็นศิลปะล้านนาปนเชียงแสน ซึ่งแต่เดิมน่าจะเป็นศิลปะหริภุญชัย และได้บูรณะกันมาหลายครั้ง ใกล้กันนั้นมี พระวิหารพระยืน ซึ่งเป็นที่ปรากฏเงาพระธาตุ เช่นเดียวกับที่วัดพระธาตุจอมปิง ซึ่งเงาพระธาตุหรือเงาพระเจดีย์ นี้จะปรากฏให้เห็นชัดอยู่ในทิศทางด้านตะวันออกเสมอ ถึงแม้ว่าพระอาทิตย์จะเคลื่อนย้ายไปตามเวลาใดก็ตาม เงาของพระธาตุก็ยังคงปรากฏอยู่ที่ตำแหน่งเดิมไม่มีการเคลื่อนย้ายตามพระอาทิตย์แต่อย่างใด ชาวบ้านอำเภอแจ้ห่มและอำเภอใกล้เคียงจึงถือกันว่าเป็นเงาพระธาตุศักดิ์สิทธิ์

เงาพระธาตุวัดอักโขชัยคีรี
ภาพจาก : http://www.lampang.go.th/travel/weblp/page/page5.html


เรียบเรียง : 
วราพรรณ  พูลสวัสดิ์  ครูชำนาญการพิเศษ  สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง. เงาพระธาตุ. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2564 จาก http://www.lampang.go.th/travel/weblp/page/page5.html 

เชียงใหม่นิวส์. (2562, 19 กุมภาพันธ์). สักการะพระธาตุจอมปิง ชมภาพเงาสะท้อนผ่านรูเข็ม. สืบค้นจาก https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/921393/

ปิ่น บุตรี. (2558, 7 กรกฎาคม). อันซีน“เงาพระธาตุ” สิ่งไม่ควรพลาด เมื่อขึ้นไปแอ่วเมืองต้องห้าม...พลาด“ลำปาง”. ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นจาก https://mgronline.com/travel/detail/9580000074956