หนังสือเรียน เป็นหนังสือที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ใช้สำหรับการเรียนการสอน มีเนื้อหาถูกต้องและสอดคล้องกับหลักสูตร อาจจะมีลักษณะเป็นเล่ม เป็นแผ่นหรือเป็นชุดก็ได้ อาจใช้ชื่อเรียกต่าง ๆ กันว่า หนังสือเรียน แบบเรียน แบบสอนอ่าน หนังสืออ่าน หนังสือประกอบการเรียนก็ได้ แต่เปลี่ยนมาใช้ว่า หนังสือเรียน ตามหลักสูตร ตั้งแต่พุทธศักราช 2521 เป็นต้นมา เช่น หนังสือเรียนภาษาไทย ตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 ที่เรียกกันทั่วไปว่า ชุดมานะมานี เป็นต้น ซึ่งผู้สอนใช้สอนผู้เรียนโดยตรง เมื่อผู้เรียนได้ศึกษาหนังสือเรียนก็เท่ากับผู้เรียนได้รับการพัฒนาตามเป้าหมายของหลักสูตร
ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
ภาพจาก : เว็บไซต์ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงาน กศน. http://elibrary.nfe.go.th/e_library/index.php
ลักษณะสำคัญของหนังสือเรียน
หนังสือเล่มหนึ่งที่จะเรียกว่าเป็น “หนังสือเรียน” ได้นั้นจะต้องมีลักษณะสำคัญ ต่อไปนี้
- ด้านหลักสูตร หนังสือเรียนต้องมีเนื้อหาสาระครบถ้วนตามสาระการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแต่ละชั้นเรียน ในแต่ละภาคเรียน หรือในแต่ละปี เนื้อหาสาระดังกล่าวจะต้องมีความสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ที่ระบุไว้ และมีลักษณะที่น่าเชื่อได้ นอกจากนี้ หนังสือเรียนจะต้องมีเนื้อหาสาระเป็นจำนวนมากน้อย เหมาะสมกับจำนวนชั่วโมงที่กำหนดด้วย
- ด้านเนื้อหาวิชา หนังสือเรียนจะต้องนำเสนอเนื้อหาสาระที่ถูกต้องตามหลักวิชา ในสาขานั้น ๆ เนื้อหามีความทันสมัย มีปริมาณมากน้อยเหมาะสมแก่การเรียนรู้ที่จะเกิดกับนักเรียน และมีความสามารถตามที่ระบุไว้ในมาตรฐานการเรียนรู้
- ด้านการเสนอเนื้อหา หนังสือเรียนจะต้องเสนอเนื้อหาสาระโดยแบ่งเป็นหน่วย เป็นตอน หรือเป็นบทอย่างเหมาะสม การเรียงลำดับเนื้อหาสาระจะต้องมีความเหมาะสมตามหลักวิชาและตามธรรมชาติของการเรียนรู้ นอกจากนี้ในการเสนอเนื้อหาแต่ละเรื่องจะต้องมีความสอดคล้องกันระหว่างหัวข้อเรื่องและเนื้อหาด้วย
- ด้านส่งเสริมความเข้าใจ เนื้อหาสาระที่เสนอในหนังสือเรียนจะต้องชัดเจนและผู้เรียนสามารถเข้าใจได้ง่าย
- ด้านส่งเสริมการเรียนการสอน หนังสือเรียนส่งเสริมการเรียนการสอน โดยชี้แนะผู้เรียนให้ทำความเข้าใจขณะอ่าน และช่วยชี้แนะครูซึ่งเป็นสื่อกลางระหว่างผู้เขียนหนังสือและผู้เรียนในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้วย
หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
ภาพจาก : เว็บไซต์บริษัท อักษร อินสไปร์ จำกัด https://www.aksorn.com/store/2/product-details-992
เรียบเรียงโดย:
แก้วตา ธีระกุลพิศุทธิ์ ครู ชำนาญการพิเศษ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
อ้างอิง:
ปราณี ปราบริปู. (2560). "แนวทางการสร้างหนังสือเรียนและหนังสืออ่านเพิ่มเติม” วารสารศึกษาศาสตร์ มสธ, 10(2), 347-351. สืบค้นจาก https://www.stou.ac.th/website/ศึกษาศาสตร์/24.ปราณี%20%20ปราบริปู.pdf