ต้องดอก ตอกลาย ศิลปหัตกรรมพื้นบ้านล้านนา

ต้องดอก หรือ ตอกลาย เป็นศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านของภาคเหนือตอนบน ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวเหนือหรือในแถบดินแดนล้านนาที่ทำสืบต่อกันมานานแล้ว เป็นงานที่มีคุณค่าทั้งทางด้านที่เป็นมรดกทางการช่างและศิลปหัตถกรรมของท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาแต่อดีต ไม่ปรากฎว่าศิลปะการต้องดอกเริ่มขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใด ทราบแต่ว่ามีมานานแล้วตั้งแต่อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรือง เดิมเป็นงานระดับช่างหลวงภายในราชสำนักของชาวล้านนา และสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษเป็นเวลาหลายร้อยปีจนถึงปัจจุบัน 

ความหมายของการต้องดอก

ต้อง” เป็นภาษาพื้นเมืองของภาคเหนือตอนบน หมายถึง ตอก เจาะ ส่วนคำว่า “ดอก” ในภาษาพื้นบ้านภาคเหนือ หมายถึง ลวดลายต่าง ๆ “การต้องดอก” หมายถึง การตอก หรือการเจาะเพื่อให้เกิดลวดลายต่าง ๆ ที่สวยงาม โดย “สล่า” (ช่าง) จะใช้เครื่องมือประเภทสิ่ว ตอกลงไปบนแผ่นกระดาษ ผ้า แผ่นโลหะ หรือวัสดุอื่น ๆ ที่มีลักษณะแบบราบจนทะลุอีกด้านหนึ่ง เพื่อทำให้เกิดลวดลายที่สวยงาม หรือในบางพื้นที่อาจเรียกว่า “ตอกลาย” หรือ “ต้องลาย” ก็ได้เช่นกัน

งานต้องดอก นิยมนำไปใช้ในการทำลวดลายประดับตุงไชย การต้องลายดอกประดับโคมไฟ การตกแต่งปราสาทเครื่องไทยทาน(ครัวตาน)ในงานบุญหรือพิธีสำคัญทางศาสนา และประดับตกแต่งสถานที่สำหรบจัดงานพิธีต่าง ๆ สามารถนำมาใช้ในการประดับได้ทั้งในงานมงคลและงานอวมงคล เช่น ตกแต่งปราสาทศพเพื่ออุทิศไปให้ผู้วายชนม์ 

งานต้องดอกมีทั้งทำบนกระดาษ ผ้า แผ่นผ้า แผ่นไม้ และแผ่นโลหะ แต่เดิมนิยมทำบนกระดาษสา เนื่องจากกระดาษสาหาได้ง่าย แต่ปัจจุบันมีกลุ่มอาชีพซึ่งอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งมีอยู่ในหลาย ๆ จังหวัด เช่น เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แพร่ น่าน นิยมต้องดอกหรือการตอกลายลงบนผ้า เพื่อนำไปตกแต่งสถานที่สำหรับงานพิธีต่าง ๆ เนื่องจากผ้ามีอายุใช้งานคงทนกว่ากระดาษสา


ตุง ในงานประเพณีต่าง ๆ ของชาวล้านนา
ภาพจาก : เว็บไซต์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่
https://chiangmaiculture.net/web/index.php?r=site%2Fdetail&id=196&type=culture

โคมศรีล้านนา ซึ่งนำศิลปะการต้องดอกหรือตอกลายมาตกแต่งโคมให้สวยงาม นิยมนำไปถวายเป็นพุทธบูชา หรือตกแต่งในงานพิธีหรือประเพณีของชาวล้านนา

ภาพจาก : เว็บไซต์สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
https://www.m-culture.go.th/lampang/ewt_news.php?nid=2447&filename=index

ประเภทของลวดลาย
ลวดลายที่ได้จากการ “ต้องดอก” เกิดจากการคิดค้นของสล่าหรือช่าง โดยยึดแนวคิดจากลวดลายไทยทั่วไปผสมผสานกับลวดลายซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติหรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่ได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน แล้วนำมาประดิษฐ์โดยสอดแทรกภูมิปัญญาและประสบการณ์ของช่างแต่ละคนที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน หรือสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษของต้น ลวดลายที่ช่างแต่งละคนคิดค้นขึ้นในแต่ละท้องถิ่น อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปบ้าง ตามความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญ ซึ่งลวดลายที่ใช้สามารถแบ่งตามลักษณะและที่มา ดังนี้
  1. ลวดลายจากพืช คนโบราณนำพืชที่พบเห็นทั้งใบ ลำต้น และดอก มาเป็นต้นแบบในการออกแบบลวดลาย เช่น ดอกบัว ช่อชัยพฤกษ์ เครือเถาของพืช ใบองุ่น ตาอ้อย ผักกูด สับปะรด เป็นต้น

  2. ลวดลายจากสัตว์ มีลวดลายจำนวนมากที่ช่างนำต้นแบบมาจากสัตว์ ทั้งสัตว์ทั่วไปในธรรมชาติ และสัตว์ในจินตนาการอย่างสัตว์หิมพานต์ หรือในตำนานต่าง ๆ 

    ลวดลายจากปีสิบสองนักษัตร


  3. ลวดลายจากคน เทวดา อสูร ลวดลายในการต้องดอกที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคน ปกติจะใช้ภาพจำลองจากคนในนิยายพื้นบ้าน ส่วนนำการเทพยดามาเป็นลวดลายเพื่อใช้แสดงถึงความเคารพบูชา ยกย่องเชิดชู ลวดลายที่ปรากฏจะเน้นความสวยงาม ส่วนลวดลายอสรู มักใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้าย

  4. ลวดลายจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ ช่างหรือสล่าพื้นบ้านมองเห็นความงามและความเป็นเอกลักษณ์ในตัวเองของธรรมชาติ จึงนำปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติมาออกแบบเป็นลวดลายสำหรับใช้ในการต้องดอก เช่น หยดน้ำ การไหลของน้ำ เปลวไฟ การเคลื่อนไหวของเมฆ และหมอก

  5. ลวดลายอื่น ๆ นอกจากการประดิษฐ์ลวดลายจากพืช สัตว์ คน ปรากฏการณ์ธรรมชาติแล้ว ยังการออกแบบลวดลายจากสิ่งอื่น ๆ รอบตัวอีกด้วย ภาชนะสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หม้อดอก  หม้อปูรณฆฏะ  คนโทน้ำ พัด


วัสดุและเครื่องมือที่ใช้ในการต้องดอก
  1. วัสดุหลักที่นำมาใช้ในการต้องดอกหรือตอกลายมีหลายประเภท โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป เช่น กระดาษ ผ้า แผ่นโลหะ
    • กระดาษ ใช้สำหรับนำมาใช้ในการประดับตกแต่งที่ไม่ต้องการลงทุนสูง ไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาเป็นเวลานาน กระดาษที่นิยมใช้มี 3 ประเภท คือ กระดาษว่าวเนื้อดี กระดาษเงินกระดาษทอง (กระดาษตะกั่ว) กระดาษที่มีสีด้านเดียว 
    • ผ้า ปัจจุบันนิยมนำมาประดับตกแต่งอาคารสถานที่ เวที ในงานพิธีต่าง ๆ มีความทนทานในการใช้งานมากกว่ากระดาษ
    • แผ่นโลหะ ใช้สำหรับงานที่ต้องการความคงทนสูง เช่น ทำตุงถวายเป็นพุทธบูชา
  2. แม่แบบหรือแม่พิมพ์ แม่แบบหรือแม่พิมพ์ เป็นสิ่งสำคัญมาอย่างหนึ่งสำหรับช่างในการตอกลาย โดยช่างจะทำการร่างแบบและทำแม่แบบก่อน หลังจากนั้นจึงนำไปตอกลายลงบนวัสดุที่ต้องการ ยกเว้นช่างที่มีความชำนาญแลเชี่ยวชาญจริงที่สามารถสร้างลวดลายจากจิตนาการได้โดยไม่ต้องมีแบบหรือร่างแบบไว้ก่อน แต่เดิมแม่แบบมักทำด้วยหนังสัตว์ แต่ในปัจจุบันนิยมทำด้วยกระดาษแข็งหนา หรือแผ่นฟิลม์ แผ่นหนัง แผ่นพาสติก
  3. เครื่องมือที่ใช้ในการต้องดอก ได้แก่ สิ่วประเภทต่าง ๆ ค้อน ตะปู วัสดุรองพื้นขณะทำการตอกลายซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไม้เนื้อแข็ง และหากเป็นการต้องดอกบนกระดาษนิยมใช้ใบตองรองอีกชั้นหนึ่งเพื่อไม่ให้กระดาษติดลงไปในเนื้อไม้ที่เป็นวัสดุรองพื้น

วิธีการต้องดอก (ตอกลาย)
  1. เตรียมวัสดุรองพื้นในการต้องดอก โดยอาจใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นฐาน และรองด้านบนด้วยใบตองเพื่อไม่ให้กระดาษติดกับไม้เมื่อทำการตอกลายลงไป
  2. พับกระดาษที่ต้องการต้องดอกตามลักษณะและความเหมาะสมของงาน 
  3. นำแม่แบบมาวางบนกระดาษ และยึดหรือตรึงแม่แบบและกระดาษลงบนวัสดุรองพื้นด้วยตะปู
  4. ลงมือต้องดอกตามแม่แบบ

การตกแต่งด้วยผ้าตอกลาย ในงานพิธี

ภาพจาก: เฟซบุ้ก ผ้าตอกลายล้านนา พัชร By จันต๊ะผ้าต้อง
https://www.facebook.com/ผ้าตอกลายล้านนา-พัชร-By-จันต๊ะผ้าต้อง-1222643437913988/


เขียนและเรียบเรียง :
นัชรี อุ่มบางตลาด  สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
กรมการศึกษานอกโรงเรียน. (2541). ชุดวิชา การต้องดอก หมวดศิลปหัตกรรม. กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด